Entertainment

CINEPHILE: ‘QUENTIN TARANTINO ชีวิตและผลงาน’ หนังบ้าอะไร ทำไมมีแต่บทพูด?

By: PERLE March 29, 2019

ในโลกมีผู้กำกับไม่กี่คนที่เราดูหนังเขาเพียงไม่กี่นาทีก็รู้ทันทีว่านี่คือฝีมือการกำกับของใคร เนื่องจากลายเซ็นและเอกลักษณ์อันชัดเจนที่แทรกอยู่ในทุกไดอะล็อก ทุกซีน หนึ่งในผู้กำกับตามนิยามที่ว่านั้นต้องมีชื่อของ Quentin Tarantino ผู้กำกับหนุ่มใหญ่วัย 56 จาก เทนเนสซี สหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วยแน่นอน

หนังบ้าอะไรวะเนี่ย แม่งพูดกันทั้งเรื่อง!

ลายเซ็นที่ชัดเจนของหนัง Quentin คือการดำเนินเรื่องที่ฉับไว และบทสนทนาน้ำไหลไฟดับที่บางครั้งก็เลยเถิดไปไกลจนไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง สำหรับบางคนมันคือเสน่ห์ แต่อีกหลายคนก็รู้สึกรำคาญ ดังนั้นความเห็นต่อหนังของ Quentin เสียงจึงแตกเป็น 2 ฝ่าย ไม่รักหัวปักหัวปำ ก็เกลียดไปเลย

Esquire

ความรักที่แฟนหนังมีต่อ Quentin เห็นได้ชัดจาก Once Upon a Time in Hollywood ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขา หลังจากปล่อยภาพโปสเตอร์ รายชื่อนักแสดง เรื่องย่อ และ Trailer ออกมา ทั่วโลกก็ตกอยู่ในภาวะ Hype เกิดเป็นกระแสวงกว้างในโลกออนไลน์

ก็แน่ล่ะ Leonardo DiCaprio ประชันบทบาทกับ Brad Pitt เพิ่มความสดใสด้วย Margot Robbie กำกับโดย Quentin Tarantino มาในพล็อตจิกกัดวงการฮอลลีวูดยุค 60 ใครบ้างจะไม่อยากดู

ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่าชื่อของ Quentin Tarantino ได้ก้าวสู่ทำเนียบผู้กำกับชั้นนำระดับโลกอย่างเต็มตัวแล้ว สามารถกระทบไหล่กับ Martin Scorsese, Woody Allen, Steven Spielberg และบรรดาผู้กำกับระดับตำนานได้อย่างไม่เขินอาย

เนิร์ดหนังตั้งแต่เด็ก

เด็กชาย Quentin Tarantino ลืมตาดูโลกในวันที่ 27 มีนาคม 1963 ณ เมือง Knoxville รัฐ Tennessee ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกชายคนเดียวของ Connie McHugh กับ Tony Tarantino นักแสดงและโปรดิวเซอร์เชื้อสายอิตาเลียน ด้วยเหตุนี้ Quentin จึงใกล้ชิดกับโลกภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก

ถึงจะไม่ลำบาก แต่ชีวิตของ Quentin ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ พ่อแม่ของเขาหย่ากัน และหลังจากนั้นไม่นาน Connie ก็แต่งงานใหม่กับนักดนตรีนามว่า Curtis Zastoupil โดยมี Quentin ติดสอยห้อยตามไปด้วย ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี Zastoupil ไม่ใช่พ่อเลี้ยงใจร้ายแบบในละคร ตรงกันข้ามเขานี่แหละคือคนสำคัญที่คอยสนับสนุน Quentin ในเรื่องความรักภาพยนตร์

ไม่ใช่แค่ความชอบ แต่ Quentin มีพรสวรรค์เรื่องภาพยนตร์อันโดดเด่น ในวัยเพียงแค่ 14 ปี เขาก็มีผลงานการเขียนบทครั้งแรกเป็นของตัวเองแล้ว ในชื่อ Captain Peachfuzz and the Anchovy Bandit 

ชีวิตของ Quentin ในช่วงอายุ 15-30 ปี ค่อนข้างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไรนัก เขาจำเป็นต้องทำงานหลายอย่างเพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง โดยเป็นทั้งพนักงานโรงหนังโป๊ พนักงานโรงงานประกอบชิ้นส่วนเครื่องบินหรือแม้กระทั่งพนักงานร้านเช่าวิดิโอซึ่งอาชีพนี้เองทำให้เขาสามารถปลดปล่อยความเนิร์ดหนังของตัวเองได้เต็มที่

เขามักเฝ้าสังเกตพฤติกรรมลูกค้าว่าส่วนใหญ่ชอบหนังประเภทไหน เมื่อมีเวลาว่าง เขาจะไล่ดูวีดีโอจนหมดทั้งร้าน โดย Quentin เคยพูดว่า ที่แห่งนี้เปรียบเหมือนห้องเรียนชั้นดี เป็นที่ ๆ ทำให้เขาซึมซับศาสตร์แห่งภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่

ถึงแม้ชีวิตจะไม่สุขสบายนัก แต่ Quentin ก็ไม่เคยละทิ้งความฝัน ไม่เคยเลิกรักภาพยนตร์ เขายังคงตรากตรำเฝ้าเขียนบทมาเรื่อย ๆ มีโอกาสได้กำกับบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก จนกระทั่งปี 1992

Reservoir Dogs (1992)

Variety

ได้เฉิดฉายเสียที!

หลังจากภาพยนตร์เรื่อง Reservoir Dogs เข้าฉายในเทศกาล Sundance Film Festival ปี 1992 ชีวิตของผู้ชายชื่อ Quentin Tarantino ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภาพยนตร์ในการกำกับเรื่องแรกของเขา (My Best Friend’s Birthday คือผลงานเรื่องแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก) แต่นี่คือภาพยนตร์แจ้งเกิดอย่างแท้จริง

Reservoir Dogs เป็นหนังทุนต่ำ ใช้ทุนสร้างเพียง 1.2 ล้านเหรียญ แต่สามารถกวาดเงินในอเมริกาได้มากถึง 2.8 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหนือว่าเรื่องรายได้คือคำวิจารณ์ แทบทุกสำนักต่างยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์อาชญากรรมที่ดีที่สุด

Reservoir Dogs คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักกับสไตล์ ‘หนังแบบ Quentin’ โดดเด่นด้วยการดำเนินเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรง ทุกซีนเปรียบเหมือนชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่คนดูต้องนำมาปะติดปะต่อเอาเอง มีการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุดคือบทพูด ตัวละครทุกตัวในหนังของเขาจะช่างจ้อ พูดน้ำไหลไฟดับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาเลย แต่นี่แหละคือเสน่ห์ในแบบ Quentin

Pulp Fiction (1994)

The Verge

ก้าวสู่การเป็นผู้กำกับชั้นนำระดับโลก

หลังจาก Reservoir Dogs เพียง 2 ปี ภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction ก็เข้าฉาย และมันก็เป็นการยืนยันทันทีว่าความสำเร็จในภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ก

Pulp Fiction ขับเน้นลายเซ็นของ Quentin ในการทำหนังให้เด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ในปี 1994 วิธีการเล่าเรื่องใน Pulp Fiction ค่อนข้างสดใหม่ มันตื่นเต้น เร้าใจ แต่ในขณะเดียวกันก็งุนงง จับต้นชนปลายไม่ถูก ดังนั้นถ้าใครได้เริ่มดูแล้ว ก็ยากจะหยุดจนกว่าหนังจะจบ

จากทุนสร้างเพียง 8 ล้านเหรียญ Pulp Fiction กวาดรายได้ทั่วโลกไปกว่า 213 ล้านเหรียญ นอกจากนั้นยังเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 7 สาขา และได้ตุ๊กตาทองกลับไปนอนกอดที่บ้าน 1 ตัวในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

Pulp Fiction ทำให้ชีวิตในโลกภาพยนตร์ของ Quentin ก้าวสู่จุดสูงสุด และได้ถือกำเนิดดาราคู่บุญอย่าง Samuel L. Jackson ซึ่งในเวลาต่อมา เขาได้กลายเป็นคนสำคัญที่หนัง Quentin จะขาดไม่ได้

Kill Bill Series (2003 – Present)

Netflix

ใครว่าทำเป็นแต่หนังพูดมาก

หลังจาก Pulp Fiction ในปี 1994 ชื่อของ Quentin Tarantino ก็ค่อนข้างเงียบหายไปจากโลกภาพยนตร์ (ไม่ได้เงียบสนิท ในปี 1997 ก็มีภาพยนตร์เรื่อง Jackie Brown ออกมา ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ถ้าเทียบกับ 2 เรื่องก่อนหน้าถือว่ายังห่างไกล) จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปเกือบทศวรรษ ในปี 2003 ภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill Vol.1 ก็เข้าฉาย ซึ่งผลลัพธ์คือการ Come Back อันสวยงามของ Quentin

Kill Bill Vol.1 ค่อนข้างแตกต่างจากผลงานที่ผ่านมาของ Quentin อย่างชัดเจน ในแง่ที่มันไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบทสนทนา ตรงกันข้ามมันแทบจะเป็นหนังเงียบเลยด้วยซ้ำ มีไดอะล็อกที่ตัวละครพูดคุยกันน้อยมาก เน้นฉากแอ็กชั่นเป็นหลัก แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังโดดเด่นด้วยสไตล์ ความร้ายกาจของ Quentin คือการสร้างฉากรุนแรงให้ออกมาสวยงามราวกับผลงานศิลปะ

จากทุนสร้าง 2 ภาค (Kill Bill Vol.1 &2) 80 ล้านเหรียญ แต่สามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกกว่า 330 ล้านเหรียญ เป็นการประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และทำให้สไตล์การทำหนังแบบ Quentin ขยายขอบเขตกว้างขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุดมีข่าวว่า Quentin กำลังเตรียมสร้าง Kill Bill Vol.3 ก็ต้องรอดูว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เนื่องจากเนื้อเรื่องเหมือนจะจบบริบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่ Volume 2

Inglourious Basterds (2009)

IndieWire

นาซีเยอรมันในฉบับ Quentin Tarantino

Inglourious Basterds คืออีกหนึ่งภาพยนตร์ที่โดดเด่นของ Quentin ในยุคหลัง สำหรับเราภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นฝีมือการกำกับและวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมของ Quentin อย่างชัดเจน เขาสามารถทำเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ดูเคร่งเครียดให้ออกมาดูดีมีสไตล์ แฝงด้วยความตลกร้าย แต่ก็ยังเข้มข้น

เป็นอีกครั้งที่ Quentin ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม Inglourious Basterds กวาดรายได้ไปทั้งหมด 321 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 70 ล้านเหรียญ เข้าชิงออสการ์ 8 สาขา และคว้าไปครอง 1 สาขาจาก Christoph Waltz ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ขอยืนยันอีกเสียงว่าเขาแสดงได้ดีมาก ทุกฉากที่ตัวละคร Col. Hans Landa ปรากฎตัว บรรยากาศจะปกคลุมด้วยความไม่น่าไว้วางใจ รู้สึกเย็นยะเยือกในทันที)

Django Unchained (2012)

Letterboxd

เอกลักษณ์เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความเถื่อน

ในตอนนี้ Quentin Tarantino เหมือนว่าวที่ติดลมบนไปแล้ว ไม่ว่าจะออกภาพยนตร์มากี่เรื่องก็ยังคงมาตรฐานความยอดเยี่ยมไว้อย่างครบถ้วน

ภาพยนตร์เรื่อง Django Unchained ในปี 2012 มีทุกสิ่งที่หนัง Quentin ควรจะมี ทั้งบทสนทนายาวเหยียด ความก้าวร้าวของตัวละคร การดำเนินเรื่องที่ตัดไปมาอย่างฉับไว และ Samuel L. Jackson

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมาคือการเล่นกับอารมณ์คนดู เพราะที่ผ่านมาหนัง Quentin จะโดดเด่นเรื่องสไตล์ ดูแล้วรู้สึกเพลิดเพลินมากกว่าลุ้นระทึก

ถึงแม้ว่าตัวละครกำลังจะตายห่าอยู่ตรงหน้าก็ตาม แต่ใน Django Unchained ตั้งแต่ต้นจนจบ คนดูอย่างเราถูกตรึงไว้ด้วยแรงกดดันที่ถาโถม รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง เอาใจช่วยตัวละครบางตัว ในขณะเดียวกันก็สาปแช่งตัวละครบางตัว

ถ้าเปรียบเป็นอาหาร Django Unchained ก็ยังเป็นชนิดเดียวกับเรื่องก่อนหน้า เพียงแต่ Quentin ได้ใส่พริก ใส่เครื่องเทศลงไปให้รสชาติออกมาจัดจ้านกว่าเดิม

The Hateful Eight (2015)

Letterboxd

Samuel L. Jackson คุณเกิดมาเพื่อ Quentin Tarantino

8 พิโรธ โกรธแล้วฆ่า (เราชอบชื่อไทยของเรื่องนี้มาก ๆ ) ไม่ใช่ภาคต่อของ Django Unchained แต่อย่างใด ถึงแม้ทั้ง 2 เรื่องนี้จะคล้ายคลึงกันมากก็ตาม เหมือน Quentin จะยังไม่หายอยากการทำหนังคาวบอย เลยเข็นเรื่องนี้ออกมาต่อในอีก 3 ปีต่อมา

ท่ามกลางหิมะขาวโพลน พายุถาโถมรุนแรง คนแปลกหน้า 8 คนมาพบเจอกันโดยบังเอิญในกระท่อมร้างกลางภูเขา บรรยากาศเต็มไปด้วยความไม่น่าไว้วางใจ บทสทนาเหมือนจะธรรมดาแต่แฝงความร้าวไว้ในที ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อย ๆ เลยเถิด ถลำลึกสู่สถานการณ์สุดพิสดาร

‘แม่งโคตร Quentin เลย’ นี่คือความเห็นเราที่มีต่อ The Hateful Eight โดยรวมคือมันสนุกและวายป่วงเหมือนผลงานเรื่องก่อน ๆ นั่นแหละ แต่สิ่งที่โดดเด่นยิ่งกว่าคือการแสดงของ Samuel L. Jackson หนังเรื่องนี้จะสมบูรณ์ไม่ได้เลยถ้าปราศจากเขา มันยอดเยี่ยมไร้ที่ติ ยิ่งกว่าหนัง Quentin เรื่องใด ๆ ที่เขาเคยแสดง

นอกจาก Motherfucker ประโยคติดปากของ Samuel L. Jackson ในทุกเรื่องก่อนหน้าแล้ว ใน The Hateful Eight ยังมีอีกหนึ่งประโยคเด็ดที่เชื่อว่าใครได้ดูต้องจำได้แน่นอน

‘ใครยิงไข่กู!’

 

จากผลงานเหล่านี้ คงน่าจะพอตอบคำถามได้แล้วว่าทำไมแฟนหนังทั่วโลกจึงนับวันรอการเข้าฉายของ Once Upon a Time in Hollywood อย่างใจจดใจจ่อ

เพราะ Quentin คือ Quentin 

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line