Entertainment

โปรดิวเซอร์ในความหมายของ ‘บอล-อพาร์ตเมนต์คุณป้า’ กับตัวตนและเส้นทางดนตรีที่ไม่มีทางลัด

By: PEERAWIT September 6, 2018

“ดนตรี” คือหนึ่งในศิลปะแขนงหนึ่งที่เราเสพด้วยหู ก่อให้เกิดทั้งความสุนทรี ความรู้สึกนึกคิด สามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์เราได้ในชั่วขณะ และก้องในหัวเราแม้อยู่ในความเงียบงัน มันคือสื่อที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยไอเดีย ทักษะ เทคโนโลยี และภาษาที่สื่อความหมายที่ร้อยเรียงกับการเรียบเรียงดนตรีอย่างลงตัว ที่สำคัญการสร้างงานเพลงคุณภาพนั้นต้องใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

ในอุตสาหกรรมดนตรีนั้น นอกจากตัวศิลปินผู้อยู่เบื้องหน้า ยังมีตำแหน่งหนึ่งซึ่งสำคัญมาก ๆ และมีบทบาทที่หลากหลาย ทั้งควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพลง ควบคุมการบันทึกเสียง ไกด์แนวทางให้กับศิลปิน วางแผนและจัดการการผลิตทุกอย่าง ทั้งค่าใช้จ่ายและทรัพยากร จนถึงการ mix down และ mastering ต่อไป หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตกันเลยทีเดียว

ทีมงาน UNLOCKMEN ได้มีโอกาสพูดคุยกับโปรดิวเซอร์มือดี นักดนตรีและศิลปินวงดัง อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชั่วโมงบินในอุตสาหกรรมดนตรีทั้งในและนอกกระแสมามากมาย “บอล-อพาร์ตเมนต์คุณป้า” กันต์ รุจิณรงค์ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของการทำหน้าที่ผู้ควบคุมการผลิตงานเพลงจากประสบการณ์ส่วนตัว หลายคนรู้จักเขาในฐานะมือกีตาร์ของหนึ่งในวงที่มีเอกลักษณ์ที่สุดในไทยอย่าง อพาร์ตเมนต์คุณป้า แต่ที่จริงแล้วเขายังเป็นโปรดิวเซอร์แถวหน้าคนหนึ่งในบ้านเราอีกด้วย ได้ร่วมงานกับศิลปินเจ๋ง ๆ ทั้ง อะตอม-ชนกันต์, บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์, หมู-Muzu, ป๊อป-ปองกูล นอกจากนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างทำงานกับวง Playground และ โอ๊ต-ปราโมทย์ อีกด้วย

 

Ball’s Identity

โอ๊ต-ปราโมทย์ หรือครับ แบบนี้ก็ฮาแย่เลยสิครับ ? 

“เดี๋ยวแอบเปิดให้ฟัง (หัวเราะ) “ พี่บอลตอบอย่างเป็นกันเอง ก่อนเริ่มแชร์ประสบการณ์ให้เราเข้าใจถึงสไตล์การทำงานของเขา

“จริง ๆ แล้วการเป็นโปรดิวเซอร์ เราควรจะหาข้อเด่น ดึงข้อเด่นของศิลปินท่านนั้นออกมา แต่เราจะไม่เชื่อการที่เราไปเปลี่ยนแปลงเขา หรือว่าการที่เราจะใส่ตัวเองเข้าไป มันไม่ใช่ เราต้องดูว่าอะไรเป็นข้อเด่นของเขาแล้วก็หาเสริมให้เขา และทำให้จุดเด่นนั้นมันออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในวงกว้าง แล้วก็จะดูตามเนื้อผ้าว่าเพลงแบบนี้มันสมควรจะเรียบเรียงดนตรีแบบนี้  ดนตรีแบบนี้มันเป็นแนวไหน ในยุคนั้นเขาใช้เครื่องดนตรีอะไร มีวิธีมิกซ์วิธีอัดยังไง แล้วก็จะพยายามทำให้มันเป็นธรรมชาติที่สุด”

“อาจเพราะเราเองเป็นคนเล่นเป็นคนชอบฟังดนตรีหลายประเภท มันก็หล่อหลอมเรามา พอฟังปุ๊ปเราก็จะเริ่มรู้ เริ่มตีความว่าเพลงนี้มันควรจะมีเทมโป้เร็วแค่ไหน สไตล์เป็นแบบไหน นักร้องคนนี้เหมาะกับแบบนี้หรือเปล่า คือมันต้องดูหลาย ๆ องค์ประกอบว่าศิลปินเป็นยังไง เพลงนี้แมตช์กับนักร้องท่านนั้นหรือเปล่า อย่างเคสอย่างอะตอมไม่ค่อยเหนื่อย เพราะว่าอะตอมเป็นคนเขียนเพลงเอง ภาพมันเลยชัด คำที่เขาเขียนเองก็จะเข้าปากเขา เวลาร้องก็จะเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าศิลปินบางท่านที่ไม่ได้เขียนเพลงเอง เราก็จะต้องเลือกเพลงมาให้มันแมตช์กับตัวของเขา มันก็มีอยู่นะบางทีเพลงมันไม่แมตช์กับศิลปินท่านนั้น วิธีง่ายที่สุดก็คือต้อง make sure ก่อนว่าเพลงนั้นมันเหมาะกับตัวศิลปินหรือเปล่า หรือว่าศิลปินท่านนั้นอาจบรีฟมาว่าอยากจะเขียนเพลงแบบนี้ เป็นเทมโป้ช้า เล่าเรื่องแบบนี้ แล้วเราก็จะหาคนเขียนเนื้อซึ่งแมตช์กับเพลงแบบนั้น”

วงแรกที่ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้ ?

“ถ้าไม่นับวงตัวเอง ก็น่าจะช่วยทำให้น้อง ๆ วง Annalynn วงแนว Metalcore  ตอนนั้นน่าจะเกือบสิบปีแล้ว เอาเข้าจริง ๆ เราก็ไม่ได้ถนัดแนวดนตรีหนักแบบนั้น แต่ก็ลองทำดู ถ้าเป็น วันนี้อาจมองคนละแบบ เพราะตอนนั้นประสบการณ์เรายังไม่เยอะขนาดนั้น ก็เลยมองในแง่ของนักดนตรีมากกว่า จากพอทำงานดนตรีเรื่อย ๆ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังมันก็สั่งสมมุมมองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น”

 

Musician/Producer

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าพี่บอลจัดเป็นบุคลากรด้านดนตรีที่มีความสามารถ และมีประสบการณ์หลากหลายทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง สิ่งเหล่านี้จึงเอื้อต่อการทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ โดยเฉพาะความเข้าใจในธรรมชาติของศิลปิน และความเป็นจริงในการสร้างสรรค์งาน

“อย่างน้อยการเป็นนักดนตรี เราจะรู้สไตล์ของดนตรี ดนตรีแบบนี้มันควรจะเป็นแบบไหน ริทึมมันควรจะเป็นยังไง ใช้จังหวะแบบไหน ได้เพลงมาแล้วก็ควรจะเทียบคีย์กับนักร้องว่านักร้องเขาร้องโน้ตสูงที่สุดได้ถึงตรงไหน โน้ตต่ำสุดอยู่ตรงไหน คือต้องควบคุมเรนจ์ให้มันเหมาะสมกับเขา ถ้าเกิดสมมติว่าเรนจ์มันต่ำเกินไปมันก็ฟังไม่เพราะ มันจะอู้อี้ในคอ แต่ว่าถ้าพอมันสูงมากเขาก็ร้องไม่ถึง เราก็ต้องหาเรนจ์ที่อยู่ตรงกลางที่ให้เขาร้องได้สบาย ๆ  ทั้งคีย์ ทั้งจังหวะจะโคน ทั้งสไตล์มันเกี่ยวข้องกันหมดนะ แต่บางทีโปรดิวเซอร์ดัง ๆ ที่เมืองนอกบางคนก็ไม่ได้เป็นนักดนตรีนะ เขาอาจเป็นคนที่มีความรู้เรื่องดนตรีเยอะ ๆ  ฟังปุ๊บเขาก็รู้ว่าควรทำยังไง”

“ผมชอบ Rick Rubin เขาทำได้เองทุกอย่าง สไตล์เขาก็ได้ ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่ได้เป็นนักดนตรีจ๋าอะไรขนาดนั้น”

โปรดิวเซอร์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร ?

“คล้าย ๆ กับตอนแรกที่พูดให้ฟัง อย่างแรกก็คือ ต้องมีความรู้เรื่องดนตรีในระดับหนึ่ง และจะต้องไม่พยายามใส่ตัวเองเข้าไปในตัวของศิลปินจนเกินไป ต้องหาจุดเด่นของศิลปินท่านนั้นแล้วก็ทำให้มันดีขึ้นมา ส่วนเรื่องฟังก์ชั่นในการทำงานโปรดิวเซอร์ คือต้องทั้งควบคุมดูแลการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นอัด ดูว่าใครที่จะเหมาะสำหรับเพลงแบบนี้ ใครอัดกลอง ใครอัดเบสส์ ก็อย่างน้อยควรจะมีคอนเนคชั่นรู้จักนักดนตรีเยอะ สามารถบอกได้ว่าใครเหมาะกับ job แบบนี้ ที่สำคัญสมัยนี้เราไม่ได้มีเวลามาก เวลาเข้าห้องอัดก็ควรจะ manage เวลาให้ดี จัดนักดนตรีเสร็จ พออัดเสร็จก็ร้อง พอร้องเสร็จสรรพทุกอย่างก็ต้องเข้าห้องมิกซ์ มิกซ์เสร็จก็ต้องไป mastering แต่ก่อนหน้านี้มันก็มีเรื่องจิปาทะมากพอสมควรตั้งแต่เริ่มจนจบ”

วางตัวกับศิลปินอย่างไร ?

“พี่ว่าถ้ามันสนิทกันมันก็ดีนะ เพราะมันทำงานง่าย บางทีเราเป็นคนชอบเพลงแบบเดียวกันหรือว่าคุยกันถูกคอ พอมาทำงานด้วยกันมันก็ง่ายขึ้น อย่างอะตอมก่อนที่จะได้ทำงานด้วยกัน เขาก็มาเป็นนักร้องคอรัสให้วงบุรินทร์อยู่สามสี่ปี ได้ใช้ชีวิตด้วยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง เวลาทำงานก็เลยไม่รู้สึกว่ามันเหนื่อย”

เดี๋ยวมีศิลปินเก่ง ๆ เต็มไปหมด แถมทำงานเองได้แทบจะทุกขั้นตอน จำเป็นไหมที่พวกเขาต้องมีโปรดิวเซอร์ ?

“ยกตัวอย่าง อพาร์ตเมนต์คุณป้าทำงานกันเองมาทั้งชีวิต พออายุวงมันสิบหกสิบเจ็ดปี ก็เริ่มจะรู้ว่าหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร แต่พอมาย้อนดู แรก ๆ ที่เราทำเริ่มทำ ไม่มีใครมาช่วยเคาะ คนนี้ก็อยากเอาเพอร์เฟคเทก อัดแล้วอัดอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วดนตรีมันไม่จำเป็นต้องถูกเสมอ อะไรที่มันเล่นผิดบ้างมันก็กลายเป็นเสน่ห์ได้ ผมพูดถึงในแง่ดนตรีร็อคแบบพวกผมนะ บางทียุคแรก ๆ ที่เราพยายามจะทำให้ทุกอย่างมันเพอร์เฟคต์ พอไม่มีโปรดิวเซอร์ทุกคนก็จะเถียงกัน แต่ถ้าเคสแบบนี้ควรมีโปรดิวเซอร์มาคอยเคาะ คอยบอกว่าเทกนี้ฟีลได้ อาจจะผิดนิดหน่อย อาจไม่ได้เล่นตรงเป๊ะขนาดนั้น แต่มันก็ใช้งานได้แล้ว พี่ว่ามันมีประโยชน์ในส่วนนี้นะ ในแง่ของการตัดสินใจว่าอันไหนเอาแล้ว อันไหนไม่เอา เราคือมนุษย์นะ ไม่ได้เหมือนเครื่องจักร บางทีเราก็พยายามจะให้ช้ากว่าบีทนิดหน่อย เราก็ปล่อยนะ เครื่องอื่นที่มาเล่นตามก็ให้เกาะกันไป”

ทำงานร่วมกับคนเก่ง ๆ ถือว่ายากไหม ?

“เรื่องทำงานพี่ว่าต้องให้ความเชื่อถือกับทุกคน เราก็ไม่ถือว่าใครเก่งกว่าใครนะ เราอยากให้เขาทำในหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด ไม่ต้องเกร็ง เวลาเราชวนใครมาทำงาน เราย่อมรู้ศักยภาพเขา คาดหวังเขาได้แค่ไหน ถ้าต้องมานั่งทำงานกับคนเก่ง ๆ แล้วเกร็งมันก็คงไม่ดี เราต้องใช้คนให้ถูกหน้าที่ เหมือนวางตำแหน่งทีมฟุตบอล คนนี้เหมาะกับตำแหน่งนี้ พอรวมกันก็จะกลายเป็นทีมเวิร์กที่ดี”

“ผมไม่เคยทะเลาะกับศิลปิน เราไม่ได้ไปจู้จี้จุกจิกอะไรเขามาก ถ้าเราและเขาทำตามหน้าที่ที่วางไว้ ก็ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกัน”

เรื่องมิวสิคโปรดักชั่นในชั่วโมงนี้ ปริมาณกับคุณภาพ อะไรสำคัญกว่ากัน ?

“ยังไงคุณภาพก็สำคัญ ผมมีทีมงานที่รู้มือกัน เรายังเข้าห้องอัดกันจริง ๆ  ไม่ได้ว่าว่า MIDI ไม่ดี เพลงหลายแนวมันก็จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าเป็นแนวที่ใช้กลอง เบสส์ กีต้าร์ ผมก็พยายามจะทำให้มันเป็นมนุษย์จริง ๆ ไม่พึ่งเครื่องอะไรมากนัก แต่ว่าพอเป็นระบบนี้ค่าใช้จ่ายมันก็จะสูงขึ้นตามสภาพ สมมติว่าที่บ้านคุณมีเครื่องมือที่ดีแล้วคุณทำได้ดี มันก็ดี คนที่อัดตามบ้านแล้วได้งานดี ๆ มีเยอะแยะ แต่ที่เราใช้วิธีแบบนี้ เพราะว่าเราโตมาแบบนี้ เราอัดสดเร็วกว่าแล้วมันก็เป็นวิธีที่เราทำงานกันตั้งแต่เริ่ม”  

 

UNLOCK Artist’s Potential

หนึ่งในหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ก็คือการค้นหาจุดเด่น และเค้นศักยภาพของศิลปินออกมาให้ได้อย่างเต็มที่ การช่วยกันพัฒนาในจุดนี้คือคีย์หลักของการทำงานเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งที่ท้าทายก็คือ ทำอย่างไรถึงจะปลดล็อคศักยภาพศิลปินออกมาได้อย่างเต็มที่ ?

ผมขอยกคุณอะตอมมาเป็นตัวอย่าง เขาเป็นคนที่เก่งมาตั้งแต่แรกแล้ว เขียนเพลงได้ ร้องเพลงดี มีองค์ประกอบทุกอย่างคอนข้างเพอร์เฟคต์ในแง่นักดนตรี และก็นักเขียน การที่อะตอมได้มาทัวร์กับวง ก็เหมือนจะค่อย ๆ บิลท์เขาให้เติบโต ให้มีความมั่นใจทั้งบนสเตจ และได้ประสบการณ์จริง ๆ ไม่ว่าจะออกไปเล่น ไม่ว่าจะหาเรื่องเขียน การอยู่กับพี่ ๆ เขาได้ซึมซับหลายอย่าง พอใช้เวลากับมันเรื่อย ๆ เขาก็เริ่มฉายแววจนในที่สุดก็ได้เป็นศิลปินเดี่ยว ผมว่าต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน พอคนเรารู้จักกันก็จะยิ่งไม่เกร็ง พอไม่เกร็งก็จะเป็นตัวของตัวเอง สามารถออกความเห็นดี ๆ ได้อย่างสบายใจ” 

“สำหรับบางคนไม่ได้สนิทใจกันขนาดนั้นมันก็ต้องมีขอบเขต เราไม่ได้ก้าวก่ายเขา เขาร้องเพลงช้าได้ดีเราก็คิดว่าเขาก็ควรร้องเพลงช้ามากกว่า ถ้าเพลงเร็วเพลงนี้คีย์มันต่ำไป เราก็พยายามจะให้คำแนะนำแบบโค้ช อย่างเคสอะตอม เราอยู่ด้วยกันมาระยะหนึ่ง เหมือนพี่เหมือนน้อง รู้ทางกัน อะตอมถนัดเขียนเพลงแบบนี้ กรูฟแบบนี้ ก็ให้ทำแบบนี้เยอะ ๆ  เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า การที่จะปลดล็อกศักยภาพออกมาต้องทำให้เขารู้สึกรีแลกซ์ที่สุด แล้วก็ซัพพอร์ทเขา โอเคเขาชอบทำแบบนี้ เราก็เริ่มต้นกันแบบนั้น”

ชอบงานไหนที่โปรดิวซ์มากที่สุด ?

“จริง ๆ อะตอมกับบุรินทร์ผมชอบเท่า ๆ กันเลยนะ บุรินทร์ก็ทำงานกันมานานมาก แต่เพิ่งทำให้บุรินทร์เมื่ออัลบัมที่แล้ว (Gran Turismo) เหมือนกับเป็นงานแรก ๆ ที่ได้ทำโปรดักชั่นแบบที่อยากทำอะไรทำ เครื่องเป่าเต็มที่ บิ๊กแบนด์ สตริงมาหมด คือปล่อยของเต็มที่ ส่วนอะตอมก็เหมือนพี่เหมือนน้อง ทุกอย่างมันก็เลยดูเป็นธรรมชาติ แต่ของบุรินทร์ล่าสุดรู้สึกดีมาก ได้ร่วมงานกับมือเบสส์ระดับโลกอย่าง Nathan East  เขาทำงานง่ายมากเลย ไม่เรื่องมาก วางสกอร์ปุ๊ปอัดเทกหนึ่งแล้วอัดให้อีกสองเทคแบบแป๊ป ๆ เสร็จ ถึงบอกว่าต้องเลือกคนให้ถูก ดนตรีกรูฟแบบคุณบุรินทร์ฟีลมันก็ต้องเป็นไลน์เบสส์ของ Nathan East  ขนาดเขาเดินยังกรูฟเลย การได้ร่วมงานกับเขาถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สุดยอด และเราได้เรียนรู้วิธีการทำงานของคนระดับโลกด้วย”

 

Shortcut ?

สมัยนี้การทำงานเพลงดูสะดวกกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า สื่อดนตรีก็มีหลากหลายให้เสพให้เรียนรู้ ช่องทางการโปรโมตก็เยอะกว่าเมื่อก่อนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การที่ศิลปินจะประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้ มันมีทางลัดมั้ย ?

“ไม่มี มันก็ต้องขยันก็ต้องเวิร์กฮาร์ดเหมือนเดิมนะ มันอาจจะมีทางลัดก็ได้ แต่ว่าสำหรับพี่ พี่เชื่อว่ามันไม่มีทางลัด มันต้องทำงานหนักแล้วก็ทำงานที่ตัวเองชอบ การทำงานหนักเนี่ยสำคัญ เป็นตัวของตัวเองแล้วก็ต้องทำให้มันดีที่สุด ไม่มีอะไรที่สามารถลัดได้หรอก” 

 

Goal

เห็นพี่บอลเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และศิลปินรุ่นใหญ่แบบนี้ ชีวิตของเขาไม่ได้มีแค่ด้านสองด้าน การทำธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่ง job ที่มือกีตาร์สำเนียงเท่แบ่งเวลาไปทุ่มเท นั่นก็ร้านร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ชื่อว่า “Ten Suns ไร้เทียมทาน” อยู่ตรงเวิ้งนครเกษม ที่มีเพื่อนในวงการดนตรี แฟนเพลง และคนทั่วไปแวะเวียนกันไปชิมไม่ขาดสาย ทำงานหลากหลายขนาดนี้ วางแผนชีวิตอย่างไร ?

“ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อตอนนี้เริ่มอยู่ตัวละ มีคนที่เราไว้ใจอยู่ดูแล พี่เข้าไปอาทิตย์ละวัน เช้ามาก็จะใช้เวลาทำงานเกี่ยวกับร้านก๋วยเตี๋ยว ตอนเย็นมีเล่นก็ไปเล่น ถ้างานพวกห้องอัดก็จะนัดหมายต่างหาก ทำงานกับอาเรนเจอร์ก่อน พอได้เดโม่ก็จะนัดไปห้องอัดเลย โดยปกติจะใช้เวลาอัดกลอง เบสส์ กีต้าร์วันเดียว วันรุ่งขึ้นก็จะอัดร้องประมาณสองคิว พี่ต้องแพลนงานให้ดีที่สุด รู้ว่าเราต้องทำอะไรแล้ว พอไปถึงห้องอัดจะได้ไม่ต้องมานั่งเกาหัวกันแล้ว ส่งงานให้คนอัด ส่งงานให้มือกลอง ให้มือเบสส์ฟังเพลง มาถึงหน้างานก็มาปรับนิด ๆหน่อย ๆ  ริธึมเซ็คชั่นสำคัญที่สุด กลองกับเบสส์ถ้าดี งานก็จะง่ายขึ้น”

ความเคลื่อนไหวของวงอพาร์ตเมนต์คุณป้าเป็นอย่างไรบ้างครับ ?

“ตอนนี้ก็เพิ่งออกอัลบัมใหม่ แรกเริ่มห้องอัดเสีย ชุดนี้เลยต้องไปอัดที่ห้องอัดหลายที่ในกรุงเทพฯ ได้ใช้ซาวด์ใหม่ ๆ ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ อัดเสร็จตุลย์ (นักร้องนำ) ก็บินไปมิกซ์ที่นิวยอร์ก พอได้ฟังงานที่ออกมาแล้วก็แฮปปี้มาก เพราะคนมิกซ์เขาตอบโจทย์เราถูก เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นใครมาจากไหน บอกแค่มาจากเมืองไทย ไม่ได้บอกเขาว่าเราเป็นวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า เราอยากให้คนมิกซ์เขาตีความเพลงของเราเอง มีคนมิกซ์อยู่สามคน คนหนึ่งเป็นรุ่นเก๋าฟัง Aerosmith ฟัง The Velvet Underground และอีกท่านหนึ่งเป็นเพื่อนที่ Berkeley เขามิกซ์ให้อยู่ประจำ เป็นมือมิกซ์แนวพอปหน่อย อีกคนหนึ่งเป็นมือมิกซ์อยู่ที่นิวยอร์ก ถนัดแนว 90’s ก็แบ่งกันไปสามคนตามความเหมาะสม พอทุกอย่างกลับมาดีหมดก็แฮปปี้มาก”

วางเป้าหมายเส้นทางดนตรีของตัวเองไว้อย่างไร ?

“กับอพาร์ตเมนต์คุณป้าก็ต้องทำกันไปเรื่อย ๆ คงไม่ได้หยุด อัลบัมของบุรินทร์ก็ยังทำกันต่อเนื่อง ส่วนของอะตอมก็ว่าน่าจะมี EP ใหม่ต้นปีหน้า งานที่เข้ามาเรื่อย ๆ อันไหนที่คิดว่ามันเหมาะกับเราก็จะเลือกงานนั้น อันไหนที่ไม่เหมาะก็อาจจะไม่ทำ ยอมรับว่าค่อนข้างจะเลือกเหมือนกัน แต่ไม่ได้เรื่องมากอะไรขนาดนั้น อันไหนทำได้ก็ทำ”

มีโปรเจคต์ส่วนตัวที่อยากจะ UNLOCK ออกมาให้ได้สักทีมั้ย ?

“อยากจะทำอัลบัมบลูส์ซักอัน คิดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มทำละครับ อยากเล่นกีต้าสไตล์บลูส์ที่เราชอบ กำลังรวบรวมแมตทีเรียล อายุขนาดนี้ (43 ปี) ก็น่าจะทำอัลบัมเดี่ยวของตัวเองสักทีหนึ่ง อยากจะให้เป็นแบบเป็นดนตรีบรรเลงบ้าง มีนักร้องรับเชิญบ้าง แต่ตอนนี้ยังไม่มีเวลา งานวุ่นวายไปหมดเลย แต่ไอ้ที่ทำอยู่มันก็เป็นประสบการณ์ที่เราได้มาเรื่อย ๆ”

ฝากถึงศิลปินหรือว่าโปรดิวเซอร์ด้วยกันหน่อย

“ไม่ว่าเราจะทำเพลงหรือทำอะไรก็ตาม ที่สำคัญเราต้องเอนจอยในสิ่งที่เราทำ เอนจอยในเพลงที่เราทำ ก่อนที่จะไปนำเสนอเราต้องเอนจอยเพลงเราก่อน ถ้าเราไม่เอนจอยแล้วคิดว่าคนอื่นเขาจะมาเอนจอยกับเราได้ยังไง ผมเชื่อว่าดนตรีในทุกแบบมันมีไอเดียของตัวมันเอง ไม่มีอะไรที่มันจะเจ๋งร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก”

นับเป็นมุมมองแบบเต็มอิ่มของหนุ่มใหญ่ที่อยู่บนเส้นทางดนตรีมานาน ทำให้เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า ทุกวันนี้เราเต็มที่กับสิ่งที่เราทำแล้วหรือยัง ? เอ็นจอยกับมันหรือยัง ? ดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้เต็มที่แล้วหรือยัง ? เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้วหรือยัง ? และเห็นความสำคัญของผู้ที่คอยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลังแล้วหรือยัง ? ถ้าคำตอบคือยัง ก็ยังไม่สายที่จะปรับมุมมองใหม่ หากดนตรีเป็นภาษาสากลที่ทำให้มนุษย์แฮปปี้แล้ว เราทุกคนก็สามารถทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ในการสร้างสรรค์ความสุขในรูปแบบต่าง ๆ ให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้เช่นกัน อย่างที่ “บอล-อพาร์ตเมนต์คุณป้า” กันต์ รุจิณรงค์ ทำมาแทบทั้งชีวิต…

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line