FASHION

หมดไปเท่าไหร่กับ “Panic Buying” เรียนรู้รับมือความกดดันเพื่อไม่ต้องถามตัวเองว่าซื้อมาทำไม

By: Thada January 8, 2018

สำหรับนักลงทุน หรือผู้ที่พอจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของตลาดซื้อขายหุ้น อาจจะคุ้นหูกับคำว่า “Panic Buying” หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า อาการลนลานเมื่อเห็นราคาตลาดกำลังพุ่งแรง หรือดิ่งจนน่าตกใจก็รีบซื้อหรือขายหุ้นมั่วซั่วโดยไม่ได้ผ่านการเช็ค และตรวจสอบพื้นฐานอย่างถี่ถ้วน สุดท้ายกลายเป็นขายหมู หรือเป็นเม่าชั้นดีติดดอยหนาวเหน็บกันไปก็หลายราย

ซึ่งไอ้คำว่า Panic Buying ก็ไม่ได้ถูกบัญญัติใช้เฉพาะวงการหุ้นเพียงอย่างเดียว เพราะมันได้กลายเป็นแนวคิดทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่แม้กระทั่งตามตลาดนัดเองก็ยังมีการนำมาใช้ ลองคิดภาพ mc สาวสวยถือไมค์ประกาศว่า “นาทีทอง สินค้าชิ้นเดียวเราไม่ขาย เราขายสินค้าสองชิ้นในราคาชิ้นเดียว 1 แถม 1 กันไปเลย !!” โดยอันที่จริงแล้วสินค้าดังกล่าว อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งของที่ตัวเราต้องการเลยก็ได้ เพียงแต่ด้วยกลยุทธ์ที่ออกมาล่อตาล่อใจ จนทำให้เราต้องใช้จ่ายเงินแบบที่เรียกว่า Panic Buying ทำให้สูญเสียเงินไปไม่ใช่น้อย

แต่ถ้าจะเล่าอาการของ Panic Buying ให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นตามแบบทฤษฎี คือการที่ผู้บริโภคต้องตัดสินใจซื้อของบางอย่าง ภายใต้ความกดดัน ไม่ว่าจะเป็นกรอบของเวลา การบีบคั้นด้วยจำนวนสินค้าที่จำกัด หรือสถานการณ์บังคับ จนทำให้นักช็อปปิ้งส่วนใหญ่รู้สึกตื่นตระหนก สูญเสีย และให้ความสำคัญกับการจับจ่ายช่วงเวลาดังกล่าวอย่างมาก เพราะกลัวจะพลาดโอกาสนี้ไป นอกเหนือจากนี้อาการ Panic Buying ยังส่งผลต่อการตัดสินซื้อที่ขาดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนอีกด้วย

โดยเรามีตัวอย่าง 2 กรณีเกี่ยวกับ Panic Buying ทั้งในแง่ความตื่นตระหนกไปเอง และกรอบของเวลา เริ่มจากเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับ อุทกภัย น้ำท่วม ก็จะเกิดอาการ Panic Buying คนแห่ไปซื้อสินค้าประเภท น้ำ ข้าวสาร อาหารแห้งกักตุนไว้ จนของขาดตลาด

หรืออีกกรณีที่เรียกว่า Panic Buying และดูจะใกล้ตัว หนุ่ม ๆ มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของสินค้าเสื้อผ้า ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณต้องการชุดสูทเพื่อใช้ไปในงานแต่งสุดสัปดาห์นี้แบบเร่งด่วน  ในกรณีที่หายืมใครไม่ได้จริง ๆ  ซึ่งถ้าหากพอจะมีการเตรียมตัวมาก่อน คุณก็อาจจะพอมีเวลาไปตัดสูท tailor ตามที่ต้องการ แต่ด้วยกรอบเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องตัดสินใจไปซื้อชุดสูทสำเร็จที่เผลอ ๆ อาจจะมีราคาแพงกว่าการ tailor เสียด้วยซ้ำ

จะว่าไปแล้วอาการ Panic Buying ก็เกิดขึ้นกับการซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้าอยู่บ่อยครั้ง เพราะเราเชื่อว่าผู้ชายหลาย ๆ คนคงไม่ได้มีเสื้อผ้าติดตู้เสื้อผ้าไว้หลากหลายนัก ดังนั้นทีมงานจึงกล้าฟันธงได้เลยว่าพอมีอีเว้นท์ หรือเหตุอันจำเป็นทีไร เป็นอันต้องไปรีบซื้อสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ โดยไม่มีเวลาเปรียบเทียบราคา หรือมีเวลาหาตัวเลือกที่ดีที่สุด เผลอ ๆ อาจจะได้อะไรที่แพงกว่าราคาตลาด แถมยังผิดสเปคไม่ตรงความต้องการเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นเพื่อป้องการอาการ  Panic Buying วันนี้ทีมงาน UNLOCKMEN จึงได้นำวิธีการรับมือกับสถานการณ์บีบคั้นว่าจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

การทำแพลนช้อปปิ้งในแต่ละเดือน 

เงินบัญชีของเรา ไม่มีใครสามารถรับรู้ และควบคุมการใช้จ่ายได้ดีกว่าตัวเราเอง ซึ่งวิธีการควบคุม Panic Buying ได้อย่างดีวิธีหนึ่ง คือการทำ checklist สินค้าที่จำเป็นต้องซื้อในแต่ละเดือน เราควรกำหนดโควต้าต่าง ๆ ว่าเดือนนี้อะไรคือสิ่งจำเป็นต้องซื้อ หรือไม่จำเป็น

ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยยับยั้งการช้อปปิ้งเวลาเจอของ sale ได้อีกด้วย เนื่องจากคุณจะรับรู้ว่า แม้สินค้าที่ sale อยู่นั้นจะมีราคาล่อตาล่อใจมากเพียงใด แต่มันอาจจะไม่ได้จำเป็นต่อตัวคุณเลยก็เป็นได้

 

ของจำเป็นก็คือของจำเป็น

ต้องแยกให้ออกระหว่างของจำเป็นกับสิ่งที่อยากได้เสียก่อน หลายคนอาจจะคิดว่าเสื้อผ้าบางประเภทไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่เชื่อเราเถอะว่ามันจำเป็นจริง ๆ อาทิ เสื้อหนาว ชุดสูทสีเรียบ กางเกงทรงสุภาพ รองเท้าหนัง ของเหล่านี้คุณต้องมีโอกาสได้ใส่มันสักวันอยู่แล้ว ดังนั้นนี้คือสิ่งที่จำเป็น เมื่อมีโอกาส และความพร้อมก็ควรจะซื้อเก็บตระเตรียมไว้ แต่ก็ไม่ใช่การบ้าซื้อเสื้อผ้าเหมือนกันมา 10 สี 10 แบบ อันนั้นบอกได้ง่าย ๆ เลยว่าโคตรไม่จำเป็น

 

ลองทบทวนดูอีกสักที

อันนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวที่เราเองก็เลือกใช้บ่อยครั้ง และส่วนใหญ่ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีด้วย นั่นคือการกลับมาทบทวนดูอีกที ก่อนตัดสินใจเลือกซื้ออะไรสักอย่าง อาการ Panic Buying นอกเหนือจากกรอบเวลา และจำนวนสินค้าที่จำกัดซึ่งกลายมาเป็นตัวบีบให้เราซื้อ ยังมีอีกสิ่งที่พ่วงมาคือโรค shopaholic ที่จะมีอาการอยากซื้อของตลอดเวลา ดังนั้นเราควรถามตัวเองก่อนว่า ชอบมากไหม ? จำเป็นหรือเปล่า ? เดือดร้อนหรือไหม ? เงินมีพอใช้ถึงสิ้นเดือนหรือเปล่า ? ถ้าตอบคำถามเหล่านี้แล้วยังเกิดอาการอยากที่จะเสียตังค์อยู่ ให้ลองตั้งเป้าหมายนึกถึงของที่ใหญ่กว่า และเราอยากได้ อย่างเช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ บ้าน แล้วคุณจะไม่เสียเงินยิบย่อยไปกับอาการ Panic Buying อีกแน่นอน

แม้จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เราได้หยิบยกมาพูดถึงนี้ จะดูเหมือนอาการ Panic Buying มีแต่เรื่องแย่ ๆ แต่อันที่จริงแล้ว Panic Buying นั่นจะมีประโยชน์สูงสุด ต่อเมื่อมันอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น ตัวอย่างเช่น หากคุณมีตัวเลือกของที่มากจนเกินไป จนไม่สามารถตัดสินใจได้เสียที แล้วมีเหตุจำเป็นให้ต้องซื้อสินค้าแบบเร่งด่วน อาการ Panic Buying จะช่วยรวบรัดตัดตอนให้คุณตัดสินใจเลือกได้ง่าย ๆ ขึ้น คล้ายกับกรณีคุณมีกิ๊กหลายคน แล้ววันหนึ่งเกิดรถไฟชนกันโดนจับได้ นั่นแปลว่าคุณต้อง Panic Buying เลือกใครสักคนไปโดยปริยาย

 

 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line