Life

จมูกคนหรือเครื่องดูดฝุ่น ? ชวนเช็ก 19 พื้นที่ RED ZONE ที่คนกรุงต้องสู้ศึกสูดฝุ่นเข้าปอด

By: anonymK December 21, 2018

บรรยากาศฝุ่น ๆ ที่เหมือนใส่ฟิลเตอร์เบลอ เฟดภาพตึกตรงให้จาง ถ้าเป็นที่อื่นเราคงคิดว่าเข้าหน้าหนาวเต็มที่แล้วอยากโดดออกไปเที่ยวนอกบ้าน แต่สำหรับกรุงเทพฯ ตอนนี้เลี่ยงไว้จะดีกว่าเพราะแทนที่จะได้เที่ยวสงสัยจะได้ไปหาหมอแทน และในช่วงเช้าวันนี้ (21 ธันวาคม) ประกาศแล้วว่ามีพื้นที่เสี่ยงที่มี PM.25 สูงเกินมาตรฐาน (50 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร) จำนวน 20 พื้นที่ และ 14 แห่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุจากสภาวะอากาศปิดและการจราจร

 

แต่ตอนนี้อัปเดตล่าสุดช่วงบ่าย มีพื้นที่เสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 19 แห่ง เราจึงนำมาแจ้งเพิ่มเติม ลองมาเช็กไปพร้อมกัน

พื้นที่ริมถนน ตรวจวัดค่าสถานที่ติด Red Zone ของ PM.25 เวลา 15.00 น. โดยเผย Red Zone 19 แห่งดังนี้

  1. เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมัน เอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95
  2. เขตปทุมวัน บริเวณริมถนนจามจุรีสแควร์ เยื้อง MRT สามย่าน
  3. เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า
  4. เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์
  5. เขตบางคอแหลม บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกถนนตก
  6. เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่
  7. เขตจตุจักร บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  8. เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ
  9. เขตหนองจอก บริเวณน้าสำนักงาน
  10. เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์
  11. ขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย
  12. เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม(ประมาณซอยเพชรเกษม 36) ทางเข้ามหาวิทยาลัยประมาณ 10 เมตร
  13. เขตพระนคร ภายในสำนักงานเขตพระนคร
  14. เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย
  15. เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ
  16. เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่
  17. เขตบางเขน ภายในสำนักงานเขตบางเขน
  18. เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม
  19. เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน

 

PM.25 ไม่อยากก็ต้องสูด

PM.25 หรือ Particulate Matter คือฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็ง หรือของเหลวที่อยู่ในอากาศที่เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ ธรรมชาติ จำพวกกระแสลมหอบเขม่าควันไฟ ฝุ่นเกลือจากทะเล ฯลฯ และกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผา กระทั่งการจุดบุหรี่สูบ ฯลฯ

แม้ว่ามันจะถือเป็นมลพิษทางอากาศตัวหนึ่งจากในบรรดาหลายชนิดในโลกนี้ แต่ความโหดของมันคือขนาดที่เล็กมากโดยมีอนุภาคที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน  ซึ่งขนจมูกคนกรองไม่ได้เพราะเล็กเกินมันเลยเข้าไปในร่างกายทะลุทะลวงผ่านลมหายใจ จนสร้างผลเสียหลายต่อร่างกาย เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็ง อาการไอ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดอักเสบ ผิวหนัง ผื่นคัน การระคายเคืองตา เช่น โรคตาแดง ฯลฯ ดังนั้น ต่อให้เราพยายามหลบเลียงอย่างไร ถ้าออกไปข้างนอก ทำตัวเหมือนปกติก็ไม่ได้สูดมันเข้าไปเต็มปอดอย่างแน่นอน

ภูมิแพ้กรุงเทพฯ

สำหรับเรื่องการแบ่งตัวเลขว่าตอนนี้สภาพอากาศของเราเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี จริง ๆ แล้วมันมีมาตรวัดอยู่ โดยทั่วไปเขาเรียกว่า AQI ซึ่งมาตรฐานการวัดทั่วไปจะใช้วัดสาร 5 ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง  ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (respirable particulate matter, PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง

ดัชนีการวัดค่าก็แตกต่างกันตามลำดับ ตัวไหนอันตรายมาก ตัวเลขการวัดก็อาจจะต่ำและใช้ระยะเวลาการวัดที่ถี่และน้อย แต่ตัวไหนที่ส่งผลกระทบมากตัวเลขการวัดย่อมจะสูงและระยะเวลาการวัดจะยืดยาวกว่า

ใครที่อยากรู้ว่าพื้นที่ที่เราอยู่ตอนนี้อากาศแย่มากน้อยแค่ไหน ก็ลองไปโหลดแอปพลิเคชั่นดูได้ที่ AirVisual เปิด GPS ไว้ก็จะเห็นได้ทันทีทั้งตัวเลขสภาพอากาศและมลพิษแบบเรียลไทม์ มีขึ้นลงตลอดเวลา และมีการพยากรณ์ไว้ด้วยว่าอีก 7 วันข้างหน้าทิศทางของสภาพอากาศหรือมลพิษนี้จะเป็นแบบไหน ส่วนเรื่องคำแนะนำป้องกันจากกรมควบคุมมลพิษ สำหรับการกันฝุ่นที่พร้อมจะลอดจมูกเราตลอดเวลา ลองดูกันว่าเราพอจะทำแบบไหนได้บ้าง

ปิดท้ายด้วยวิธีแก้ไขที่ทางกรมควบคุมมลพิษ ชาว UNLOCKMEN คนไหนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน แนะนำให้ทำ 3 วิธีต่อไปนี้

  1. ลดระยะเวลาหรือหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง
  2. สวมหน้ากากกันฝุ่น
  3. หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ หรือใครที่มีข้อสงสัยด้านสุขภาพสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1442

อย่างไรก็ตามแม้สภาพหมอกหนาจากมลพิษเหมือนอยู่ภาคเหนือแบบนี้จะอยู่กับเราไม่นาน และจะหายไปเมื่อมีลมพัดคลายความร้อนที่กดไม่ให้มลภาวะพัดพา แต่สัญญาณอันตรายนี้เตือนเราว่า ถ้าเราไม่เอาจริงทั้งเรื่องโลกร้อน และเรื่องการสร้างมลพิษ ผลสุดท้าย คนที่ต้องรับผลนี้ก่อนใครอาจจะไม่ใช่โลกแต่เป็นตัวเรา

 

SOURCE: 1/ 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line