Business

PLASTIC FREE PHENOMENA ปรากฏการณ์เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในเทรนด์ธุรกิจทั่วโลก

By: anonymK June 18, 2019

โลกธุรกิจวันนี้ คนที่อุ้ยอ้ายและปรับตัวได้ช้าที่สุดจะได้รับผลกระทบมากกว่าชาวบ้านเสมอ ต่อให้ใหญ่ค้ำฟ้าแค่ไหนก็มีโอกาสถูกเขี่ยทิ้งไปอยู่ด้านหลังได้ทันที ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ แม้จะต้องลงทุนด้วยเงินมูลค่ามากมายแค่ไหนก็ตาม เจ้าของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างรู้ดีว่าจำเป็นต้องแลกมา

ครั้งนี้เราขอเจาะปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกเรื่อง “โค่นบรรจุภัณฑ์พลาสติก” กันก่อน ใครที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ หรือต่อให้เป็นผู้บริโภคเองก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องสนุก ๆ ที่ทำให้คุณได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจทั้งเรื่องการลงทุนและบริโภคของตัวคุณเอง

NEW WAVE FROM CONSUMER

สำหรับคนค้าขาย พอคนหันไปนิยมอะไร มันก็ยากที่เราจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน เพิกเฉยต่อสิ่งที่เห็น โดยเฉพาะถ้าคลื่นลูกนั้นถาโถมใส่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมายหลักของเรา ยิ่งเมื่อการแข่งขันเรื่องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าใน พ.ศ. นี้กลายเป็นแกนของการทำธุรกิจแล้ว การสร้างแบรนด์ตัวเองให้เป็นผู้นำเรื่องทัศนคติบวก ๆ รับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะคนทุกคน

“ไม่มีใครอยากโดนเอาเปรียบ หรืออยากอุดหนุนแบรนด์ที่เอาเปรียบคนอื่น”

กลับมาที่เรื่องบรรจุภัณฑ์อีกที ในช่วงสองปีที่ผ่านมากระแสการต่อต้านพลาสติกเริ่มรุนแรงขึ้นเพราะผู้คนตระหนักเรื่องผลกระทบทางธรรมชาติ ทั้งเรื่องโลกที่เพิ่มอุณหภูมิ ไปจนถึงเรื่องปลาวาฬที่ตายปริศนาจนเมื่อผ่าพิสูจน์แล้วพบว่าในท้องเต็มไปด้วยถุงพลาสติก ทั่วโลกจึงให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยหันมาจริงจังกับการดูแลสิ่งแวดล้อม แล้วพวกเขาใช้อะไรเข้ามาทดแทนพลาสติก แบรนด์ไหนบ้างที่จับกระแสนี้อยู่หมัด UNLOCKMEN นำมาฝากด้านล่างแล้ว

2019 MATERIALS FOR PACKAGING
PAPER

ถึงแม้กระดาษจะไม่ดังเปรี้ยงปร้างอีกต่อไปในธุรกิจสิ่งพิมพ์ แต่ในวิถีของ Packaging วันนี้ยังไงก็มาแน่ ๆ เรื่องนี้มันเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วที่ข่าวพลาสติกเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ การสังเวยชีวิตของปลาวาฬ หรือปลาชนิดอื่น รวมทั้งการทำลายระบบนิเวศน์จนกระทั่งท้ายที่สุดไมโครพลาสติกนั้นเข้ามาสู่วงจรอาหารการกินของเรา กลายเป็นเรื่องที่คนหันมาตระหนักมาขึ้นและทำให้บรรจุภัณฑ์ของแต่ละแบรนด์ต้องกลับลำ โดยเฉพาะแบรนด์เครื่องดื่มนานาชนิด เนื่องจากเป็นภาชนะใช้บรรจุของเหลวในอุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น

INNOVATION & BRAND :

© Starbuck Official

แบรนด์แรกที่ลุกมาเคลื่อนไหวเรื่องพลาสติกแบรนด์แรก ๆ เท่าที่เราจำความได้คือสตาร์บัค ซึ่งเริ่มตั้งแต่การลดใช้ “หลอดพลาสติก” ก่อนด้วยการทำฝาพร้อมดื่ม เพื่อลดจำนวนชิ้นพลาสติกลงต่อเสิร์ฟ สิ่งนี้จึงทำให้แบรนด์ใหญ่อย่างสตาร์บัคได้ใจคนในตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น วันนี้แม้หลอดหรือแก้วใส่เครื่องดื่มเย็นของสตาร์บัคจะยังไม่ได้เป็น Plastic Free 100% คนก็ยังนิยมการดื่มสตาร์บัคเพราะความพยายามของเขา นับว่าเป็นการเดินเกมก้าวแรกได้ดีทีเดียว

จะยกตัวอย่างแต่ต่างประเทศก็ดูเหมือนไทยยังไม่ตื่นตัว ที่จริงแล้วเราเจอว่าหลายแบรนด์ในบ้านเราเริ่มหันมาลดการใช้พลาสติกเหมือนกันและสำหรับขาหนึ่งที่เห็นได้ชัดแบบไม่ต้องพึ่งแคมเปญเลย เราเองก็อุดหนุนมาสักระยะนึงแล้วด้วยคือแบรนด์กาแฟดอยตุง ที่นี่เขาหันมาใช้หลอดกระดาษกันแล้ว ส่วนแก้วที่ยังเป็นแก้วเครื่องดื่มเย็นนั้นยังแม้จะยังไม่ได้ผลิตด้วยกระดาษ แต่ก็ใช้พลาสติกประเภท PETE ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ สังเกตจากตัวฝาที่ทำสัญลักษณ์นูนบ่งบอกไว้นั่นเอง

PLANTS

จะมีอะไรเข้าใจธรรมชาติได้ดีกว่าพวกเดียวกัน การสร้างนวัตกรรมเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายง่ายอย่างพวกใบไม้หรือส่วนประกอบของพืชผล ซึ่งอันที่จริงถ้าย้อนไปในอดีตหลายปีที่แล้วเราก็ใช้มันเป็นภาชนะสำหรับตักตวงหรือใส่อาหารจึงกลายเป็นวัสดุทางเลือกสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่กำลังมาแรงในยุคนี้

INNOVATION & BRAND :

Leaf Republic คือแบรนด์ทำบรรจุภัณฑ์จากใบไม้ที่นำมาเย็บให้แข็งแรง สามารถใส่น้ำและอาหารได้ โดยเมื่อโยนทิ้งแล้วจะใช้ระยะเวลาภายใน 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือนเท่านั้นเพื่อย่อยสลาย

งานนี้เรียกว่าได้ถึง 2 เด้ง ประการแรกคือทำให้ใบไม้ที่ร่วงโรยสามารถสร้างประโยชน์ได้ ส่วนอีกประเด็นคือการใช้ประโยชน์เรื่องการย่อยสลายของมัน รวมทั้งประเด็นสุดท้ายคือต้นทุนต่ำ เนื่องจากใช้ใบไม้ซึ่งไม่ต้องนำไปแปรรูปอะไร ผิดกับกระดาษที่ต้องตัดต้นไม้แล้วนำมาเข้ากระบวนการมากมายเพื่อดึงเยื่อไม้มาใช้

perfecthomes

นอกจากชิ้นนี้ของเยอรมัน บ้านเราเองก็นำแนวทางเดียวกันมาทำแล้วเช่นกัน อย่าง The Rimping (ริมปิง) ซูเปอร์มาร์เก็ตเชียงใหม่ได้นำใบตองมาห่อผักผลไม้รัดด้วยเชือกกล้วยเพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์สะดวกหิ้ว สร้างไวรัลด้านความคิดสร้างสรรค์จนได้รับคำชมจากสื่อต่างประเทศมากมาย

behance.net

ปิดท้ายอีกสักตัวด้วย Potato Peal Pack ซองใส่เฟรชฟรายด์ครบวงจร ที่ได้แนวคิดจากการปลอกเปลืองมันฝรั่งทิ้งไป เขาก็นำมันกลับมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารอีกครั้งในรูปแบบภาชนะทรงกรวย ข้อดีคือมันทำให้การขายเฟรชฟรายด์ร้านนี้เป็น Zero Waste หรือเรียกง่าย ๆ ว่าไม่ต้องเหลืออะไรทิ้งให้เป็นขยะสำหรับภายในร้านเพราะมันนำไปทำเป็นที่ใส่มันฝรั่งแล้ว อีกอย่างคือภาชนะชิ้นนี้ยังสามารถนำไปย่อยสลายได้ง่ายอีกด้วย

 

EDIBLE PACKAGING

ให้ย่อยง่าย ๆ ไปเยอะแล้ว จับแพ็คเกจไปกินเพื่อย่อยเองเสียเลยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่หลายแบรนด์ให้ความสนใจ และนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มลงมาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง แนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ภายใต้แนวคิดกินบรรจุภัณฑ์ไปไม่ให้เหลือเลยกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราเริ่มจะได้เห็น ถึงหลายคนจะกังขาเรื่องความสะอาดถูกสุขอนามัย แต่วิธีนี้ก็ยังได้รับการพัฒนาอยู่ดี

INNOVATION & BRAND :

สาหร่ายสีน้ำตาลที่นำมาสกัดเพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ / © 2019 – Skipping Rocks Lab Ltd.

แคปซูลน้ำใสสะดวกดื่มพร้อมเคี้ยว Ooho Water Capsule ที่ผลิตโดย Skipping Rocks Lab ชิ้นนี้ถือว่าสร้างความฮือฮาให้วงการบรรจุภัณฑ์อย่างยิ่งเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการใช้ขวดพลาสติก ผลิตขึ้นโดย Notpla ที่นำสาหร่ายน้ำตาลสกัด ทำออกมาเป็นสีใส ไร้รสชาติ แต่เหนียวพอไม่ให้แตกคามือหากโยนขึ้นไป ซึ่งภายในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเขาได้โปรโมตมันในงานมาราธอนเพื่อเป็นการแก้ปัญหาด้านพลาสติกเพราะตามงานมาราธอนหรืองานเทศกาลต่าง ๆ พลาสติกมักจะล้นออกมาเสมอ

 

© avanieco.com

“พลาสติกละลายน้ำ” ชิ้นนี้ให้กลิ่นอายใกล้เคียงความคุ้นเคยเดิม ๆ มากที่เดียว แต่ผิดตรงที่มันละลายน้ำได้และสกรีนลายหน้าถุงชัด ๆ ว่า “ฉันไม่ใช่พลาสติก”  นวัตกรรมชิ้นนี้ออกแบบโดย Avani Eco บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย ทำขึ้นจากมันสำปะหลังซึ่งทีมวิจัยออกมายืนยันว่า “กินได้ชัวร์ไม่มั่วนิ่ม” ด้วยการฉีกผสมกับน้ำ คน ๆ แล้วกระดกดื่มให้เห็นกันจะจะ ส่วนลูกค้าของบรรจุภัณฑ์นี้ เท่าที่ขึ้นชื่อไว้บนหน้าเว็บไซต์ก็มีทั้ง Heineken, Barney New York, Virgin ฯลฯ รวม ๆ แล้วมีมากถึง 15 เจ้าเลยทีเดียว

REFILL PACKAGE

ใช้วน ๆ ไปก็เป็นอีกบรรจุภัณฑ์ที่น่าลงทุน เรื่องนี้ก็ยังวนกลับมาที่แก้วน้ำ แต่ล้ำกว่าแก้วน้ำธรรมดาเพราะแก้วนี้ใช้ดูดชาไข่มุกได้โดยไม่ต้องใช้หลอด แต่ยังถือเป็นการทำโปรเจกต์มาขายอยู่เพราะเรายังไม่เห็นแบรนด์ไหนที่ซื้อมาใช้เป็นภาชนะสำหรับตัวเอง เนื่องจากน่าจะมีมูลค่าสูงและอาจจะยังไม่เหมาะกับพฤติกรรมของคนยุคนี้ที่ยังไม่ได้ต้องการซื้อชาไข่มุกแล้วถือแก้วตลอดเวลาไปไหนมาไหน

behance.net

งานนี้ออกแบบโดยนักออกแบบชาวจีน 2 คน ได้แก่ Mickey Wu และ Fang Shin โดยตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า Float ผลิตแก้วที่เป็นลักษณะ 2 ชั้น ด้านบนสำหรับใส่ไข่มุก ส่วนด้านล่างสำหรับใส่น้ำแข็ง วิธีนี้จะช่วยแยกน้ำกับไข่มุกออกจากกัน เวลากินเราเลยไม่ต้องควานแบบหลอด แค่ดูดเอาจากปากแก้วที่ทำทรงมาให้รองรับพอดีก็สามารถกินได้ทันที เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมิติย่อย ๆ ที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจ แต่ภาพรวมใหญ่เรื่องผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือการทำเพื่อความยั่งยืนทุกแบรนด์ก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะแม้เจ้าของแบรนด์ต้องลงทุนก่อนแต่ผลจากการสำรวจของ APP (Asia Pulp Paper) ชี้ชัดว่าการลงทุนนี้ไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างที่เข้าใจ เนื่องจาก 75% ของผู้บริโภควันนี้ยินดีอุดหนุนแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแม้จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น มันเลยกลยุทธ์นี้จึงไม่ใช่การวัดดวง หรือสร้างไวรัลแต่เป็นแนวการพัฒนาระยะยาว

แล้วพวกเราล่ะ จะยอมจ่ายเยอะขึ้นไหมถ้าแบรนด์ที่ใช้กันเป็นประจำอยากจะหันมารักษ์โลกกับเขาบ้าง

 

SOURCE: 1 / 2

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line