Life

“รู้สึกท้อแท้ไม่มีเป้าหมายในชีวิต” รับมืออย่างไรดีเมื่อคนรุ่นใหม่เจอกับ QUARTER-LIFE CRISIS

By: unlockmen February 9, 2021

พอเริ่มเข้าสู่วัยทำงานแล้ว หลายคนคงเริ่มรู้สึกว่าชีวิตมันยากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ต้องแข่งกับคนอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องงาน ความสัมพันธ์ การใช้ชีวิต ต้องทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำในวัยเด็ก ต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น หรือ บางคนอาจต้องย้ายออกมาอยู่คนเดียว สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Quarter-Life Crisis และจะทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนเดิมได้


WHAT IS A QUARTER-LIFE CRISIS ?

วิกฤตหนึ่งส่วนสี่ชีวิต (Quarter-Life Crisis) คือ ภาวะที่คนวัยหนุ่มสาว (อายุ 18 – 30 ปี) ตกอยู่ในความเครียดและความกังวลในเรื่องคุณภาพชีวิตของตัวเอง เพราะพวกเขานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นในวัยเดียวกัน หรือ ขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต ซึ่งคนที่เจอกับปัญหานี้มักรู้สึกว่าตัวเองกำลังติดอยู่ในปัญหาอะไรบางอย่าง และไม่สามารถหนีออกมาได้ เช่น หางานไม่เจอมาเป็นเวลานาน ทำงานที่ไม่รู้ทำไปเพื่ออะไร (dead-end jobs) มาเป็นเวลานาน หรือ หาแฟนมานานเท่าไหร่ก็ยังไม่เจอสักที

เมื่อพวกเขารู้สึกว่าความพยายามของตัวเองช่างไร้ค่าไร้ความหมาย หรือ ทำอย่างไรก็ไม่ได่ในสิ่งที่คาดหวังสักที สุดท้ายพวกเขาก็จะตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเอง เช่น “ทำไมคนอื่นแต่งงานมีลูกกันหมดแล้ว แต่เรายังหาแฟนไม่ได้อีก?” “เราจะทำงานนี้ไปเพื่ออะไร?” หรือ “เพื่อนเราไปถึงไหนแล้ว แต่ทำไมเรายังอยู่แค่นี้?” ซึ่งคำถามเหล่านี้มักไม่ได้รับคำตอบที่ดีหรือหลายคนอาจตอบมันไม่ได้ สุดท้ายพวกเขาก็รู้สึกเหมือนหลงทาง เกิดอาการท้อแท้ และไม่มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตเหมือนเดิมอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม Quarter-Life Crisis ก็เกิดขึ้นได้จากความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเหมือนกัน เช่น การต้องย้ายออกจากบ้านมาอยู่คนเดียวเป็นครั้งแรก หรือ การเลิกกับแฟนและกลับมาอยู่คนเดียว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเหงาและโดดเดี่ยว และบีบบังคับให้พวกเขาต้องลองผิดลองถูกทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมากกว่าเดิม เช่น ต้องทำงานบ้านเองมากขึ้น หรือว่า ต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้พวกเขาเจอกับเรื่องที่ไม่คาดคิดบ่อย ๆ และรู้สึกหลงทางได้เหมือนกัน


HOW TO GET OVER QUARTER-LIFE CRISIS ?

บางคนคงมองว่า “การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น” เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และหมั่นพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นที่คนยอดเยี่ยมมากขึ้นอยู่เสมอ พูดง่าย ๆ คือ มันส่งผลดีต่อความ productive แต่ถ้าเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากเกินไป จนรู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น มันก็อาจจะทำให้เราเครียดและกังวลมากเกินไปจนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องสนใจคนอื่นน้อยลง และตัดสินตัวเองและคนอื่นให้น้อยลงด้วย มันจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้เรารอดพ้นจากวิกฤตนี้ได้

เมื่อเราเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อมา คือ การใส่ใจกับความต้องการและเป้าหมายของตัวเอง เพราะคนที่เจอกับวิกฤตนี้ มักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเป้าหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องงาน และความสัมพันธ์ ถ้าเราสามารถตอบได้ว่าเราจะทำงานนี้ไปเพื่ออะไร ? เราต้องการอะไรจากสิ่งที่เราทำอยู่ ? มันจะช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำอยู่มากขึ้น

แต่ถ้ารู้สึกว่าการหาคำตอบเหล่านี้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก ลองคิดดูว่าเราสามารถปรึกษาเรื่องนี้กับใครได้บ้างไหม ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือ นักบำบัด ถึงแม้การคุยกับพวกเขาอาจไม่ทำให้เจอกับคำตอบที่ดีที่สุด แต่การได้ระบายปัญหาและความรู้สึกแย่ ๆ ของตัวเองให้ใครสักคนฟัง ย่อมทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกว่าเดิม และรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงกว่าเดิมด้วย

ต่อมาเมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว เราก็ต้องหาข้อมูลต่อว่าจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไรบ้าง และเริ่มต้นวางแผนชีวิตใหม่อีกครั้ง แบบนี้จะช่วยให้เรามองเห็นเส้นทางที่เราจะก้าวต่อไปชัดขึ้น และทำให้เราสามารถเดินไปข้างหน้าต่อเรื่อย ๆ ได้โดยไม่หลงทาง

สุดท้าย ต่อให้เราวางแผนดีแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำมันก็จบ ดังนั้น เลิกกลัวว่าพอทำตามเป้าหมายแล้วจะล้มเหลว หรือผิดหวัง เพราะถ้าเราเพิ่งเริ่มทำมัน และยังไม่มีประสบการณ์กับมันมากพอ มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากอยู่แล้ว

การทำอะไรสักอย่างให้ได้ดีต้องใช้เวลา การลองผิดลองถูก การเรียนรู้จากความผิดพลาด รวมถึง ความพยายามในการทำมันให้สำเร็จ ถ้าทุกคนมีสิ่งเหล่านี้ เราเชื่อว่าการลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรอีกต่อไป


Appendixs: 1 / 2 / 3

 

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line