Life

เพลงจบแล้วเศร้า รู้จักกับโรค PCD หรืออาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต

By: TOIISAN December 19, 2018

ในแต่ละปีประเทศไทยถือเป็นเมืองที่มีนักร้องทั้งไทยและเทศต่างพากันจัดแสดงคอนเสิร์ตกันอย่างเนืองแน่น เมื่อเราได้ไปอยู่ในคอนเสิร์ตที่ดีต่อใจมาก ๆ หลังจากความสนุกจบลง จากความสุขกลับถูกแทนที่ด้วยความเศร้าและรู้สึกอยากร้องไห้อย่างบอกไม่ถูก ถ้ารู้สึกแบบนี้คุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็น PCD หรืออาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ตแล้วก็เป็นได้

PCD หรือ Post Concert Depression คืออาการซึมเศร้าหลังจากจบคอนเสิร์ต เกิดขึ้นเมื่อเราเข้าไปชมการแสดงและได้พบเจอศิลปินที่ชื่นชอบพร้อมสนุกสนานไปกับดนตรี ฮอร์โมนในร่างกายที่เป็นสารสร้างความสุขอย่าง Endorphine จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหัน ความผิดปกติของฮอร์โมนจะทำให้เกิดผลกระทบทางความคิด ส่งผลให้เมื่อออกก้าวออกจากฮอลล์และกลับมาบ้าน ต้องเผชิญกับความจริงว่าพรุ่งนี้ต้องทำงานหรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างที่เคยเป็น ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกว่างเปล่าและซึมเศร้า คิดว่าเวลาแห่งความสุขทำไมถึงผ่านไปเร็วขนาดนี้ บางครั้งอาจจะร้องไห้ ซึ่งความรู้สึกแย่ ๆ นี้จะกินระยะเวลาตั้งแต่ 2 ชั่วโมง ไปจนถึงเป็นเดือนเลยก็มี

เพราะความสุขสามารถทำให้เราใจสลายได้ ผลจากวารสารศึกษาโรคหัวใจยุโรปหรือ European Heart Journal ที่วิเคราะห์ข้อมูลสถิติคนไข้ของโรงพยาบาลซูริกจำนวน 485 ราย พบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจสลาย หรือ Broken Heart Syndrome เป็นจำนวน 20 คน จากเหตุการณ์ที่กำลังมีความสุขจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น งานแต่ง งานวันเกิด ทีมโปรดชนะการแข่งขัน รวมถึงคอนเสิร์ต ที่ถึงแม้การป่วยจากความสุขจะมีอัตราความเสี่ยงที่น้อยกว่าสาเหตุจากความเครียด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มี ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้วยการสังเกตอาการดังต่อไปนี้สามารถบอกได้เบื้องต้นว่าคุณมีภาวะ Post Concert Depression หรือไม่

ระยะแรกจะรู้สึกสบายใจและอิ่มเอม เมื่อเพิ่งออกจากงานคอนเสิร์ตวงโปรดมาหมาด ๆ สิ่งแรกที่ทุกคนจะรู้สึกเหมือนกันคือความสุขที่อบอวลอยู่ทั่วทั้งตัว หูอื้อ ใจเต้นแรง รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะสารความสุขอย่าง Endorphine กำลังสูบฉีดอยู่ในร่างกาย ดังนั้น ระยะรู้สึกสบายใจและอิ่มเอมสามารถเกิดได้กับทุกคน

ระยะการสะท้อนกลับของความรู้สึก จากความรู้สึกมีความสุขแบบสุด ๆ เริ่มกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเศร้า เกิดความคิดที่ว่าระยะเวลาของการแสดงน่าจะนานกว่านี้ ความผิดหวังเล็ก ๆ เข้าเกาะกุมหัวใจ หมกมุ่นครุ่นคิดว่าเราจะมีความสุขจากการดูคอนเสิร์ตแบบนี้ได้อีกครั้งเมื่อไหร่กัน และการรอคอยคอนเสิร์ตครั้งต่อไปมันนานเกินไป

ระยะรู้สึกถูกทอดทิ้ง เมื่อออกจากงานคอนเสิร์ตสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือการบอกเล่าความรู้สึกที่เพิ่งได้พบเจอมา ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่รับฟังมักตอบกลับมาว่าฟังดูน่าสนุก หรือ มีความสุขใช่มั้ย? หลังจากนั้นมักจะเกิดการต่อต้านโดยอัตโนมัติว่า “คุณไม่เข้าใจ ในคอนเสิร์ตมันมีอะไรที่มากกว่านั้น” หรือ “อยากให้ไปเจอด้วยตัวเอง” และเริ่มเกิดความคิดที่ว่าคนอื่น ๆ นั้นไม่เข้าใจความรู้สึกที่คุณกำลังจะสื่อได้มากพอ และคิดว่าที่ที่เราอยู่นั้นไม่ใช่ที่ของเรา เมื่อเกิดความคิดแบบนี้ก็อย่าโทษตัวเองเลย มันเป็นเพราะความผิดปกติของฮอร์โมนทำให้รู้สึกถูกทอดทิ้ง

ระยะการยอมรับ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น PCD จะสามารถก้าวมาถึงระยะนี้ได้ ส่วนมากผู้ที่ซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ตจะติดอยู่ในช่วงระยะรู้สึกถูกทอดทิ้งเป็นส่วนมาก เพราะการยอมรับความจริงว่าความสนุกและความสุขในคอนเสิร์ตนั้นจบลงไปแล้วเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก แต่ความทรงจำและความสุขในระหว่างการแสดงสามารถเยียวยาอาการนี้ได้ ซึ่งงานวิจัยทางจิตวิทยาใน Psychology Today กล่าวว่าการนึกถึงความสุขในช่วงเวลาที่อยู่ในคอนเสิร์ตนั้นจะช่วยให้สภาพจิตใจเราดีขึ้นได้ สามารถเปลี่ยนความเศร้าเป็นพลังได้ เพราะฉะนั้นการยอมรับความจริงและดูรูปหรือคลิปวีดีโอเพื่อทบทวนความทรงจำนั้นจะไม่ทำให้เราเศร้าไปกว่าเดิม

ระยะเผชิญหน้ากับความจริง ในบางครั้งภาวะ PCD อาจตีความหมายได้ว่า การได้ไปดูคอนเสิร์ตที่ชื่นชอบเป็นการปลดล็อคเป้าหมายหรือปณิธานของชีวิตไปอย่างหนึ่งแล้ว เพราะในบางคนก็มีชีวิตอยู่เพื่อความสุขที่ต้องการอย่างการรอให้ได้ไปเที่ยวในสถานที่ชอบ หรือไปชมคอนเสิร์ตศิลปินในดวงใจ เมื่อเป้าหมายที่หวังไว้ได้ถูกเติมเต็มจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่างเปล่าว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อ

อาการซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ตทั้งหมดที่กล่าวมาอาจจะไม่เคยเกิดกับบางคนที่ไปดูคอนเสิร์ตเลยก็ได้ หรือเกิดแค่ระยะที่รู้สึกสบายใจและอิ่มเอม แต่กับบางคนที่มีความชอบในดนตรีหรือศิลปินมากจนเรียกว่าคลั่งไคล้ทั้งผลงานและตัวศิลปิน ก็อาจจะมีอาการทั้งหมดที่กล่าวมามากเป็นพิเศษในระดับที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการทำความเข้าใจกับตัวเองและการยอมรับความจริงจึงเป็นเรื่องที่ควรปรับและทำให้ได้ อย่าให้ความรู้สึกแย่ตกผลึกในใจนานเกินไป เพราะมันจะน่าเสียดายมากหากการได้ไปดูการแสดงของศิลปินที่ชื่นชอบกลับทำให้ตัวเราเป็นทุกข์

นอกจากนี้อาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ตหรือ PCD ไม่ได้เกิดแต่กับแค่คนดูเท่านั้น ตัวศิลปินบางคนเองก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะ PCD ได้ด้วยเช่นกัน อย่างศิลปินสาวเกาหลีน้ำเสียงทรงพลังอย่าง คิม แทยอน ที่พึ่งจัดคอนเสิร์ตไปเมื่อไม่นานมานี้ทั้งในเกาหลีใต้รวมถึงไทย ก็ยังเคยบอกว่าไม่อยากให้การทัวร์คอนเสิร์ตทั่วเอเชียของเธอต้องจบลง เพราะเธอจะเหงาและหวนคิดถึงบรรยากาศในช่วงที่แสดงคอนเสิร์ตเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าเราจมอยู่กับความรู้สึกแบบนี้นานเกินไป มันอาจนำพาไปสู่อาการโรคซึมเศร้าได้

เมื่อเกิดภาวะ PCD สิ่งที่ควรทำคือการปลดปล่อยความรู้สึกออกมา เราสามารถร้องไห้หนักได้ จดบันทึกความรู้สึกทั้งความประทับใจและความเศร้า แต่เมื่อได้ระบายแล้วก็ต้องดึงตัวเองกลับมาให้ได้ด้วยเช่นกัน เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของคอนเสิร์ตคือการสร้างความสุขด้วยเสียงเพลง เป็นเหมือนกับการพักชาร์ตแบต และสามารถผลักดันให้เรารอคอยที่จะเจอกับศิลปินอีกครั้งอย่างมีความหวัง หากคิดได้แบบนี้ชีวิตในแต่ละวันช่วงหลังคอนเสิร์ตจบลงไปหมาด ๆ ก็จะไม่เศร้าซึมอีกต่อไป

 

SOURCE1 SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line