APPS

THE PROFILES: NEIL HARBISSON มนุษย์ไซบอร์กที่สามารถแปลงสีให้เป็นเสียงได้คนแรกของโลก

By: unlockmen September 8, 2021

หากใครเป็นคอหนังภาพยนตร์ไซไฟคงคุ้นเคยกับ ‘ไซบอร์ก’ หรือ สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างคนและเครื่องจักรเป็นอย่างดี หลายคนน่าจะรู้จักมันเป็นครั้งแรกจากภาพยนตร์สุดคลาสสิก เช่น RoboCop และ Terminator แต่อาจไม่รู้ว่าในโลกเราก็มีมนุษย์ไซบอร์กตัวจริงเหมือนกัน หนึ่งในนั้น คือ Neil Harbisson ชายชาวสเปนผู้เติบโตมาพร้อมกับโรค achromatopsia หรือ ที่เราเรียกว่าภาวะตาบอดสีแบบ 100% เขามองเห็นโลกมีเพียงสีขาวดำมาตลอด จนกระทั่งวันที่เทคโนโลยีกับเขาเริ่มกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน

กว่าจะมาเป็นไซบอร์ก

Neil Harbisson เกิดและเติบโตใน Mataro เมืองชายฝั่งแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในบาเซโลน่า ประเทศสเปน เขามีความสามารถด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก หลังจากได้เรียนรู้การเล่นเปียโนที่บ้านเกิด เขาก็สามารถแต่งประพันธ์เพลงของตัวเองได้ตั้งแต่อายุเพียง 11 ปี

เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาได้เรียนวิจิตรศิลป์ (Fine Art) ในสถาบัน Institut Alexandre Satorras และได้รับอนุญาตให้สร้างสรรค์งานศิลปะแบบไม่ใช้สีได้ ผลงานศิลปะในช่วงแรกของชีวิตเขาเป็นสีขาวดำทั้งหมด แต่ชีวิตของ Harbisson ก็ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเขาอายุ 19 ปี และได้ไปศึกษาเรื่องการประพันธ์เพลงที่ Dartington College of Arts ของประเทศอังกฤษ เขาก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนที่มองเห็นสีต่าง ๆ ให้ได้

ในปี 2004 ขณะที่เขากำลังศึกษาเรื่องการประพันธ์เพลงแนวทดลอง เขาได้ตัดสินใจทำโปรเจ็กต์จบเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เขามองเห็นสี และมอบประสบการณ์การมองเห็นที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนเคยสัมผัสมาก่อน โดยเขาได้ร่วมมือกับ Adam Montandon นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างอุปกรณ์ชื่อว่า ‘Eyeborg’ ซึ่งเป็นเสาอากาศที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่มีน้ำหนัก 5 กิโลกรัม พร้อมหูฟังหนึ่งคู่ไว้สำหรับฟังเสียงจากอุปกรณ์

การทำงานของ Eyeborg จะเริ่มต้นที่ปลายเสาอากาศซึ่งมีกล้อง webcam ติดตั้งไว้อยู่ กล้องตัวนี้จะทำหน้าที่แปลงสีที่มองเห็นให้กลายเป็นคลื่นเสียงที่แตกต่างกันมากถึง 360 ประเภท และส่งคลื่นเสียงเหล่านั้นไปยังหูฟังที่เชื่อมต่อกับตัวอุปกรณ์ ทำให้ Harbisson กลายเป็นมนุษย์ที่มีประสาทสัมผัสแตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป เพราะเขาสามารถรับรู้สีได้มากถึง 360 ชนิด ผ่านการฟังเสียงของสิ่งที่อยู่รอบตัว ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘Sonochromatopsia’

Sonochromatopsia จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘Synesthesia’ หรือ ภาวะที่สมองรับรู้ประสาทสัมผัส 2 อย่างพร้อมกัน เช่น การมองเห็นสีในระหว่างฟังเพลง หรือ การมองเห็นรูปทรงเรขาคณิตในระหว่างกินอาหาร แต่ Sonochromatopsia จะมีความแตกต่างที่เกี่ยวข้องกับการฟังเสียงประเภทหนึ่ง และมองเห็นสีที่เฉพาะเจาะจงกับเสียงนั้น เช่น การเห็นสีส้มและม่วงหลังจากได้ยินเสียงคอร์ดบีไมเนอร์ เป็นต้น

ในช่วง 5 สัปดาห์แรกที่ Harbisson เริ่มใช้งาน Eyeborg เขารู้สึกมึนหัวอย่างมาก เพราะยังไม่คุ้นเคยกับการฟังเสียงและรับรู้สีใหม่ ๆ แต่หลังจากอดทน และพยายามใช้มันต่อไป ในอีก 5 เดือนต่อมา เขาก็ใช้งานมันเพื่อแกะคลื่นความถี่ที่ได้ยินให้กลายเป็นสีต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว จนกระทั่งอีกหลายปีต่อมา เขาก็เปลี่ยนจากคนตาบอดสีสนิท กลายเป็นคนที่มีความสามารถในการรับรู้สี แดง เขียว และฟ้า รวมถึงสีที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสมนุษย์ เช่น อัลตร้าไวโอเล็ต หรือ อินฟาเรด

Harbisson ได้พยายามพัฒนา Eyeborg เรื่อยมา ตัวประมวลผลถูกลดน้ำหนักเหลือเพียงแค่ 1 กิโลกรัม สามารถเก็บไว้ในเสื้อผ้าของเขาได้อย่างสะดวกสบาย และซอฟท์แวร์ของคอมพิวเตอร์ก็ถูกลดขนาดให้กลายเป็นชิปที่สามารถติดตั้งด้านหลังผิวหนังของเขาได้

นอกจากนี้ Harbisson ยังเข้ารับการผ่าตัดติดตั้งเสาอากาศไว้ที่กะโหลกศีรษะของตัวเองด้วย ทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ไซบอร์กอย่างสมบูรณ์แบบ และได้รับสมญานามว่าเป็นมนุษย์ไซบอร์กคนแรกของโลกอย่างเป็นทางการจาก Guinness World Record ในปี 2018


ชีวิตในฐานะไซบอร์กคนแรกของโลก

แม้อุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น แต่มันก็ทำให้เขาเจอปัญหาชีวิตมากมายเหมือนกัน เช่น เมื่อปี 2004 เขาเคยโดนระงับการต่ออายุหนังสือเดินทาง เพราะพวกเขาไม่อนุญาตให้ Harbisson ถ่ายรูปโดยสวมใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ไว้บนศีรษะ เขาต้องเจรจากับสำนักงานเป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่าจะต่ออายุได้สำเร็จในที่สุด หรือ ในปี 2011 ที่เขาเคยมีเรื่องกับตำรวจ เพราะเจ้าหน้าที่คิดว่าตัวเองถูกแอบถ่ายอยู่ และได้ทำลายอุปกรณ์ของ Harbisson ซะยับ แต่เขาได้ฟ้องร้องตำรวจคนนั้นด้วยข้อหาก้าวร้าวทำร้ายผู้อื่น แทนที่จะจะฟ้องร้องด้วยข้อหาทำลายทรัพย์สิน เพราะเขามองว่าเสาอากาศเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เขาพบเจอในชีวิตก็ไม่สามารถหยุดความพยายามของเขาได้ ในปี 2010 เขาได้ก่อตั้งมูลนิธิไซบอร์ก ร่วมกับเพื่อนไซบอร์กของเขา Moon Ribas เพื่อให้คนรู้จักไซบอร์กมากขึ้น โดยผลงานที่โดดเด่นของมูลนิธินี้ คือ การสร้างแอป Eyeborg ซึ่งสามารถแปลงสีให้กลายเป็นเสียงแบบที่ Harbisson ได้ยินผ่านเครื่อง Eyeborg

Harbisson ยังผลักดันเรื่องความผูกพันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีผ่านผลงานศิลปะแนว contemporary art ของเขา ซึ่งพวกมันได้รับการจัดแสดงในพื้นที่ศิลปะหลายแห่งทั่วโลก เช่น งาน Venice Biennale ครั้งที่ 54 (ประเทศอิตาลี) Savina Museum of Contemporary Art (ประเทศเกาหลีใต้) Museumsquartier (ประเทศออสเตรีย) หรือ Pioneer Works (ประเทศสหรัฐอเมริกา) เป็นต้น

ความทุ่มเทของ Harbisson ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง เขาเคยบรรยายตามสถาบันและเวทีระดับโลก เช่น TEDGlobal ปี 2012 และได้รับรางวัลล้ำค่าอีกมากมายจากการปรากฎตัวในสารคดีและภาพยนตร์ เช่น Grand Jury Prize จากงาน Sundance Film Festival (2013) หรือ รางวัลชนะเลิศจากงาน Tribeca Film Festival X Award (2016) เป็นต้น

เราอาจจะมองเรื่องราวของ Neil Harbisson เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งซึ่งกล้าจะแตกต่างจากคนอื่น แม้จะต้องเจ็บปวด และเจอปัญหามากมายจากการไม่มีที่ยืนในสังคม เขาก็ไม่ท้อถอย และยืนหยัดในความเชื่อของตัวเอง จนสุดท้ายเขาก็ได้รับการยอมรับในระดับโลก และกลายเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลต่อยุคสมัยของเราคนหนึ่ง


 

Appendix: 1 / 2 / 3 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line