World

หลุดมาจากหนังไซไฟ “SAFEGUARD COMPLEX” พีระมิตต่อต้านขีปนาวุธ ขยะสงครามของเพนตากอน

By: unlockmen January 29, 2021

สงครามคือสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ยิ่งเวลาผ่านไปเทคโนโลยีทางการทหารยิ่งทันสมัยและรุนแรงมากขึ้น ในอดีตเคยมีโครงการสำหรับการสร้างฐานทัพจรวดต่อต้านขีปนาวุธที่ถูกยิงจากสหภาพโซเวียตข้ามมายังทวีปอเมริกา ภายใต้ชื่อโครงการ “Safeguard”

ตัวโครงสร้างหลักมีลักษณะคล้ายพีระมิดขนาดยักษ์ ลักษณะดูแปลกประหลาด ให้ความรู้สึกเหมือนหลุดมาจากหนังไซไฟ เหมือนฐานทัพลับของมนุษย์ต่างดาวจากภาพยนตร์ที่เราเคยดู แต่นี้คือสิ่งที่กองทัพสหรัฐสร้างขึ้นจริงๆ โดยพีระมิดต่อต้านขีปนาวุธในโครงการนี้ มีแผนการสร้างทั้งหมด 12 แห่ง กระจายไปตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั่วอเมริกา

Stanley Mickelsen Safeguard Complex แห่งแรกเริ่มก่อสร้างในช่วงทศวรรษ 1960 ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแกรนด์ฟอร์กส์ ชายแดนทางเหนืออันห่างไกลของรัฐนอร์ทดาโคตา มีชื่อเต็มคือ Stanley R.Mickelsen Safeguard Complex ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้ สแตนลีย์ มิกเคลเซน (Stanley R.Mickelsen) อดีตผู้บัญชาหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพสหรัฐ

Safeguard Complex ใช้งบประมาณในการสร้างรวมหกพันล้านดอลลาร์ เป็นงบที่สูงมากเนื่องจากมีระบบสุดไฮเทคสามระบบ ได้แก่

1) Perimeter Acquisition Radar (PAR)

2) Missile Site Radar (MSR)

3) Remote Sprint Launcher (RSL)

ระบบเรดาร์เป็นอาคารรูปพีระมิดขนาดยักษ์ มีไซโลสำหรับเก็บขีปนาวุธขนาดใหญ่ และไซโลการยิงหลายสิบรูปแบบ และยังมีเรดาร์ย้อนกลับ (Precision approach radar หรือ PAR ) เป็นเรดาร์อาร์เรย์ขนาดใหญ่หันไปทางทิศเหนือ ใช้เป็นระบบนำทางเรดาร์ที่แม่นยำ ถูกออกแบบมาเพื่อติดตามขีปนาวุธที่ถูกยิงเข้าสู่วงโคจร สามารถตรวจจับวัตถุขนาดเท่าลูกบาสเกตบอลได้จากระยะ 2,100 ไมล์

Safeguard Complex จะทำการตรวจสอบภัยคุกคามต่างๆ โดยใช้เรดาร์ย้อนกลับ และเรดาร์อาร์เรย์หลายเฟสจะทำการล็อกเป้าขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile หรือ ICBM) ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่มีการบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ เพื่อยิงทำลายเป้าหมายในวงกว้างจากระยะไกล เมื่อเรดาร์ PAR ตรวจพบ ICBM ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่วงโคจรนอกชั้นบรรยากาศ ระบบ Missile Site Radar (MSR) จะเริ่มทำงานต่อ โดยการสร้างเส้นทางสำหรับยิงสกัดกั้น จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของระบบ Remote Sprint Launcher (RSL) ทำหน้าที่การยิงขีปนาวุธสปาร์ตัน (Spartan) ขีปนาวุธสำหรับต่อต้านขีปนาวุธ จำนวน 30 ลูก ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลาย ICBM จากระยะไกล

ในกรณีที่ขีปนาวุธสปาร์ตันทำงานล้มเหลว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ยังมีอาวุธสำรอง นั้นคือขีปนาวุธ สปรินท์ (Sprint) ขนาดเล็กจำนวน 70 ลูก ซึ่งเป็นขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธรูปแบบเชื้อเพลิง ติดอาวุธหัวรบรังสีแบบ W66 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสกัด ICBM ในระยะใกล้ ที่ความสูงระดับ 60 กิโลเมตร

มีจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นโดยสองชาติมหาอำนาจ โดยในปี ค.ศ. 1972 Richard Nixon ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา และเลโอนิด เบรจเนฟ นายกรัฐมนตรีของสหภาพโซเวียตคนที่ 5 ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาจรวดต่อต้านขีปนาวุธ (Anti-Ballistic Missile Treaty หรือ ABM) เพื่อรักษาความสมดุลของยุทธศาสตร์โลกในยุคสงครามเย็น

สนธิสัญญา ABM ได้จำกัดปริมาณการสร้างจรวดต่อต้านขีปนาวุธ สำหรับใช้ป้องกันการโจมตีทางอาวุธนิวเคลียร์จากฝ่ายตรงข้าม โดยแต่ละฝ่ายสามารถสร้างระบบต่อต้านขีปนาวุธได้เพียง 2 แห่งเท่านั้น โดยในแต่ละแห่งสามารถมีจรวดต่อต้านขีปนาวุธได้ไม่เกิน 100 ลูก สนธิสัญญาในครั้งนี้ ช่วยให้โลกปลอดภัยจากสงครามนิวเคลียร์

ในเวลาต่อมาสภาคองเกรสได้ตัดงบประมาณ และยุติการสร้างโครงการ Safeguard Complex ที่เหลือทิ้งไปทั้งหมด เราจึงเหลือพีระมิดในรัฐนอร์ทดาโคตาไว้ให้ดูเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

เนื่องจากงบประมาณที่สูงเกินไป ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้งาน และอันตรายจากการยิงระเบิดหัวรบนิวเคลียร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ ทำให้ Safeguard Complex ถูกปิดตัวลงหลังเริ่มใช้งานจริงไม่ถึงสามวัน ภายหลังจากกองทัพปิดการใช้งาน Safeguard Complex มีบางส่วนที่ยังคงถูกใช้งานอยู่ นั้นคือเรดาร์ PAR ได้ถูกนำไปใช้เป็นระบบเตือนภัยของกองทัพอากาศสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1977

ปัจจุบัน Safeguard Complex เกือบทุกส่วนได้กลายเป็นขยะจากสงคราม ที่ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์ อุโมงค์ขนาดใหญ่ภายในถูกน้ำท่วมขัง นักเขียนคนหนึ่งได้ให้นิยามสถานที่แห่งนี้ว่า “อนุสาวรีย์แห่งความกลัว และความไม่รู้ของมนุษย์ “ กลายเป็นหนึ่งในภาพจำของขยะทางการทหารครั้งใหญ่ของกองทัพอเมริกา

ในปี ค.ศ. 2012 ที่ดินโดยรอบถูกรัฐบาลประมูลขาย โดยผู้ที่ชนะการประมูลคือ Spring Creek Hutterite Colony พื้นที่โดยส่วนใหญ่ถูกใช้สำหรับทำการเกษตร โดยมีการทำไร่ในพื้นที่โดยรอบ แต่อาคารโครงสร้างต่างๆ ยังคงอยู่ แต่สภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ในปี ค.ศ. 2017 หน่วยงานพัฒนาของมณฑลคาวาเลียร์ ได้ทำการซื้อที่ดินส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงอาคารระบบ MSR และอาคารบริหารงานรอบๆ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นศูนย์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามกลางพื้นที่โล่งที่ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน

 


Written by: JSTK

Appendix: 1 / 2 / 3 / 4

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line