Life

สถิติน่ารู้ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน นั่งเครื่องบินตรงไหนมีโอกาสรอดมากที่สุด

By: TOIISAN December 8, 2018

เมื่อจะต้องเดินทางไกลทั้งที เรื่องหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาก็คงไม่พ้นเรื่องของการเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน ที่คิดยังไงก็คิดไม่ตก ทั้งเรื่องของความสะดวกสบาย รวมไปถึงระบบความปลอดภัยเพื่อความสบายใจของชีวิต UNLOCKMEN จึงได้รวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกที่นั่งบนเครื่องเพื่อให้เหล่านักเดินทางได้ศึกษาเผื่อจะจองที่นั่งบนเครื่องบินครั้งต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่ามันเป็นเพียงสถิติที่มีการศึกษาจากทีมวิจัยต่างประเทศ ไม่ได้แปลว่าที่นั่งอื่นนั่งไม่ได้แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันเครื่องบินทุกลำของทุกสายการบินมีการตรวจสอบอย่างละเอียดยิบทุกขั้นตอน จึงมีความปลอดภัยที่สูงมาก ๆ เรียกว่าแทบจะมีโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝันเป็น 0% เลยทีเดียว (สถิติเครื่องบินพาณิชย์ในปี 2018)

ว่ากันว่าการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดคือการเดินทางโดยเครื่องบิน แม้จะมีความเสี่ยงต่อชีวิตถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นน้อยยิ่งกว่าน้อย เรียกว่าใกล้กับคำว่า 0% ปลอดภัยยิ่งกว่ารถยนต์​หรือรถไฟฟ้าเสียอีก แต่อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยก็ไม่หยุดตั้งตำถามว่า จากตำแหน่งที่นั่งหลายร้อยที่บนเครื่องบินโดยสาร ตำแหน่งไหนมีความปลอดภัยมากที่สุดในเชิงสถิติ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่เมื่อเครื่องบินตกแล้วผู้โดยสารจะเสียชีวิตยกลำเสมอไป ยกตัวอย่างกรณีเครื่องบินของสายการบิน US-Bangla ตกและมีผู้เสียชีวิต 49 คน จากทั้งหมด 67 คน หรือในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็พึ่งมีข่าวว่าเครื่องบินของสายการบิน Aeromexico เที่ยวบิน AM2431 เกิดอุบัติเหตุจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่และมีผู้โดยสารบาดเจ็บบ้างแต่รอดชีวิตทั้งลำ

 

 แล้วคนที่รอดชีวิตส่วนมากนั่งกันตรงไหน?

จากสถิติการสำรวจของ The Popular Mechanics ระบุว่าเหตุการณ์อุบัติเหตุของเครื่องบินในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 20 ครั้ง ที่ได้ข้อมูลจากสำนักงานความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งสหรัฐ ฯ หรือ National Transportation Safety Board (NTSB) ทั้งในเรื่องของแผนผังที่นั่งของผู้โดยสาร จำนวนผู้รอดชีวิต และจำนวนผู้เสียชีวิต ตั้งแต่ปี 1971 – 2007 เพื่อมาวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงของที่นั่งในแต่ละโซน

Source: Statista

ผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ได้แบ่งโซนที่นั่งในเครื่องออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน และได้คำตอบว่า ที่นั่งใกล้บริเวณหางเครื่องจะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าที่นั่งในบริเวณด้านหน้าถึง 20% และยังได้คำตอบอีกว่าที่นั่งบริเวณส่วนหัวเครื่องคือจุดที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในจำนวนที่นั่งทั้งหมด ซึ่งที่นั่งด้านหน้าคือที่นั่งแบบ First Class และ Business Class ที่มีโอกาสรอดชีวิตเพียง 49% และโอกาสรอดชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 56% เมื่อนั่งตรงส่วนกลางและบริเวณปีกของเครื่อง แต่ในขณะที่ส่วนบริเวณที่นั่งชั้นประหยัดท้ายลำนั้นมีโอกาสรอดมากกว่าที่นั่งอื่น ๆ มากถึง 69% แน่นอนว่าตัวเลขทั้งหมดนี้มาจากการเฉลี่ยตำแหน่ง Impact ที่หลากหลาย แต่ดูเหมือนตำแหน่งหน้าดิ่งจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดนั่นเอง

แต่จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเมื่อปี 1988  เครื่องบินของสายการบินหนึ่งในสหรัฐ ฯ โบอิ้ง 737  พบผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่อยู่ส่วนเคบินแรก ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุเพียง 1 ใน 5 ครั้งเท่านั้น ที่ผู้โดยสารบริเวณส่วนหน้าจะรอดชีวิต จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 20 ครั้ง ซึ่งเรียกได้ว่ามีโอกาสรอดตายน้อยกว่าที่นั่งในส่วนอื่น ๆ มาก

vix

นอกจากนี้จุดปลอดภัยของที่นั่งอื่น ๆ ในแต่ละโซนก็ยังมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปอีก เช่น บริเวณที่นั่งสองแถวติดกับทางออกฉุกเฉินจะถือว่าเป็นเซฟโซน เพราะที่นั่งในบริเวณนี้จะทำให้ผู้โดยสารสามารถออกจากเครื่องบินได้ไวที่สุด และจุดที่มีความเสี่ยงสูงกว่าบริเวณอื่นคือตรงด้านหน้าปีกใกล้กับท่อใบพัด เนื่องจากเมื่อเกิดกระจกแตกผู้โดยสารตรงที่นั่งดังกล่าวจะถูกดูดออกไปได้ง่ายกว่าที่นั่งบริเวณอื่น

Popular Mechanics

นอกจากนี้ในปี 2015 Time Researcher ได้วิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตของผู้โดยสารบนเครื่องบินที่เกิดอุบัติเหตุ จากข้อมูลของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ หรือ Federal Aviation Administration (FAA) กว่า 35 ปี ได้แบ่งที่นั่งในเครื่องบินออกเป็น 3 ส่วน และได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าที่นั่งในส่วนท้ายเครื่องบินนั้นพบอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วยตัวเลขน้อยเพียง 32% ซึ่งน้อยกว่าในที่นั่งบริเวณส่วนกลาง 39% และที่นั่งส่วนหน้า 38%

ถ้าลงลึกไปอีกในแต่ละส่วนของตัวเครื่องจะพบว่าอัตราผู้เสียชีวิตของคนที่นั่งตรงกลางด้านหลังของเครื่องจะมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 28% เท่านั้น

และไม่ว่าผลการวิเคราะห์ต่าง ๆ จะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกที่นั่งโดยสารบนเครื่องบินเท่านั้น เพราะความปลอดภัยไม่อาจเกิดขึ้นได้แค่เพียงจากการเลือกทำเลทอง การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือนั้นต่างหากที่สำคัญกว่า เช่น การตั้งใจฟังการสาธิตการวิธีการเอาตัวรอดของแอร์โฮสเตส และการจดจำเลขของแถวที่นั่งที่อยู่ใกล้กับทางออกฉุกเฉินมากที่สุด รวมถึงมีสติสำหรับเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เพียงเท่านี้การเดินทางไม่ว่าจะด้วยการคมนาคมแบบใดก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

SOURCE1 SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line