Life

งานคราฟต์คือการเรียนรู้: คุยกับเจ้าของ Patani Studio แลบฯ รูปฟิล์มที่ท้าทายกระแสดิจิทัล

By: PSYCAT September 12, 2017

“ผมว่างานคราฟต์คนชอบเยอะ แต่หาคนที่อยู่กับมันได้จริง ๆ ยาก” นี่คือประโยคจากปาก เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ที่วิ่งวนซ้ำ ๆ อยู่ในหัวเรา เขาคือเจ้าของ Patani Studio สตูดิโออัดและล้างภาพถ่ายฟิล์มที่ยังทำงานแบบแอนะล็อกทุกขั้นตอน ด้วยเหตุผลว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และทำมันในฐานะงานคราฟต์ที่ทดลองได้ไม่รู้จบ

แต่ในวันที่ดิจิทัลกำลังพาเราหมุนวนไปในกระแสซึ่งรุดหน้าไปเรื่อย ๆ การถ่ายภาพแบบแอนะล็อก และการล้างอัดภาพในฐานะงานศิลปะชิ้นหนึ่งจะยังท้าทายกระแสอยู่ได้อย่างไร คำตอบอยู่ไม่ไกล ในสตูดิโอขนาดกะทัดรัดที่ UNLOCKMEN พาคุณมานั่งฟังคำตอบจาก เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ตรงนี้แล้ว

UNLOCKMEN: ความรู้สึกของเรามันแตกต่างกันอย่างไรเวลาเราใช้กล้องดิจิทัลถ่ายกับกล้องแบบแอนะล็อกถ่าย

สำหรับผมภาพที่เห็นตอนถ่าย กับ ภาพที่สำเร็จบนปรินท์จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะว่าช่างภาพเวลาถ่ายภาพมันต้องคิดแล้วว่าตอนจบ จะจบยังไง นึกออกไหมฮะ อย่างเวลาถ่ายดิจิทัล เขาเห็นจอข้างหลังรีวิว โอเค เขาก็จะรู้ว่าไปทำต่อ เผื่ออันเดอร์ เผื่อโอเวอร์ แต่รู้ในหัวแล้วว่าระบบจะทำยังไงต่อ

ฟิล์มก็เหมือนกัน ต่อให้ไม่เห็น เพราะมันดูไม่ได้เลย แต่เราก็จะรู้ว่า โอเค มันจบได้ประมาณไหน รู้ว่าความสามารถในการทำงานเป็นยังไง

UNLOCKMEN: อะไรคือสิ่งที่กระบวนการดิจิทัลทดแทนฟิล์มไม่ได้แน่ ๆ

ถ้าเป็นผมเอง ผมจะถ่ายฟิล์มขาวดำเยอะกว่า มันต้องจบที่การปรินท์รูปในห้องมืด ส่วนอย่างอื่นก็เป็นกระบวนการที่เข้ามาช่วย เช่น การสแกนเพื่อให้เห็นว่ารูปที่ถ่ายมาแล้วมันจะเป็นยังไง

ส่วนถ้าให้ผมถ่ายดิจิทัล ผมจะไม่รู้ว่ามันจะไปจบยังไงหรือว่าภาพที่ขึ้นบนจอทำยังไงถึงจะสวย มันแตกต่างกับฟิล์มตรงนั้น นั่นแหละวิธีการทำงานของการถ่ายภาพฟิล์มคือเราคิดว่ามันจะจบลงบนกระดาษตรงนี้

UNLOCKMEN: บางคนชอบอะไรมาก ๆ แต่พอต้องมาทำงานกับมันแล้วเบื่อ เราใช้ความชอบมาเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานในแต่ละวันได้อย่างไร

ก็ชอบ เพราะชอบมันก็เลยยังทำต่อไป ที่ยังทำต่อไปได้เพราะรู้สึกว่ามันก็มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ

สำหรับผมหรือศิลปินที่ทำงานด้วยฟิล์มมานาน ๆ จะรู้ว่ามันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง แค่การล้างฟิล์มมันสามารถทำได้เยอะแยะมากมาย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง มันสามารถเอาไปเล่นอะไรได้อีก อันนั้นเป็นการทดลองของแต่ละคน เพื่อสร้างงานออกมาในลักษณะต่าง ๆ มันยังมีพื้นที่อีกมากที่สามารถนำมาใช้สร้างสรรค์

UNLOCKMEN: ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำ Patani Studio ในฐานะงานคราฟต์ งานศิลปะ ไม่ใช่ที่ที่ล้างภาพ 1 2 3 แล้วก็จบ แต่เป็นสถานที่ที่เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ

ถ้าที่นี่ผมก็คิดว่ามันเป็นงานคราฟต์ เราทำงานไปเรียนรู้ไป  พวกนี้มันเป็นเหมือนชั่วโมงบินอ่ะครับ เป็นการเก็บประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ เรารู้ว่าวันนี้เราเปิดที่นี่มา 3 ปีครึ่ง มันดีกว่าตอนแรก ๆ 3 ปีที่ผ่านมาสามารถพัฒนาเราไปอีกขั้นหนึ่ง

UNLOCKMEN: แรงบันดาลใจแรกที่เราคิดว่าเราจะทำ Patani Studio คืออะไร

เราก็เป็นช่างภาพอิสระมาตลอด ช่วงก่อนที่จะได้มาทำที่นี่เราได้ทุนสนับสนุนทางศิลปะ เดินทางไปญี่ปุ่น และอีกหลายที่ แล้วก็เห็นว่าโอเค เราจะเอาความสามารถที่มีมาปรับตัวยังไงในโลกที่มันเปลี่ยนไป ในแง่ที่ว่า โลกนี้เขาไม่ได้ใช้ฟิล์มกันแล้ว และกระแสดิจิทัลเนี่ย เรียกว่าตลาดของช่างภาพแบบที่ผมทำแทบจะหายไปหมดเลย

เราเห็นว่าเราทำแบบนี้ได้ เรามีสกิลแบบนี้ ที่ตลาดยังขาดอยู่ คนอาจเลิกใช้ฟิล์มไปมากแล้ว และที่ให้บริการงานฟิล์ม หรือสามารถทำงานห้องมืดได้เนี่ยมันแทบไม่มี เราคิดว่าฟิล์มมันหายไปจริง แต่ก็น่าจะกลับมา ถึงเราจะไม่รู้ว่ามันจะกลับมามากน้อยแค่ไหน

UNLOCKMEN: ความท้าทายของการยังยืนยันที่จะทำภาพฟิล์มในวันที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปคืออะไร

ในยุคปัจจุบัน อุปกรณ์และความรู้เฉพาะทางเป็นสิ่งของในอดีต การแก้ปัญหาบางอย่างอาจจะต้องค้นคว้าเป็นพิเศษ ร้านเรามีลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลาย บางคนเป็นช่างภาพฟิล์มมานานหลายสิบปี มีความต้องการบนมาตรฐานที่ชัดเจน การทำให้เขาประทับใจถือเป็นความท้าทายของเราอย่างหนึ่ง รวมถึงคนที่เพิ่งกลับมาใช้ฟิล์ม เราจะทำอย่างไรให้เขาเห็นเสน่ห์ และยังคงมีแพสชั่นกับคุณภาพของงานฟิล์มที่ดี

UNLOCKMEN: เรามองกระแสการถ่ายภาพฟิล์มในทุกวันนี้ของประเทศไทย และ ต่างประเทศอย่างไร

ผมว่ามันก็เหมือน ๆ กันนะ ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ คือมันก็กลับมามากขึ้นทุกที่อ่ะครับ เราจะเห็นว่ามันมีฟิล์มให้ใช้หลากหลายมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีศักยภาพมากเท่าในอดีต เพราะส่วนใหญ่ที่เราเห็นก็ผลิตจากโรงงานไม่กี่แห่ง คือมันเข้ามาตอบโจทย์ตลาดมากกว่าตอบโจทย์คุณภาพ

คนก็กลับมามั้ง (หัวเราะ) แต่ 3 ปีที่ผ่านมาก็มีลูกค้ามากขึ้น ทั้งลูกค้าประจำ มีคนวนมา มีคนหายไป มันเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างน้อยเขาก็รู้ว่ามีที่แบบนี้อยู่ สมมติอยากปรินท์รูป ปีนึงอาจจะปรินท์สักครั้งนึง ก็ให้รู้ว่าเราก็มีที่ที่คุณจะมาทำได้

UNLOCKMEN: มองภาพฟิล์มว่าเป็นงานคราฟต์ไหม จะอธิบายคนที่ไม่รู้ยังไง

มันต้องมาเห็นด้วยตาครับ เช่น ผมชอบงานคราฟต์ งานปรินท์ มีโอกาสไปที่ไหนผมก็จะไปหาดู บางภาพอยู่ในหนังสือไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ดูงานปรินท์ดีมาก บางภาพเหมือนจะดีมาก แต่ดูปรินท์แล้วก็เฉย ๆ นะ มันน่าจะดีกว่านี้ ผมมองรูปถ่ายในแง่งานคราฟต์ด้วย

ผมว่างานคราฟต์คนชอบเยอะ แต่หาคนที่อยู่กับมันได้จริง ๆ ยาก สมัยที่ผมเริ่มก็มีคนที่เริ่มมาพร้อม ๆ กัน หรือคนที่เก่งกว่า แต่สุดท้ายก็หยุดไปเพราะว่าอาจจะไม่ได้ทำเป็นอาชีพ ไม่สนุกแล้ว บางทีก็มีลูกไม่มีเวลาทำงาน

UNLOCKMEN: ข้อดีของแอนะล็อกคืออะไร

ข้อดีคือเราว่ามันจับต้องได้ มีอยู่จริง อีกข้อหนึ่งคือเรารู้สึกว่ามันทำให้เราได้เรียนรู้จากการทำงานทุกอย่าง เรารู้สึกว่ามันอยู่ข้างนอกจอ มีการสูญเสีย มีการพัง มีการบำรุงรักษา มีร่องรอยของเวลา เมื่อเราทำเสีย เราได้อะไรจากมัน ไม่ใช่แค่อันดู รีดู แก้ใหม่ได้

ฟิล์มในฐานะงานคราฟต์ของ เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ จึงไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่เป็นสิ่งจับต้องได้ที่สอนให้เขาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ไม่รู้จบ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากลองสัมผัสงานคราฟต์สไตล์แอนะล็อก สวนกระแสรูปภาพจากกระบวนการดิจิทัล เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Patani studio – ปาตานี สตูดิโอ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line