Life

เพราะเหี้ยไม่ได้เหี้ยอย่างที่เราคิด: รู้จัก “ไผ่-ปรเมศร์”นักวิชาการผู้หลงใหลและจริงจังเรื่อง’เหี้ย’

By: PSYCAT September 3, 2018

“เหี้ย” คำสั้น ๆ ที่พูดเบา ๆ ก็เจ็บ เถียงสิว่าถ้ามีใครมาพูดใส่หน้าเราว่า “เหี้ย!”แบบไม่รู้สี่รู้แปดแล้วเราจะไม่หัวร้อนขึ้นมา ? เพราะ “เหี้ย” ในสังคมไทยเป็นทั้งคำด่า เป็นภาพตัวแทนความไม่ดีสารพัดรูปแบบ แถม “ตัวเหี้ย”ยังเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่รูปลักษณ์ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่น่าพิสมัย จนเราแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมีใครสักคนที่หลงใหลในเหี้ยลงไปได้อย่างไร ?

แต่เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย วันนี้ UNLOCKMEN จึงสบโอกาสได้พบกับ “ไผ่-ปรเมศร์ ตรีวลัยลักษณ์” นักวิชาการด้านสัตว์เลื้อยคลานที่ยอมรับแบบสบาย ๆ ว่าหลงใหลในเรื่องเหี้ยและสัตว์เลื้อยคลานสารพัดประเภท แม้ตอนที่เขายอมรับกับเราจะดูชิล ๆ แต่ความหลงใหลในเหี้ยและสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ พาเขาไปสู่การศึกษาวิจัยที่หนักแน่นจริงจังที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

UNLOCKMEN เชื่อว่าในหนึ่งชีวิตนี้เราคงมีโอกาสเจอคนที่หลงใหลในเหี้ยและสัตว์เลื้อยคลานได้ไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่แปรความหลงใหลไปสู่การลงลึกศึกษาจนถึงขั้นปลดล็อกเพดานความรู้ความเชื่อเดิม ๆ เรื่อง “เหี้ย”ได้ บทสนทนาระหว่างเรากับเขาวันนี้ จึงว่าด้วยชีวิตของมนุษย์ผู้หลงใหลและศึกษาตัวเหี้ย รวมถึงบรรดาเรื่องเหี้ย ๆ ที่ไม่ได้เหี้ยอย่างที่คิด

เหี้ยจะทำให้คุณทึ่งเหี้ย ๆ เลย เรารับรอง

ความหลงใหลในเหี้ย: เพราะเหี้ยก็มีความงามของมัน

ผู้ชายอย่างเรา ๆ หรือจะเพศสภาพไหน ๆ ในโลกนี้ก็ตามอาจมีน้อยคนที่จะออกปากยอมรับได้เต็มปากเต็มคำว่า “เฮ้ย เราชอบเหี้ยอ่ะ”, “ใช่ครับ ผมว่าเหี้ยมันน่าหลงใหลสุด ๆ ไปเลย” ด้วยรูปลักษณ์สไตล์สัตว์เลื้อยคลานที่มนุษย์อย่างเรา ๆ รู้สึกว่ามันไม่น่ากอดรัด ฟัดเหวี่ยงด้วยเท่าไหร่ และพฤติกรรมกินซากที่ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าไม่ถูกสุขลักษณะอนามัยมากนัก แต่ไม่ใช่กับนักวิชาการด้านสัตว์เลื้อยคลายอย่าง ไผ่-ปรเมศร์ เพราะเขามองเห็นความงามบางอย่างของเหี้ยที่เราอาจไม่เคยมองเห็น (หรือมองหา) มาก่อน

“เคยไปนั่งกินกาแฟหรือนั่งในห้างแล้วนั่งมองผู้คนที่เดินผ่านไปมาแล้วรู้สึกว่าคนนั้นดูดีนะ คนนั้นหล่อ คนนี้สวย เคยไหม ? ผมก็เหมือนกันเลย การนั่งอยู่ในป่า นั่งอยู่ในพื้นที่ที่สามารถมองเห็นสัตว์เดินไปมาได้ แล้วเรามอง เราสามารถมองแล้วบางทีเรารู้ทันทีเลยว่า เฮ้ย ตัวนี้ดูดีนะ ตัวนี้เขาหล่อ ตัวนี้สวย คือจากการศึกษามาระยะนึง มันทำให้เราสามารถจำแนกเขาได้คร่าว ๆ จากหน้าตาเลยว่า เฮ้ย ตัวนี้ตัวผู้ ตัวนี้หล่อ ตัวนี้ตัวเมียนะ”

เราเรียกความรู้สึกนี้ว่าความหลงใหลได้หรือเปล่า ?

“เรียกได้ครับ เพราะว่า เอาจริง ๆ มันเป็นสิ่งที่หลายคนในชุมชน ในเมือง หรือวิถีชีวิตทั่วไปไม่ได้ชื่นชอบนัก การได้คลุกคลีอยู่กับสัตว์ ยิ่งสัตว์เลื้อยคลาน เป็นหลายสิ่งที่คนส่วนใหญ่กลัว แต่เราเห็นความงามของมัน”

เรานั่งฟังคำตอบเขาจบในจังหวะที่เหี้ยตัวหนึ่งค่อย ๆ คลานขึ้นมาจากสระน้ำใจกลางสวนสัตว์เขาดินพอดี เราไม่ได้ลุกหนีทันทีอย่างที่เคยทำ แต่ค่อย ๆ มองลวดลายบนตัวมันอย่างพินิจพิจารณา เราคงไม่โกหกว่าเราเห็นความงามในเหี้ยได้ในวินาทีนี้ แต่เรายิ่งมั่นใจว่าการที่ใครสักคนเห็นว่าเหี้ยสักตัวหล่อหรือสวยได้ มันต้องเป็นความหลงใหลที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ

“ทำเหี้ยอะไรดีวะ?” จุดเริ่มต้นของ(การวิจัย)เรื่องเหี้ย ๆ

จุดเริ่มต้นความหลงใหลในเหี้ยและสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ งอกงามขึ้นในใจเขานานมาแล้ว ไผ่-ปรเมศร์ในวัยเยาว์มี Steve Irwin นักล่าจระเข้ชื่อดังเป็นไอดอล เขาจึงชื่นชอบและหลงใหลสัตว์เลื้อยคลานเป็นทุนเดิม การเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดลยิ่งทำให้เขาชัดเจนในความสนใจของตัวเองเข้าไปอีกขั้น

“เริ่มต้นตั้งแต่ความฝันวัยเด็ก ผมมี Steve Irwin เป็นไอดอล ซึ่งมันทำให้เราชอบ Reptile หรือว่าสัตว์ทั่ว ๆ ไปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมาเรียนสาขานี้ เราได้มาสนใจกลุ่มสัตว์ที่จะศึกษาครับ แต่โดยรวมตอนแรกไม่ได้ศึกษาเจาะจงตัวนี้ ทีแรกผมจะทำลักษณะการจำแนกจระเข้ลูกผสมของน้ำจืดและน้ำเค็ม ผมเลยปรึกษากับอาจารย์ว่าผมจะไปลงภาคสนามแล้วนะ อาจารย์เลยถามว่าผมจะทำไง ผมก็ตอบไปตรง ๆ ว่าผมจะจับจระเข้มาเป็น ๆ เลย”

ใช่ เขาเล่าให้เราฟังเหมือนกับที่เล่าให้อาจารย์ฟังวันนั้นว่าเขาจะศึกษาจระเข้ลูกผสมด้วยการจับจระเข้มือเปล่า เรานิ่งไป ก่อนจะถามเขาว่า “คุณจะจับจระเข้ด้วยมือเปล่าจริง ๆ เหรอ ?”

“ใช่ครับ เพราะผมมีทักษะการจับอยู่แล้ว ผมเคยไปอยู่อเมริกา แล้วอยู่ชมรม Alligator Hunter เลยจับจระเข้เป็น จับจระเข้ได้” แน่นอนว่าอาจารย์ที่ปรึกษาเขาไม่อนุญาตเนื่องจากเห็นว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป อาจารย์แนะนำให้เขาลองหาสัตว์ที่สนใจอื่น ๆ ดู สัตว์เลื้อยคลานประเภทอื่น ๆ ก็ได้

เขานั่งคิดอยู่นาน คิดไม่ออกว่าจะศึกษาสัตว์ชนิดไหนเป็นพิเศษดี จนอุทานออกมาว่า “ทำเหี้ยอะไรดีวะ” และหลังวลีนั้นสิ้นสุด เหมือนจุดเริ่มต้นงานวิจัยของเขาจะถือกำเนิดขึ้น “เออ หรือทำเรื่องเหี้ยดี ไหน ๆ ก็ไม่ค่อยมีคนทำเรื่องนี้แล้ว งั้นทำเรื่องเหี้ยเลยดีกว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยเรื่องตัวเหี้ยครับ”

เรื่องเหี้ยที่ต้องไปต่อ: ยิ่งธรรมดา เรายิ่งหลงลืม

จากหัวข้องานวิจัยในระดับปริญญาตรี ถ้าไม่ได้หลงใหลหรือสนใจ คงทำแค่เพื่อให้ได้ปริญญาบัตรจบ ๆ ไป แล้วไม่เหลียวกลับไปมองอีก แต่เพราะความสนใจอย่างเข้มข้นทำให้ไผ่ไม่อาจทิ้งข้อมูลเรื่องเหี้ยในหัวของตัวเองลงได้ เขาจึงยังศึกษาเรื่องนี้ต่อไปในระดับปริญญาโทและทำความเข้าใจเรื่องเหี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าการศึกษาในเรื่องที่คนในสังคมไม่ให้ความสำคัญ หรือบางทีอาจถึงขั้นมองด้วยสายตาประหลาด ๆ มันต้องมีแรงขับเคลื่อนจากอะไรให้ก้าวต่อไปได้ขนาดนี้ ?

“การศึกษามันยังไม่จบ เพราะปัจจุบันข้อมูลเหี้ยในไทยเรามีน้อย เนื่องจากทัศนคติที่เป็นแง่ลบอย่างมาก พอคนพูดถึงเหี้ย ใคร ๆ ก็จะบอกว่าตัวกาลกิณี ตัวสกปรก แล้วคนก็จะชอบคิดว่ามันมีเยอะแล้วจะศึกษามันไปทำไม”

“แต่อะไรที่มันธรรมดาทั่วไป มันกลายเป็นว่าเราหลงลืม
ลืมความรู้ที่จะได้ ลืมความเชื่อมโยงทางระบบนิเวศที่เราจะได้จากมันไป”

ถึงจะได้ชื่อว่าเหี้ย แต่ก็ไม่เหี้ยนะครับ

ในสายตาของไผ่-ปรเมศร์การศึกษาเรื่องเหี้ยจึงแทบไม่ต่างจากการเห็นความไม่ธรรมดาในสัตว์ธรรมดา ๆ หรือสัตว์ที่ใคร ๆ ก็ส่ายหน้าหนี แต่เบื้องหลังตัวเหี้ยทั้งหลายที่คลานอยู่ทั่วไปกลับมีข้อมูลทางชีววิทยา มูลค่าทางเศรษฐกิจ และความเกื้อกูลต่อระบบนิเวศอีกหลายประการ แต่ไม่ว่าเหี้ยจะมีประโยชน์แค่ไหน การแนะนำตัวเองกับใคร ๆ ว่าเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องเหี้ยก็คงดูประหลาดอยู่ไม่น้อย เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาจัดการกับการมุ่งศึกษาเรื่องเหี้ยอย่างจริงจังกับกระแสสังคมที่น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ยากได้อย่างไร ?

“ที่บ้านไม่ซีเรียสเลยครับ ที่บ้านเป็นคนชอบ adventure พาผมเข้าป่า แต่ถ้าเป็นคนนอกสายงาน จะไม่เข้าใจว่าทำทำไมวะ” เขาหัวเราะ แต่ท่ามกลางความไม่เข้าใจนั้น ไผ่พยายามอธิบายว่าเหี้ยมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่สร้างประโยชน์อีกเยอะ

“การที่ผมศึกษาเรื่องนี้ทำให้เราได้ข้อมูล การจำแนกชนิด การเรียนรู้นิเวศของมัน การดูการใช้ทรัพยากร แล้วเราเอาตรงนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งในระบบนิเวศ อย่างเรารู้ว่าเหี้ยเป็นสัตว์กินซากใช่ไหมครับ เอาเป็นว่าสมมุติถ้าเป็นสมัยก่อน มีคนตาย มีสัตว์ตาย มีวัวตาย แล้วอยู่ในน้ำ มันเน่า เกิดเชื้อโรค

ถ้าสมมติไม่มีสัตว์กินซาก ด้วยวิวัฒนการทางการแพทย์ที่ยังไม่พัฒนาก็มีโอกาสเกิดโรคระบาด แต่พอมีตัวกินซาก กลายเป็นว่าพวกนี้จะช่วยควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อที่อาจจะก่อเกิดได้จากซากสัตว์ที่เน่าอะไรพวกนี้จะหยุดอยู่แค่ตรงนี้ ไม่แพร่ไปตรงไหน

นอกจากนั้นการที่มันหยุดเชื้อโรคไว้ตรงนี้ได้แปลว่ามันต้องมีภูมิคุ้มกันหรืออะไรสักอย่างที่จะหยุดพวกการแพร่ระบาดเหล่านี้ได้ ซึ่งมันเป็นการเชื่อมโยงจากระบบนิเวศมาสู่วิทยาการทางการแพทย์

ตอนนี้ก็มีคนค้นพบโปรตีนชนิดหนึ่งจากมังกรโคโมโด ชื่อยีนดราก้อนวัน เป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการกำจัดฟิล์มที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ ซึ่งผมคิดว่าในเหี้ยก้อาจจะมีโปรตีนแบบนี้เช่นเดียวกัน เพราะว่า คนสมัยก่อนทางภาคใต้จะใช้เหี้ยเป็นยารักษาโรค”

“เหี้ยเป็น Water Monitor แปลว่ามันสอดส่องดูแลพื้นที่ตามแหล่งน้ำไม่ให้สกปรก หรือกันสิ่งปฏิกูลเน่าเหม็นจากซากสัตว์ ตรงนี้ช่วยได้อย่างมาก เพราะว่า การที่มีซากสัตว์อยู่ในน้ำเนี่ยย่อมส่งผลให้เกิดการย่อยสลายจนถึงเกิดพวกแบคทีเรียพวกนี้ได้ แล้วอาจนำไปสู่พวกการแพร่ระบาด ถ้ามันไม่มาหยุดตรงนี้อาจจะเกิดโรคระบาดออกมาหรือว่าอาจจะทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย

นอกจากนั้นในระบบห่วงโซ่อาหาร สมมุติว่าในบ่อนี้ มีปลานิลหนึ่งพันตัว แล้วปลานิลจะเพิ่มจำนวนเป็นสิบเท่าทุกเดือน แล้วแหล่งน้ำมีอยู่แค่นี้ ถ้าปลานิลเพิ่มจำนวนเป็น Expotential เพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ สักวันแหล่งน้ำนี้ ระบบนิเวศภายในน้ำก็จะหดหายไป

นึกถึงภาพว่าเรามีต้นไม้ แต่เราโดนหนอนกินไปเรื่อย ๆ ต้นไม้เหล่านั้นก็จะตายแล้วก็หายไปจากระบบนิเวศ แต่ถ้าเรามีเหี้ยมา cover ว่า เฮ้ย เหี้ยมันคอยกินปลา คอยควบคุมประชากรปลาไม่ให้จำนวนปลาเยอะไปมากกว่านี้ พื้นที่นิเวศระบบแหล่งน้ำเหล่านี้ก็จะยังอยู่ได้ ปลาก็ยังกินพืชน้ำอยู่ แต่พืชน้ำไม่ได้หมดหายไป พืชน้ำยังมีโอกาสได้เจริญเติบโต กลับมาเป็นระบบนิเวศเดิมอยู่ ยังคงรักษาสภาพนั้นได้ แล้วปลาก็ยังคงอยู่ โดยที่ประชากรไมได้ล้นเกินไป เหี้ยก็ยังสามารถหากินจากบ่อนี้ได้ จากการควบคุมของระบบนิเวศนี้”

ความแพงในเหี้ยที่เราไม่รู้ เพราะเหี้ยมีมูลค่าแต่ว่าเรามักมองข้าม

ต่อให้เราจะบอกตัวเองเป็นล้านรอบว่าอย่าตัดสินอะไรจากภายนอก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเราก็เผลอตัดสินอะไรจากภายนอกและความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวอยู่บ่อยครั้ง เรื่องเหี้ยก็เช่นกัน การที่เราเห็นมันจนชินตาหรือค่อนไปทางรำคาญตา อาจทำให้เราไม่รู้ (หรือไม่พยายามจะรู้) ว่าเหี้ยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน

“มันสามารถต่อยอดได้ในทางพวกเศรษฐกิจ การลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น ใช้หนังเหี้ยมาทำเป็นเครื่องหนัง อย่างของ Valentino จะชอบใช้เครื่องหนังจากกลุ่ม Varanus มาก หนังเหี้ยหรือตระกูลเดียวกัน หรือว่า Hermes บางใบที่ราคาถีบสูงไปประมาณสองหมื่นเหรียญ เก้าหมื่นเหรียญต่อใบ ข้อดีของหนังเหี้ยจะต่างจากหนังจระเข้ก็คือเกล็ดของมันจะละเอียดกว่า ถ้าสมมุติมีเหลือเศษจากหลาย ๆ ชิ้น เราสามารถเอามาตั้งชิดกันแล้วบีบอัด บีบให้มันเป็นเนื้อเดียวกัน มันจะสามารถเป็นผืนใหญ่ต่อได้ แต่ถ้าเป็นหนังจระเข้จะทำไม่ได้”

ฟังเรื่องนี้ทีแรกเราเองก็แทบไม่เชื่อหู แต่ยิ่งหาข้อมูลก็ยิ่งพบว่าตลาดสินค้าแปรรูปจากหนังเหี้ยกำลังเติบโตโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและจีน สินค้าประเภทกระเป๋า เข็มขัด รองเท้าจากหนังเหี้ยซึ่งมีลวดลายสวยงามเฉพาะตัวและคุณสมบัติด้านความทนทานกำลังเป็นที่ต้องการและมีราคาสูงยิ่งกว่าหนังจระเข้เสียอีก

ไผ่เล่าต่อว่าในขณะที่ทัศนคติเรื่องเหี้ยในบ้านเรายังเต็มไปด้วยการมองเหี้ยในทางแย่ ๆ และกฎหมายบางมาตราที่ยังไม่เอื้อมากนัก ทำให้เราไม่สามารถผลักเหี้ยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเชิงอนุรักษ์ได้เต็มรูปแบบนัก ทั้ง ๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนิเซียมีปริมาณการส่งออกมากที่สุดในโลก เนื่องจากตลาดการบริโภคที่จีนนิยมบริโภคเหี้ยกันอย่างมาก

“อินโดนิเซียส่งออกตอนนี้ปีต่อปี ประมาณหกแสนถึงแปดแสนตัว คิดว่าหนึ่งตัวขายได้ประมาณห้าพันเหรียญ” เขาทิ้งท้ายไว้อีกว่า “ประชากรเหี้ยในไทยมันยังมีเยอะ แล้วประเทศไทยมันมีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสูง”

ใครที่เคยมองเหี้ยว่าไม่แพง ไม่มีมูลค่าอาจต้องมองกันใหม่เพราะเหี้ยตัวหนึ่งอาจมีราคาสูงถึง 163,000 บาทเลย แต่มูลค่าของมันไม่ได้อยู่ที่ราคาเท่านั้น อาจหมายรวมถึงการจัดการที่ทางไปสู่ระบบการเพาะเลี้ยงอย่างเป็นระบบจนพัฒนาไปสู่การเป็นสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต

ทุ่มเทเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน ด้วยแพสชั่นที่พุ่งทะยานไปข้างหน้า

ตอนที่บทสนทนาเดินทางมาถึงตรงนี้ เราอดทึ่งกับรายละเอียดยิบย่อยของบรรดาเหี้ยไม่ได้ แต่ที่เราทึ่งกว่าก็คือนักวิชาการที่ตั้งใจศึกษาและผลักดันให้สังคมเข้าใจเรื่องเหี้ยมากขึ้นอย่างไผ่-ปรเมศร์ เราอยากรู้ว่านอกจากความสุขเพราะความชอบส่วนตัว การทำวิจัยเรื่องนี้ผลักดันเขาไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง

“เราได้เรียนรู้กระบวนการวิจัย อันนี้คือสิ่งที่นักวิจัยทุกคนต้องได้อยู่แล้ว รวมถึงเรื่องความอดทนในการลงภาคสนาม ผมศึกษาตัวเหี้ยมากว่า 3 ปี ปีแรกเฝ้าดูพฤติกรรม ปีที่สองเฝ้าดูว่าพื้นที่การแพร่กระจายไปที่ไหนบ้าง อันนี้จะเริ่มออกจากพื้นที่กรุงเทพแล้ว แล้วก็ปีที่สามก็คือคอยเก็บไข่ วัดคุณภาพดิน คุณภาพพื้นที่ที่มันใช้วางไข่ มันถือว่าฝึกความอดทนอย่างมากที่เราไปอยู่อย่างนั้นเป็นปี ๆ เพราะว่าปกติเวลาเหี้ยไข่ มันจะไม่เหมือนจระเข้ไข่ มันจะกลบจนมิด”

การตามเฝ้าดูพฤติกรรมของเหี้ยจึงต้องเฝ้ากันแบบแนบแน่น เพื่อดูสถานที่ตกไข่ เพื่อดูทุก ๆ รายละเอียด ซึ่งสำหรับไผ่ นอกจากได้เรียนรู้กระบวนการวิจัยแล้ว ความอดทนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เขาได้รับ แต่พอเล่าแบบนี้หลายคนก็อาจคิดว่าการเป็นนักวิจัยนั้นน่าเบื่อ แล้วตกลงมันน่าเบื่อจริงไหม ?

“จริง ๆ คนมองว่านักวิจัยเนี่ยจะต้องอยู่แต่ในห้องแล็บ วัน ๆ นั่งดูดสารนู้น ผสมสารนี่ หรือต้องคลุกคลีอยู่กับสัตว์ในป่าอย่างเดียว จริง ๆ งานที่ผมทำมันจะแบ่งออกเป็นสองส่วน การออกไปภาคสนาม Observe สัตว์ ไปดู จับนู่นจับนี่ เก็บ DNA ไปเก็บข้อมูลตัวอย่าง แล้วก็มาทำส่วนของห้องแล็บโดยจะสกัด DNA ดูว่าพวกนี้มันมีลักษณะโปรตีน ลักษณะ DNA ยังไง ความน่าเบื่อของมันก็คือ บางที่เราจับได้ตัวอย่างมาเยอะ เราก็ต้อง Analyze เยอะ แต่ถามว่าเราสนุกกับมันไหม ก็ไม่สนุกเท่าไหร่ (หัวเราะ)

แต่ความสนุกของมันก็คือ ผลลัพธ์ที่เราได้ แล้วเราเข้าใจธรรมชาติยิ่งขึ้น เราเข้าใจความเป็นไป เราเข้าใจความสัมพันธ์ของสัตว์แต่ละตัวมากขึ้น มันทำให้เราพอใจแล้ว เราโอเคแล้วกับสิ่งที่เราทำมา เรารู้แล้วว่าระบบนิเวศนี้มันเชื่อมโยงกัน เป็นขั้น ๆ ยังไง นี่แหละคือความพอใจของผม”

ความพอใจในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่น่าแปลกใจที่ความพึงพอใจของบางคนก็เรียบง่ายเพียงแค่การได้รู้ความสัมพันธ์ของสัตว์แต่ละชนิดในระบบนิเวศ ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าความหลงใหลที่เขามีต่อสัตว์เลื้อยคลานมันเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างในชีวิตให้เขาได้จริง ๆ

เหี้ยเคยอยู่ทุกที่ แต่ตอนนี้เหี้ยกำลังถูกต้อน

ดูเหมือนว่าเหี้ยจะเป็นสัตว์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และในสายตาคนเมืองอย่างเรา ๆ ที่ได้ไปสวนลุมฯ บ้าง เขาดินบ้าง หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ ก็ยิ่งรู้สึกว่าสถานการณ์ประชากรเหี้ยดูไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเอาเสียเลย แต่ในสายตาของไผ่-ประเมศร์ เขาบอกว่าสิ่งที่เราคิดก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

“ถึงแม้พวกนี้มันจะปรับตัวได้ดี แต่สิ่งที่ผมกังวลกับมันที่สุด ก็คือ Urbanization การที่คนเริ่มปรับพื้นที่ธรรมชาติให้เป็นเมืองมากขึ้น การมีปูนโดยไม่มีดิน มันไปทำลายแหล่งอาศัยของมัน ไปทำลายแหล่งวางไข่ แหล่งหากินของมัน

พอปรับเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น สัตว์ที่มีอยู่ก็จะเริ่มลดลง จะมีก็แต่พวกหนู ถึงแม้มันเป็นอาหารของเหี้ยได้ แต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ด้วยผู้คนที่มากขึ้น ทำให้มันต้องไปกระจุกกันอยู่บางพื้นที่

อย่างเมื่อก่อนกรุงเทพจะมีเหี้ยหลายที่ แต่ตอนนี้ก็จะอยู่ในแหล่งน้ำบางพื้นที่เท่านั้นเอง จนสุดท้ายถ้าสมมุติพื้นที่ตรงนี้โดนกลืน เขาดินเขาก็จะยุบทิ้งแล้ว ตรงนี้จะไปอยู่ไหน ก็ไม่รู้ได้ หรือถ้าอย่างที่เขาดินหาย สวนลุมหาย ในกรุงเทพเราจะดูเหี้ยที่ไหนได้บ้าง มันอาจจะอยู่ได้ แต่อยู่ตามท่อ ไม่ได้เป็น colony แบบที่เราเห็นได้ เป็นพฤติกรรมแบบธรรมชาติอย่างนี้ ที่สวยงามแบบนี้”

ในสายตาของคนที่ศึกษาเรื่องประชากรเหี้ยอย่างจริงจัง เราพอจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง หรือมีอะไรที่เราอยาก UNLOCK เรื่องเหี้ยในไทยไหม ?

“สิ่งที่ challenge ผมมากตอนนี้ที่สุด ก็คือ การปลดล็อกมันนี่แหละครับ แต่ว่ามันก็เป็นสองแง่สามง่ามนะ เพราะ ถ้าหากวันนึงเราปลดล็อก (กฎหมายควบคุมเหี้ย)แล้ว เหี้ยถูกล่าขึ้นมาล่ะ ?

ถึงแม้เราปลดล็อกแล้ว เราไม่ควบคุมในการเพาะเลี้ยง มันก็จะเหมือนช้าง ที่สุดท้ายก็มีการสวมรอยบัตร แล้วเราจะทำยังไง ตรงนี้มันเป็นความท้าทายอย่างนึงในการที่จะทำให้มันปลดล็อกด้วย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางเศรษฐกิจได้ด้วย แต่การ conserve ตรงนี้ยังคงอยู่ โดยที่ไม่ทำให้มันลดลงไปมากกว่านี้ หรืออาจะเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่กระทบเกิด Human conflict นี่คือความท้าทายที่สุดแล้วว่าจะรักษายังไง ไม่ให้เกิดกระทบกระทั่ง”

เรื่องเหี้ยจึงเต็มไปด้วยประโยชน์และความท้าทายอีกหลายด้านที่เขาต้องศึกษา ทำความเข้าใจและผลักดันประเด็นให้เป็นที่รับรู้ต่อไป ถือเป็นความหลงใหลในเหี้ยและสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ที่แปรไปสู่การกระทำที่เป็นรูปธรรม แถมปลดล็อกความเชื่อเดิม ๆ เรื่องเหี้ยให้กับเราได้อย่างหมดจด แต่คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการที่เขาได้ทำในสิ่งที่เขารักและหลงใหลซึ่งคอยสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ ๆ ให้เขาได้ทุกวัน

บทสนทนาระหว่างเรากับ “ไผ่-ปรเมศร์ ตรีวลัยลักษณ์”นักวิชาการด้านสัตว์เลื้อยคลานวันนี้จบลงด้วยความรู้สึกที่ว่าเพราะเรื่องเหี้ยมันไม่ได้เหี้ยอย่างที่เราเคยคิดจริง ๆ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line