Life
หยุดก่อนงานจะล่ม ชีวิตจะล้มเหลว “อย่าคิดถึงงานนอกเวลางาน”ความห่วงใยจากนักจิตวิทยา
By: PSYCAT December 20, 2019 170545
เมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาถึง วัฒนธรรมการทำงานของมวลมนุษยชาติก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เทคโนโลยีดี ๆ ทำให้เราทำอะไรได้สะดวกขึ้น เร็วขึ้น แต่ในทางกลับกันมันก็ทำให้เราต้องคิดเรื่องงานมากขึ้น ทำงานมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในเวลาเลิกงาน
เราคิดเรื่องงานในวันหยุกพักผ่อน ณ สถานที่แสนสงบสักแห่ง หรือแม้แต่วันป่วยไข้แต่ใจเราก็กระวนกระวายอยู่กับงานคั่งค้างจนอยากรีบกลับไปทำงานไว ๆ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับมนุษย์แค่คนสองคน แต่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ Guy Winch นักจิตวิทยาชื่อดังที่จู่ ๆ ก็โดนงานจู่โจมไม่เลือกเวลา และทำให้เขาหมดไฟกับการทำงานได้ดื้อ ๆ
“คิดเรื่องงานนอกเวลางาน” ไม่ใช่แค่เครียด แต่ทำให้หมดใจ
Guy Winch ฝันอยากเป็นนักจิตวิทยามาตลอด แต่จุดหนึ่งเมื่อเขาได้ทำงานที่เขาฝันไปสักระยะ เขาดันรู้สึกหมดไฟขึ้นมาดื้อ ๆ เขาครุ่นคิดกับตัวเองอย่างหนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขากันแน่? เขาเลือกงานผิด? การเป็นนักจิตวิทยาไม่ใช่งานที่เขารัก? และทันทีที่ได้คำตอบเขาก็พบว่าปัญหาไม่ได้เกี่ยวกับงาน แต่ปัญหาคือความคิดเกี่ยวกับงานของเขาต่างหาก
แม้ Guy Winch จะเลิกงานตามเวลาอย่างเคร่งครัด ร่างกายเดินออกจากออฟฟิศ แต่เขาตระหนักได้ว่าหัวสมองเขาไม่เคยออกจากออฟฟิศเลย! เขาเอาแต่คิดเรื่องงาน
Guy Winch ระบุว่าสิ่งที่น่าสนใจเรื่องความเครียดเรื่องงานคือ เรามักไม่ยอมคิดเรื่องงานให้เสร็จตอนทำงาน เพราะเรามัวแต่ทำตัวยุ่ง จนเราต้องหอบเอาเรื่องงานมาคิดในเวลาพัก หรือเวลาอยู่บ้าน ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของวงจรแสนร้ายกาจ เพราะสมองเราจะไม่ได้เครียดแค่เรื่องงานจริง ๆ แต่ทุกครั้งที่เราคิดเรื่องงานขึ้นมาในเวลาที่ไม่ใช่เวลาทำงานความเครียดจะทบวนไป ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด
เมื่อเรากลับไปทำงานอีกหน เราจะรู้สึราวกับว่าเราไม่เคยได้หยุดงานเลย (ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ อาจหยุดไปหลายวัน) เพราะเราไม่เคยเปิดโอกาสให้สมองของเราพัก เราคิดแค่ว่าแค่ร่างกายพักก็พอแล้ว แต่สมองที่ทำงานหนักก็ย่อมปฏิเสธที่จะกลับไปทำงานหนัก จนกลายเป็นภาวะเหนื่อยหน่าย หมดไฟ ไปถึงขั้นหมดใจได้
“คิดเรื่องงานนอกเวลางาน” งานจะล่ม ชีวิตจะล้มเหลว
“โห เว่อเกินไปหรือเปล่าครับ? แค่ผมคิดงานนอกเวลางานมันไม่ได้เสียหายขนาดนั้น ผมชอบเองต่างหาก ยิ่งทำงานผมก็ยิ่งสำคัญ” เราเชื่อว่ามีใครบางคนเถียงนักจิตวิทยาชื่อดังท่านนี้อยู่ในใจ และเราจะไม่บังคับให้ใครเชื่อขอแค่อ่านต่อไปก่อนค่อยตัดสินใจ
งานวิจัยจำนวนมากระบุว่า การคิดเรื่องงานมีแต่จะทำให้ความเครียดพุ่งทะยานสูงขึ้น ๆ และคงไม่ต้องให้ใครอธิบายเพิ่มว่าความเครียดและความกดดันนั้นทำลายชีวิตเราอย่างไร เพราะมันทำให้เรานอนได้ไม่มีคุณภาพ หลับไม่สนิท อารมณ์โดยรวมไม่ดี รับประทานอาหารได้ไม่ดี รวมไปถึงเรื่องงานที่จะแย่ลง ๆ และความสัมพันธ์กับคนรอบตัวที่จะพังลงด้วย
ความเครียดไม่ได้หมายความว่าเราต้องนั่งเครียด บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าเราเต็มใจคิดเรื่องงานตอนนี้ แต่การคิดอยู่ตลอดแม้แต่ในช่วงเวลาพักนี่เองที่ทำให้สมองเราตื่นตัว ตึงเครียดและไม่ได้พักอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ลดลง ความสามารถในการแก้ปัญหาลดลง และคุณภาพชีวิตโดยรวมแย่ลงไปโดยปริยาย
Guy Winch บอกว่ามันยากที่จะหยุดคิดเรื่องงาน ทั้งงานที่ยังทำไม่เสร็จ งานลูกค้าที่ต้องเร่งส่ง จึงไม่แปลกที่เวลาเราหอบงานไปทำช่วงวันหยุด หรือคิดเรื่องงานตลอดเวลา เราจะหลงชื่นชมตัวเองว่าเรากำลังทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เรากำลังแบกทั้งบริษัทไว้ทั้งบริษัท และทุกคนต้องชื่นชมเรา แต่ความเป็นจริงสิ่งที่เราทำก็คือเรากำลังทำร้ายตัวเอง ทำร้ายประสิทธิภาพของงานในอนาคตมากกว่าที่คิดเสียอีก
“เริ่มต้นจดเวลา” เราจะเห็นว่าเราทำร้ายสมองและร่างกายแค่ไหน
Guy Winch บอกว่าสิ่งแรก ๆ ที่เขาเริ่มทำเมื่อรู้ตัวว่าการคิดเรื่องงานนอกเวลางานนั้นส่งผลร้ายคือการจดบันทึกเรื่องเวลาโดยละเอียด ว่าในช่วง 7 วันเขาใช้เวลากับการคิดมาก ๆ เรื่องงานนอกเวลางานไปเท่าใด
ผลปรากฏว่าเขานั่งคิดเรื่องงานอยู่ 45 นาที (แบบที่นั่งคิดเต็ม ๆ) เช็กว่ามีอีเมล์เรื่องงานหรืออะไรสำคัญอีก 20 นาที ช่วงกินอาหารเย็น (ที่คนอื่นชมการแสดงหรือพูดคุยอะไรกัน แต่เขาเอาเวลานั้นมาคิดเรื่องงาน) 90 นาที ในขณะที่ช่วงก่อนนอนเขาก็คิดต่ออีก 30 นาทีก่อนหลับ สรุปว่าตลอดทั้งสัปดาห์นั้นเขาใช้เวลาเกือบ 14 ชั่วโมง คิดเรื่องงานนอกเวลางาน
เมื่อผลออกมาแบบนี้ทำให้เขาเห็นว่า เวลา 14 ชั่วโมง นั้นกลายเป็นเวลาทำงานจริง ๆ ได้อีกเกือบ 2 วัน (สำหรับคนที่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง) แต่เขาก็ไม่ได้ลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แถมกินเวลาพักผ่อนที่ควรมีคุณภาพไปโดยไม่รู้ตัวด้วย ดังนั้นเวลาที่พักจริง ๆ จะเหลือสักเท่าไร?
มากไปกว่านั้นระยะเวลาพักที่เอาไปคิดเรื่องงานหรือเรื่องในอนาคตอย่างจริงจัง ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณความเครียดที่ทบขึ้น ๆ ๆ จนสมองไม่เหลือเวลาพักเลยในที่สุด
พอกันที! Guy Winch จะไม่ยอมให้เวลาพักไม่ได้พัก เวลาทำงานก็กลับไปทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพอย่างนี้ต่อไปอีกแล้ว เขาจึงเปิดสงครามกับเจ้าความคิดมากเหล่านี้ และนี่คือวิธีที่ทดลองแล้วได้ผล และอยากแบ่งปันกับทุกคน
ในช่วงแรกเริ่ม เวลาคือสิ่งที่มีเหลือเฟือจนเราหลงลืมไปว่าเราใช้เวลาอย่างถูกวิธีหรือไม่? ที่เราคิดว่างานเยอะตลอดเวลา เราจัดการเวลาทำงานอย่างไร? เราจัดการเวลาพักผ่อนแบบมีคุณภาพเพื่อให้ไปจัดการงานอย่างมีคุณภาพพอหรือเปล่า? เพราะแค่ทำ ๆ ๆ คิด ๆ ๆ ตลอดเวลาไม่ทำให้งานเสร็จ หรือถ้าเสร็จก็เสร็จแบบขอไปที แต่การวางแผนการใช้เวลาพักและเวลาทำงานให้แยกขาดจากกันอย่างเป็นระบบต่างหากที่จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น
สำหรับนักจิตวิทยาอย่าง Guy Winch เขายังรักและไม่ได้หมดไฟกับงานที่เขารัก แต่การเอางานกลับมาขบคิดทุกเวลานั่นเองที่ทำให้เขาหมดไฟ และมันไม่ได้แค่ทำลายงานเท่านั้น แต่ทำลายชีวิต คนรอบข้าง ความสัมพันธ์ของเขาด้วย อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นยากเสมอ แม้แต่กับนักจิตวิทยาอย่างเขาที่ดูจะเข้าใจการทำงานของจิตใจดี
เขาจึงแนะนำให้เริ่มจดบันทึกเพื่อดูว่านอกเวลางานนั้น เราคิดเรื่องงานไปมากน้อยแค่ไหน หรือในเวลางาน เราเผลอเอาเวลาไปพักเท่าไร เมื่อเห็นภาพรวม เราจะได้รู้ว่าต้องจัดการเวลาอย่างไรได้ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย
การระบุเวลาหยุดทำงานหรือคิดเรื่องงานไม่ได้แปลว่า เลิกงานปุ๊บแล้วต้องหยุดทันที กรณี Guy Winch เขาระบุเวลาหยุดคิดเรื่องงานไว้ที่ 2 ทุ่ม เราอาจระบุไว้ที่ 3 ทุ่ม หรือเวลาใดก็ได้ แต่ข้อแม้ก็คือต้องแข็งแกร่งและเด็ดขาดกับเวลาที่ว่านี้ ให้ตายยังไงเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ ต้องหยุดคิดเรื่องงานเด็ดขาด หยุดทำงาน ปิดแจ้งเตือน แล้วค่อยระบุเวลาที่จะกลับมาเปิดแจ้งเตือนอีกครั้ง
Guy Winch ระบุว่าสมาร์ตโฟนคือตัวการสำคัญที่ทำลายเส้นแขตแดนทางกายภาพระหว่างที่ทำงานกับการพัก ดังนั้นต่อให้เราอยู่บ้าน ก็ถูกงานจู่โจมได้ (หรือเราเต็มใจจะทำงานเองด้วยซ้ำ)
ในเมื่อเส้นเขตแดนทางกายภาพถูกทำลายลง เราต้องตั้ง “เส้นแขตแดนทางความคิดขึ้นมา” เราต้องทำให้ตัวเราและความคิดเราเชื่อให้ได้ว่าตรงไหนคือการพักและตรงไหนคือการทำงาน ไม่อย่างนั้นความคิดและสมองเราก็จะพุ่งเข้าหางานอยู่ตลอด
อีกวิธีกำหนดเส้นเขตแดนทางความคิด คือทุกครั้งที่เราต้องทำงานหรือคิดเรื่องงานที่บ้าน เราต้องกำหนดสถานที่ขึ้นมา เช่น อาจเป็นโต๊ะทำงาน และเราต้องบอกตัวเองเสมอว่าเราจะคิดหรือทำงานในบ้าน (หรือห้อง) นี้ แค่ที่โต๊ะตัวนี้เท่านั้น เราจะไม่ไหลไปบนเตียง เลื้อยไปบนโซฟา หรือแผ่หราไปทำงานไป เพราะสมองเราจะไม่สามารถแยกเวลาพักออกจากเวลาทำงานได้เลย และพื้นที่ของงานก็จะรุกล้ำไปทุกส่วนจนเราไม่อาจจัดการได้อีกต่อไป
อย่าใส่เสื้อผ้าที่เราใช้ใส่พักทำงาน เมื่อไรที่เรารู้ว่านี่คือเวลาทำงาน หรือถึงเวลาที่เราระบุไว้แล้วว่าเราจะคิดเรื่องงาน ให้แต่งตัวแบบที่เราใช้ใส่ไปทำงานหรือพูดคุยเรื่องงาน เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะ เป็นเส้นเขตแดนที่เห็นได้ชัดว่าส่วนไหนคือการทำงาน ส่วนไหนคือการพักผ่อน
เช่นเดียวกับวันทำงาน หากกลับถึงบ้านแล้ว เราต้องการตัดขาดจากงาน เราต้องทำให้สมองและจิตใจเราเชื่อ ด้วยการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสบาย ๆ ชุดที่เราใช้พักผ่อนประจำ ไม่ใช่ชุดพร้อมรบอย่างเวลาอยู่ที่ทำงาน
เมื่อต้องทำงานหรือคิดเรื่องงานที่บ้าน ให้ใช้แสงสีขาว หรือระดับความสว่างที่เหมาะต่อการทำงาน เปิดเพลงแบบที่ปกติไม่เปิดตอนพัก แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องหยุดคิด ปรับแสงสีในบ้าน อาจเป็นแสงสีส้ม จุดเทียนสร้างบรรยากาศ เปิดเพลงที่เราจะเปิดแค่ตอนพักผ่อนเท่านั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้สมองและจิตใจเราแบ่งเขตแดนได้ชัดขึ้นเช่นกัน
เราอาจฉลาด แต่สมองและจิตใจเรานั้นโง่
บางคนอาจคิดว่าโง่จัง วิธีการแค่นี้เองเหรอ? ที่จะทำให้เราแบ่งเขตแดนทางความคิดได้ แค่เปลี่ยนเสื้อผ้า ปรับแสงไฟ เปิดเพลงแค่นี้เหรอ? แต่ Guy Winch ยืนยันว่าความคิดเรานั้นไม่ได้รู้เท่าทันไปหมดอย่างที่เราเชื่อ ถ้าเราตั้งเขตแดนให้มัน เคร่งครัดกับการการแบ่งเวลาที่ชัดกับมัน เราจะสามารถหยุดคิดเรื่องงานได้อย่างหมดจด ซึ่งจะทำให้เราพักได้ดีขึ้นและทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
แรก ๆ เราอาจคิดว่างี่เง่าสุด ๆ ที่ทำแบบนี้ เพราะเรารู้เต็มอกว่ากำลังหลอกจิตใจตัวเองให้เชื่อ แต่ถ้าทำไปเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ผูกโยงกันอย่างแยกไม่ออก เช่น คุณจะคิดเรื่องงานแค่ตอนที่นั่งตรงโต๊ะตัวนี้เท่านั้น
อย่าคิดเรื่องงานนอกเวลางาน แต่ทำงานในเวลางานให้มีประสิทธิภาพ
Guy Winch ทิ้งท้ายว่า ประเด็นไม่ใช่ว่าเราจะคิดเรื่องงานนอกเวลางานเท่าไร แต่เราต้องคิดว่าเวลาที่เราทำงานเราทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน?
ถ้าเราพบว่าจริง ๆ แล้วช่วงเวลาทำงาน เราไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขนาดนั้น เราต้องหาหนทางว่าจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในเวลางานได้อย่างไร?
หนึ่งในคำตอบนก็คือการพักผ่อนที่เพียงพอ การมีพลังเหลือเฟือสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เรารัก สิ่งเหล่านี้เหมือนการชาร์จพลังงานดี ๆ ให้สมอง หัวใจ และชีวิต
การเอาแต่บอกว่า “งานยุ่งจะตาย” เหมือนว่าเราต้องตัดเรื่องราวดี ๆ หรือการมีชีวิตออกไปเพื่อทำงานแสนยุ่ง แต่จริง ๆ แล้วเราต้องจัดการงานแสนยุ่งอย่างไรเพื่อให้เรามีเวลาเหลือไปใช้ชีวิต พักผ่อน และมีเวลาดี ๆ ที่มีคุณภาพ เพื่อกลับไปทำงานอย่างมีคุณภาพมากกว่า
ในยุคที่การทำงานไม่ใช่แค่การทำงาน แต่คือการแข่งขันในตลาดอันแสนดุเดือด ทางหนึ่งเราเข้าใจว่าไม่ง่ายเลยที่จะบอกตัวเองให้หยุดคิดเรื่องงานนอกเวลางาน เพราะเราต่างกลัวว่าถ้าเราหยุดคิด แต่คู่แข่งไม่หยุดคิด เราอาจต้องพ่ายแพ้ยับเยิน
แต่เราก็เป็นห่วงและอยากให้คุณถามตัวเองดี ๆ ว่าชีวิตหนึ่งชีวิต แม้มีงานเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราก็ยังมีครอบครัว มีเพื่อน มีอาหาร มีการเดินทาง มีสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นชีวิตเช่นกันและรอเราอยู่
ดังนั้นการคิดเรื่องงานนอกเวลางานไม่ใช่แค่ทำให้ชีวิตโดยรวมของเราดีขึ้นเท่านั้น แต่กับการทำงานเองก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย ๆ แต่ถ้าค่อย ๆ ทำอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัดไม่มีอะไรยากเกินชาว UNLOCKMEN จะทำได้แน่นอน
สำหรับคนที่อยากฟังเรื่องราวของคุณ Guy Winch ด้วยตัวเอง ฟังได้ที่ How to turn off work thoughts during your free time.