CARS

‘แฟรงค์ วิลเลียมส์’ ชายผู้เติมเต็มจิตวิญญาณของชีวิตด้วยความหลงใหลในการแข่งขันรถสูตร 1

By: SPLESS September 10, 2020

บนโลกใบนี้จะมีคนที่หลงใหลในการแข่งขันรถยนต์สักกี่คน ที่มีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรักนานกว่า 50 ปี พร้อมผ่านการทำงานในวงการมอเตอร์สปอร์ตมาครบถ้วนทุกตำแหน่ง ตั้งแต่การเป็นนักแข่ง ทีมช่างและผู้พัฒนารถแข่ง รวมไปถึงตำแหน่งเจ้าของทีมแข่งรถสูตร 1 ที่สร้างความสำเร็จเอาไว้มากมายจนกลายเป็นตำนานอีกหนึ่งบทของวงการ Formula 1 เหมือนกับชีวิตของชายที่ชื่อ แฟรงค์ วิลเลียมส์ กับทีม Williams Racing

อย่างไรก็ตามแม้จะประสบความสำเร็จและสร้างเกียรติประวัติเอาไว้มากมาย แต่ด้วยปัญหาทางด้านการเงินที่พยายามต่อสู้มานานหลายปี ก็ทำให้ครอบครัววิลเลียมส์ต้องยอมลดบทบาทของตัวเองเพื่อความอยู่รอดทีมรถสูตร 1 ซึ่งปัจจุบันเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้เงินทุนในการทำทีมด้วยเงินมูลค่าหลักหลายพันล้านบาท

แม้การยุติบทบาทของครอบครัววิลเลียมส์จะทำให้ แคลร์ วิลเลียมส์ รวมถึงตัวของ เซอร์แฟรงค์ วิลเลียมส์ ต้องถอยออกมาจากการทำทีมเพื่อหลีกทางให้กับกลุ่มทุนใหม่ แต่จิตวิญญาณที่หลงใหลในการแข่งรถของชายคนนี้ยังคงถูกจดจำจากคนที่รักในความเร็วเสมอ และวันนี้เราจะพาทุกคนย้อนชมความสำเร็จบนเส้นทางการแข่งขันแห่งโลกความเร็วของชายคนนี้ไปพร้อมกันครับ

F1

ฟรานซิส โวเอน กาเบท วิลเลียมส์ หรือ แฟรงค์ วิลเลียมส์ เกิดและเติบโตในย่านเซ้าท์ชีลด์ส เมืองเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ ถูกเลี้ยงดูโดยลุงและป้าหลังจากที่พ่อแม่แยกทางกัน ก่อนตัวเขาจำเป็นต้องย้ายเข้าโรงเรียนประจำในประเทศสกอตแลนด์ เพื่อรับโอกาสชีวิตที่ดีขึ้นตามความต้องการของคุณยาย

แฟรงค์ในวัยเด็กสนใจในรถยนต์และการแข่งรถอย่างกระตือรือร้นเกินวัย ช่วงเวลาว่างเขามักจะวิ่งไปรอบ ๆ โรงเรียนเพื่อแกล้งทำว่าตัวเองกำลังอยู่ในรถแข่ง รวมถึงชอบเวลามีโอกาสได้นั่งรถยนต์ของผู้ปกครองเพื่อน ๆ แฟรงค์เล่าว่าเมื่อมองย้อนกลับไปมันค่อนข้างไร้สาระ แต่ทั้งหมดก็ได้สร้างตัวตนของเขาที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทุกอย่างขึ้นมา

Sutton Images

เมื่อโตขึ้น แฟรงค์มีโอกาสได้พบปะกับกลุ่มเพื่อน ๆ ที่เป็นลูกหลานของคนมีเงินมากขึ้น และข้อดีคือเพื่อนเหล่านี้มักจะมีรถยนต์ดี ๆ สำหรับขับมาโรงเรียน ช่วงเวลานั้นเองที่ แฟรงค์ วิลเลียมส์ มีโอกาสได้สัมผัสการขับขี่ที่เร็วและทรงพลังอย่าง Jaguar XK150 จากเพื่อนสนิท

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้แฟรงค์ยิ่งเพิ่มความหลงใหลในความเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว พร้อมตั้งเป้าหมายว่าสักวันจะเข้าไปมีส่วนกับวงการมอเตอร์สปอร์ตให้ได้ พร้อมใช้เวลาว่างอยู่กับรถยนต์เพื่อความรู้จักเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

ไม่นานนักเขาก็ตัดสินใจซื้อรถแข่ง A34 มาในราคา 80 ปอนด์เพื่อสร้างรถแข่งคันแรกของตัวเองขึ้นมา นับจากช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา การแข่งขันรถยนต์กับชีวิตของ แฟรงค์ วิลเลียมส์ ก็ไม่เคยแยกออกจากกันอีกเลย

Sutton Images

ปี 1966 แฟรงค์จะตัดสินใจนำเงินทั้งหมดที่สะสมจากการทำงานเป็นพนักงานร้านขายของชำและซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ตลอดหลายปีมาลงทุนสร้างทีมแข่งรถขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อ Williams Racing Cars เพื่อสมัครเข้าแข่งขันในระดับ Formula Three และ Formula Two โดยรับหน้าที่ควบตำแหน่งนักแข่งรถไปพร้อมกัน

จากคำบอกเล่าของคนในวงการ เขาคือมือฉมังด้านความเร็วในสนามแข่ง อย่างไรก็ตามการขับของเขาเป็นความเร็วแสนอันตรายที่มักออกนอกเส้นทางแข่งขันหรือเกิดอุบัติเหตุก่อนการแข่งขันจะจบลงอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการขับรถบนถนนปกติที่คนใกล้ตัวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเร็วทุกการเข้าโค้ง แต่หลังจากแข่งอยู่ประมาณ 2-3 ปี แฟรงค์ก็เริ่มรู้ว่าตัวเองมีทักษะในการเป็นนักแข่งที่ยังไม่ดีพอ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ได้พบกับชายที่ชื่อ เพียร์ส คูเรจ นักขับคู่ใจคนแรกของเขา

เพียร์ส คูเรจและแฟรงค์ วิลเลียมส์ ภาพจาก Sutton Images

เพียร์ส คูเรจ คือนักแข่งที่มีทั้งพรสวรรค์ความมุ่งมั่น ผู้เข้ามาเป็นคู่หูคนสำคัญของแฟรงค์ในการแข่งขัน Formula 1 โดยในปีแรกของการลงแข่ง พวกเขาสามารถคว้าอันดับที่ 2 ได้ถึง 2 สนามด้วยกันคือ Monaco Grand Prix และ  US Grand Prix ของ 1969 แต่ในช่วงเวลาที่ทั้งคู่กำลังจะเริ่มต้นสร้างความยิ่งใหญ่ร่วมกัน อุบัติเหตุในการแข่งขันที่ Dutch Grand Prix ในปีถัดมากลับพรากชีวิตของเพียร์ส คูเรจไปตลอดกาล

การสูญเสียครั้งนั้นสร้างความเสียใจให้แฟรงค์เป็นอย่างมาก เพราะสูญเสียเพื่อนไปจากรถแข่งที่ตัวเองสร้าง แต่ความหลงใหลในการแข่งขันรถแข่งทำให้แฟรงค์ก้าวข้ามมันและตัดสินใจทำทีมต่อไป

ไม่นานนักทีมของเขาก็เริ่มประสบปัญหาด้านการเงิน ถึงขนาดว่าโทรศัพท์ที่ออฟฟิศโดนตัดเพราะไม่มีเงินจ่าย ช่วงเวลานั้นเองจินนี่ภรรยาของเขาได้นำเงินส่วนตัวมาช่วยประคองทีมแข่งของสามีเอาไว้หลายครั้ง แต่ในที่สุดแฟรงค์ก็ตัดสินใจสละตำแหน่งหัวเรือใหญ่เพื่อหลีกทางให้เศรษฐีน้ำมันอย่าง Walter Wolf มากุมบังเหียนแทน ในขณะที่แฟรงค์พยายามทำงานกับทีมต่อในฐานะลูกจ้าง แต่ไม่นานเขาก็ขอถอนตัวเพราะรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการทำ

Sutton Images

แต่ชายผู้หลงใหลการแข่งรถคนนี้ก็ฝืนธรรมชาติของตัวเองได้ไม่นาน เพราะในปี 1977 แฟรงค์ วิลเลียมส์ ตัดสินใจเปิดทีมแข่งรถขึ้นมาอีกครั้งในชื่อ William Grand Prix Engineering Limited ด้วยการจับมือกับ Patrick Head วิศวกรชาวอังกฤษ โดยเช่าโรงงานทำพรมเก่าที่ตั้งอยู่ในย่านอ็อกฟอร์ดไชน์มาใช้เป็นฐานทัพ

เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ FIA ออกกฎใหม่เกี่ยวกับการแข่งขันรถสูตร 1 ขึ้นมา ก่อนทีมงานของ William Grand Prix ซึ่งในเวลานั้นมีสมาชิกเพียง 17 คน จะสร้างรถแข่งของทีมขึ้นมาเป็นคันแรกในชื่อ FW06 และสามารถคว้าชัยชนะครั้งแรกบนสังเวียน F1 ได้ในปีต่อมาจากรถแข่งรุ่น FW07 ที่ขับโดย Clay Regazzoni กับชัยชนะในสนามซิลเวอร์สโตนสุดยอดสนามแข่งรถของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง

Sutton Images

ชัยชนะในครั้งนั้นคือเป็นความสุขครั้งสำคัญในชีวิตของแฟรงค์ วิลเลียมส์ และแสดงให้เห็นว่าชายคนนี้ใช้เวลาเพียง 3 ปีในการสร้างทีมแข่งรถขึ้นมาใหม่ หลังจากต้องขายทีมแข่งของตัวเองไปในช่วงเวลาก่อนหน้า ก่อนทีมของเขาจะโชว์ผลงานได้อย่างโดดเด่นในหลายฤดูกาลต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการคว้าแชมป์ประเภททีมผู้สร้างของปี 1980 และ 1981 รวมถึงคว้าแชมป์โลกร่วมกับยอดนักแข่งอย่าง Alan Jones และ Keke Rosberg ในปี 1980 และปี 1982 ตามลำดับ

F1

อย่างไรก็ตามในปี 1986 เส้นทางชีวิตของแฟรงค์ วิลเลียมส์ ก็พลิกผันอีกครั้ง เมื่อเขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างกำลังเดินทางกลับจากสนามแข่งรถ Paul Ricard ซึ่งในเวลานั้นกำลังทดสอบรถในรุ่น FW11 ของทีมอยู่ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้กระดูกสันหลังของแฟรงค์ได้รับบาดเจ็บและถูกกดทับจนเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงไหล่ลงมา ต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

Sutton Images

อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์พร้อม แต่ชายที่แฟรงค์ วิลเลียมส์ ยังคงโหยหาที่จะได้ใช้เวลาอยู่ในสนามแข่งเสมอ ขณะเดียวกันรถแข่ง FW11B เครื่องยนต์ V6 Turbo ของทีมก็ประกาศศักดาด้วยการคว้าชัยชนะได้ถึง 9 ครั้ง ขึ้นโพเดียมอีก 19 ครั้งและคว้าตำแหน่ง Pole ของรอบคัดเลือกได้ถึง 12 สนาม รวมถึงคว้าตำแหน่ง 1-2 ที่สนามซิลเวอร์สโตน ก่อนจบฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ประเภททีมผู้สร้างมาครองอย่างยิ่งใหญ่

โดยช่วงเวลาแห่งความสำเร็จครั้งนั้น เกิดขึ้นระหว่างช่วงที่แฟรงค์กำลังพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุพอดี ซึ่งคนที่ขึ้นไปรับถ้วยแชมป์แทนก็ไม่ใช่ใครนอกจากคู่ชีวิตที่สู้และฟันฝ่าเพื่อสิ่งที่เขารักมาด้วยกันตลอดอย่าง จินนี่ วิลเลียมส์ และรูปภาพตอนที่เธอยืนชูถ้วยแชมป์แห่งชัยชนะก็ยังคงทรงพลังมาจนถึงทุกวันนี้

Sutton Images

แม้ร่างกายของแฟรงค์ วิลเลียมส์จะไม่ยอมให้เขากลับมามีส่วนร่วมกับแข่งรถได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนในอดีต แต่ชายคนนี้ยังคงหลงใหลในเรื่องนี้อยู่เสมอ หลังจากพักรักษาตัวจนหายดี แฟรงค์ตัดสินใจกลับมาทำงานในสังเวียนแห่งความเร็วอีกครั้งพร้อมกับร่างที่ติดอยู่กับรถเข็น โดยการกลับมาของแฟรงค์ได้รับเสียงปรบมือดังสนั่นจากผู้คนในวงการรถสูตร 1 ซึ่งล้วนเป็นห่วง นับถือ และรอคอยการกลับมาของเขา โดยเขาตอบกลับเพียงสั้น ๆ แต่ทรงพลังว่า “การที่ผมได้มาอยู่กับทีม ได้กลับมาที่สนามแข่งอีกครั้งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ”

Sutton Images

นับจากช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา ความมุ่งมั่นที่จะเดินทางมาสนามแข่งของแฟรงค์ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของทีมวิลเลียมส์และวงการ Formula 1 ไปโดยปริยาย แม้ปัญหาทางร่างกายจะขวางกั้นไม่ยอมให้เขาได้มีส่วนร่วมเหมือนเดิม แต่ความรู้สึกและความหลงใหลของชายคนนี้กลับเป็นน้ำหล่อเลี้ยงที่ทำให้ทีมรถแข่งของเขาอยู่คู่วงการ Formula 1 มาจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 50 ปี การได้ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างสิ่งที่ตัวเองหลงใหลอย่างการแข่งรถก็ช่วยเยียวยาจิตวิญญาณของชายที่ชื่อ แฟรงค์ วิลเลียมส์ ให้เติมเต็มอยู่เสมอเช่นกัน

แม้วันนี้ในปี 2020 บทบาทของครอบครัววิลเลียมส์ นำโดยแคลร์ วิลเลียมส์ ที่รับช่วงต่อมาตั้งแต่ปี 2013 จะต้องเปิดทางให้กลุ่มทุนใหม่ได้เข้ามาบริหารอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าของรายใหม่จะยังคงใช้ชื่อทีม William Racing ต่อไปเพื่อให้เกียรติกับทีมเก่าแก่ทีมนี้และหวังว่าเราจะมีโอกาสได้เห็นครอบครัววิลเลียมส์มีโอกาสกลับเยี่ยมเยือนทีมรถสูตร 1 ที่พวกเขาก่อตั้งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในอนาคต

Sutton Images

 


Source: 2/3/4/5/6

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line