Girls

“แฟนผมเป็นโรคซึมเศร้า” สิ่งที่ต้องเข้าใจเมื่อคนรักซึมเศร้าเพราะเราจะผ่านไปด้วยกัน

By: PSYCAT October 26, 2020

ในหนึ่งชีวิตนี้เราทุกคนล้วนเคยป่วย เราอาจเคยเป็นหวัดเพราะอากาศเปลี่ยน เราอาจเคยเป็นไข้เลือดออกเพราะโดนยุงลายที่มีเชื้อกัด เราอาจเคยเป็นไมเกรนเพราะเครียดกับงานที่ทำมากเกินไป การป่วยจึงเกิดขึ้นได้กับทุกคนเป็นปกติ และอาการป่วยส่วนใหญ่รักษาให้หาย หรือหาวิธีร่วมอยู่กับอาการได้

เมื่อร่างกายป่วยได้ ก็หมายความว่าความรู้สึก จิตใจที่ผ่านการสั่งการจากสมองนั้นป่วยได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเราจะได้เจอคนที่ป่วยใจในชีวิต บางคนเป็นโรคซึมเศร้า บางคนอาจเป็นไบโพลาร์ บางคนอาจเป็นโรคเครียด ฯลฯ แต่เมื่อคนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนที่เรารักป่วยใจ เราคงอยากรู้ว่าเราควรเข้าใจโรคซึมเศร้าแบบไหน มีอะไรที่เราต้องยอมรับบ้าง วันนี้ UNLOCKMEN ชวนทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

แง่บวกมากไปไม่ช่วยอะไร

เราล้วนเลือกทำอะไร พูดอะไรกับคนที่เรารัก เพราะความหวังดี โดยเฉพาะเมื่อเขาป่วย เรายิ่งรู้สึกว่าอยากไล่เมฆหมอกแห่งความอึมครึมหม่น ๆ ที่เขารู้สึกออกไปให้พ้น เราเลยเลือกโยน “ก้อนการมองแง่บวก” ใส่เขารัว ๆ ในวันที่เขาบอกความรู้สึกว่าเศร้า เราก็ดันไปบอกเขาว่าอย่าคิดมากเลย มีคนลำบากตั้งเยอะ, เศร้าทำไม ชีวิตมีสิ่งสวยงามอีกมาก

แม้เราจะพยายามชวนให้เขามองโลกในแง่บวกเพราะเจตนาดี แต่อย่าลืมว่าการทำมากไป หรือบ่อยไป มันไม่ต่างจากการที่เรามองข้ามสิ่งที่เขารู้สึก หรือบอกว่าเขาผิดเองที่ไม่มองโลกในแง่บวก ดังนั้นคุณต้องอย่าลืมว่าเขาไม่ได้อยู่ ๆ อยากเศร้าหรือห่อเหี่ยวแบบนี้ แต่มันคืออาการของโรค เหมือนเวลาเป็นหวัดแล้วน้ำมูกไหล เราห้ามน้ำมูกไม่ได้ เช่นเดียวกับที่จะไปห้ามเขาเศร้าไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการพยายามรับฟังเวลาเขาบอกว่าเขารู้สึกอะไร โดยไม่ตัดสินสิ่งที่เขารู้สึก

ยืนเคียงข้างทุกเป้าหมายของเขา

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้าคือการขาดแรงจูงใจ การไม่สามารถหาเป้าหมายใด ๆ ในชีวิตให้อยากไปถึง และเพราะสิ่งนี้จึงทำให้คนเป็นซึมเศร้ารู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีความหมาย หรือไม่รู้จะอยู่ไปทำไม จึงสำคัญที่เราจะช่วยแนะนำ หรือชวนเขามาลองหาเป้าหมาย รวมถึงยืนเคียงข้างทุก ๆ เป้าหมายของเขา

ในห้วงเวลาที่สารสื่อประสาททำงานปกติการลุกขึ้นมาอาบน้ำ ดูแลตัวเอง กินข้าวให้ครบมื้ออาจดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก ๆ แต่สำหรับคนป่วยบางคนที่ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม การที่ในหนึ่งวันเขาตั้งเป้าหมายว่าวันนี้เขาจะลุกขึ้นมาแต่งตัว ดูแลตัวเอง หรือกินของอร่อย ๆ ก็ถือเป็นเป้าหมายที่มีความหมายสำหรับเขามากแล้ว ดังนั้นในฐานะคนรัก อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเป้าหมายแค่นี้เองหรอ? หรือทำไมไม่ตั้งเป้าหมายดี ๆ ใหญ่ ๆ ล่ะ? แต่ลองชวนเขาหาเป้าหมายเล็ก ๆ ในแต่ละวันเหล่านี้ และยืนอยู่ข้างเขา สนับสนุน และชื่นชมเมื่อเขาทำสำเร็จ สิ่งนี้จะมีความหมายมากทีเดียว

รักกันได้ แต่ต้องแนะนำให้เขาได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

แม้เราจะนิยามตัวเองว่าเราคือคนที่แข็งแรงกว่า และเรารู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบดูแลคนที่เรารักให้หายให้เร็วที่สุด แต่อย่าลืมว่าไม่มีใครเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่แบกรับได้ทุกอย่าง และเราเองก็ไม่ใช่หมอ การที่คนรักของเราป่วยต้องการกำลังใจ ต้องการคนคอยอยู่เคียงข้างตลอด ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกดดันตัวเองให้รักษาเขาให้หาย หรือเป็นพื้นที่ที่รองรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา

สิ่งที่สำคัญกว่าการพยายามบอกว่าเราไหว เราจะรองรับทุกอารมณ์อีกฝ่ายไว้เอง คือการแนะนำให้เขาไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ถูกต้องเหมาะสม ต้องจำไว้ว่าเราคือคนที่จะเคียงข้างเขาไปจนสุดทาง แต่ไม่ใช่คนที่จะมารองรับหรือรักษาอาการของเขา การทำแบบนี้เพื่อให้ทั้งเขาและเราเองก็ได้ดูแลสุขภาพจิตตัวเองอย่างถูกต้อง

อย่ากลัวที่จะพูดเรื่องหนัก ๆ

เราอาจเคยอ่านเจอมาว่าคำนั้นห้ามพูดกับคนเป็นซึมเศร้า คำนี้ไม่ควรพูดเด็ดขาด แม้จะไม่ได้มีตำราตายตัวขนาดนั้น แต่ก็ทำให้หลายคนหวาดกลัวหรือไม่แน่ใจว่าอะไรที่ควรพูด หรืออะไรที่ถามได้หรือไม่ได้บ้าง แต่สำหรับเรื่องหนัก ๆ บางเรื่องการที่เราถามความรู้สึกเขา และรับฟังโดยไม่ตัดสินไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่หมายถึงการที่เขาได้รับรู้ว่ามีคนสนใจสิ่งที่เขารู้สึกอยู่ และการที่เขาได้ระบายออกมาจะช่วยให้เขาได้คลี่คลายสิ่งที่รู้สึกในใจออกมาด้วย

โดยเฉพาะเรื่องการฆ่าตัวตาย หลายคนเข้าใจว่าเรื่องนี้อ่อนไหวมาก ถ้าเขาพูด แล้วเราต้องรีบเปลี่ยนเรื่อง ต้องรีบหาทางหนี แต่จริง ๆ การที่เขาบอกสิ่งที่เขารู้สึกออกมา เราควรถามเขาว่าทำไมรู้สึกแบบนั้น รับฟังสาเหตุ รับฟังสิ่งที่เขาอยากพูด เพราะไม่ว่าเราจะพยายามเปลี่ยนเรื่องคุยแค่ไหน สิ่งที่เขารู้สึกมันไม่ได้คลี่คลาย แต่ถ้าเราถาม รับฟัง อยู่เคียงข้าง ไม่ตัดสิน เขาจะได้เล่า ได้เรียบเรียงความรู้สึก และรู้ว่าเราอยู่ข้างเขาตรงนี้เสมอ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาจมอยู่กับความรู้สึกนั้นอย่างเดียวดาย

สิ่งที่อยากให้จำไว้เสมอคือเราไม่ใช่หมอหรือผู้เชี่ยวชาญ ถ้าคนที่เรารักป่วยเราควรแนะนำให้เขาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด ในขณะที่การอยู่ร่วมกันสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออย่าเอาสิ่งที่เราเป็น หรือคนอื่นเป็นไปตัดสินสิ่งที่เขาเป็น รับฟังเยอะ ๆ อยู่เคียงข้างเขาเข้าไว้ (แต่ถ้าวันไหนเราไม่ไหว เราก็ต้องสื่อสาร) ความป่วยไข้ไม่ว่าทางกายหรือทางใจก็หายใจถ้าได้รับการรักษาที่เข้าใจมากพอ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line