

FASHION
Pitti Uomo งานปล่อยของที่กลายเป็นจุดนัดพบและกำหนดทิศทางแฟชั่นของเหล่า Hipster ยุคนี้
By: unlockmen May 3, 2017 60010
เมือง Florence นอกจากจะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในความงดงามของสถาปัตยกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแล้ว ยังคงเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม เพราะที่นี่คือจุดเริ่มต้นของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) โดยอีกหนึ่งไฮไลท์ที่เป็นสิ่งขึ้นชื่ออีกอย่างคืองานเทรนด์โชว์แสดงสินค้าเครื่องแต่งกายชายที่มาแรงที่สุดไม่แพ้รันเวย์ไหน ๆ อย่าง Pitti Uomo
หากจะบอกว่างาน Pitti Uomo คืองานแฟชั่นโชว์กลายๆ ก็ได้เช่นกัน เพราะจะมีสินค้าแบรนด์อิตาลี รวมถึงจากทั่วโลกมานำเสนอคอลเลคชั่นใหม่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ในช่วง fall/winter (มกราคม) และ spring/summer (มิถุนายน) ซึ่งจะมี editor จาก magazine, buyer, retailer, influencer มาเข้าร่วมชมการแสดงโชว์คอลเลคชั่นกันอย่างคับคั่ง
สิ่งที่ทำให้ Pitti Uomo โดดเด่นแตกต่างจากแฟชั่นโชว์อื่น ๆ คือสไตล์เสื้อผ้าที่มีความเป็นมนุษย์ และสามารถใส่ได้ในชีวิตจริงมากกว่าเสื้อผ้าจาก Runway และการที่เจ้าของแบรนด์จะได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ซื้อโดยตรง ต่างจากแฟชั่นโชว์ที่จะเน้นในเรื่องของ performance บน stage จนทำให้ designer กับผู้ซื้อไม่มีโอกาสได้ปฎิสัมพันธ์กันด้วยซ้ำ
นอกเหนือจากนั้นยังมีประชันสไตล์ของผู้เข้าร่วมงานที่จัดจ้าน หาตัวจับยาก จึงไม่น่าแปลกใจหากภาพจากงาน Pitti Uomo ส่วนใหญ่ล้วนกลายเป็น reference บน Pinterest แทบจะทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการบอกเล่าความเป็นมาของงาน Pitti Uomo ทีมงานจึงได้นำเอาประวัติรวมถึงจุดเริ่มต้นจนกลายเป็นงานเด็กแนวที่ฮอตฮิตอย่างเช่นทุกวันนี้มาฝากกัน
ย้อนกลับไปยังปี 1951 ชายที่ชื่อว่า Giovanni Battista Giorgini (ว่ากันว่าเขาเป็นคนสร้างแฟชั่นโชว์เป็นคนแรกในประเทศอิตาลี) เขาเป็นคนมีวิสัยทัศน์ และความต้องการที่จะเผยแพร่แฟชั่นของอิตาลีให้กระจายไปทั่วโลก และเนื่องจากความสัมพันธ์อันดีกับบริษัทนำเข้าส่งออก ทำให้ Giorgini ได้เชิญชวนผู้ซื้อชาวอเมริกามากมาย เพื่อมาชมความประณีตในการตัดเย็บเสื้อผ้าสไตล์อิตาลี จึงเกิดเป็นงานแสดงผลงานสินค้าครั้งแรกขึ้นที่เมือง Florence แต่จะมีโชว์เฉพาะเสื้อผ้าของผู้หญิงเท่านั้น จัดขึ้นที่ Sala Bianca ใน Palazzo Pitti
Giovanni Battista Giorgini ชายผู้ทำให้เกิดแฟชั่นโชว์ในประเทศ อิตาลี
งานแสดงผลงานได้ถูกจัดเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1972 นับว่าเป็นปีเกิดของงาน Pitti Uomo อย่างแท้จริง โดยที่มาของชื่อ Pitti ก็มาจาก Pitti Immagine ซึ่งเป็นองค์กรที่รับหน้าที่จัดงานแสดงสินค้านี้ ส่วน Uomo ตามภาษาอิตาลีแล้วก็แปลว่าผู้ชาย ดังนั้นงาน Pitti Uomo จึงเป็นงานแสดงสินค้าเครื่องแต่งกายชายอาทิ การตัดเย็บสูท (tailoring) ที่จัดขึ้น 4 วัน 4 คืน มีการเชิญชวนผู้ซื้อจากทั่วโลก (ส่วนใหญ่จากอเมริกาในช่วงแรก) มาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ ปฎิสัมพันธ์ และกระตุ้นอุตสาหกรรมแฟชั่นภายในประเทศอิตาลี
นอกจากนั้นยังมีการชวนคนดังมาเพื่อกระตุ้นความสนใจจากสื่ออีกด้วย เพียงแค่ปีแรกงานก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากจนทำให้ Pitti Immagine สร้างงาน Pitti Bimbo ที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าเด็ก Pitti Filati งานแสดงสินค้าจากผ้าถัก Taste งานโชว์เคสเกี่ยวกับอาหาร และวัฒนธรรมต่อมา (จะว่าไปงานที่กล่าวมาทั้งหมดก็ไม่ต่างจากงานแฟร์บ้านเราเสียเท่าไหร่) Pitti Uomo จึงเปรียบดังเวทีแจ้งเกิดสำหรับแบรนด์เสื้อผ้าบุรุษทั้งหลายในอิตาลีไม่ว่าจะเป็น Giorgio Armani หรือ Ermenegildo Zegna ล้วนเริ่มจากบู้ทเล็ก ๆ ภายในงานก่อนจะขยับขยายเป็นห้องเสื้อระดับไฮเอนด์
กระทั่งยุค 80s สไตล์การแต่งตัวแบบอิตาเลี่ยนเริ่มเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทุกสายตาเริ่มจับจ้องมาที่ประเทศอิตาลี ทำให้พื้นที่จัดงานเดิมอย่าง Sala Bianca ใน Palazzo Pitti คับแคบจนเกินไปเสียแล้ว ทางทีมจัดงานจึงได้ย้ายสถานที่จัดไปที่ the Fortezza da Basso เพื่อจัดงาน Pitti Uomo แฟร์ ด้วยสถานที่อันกว้างขวางทำให้แต่ละแบรนด์สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน งาน Pitti Uomo จึงเปรียบดังศูนย์กลางแฟชั่นของอิตาลีอย่างแท้จริง
the Fortezza da Basso สถานที่จัด Pitti Uomo
ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีบางแบรนด์เลือกที่จะโยกย้ายไปยัง Milan ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางแฟชั่นแห่งใหม่ของอิตาลี มากกว่าจัดงาน Pitti Uomo ในเมือง Florence จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้น บู้ทที่เคยเป็นของแบรนด์อิตาลีเดิมว่างลง ทำให้ผู้จัดงานต้องเริ่มมองหาแบรนด์จากต่างประเทศเพื่อมาเติมให้เต็ม จากแต่เดิมที่กว่า 100% จะเป็นแบรนด์อิตาลี แต่หลังจากยุค 90s เป็นต้นมา บู้ทแสดงสินค้าภายในงาน Pitti Uomo แบ่งเป็น 60 % ของชาวอิตาลี และอีก 40% มาจากแบรนด์ทั่วโลก
ความจริงแล้วงาน Pitti Uomo ก็เป็นเพียงงานแฟร์แสดงสินค้าที่ดูไม่น่าจะได้รับความสนใจอะไร แต่เพราะกระแสสตรีทแฟชั่นที่นิยมอย่างกว้างขวางในช่วง 4-5 ปีหลัง บวกกับภาพถ่ายสตรีทสไตล์ที่ได้นำเสนอแฟชั่นรูปแบบใหม่โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของแม๊กกาซีน หรือรันเวย์อีกต่อไป ทำให้งาน Pitti Uomo ที่มีความเป็นสตรีทตามคอนเซ็ปของมันอยู่แล้ว ยิ่งทวีคูณความน่าสนใจเพิ่มขึ้นไป
ซึ่งในปัจจุบันงาน Pitti Uomo ก็จัดมาถึงครั้งที่ 91 แล้วสำหรับคอลเลคชั่น Fall / Winter เมื่อวันที่ 10 -13 มกราคม 2017 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 30,000 คน และบู้ทแสดงสินค้ามากกว่า 1,200 บู้ท ซึ่งคาดว่ายอดผู้เข้าร่วมจะเพิ่มขึ้นทุกปีตามลำดับ จึงไม่น่าแปลกใจที่ Pitti Uomo จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับ celeb ในการปล่อยของ นัดพบ รวมถึงกำหนดทิศทางของแฟชั่นในปีนั่น ๆ อีกด้วย เราเองก็อยากให้ในประเทศไทยมีงานรวมตัวแฟชั่นแบรนด์ไทยแบบนี้บ้าง จะได้เป็นการโชว์ของ และรวมตัวกลุมลูกค้าที่สนใจ ทำให้เกิดความแข็งแรงในวงการแฟชั่นประเทศไทยมากกว่าต่างคนต่างขาย ต่างคนต่างซื้อ แบบในปัจจุบัน