World

THE PROFILES: เรื่องราวของ BERNARD ARNAULT ชายผู้ถูกขนานนามว่ามั่งคั่งที่สุดในฝรั่งเศส

By: TOIISAN April 17, 2019

ว่ากันว่าคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่มักสนใจเรื่องแฟชั่น Bernard Arnault ก็เช่นกัน เขาคือนักธุรกิจหนุ่มเมืองน้ำหอมที่สนใจเรื่องแฟชั่นและการเปลี่ยนสินค้า luxury ให้กลายเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่บางคนอาจไม่กล้าจินตนาการถึง UNLOCKMEN อาสาพาไปดูเรื่องราวของ Bernard Arnault นักธุรกิจที่ได้ชื่อว่าเป็นชายที่รวยที่สุดในฝรั่งเศส กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เขาต้องผ่านอะไรบ้าง

LVMH

บุคคลสำคัญของวงการธุรกิจแฟชั่นส่วนมากมักเป็นดีไซเนอร์ แต่ Bernard Arnault (แบร์นาร์ด อาร์โนลด์) กลับไม่ใช่แบบนั้น เขาไม่ได้เป็นแฟชั่นนิสต้าหรือเรียนทางด้านการออกแบบมา แต่เขาเป็นนักธุรกิจจากตระกูลที่ทำบริษัทก่อสร้างมาหลายชั่วอายุคน จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์

อย่างไรก็ดีเขามองเห็นช่องทางสร้างรายได้มหาศาลจากแฟชั่น เพราะ Bernard คิดว่าสินค้าหรูหราเป็นสิ่งที่จะทำกำไรได้ดีที่สุด 

เมื่อคิดได้ดังนั้นเขาจึงไม่รอช้าเริ่มไล่ซื้อแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ไปเรื่อย ๆ โดยเริ่มจาก Financière Agache ก่อน จากนั้นซื้อ Boussac Saint-Frères และ Willot Group ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อก้องโลกอย่าง Christian Dior แต่แบรนด์ชื่อดังในตอนนั้นถือว่าเป็นแบรนด์ที่ใกล้จะล้มละลาย Bernard จึงเข้ามาปรับระบบใหม่พร้อมกับก้าวขึ้นเป็นประธานของ Dior ในปี 1984 

FFH Journal

ต่อมาในปี 1987 Louis Vuitton และ Moët Hennessy ตัดสินใจรวมกลุ่มธุรกิจกันในชื่อ LVMH ซึ่งการรวมกลุ่มธุรกิจนี้เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของ Bernard เพราะ LVMH เริ่มเจรจาซื้อกิจการของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Givenchy, Emilio Pucci, Marc Jacob, Loewe, Celine, Kenzo, Fendi, Donna Karan และอื่น ๆ อีกกว่า 70 แบรนด์ รวมทั้ง Christian Dior ที่ Bernard เป็นประธานและมีหุ้นอยู่ก่อนแล้ว 74% 

ช่วงที่ LVMH กำลังเจรจาซื้อขายกับหลายแบรนด์ Christian Dior ก็กำลังไล่ซื้อหุ้นของ LVMH อยู่ด้วยเช่นกัน จนทำให้ในที่สุด Dior กลายเป็นแบรนด์ถือหุ้นรายใหญ่ของกลุ่ม LVMH ด้วยจำนวนกว่า 47% ทำให้ประธานของ Dior อย่าง Bernard มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเกิน 50% เท่ากับว่าเขากลายเป็นเจ้าของ LVMH กลุ่มธุรกิจสินค้าหรูหราที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย

the fashion law

สำหรับกรณีของ Christian Dior หลังจากถูก LVMH ซื้อกิจการทั้งหมดไปเมื่อปี 2017 ด้วยมูลค่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 4.5 แสนล้านบาท ที่ถือว่าการซื้อขายครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่ของวงการแฟชั่นและสร้างความงุนงงให้กับหลายคนได้เป็นอย่างดี เพราะหลายคนจะเข้าใจว่า Dior ทั้งหมดเป็นของ LVMH อยู่แล้ว แต่จริง ๆ กลับไม่ใช่แบบนั้น

ระบบการบริหารภายในของ Dior จะถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ เช่น หุ้นน้ำหอม เครื่องสำอาง หุ้น Dior Couture หุ้นเสื้อผ้า ฯลฯ แตกต่างกับแบรนด์แฟชั่นส่วนมากที่จะรวมหุ้นใหญ่เพียงหุ้นเดียว แถมเดิมที Bernard ถือหุ้นส่วนใหญ่ของน้ำหอมและเครื่องสำอางอยู่ก่อนแล้ว แต่หลังจากเขาได้ครอง LVMH จึงได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการที่เหลือของ Dior และรวมเข้ากับ LVMH ทั้งหมด ซึ่งจากการดีลครั้งนี้ทำให้ภายในหนึ่งวัน Bernard มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาทเลยทีเดียว

the fashion law

lanouvellevague

การตามเก็บแบรนด์ลักชัวรีของเขาคล้ายกับว่าแบรนด์ต่าง ๆ คือคอลเลกชันของสะสมส่วนตัวที่เขาพยายามไล่เก็บให้ครบ หลังจากได้เป็นผู้กุมบังเหียนของ LVMH แล้ว Bernard ต้องการครอบครองแบรนด์สินค้าลักชัวรีอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของ เช่น Gucci และ Hermes แต่ดันไม่สำเร็จตามที่หวังไว้เพราะ François Pinault คู่แข่งคนสำคัญผู้เป็นเจ้าของกลุ่มธุรกิจ Kering (คล้ายกับ LVMH) เป็นผู้เจรจาได้ Gucci ไปครอง

ถึงแม้จะพลาดจากการตามเก็บแบรนด์ดังหลายเจ้า แต่ปี 2017 จากข้อมูลจากนิตยสาร Forbes กล่าวว่า Bernard Arnault มีทรัพย์สินกว่า 5,530 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019 เขาได้อันดับ 4 ของมหาเศรษฐีที่รำ่รวยที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรายได้มากมายมาจากแบรนด์สินค้าไฮเอนด์ที่เขามีอยู่

LVMH

ล่าสุดจากเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหาร Notre-Dame ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจคู่แข่งอย่าง François Pinault ได้บริจาคเงินจำนวน 100 ล้านยูโร ทำให้เขาไม่รอช้าควักเงินบริจาค 200 ล้านยูโร (ประมาณ 7,000 กว่าล้านบาทไทย) เพื่อให้เป็นทุนสำหรับบูรณะมหาวิหารที่เป็นแหล่งรวมใจของชาวฝรั่งเศสให้กลับมาสวยงามดังเดิม

เรื่องราวการก้าวขึ้นมาสู่ความยิ่งใหญ่ของ Bernard Arnault สำหรับหลายคนอาจจะมองว่าง่ายดายเพราะเขามีเงินทุนอยู่ก่อนแล้ว แต่ใช่ว่าคนมีเงินทุกคนจะสามารถต่อยอดหรือมองเห็นช่องทางการสร้างรายได้มหาศาลแบบเขาได้เสมอไป เพราะการครองอาณาจักรแฟชั่นชั้นนำคงไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ จึงทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่วงการแฟชั่นและธุรกิจต่างยกย่องและมองเป็นแบบอย่างของความสำเร็จ

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line