Life

“อยากมีเงินเก็บ แต่ไม่อยากเก็บเงิน”ปัญหาแก้ยากแต่แก้ได้ ด้วยหลักการทางจิตวิทยา

By: PSYCAT December 26, 2019

“ปี 2020 จะเป็นอีกปีที่หนักหน่วง” สำนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงพูดถึงสภาวะเศรษฐกิจของปี 2020 ที่กำลังจะมาถึงไว้แบบนั้น คนทำงานอย่างเรา ๆ นอกจากหาหนทางประหยัดหัวแทบแตก เสาะค้นวิธีหาเงินให้เพิ่มพูนจนแทบคลั่ง อีกวิธีที่เหมือนจะทำได้ง่ายที่สุดคือ “การเก็บเงิน”

เพราะการมีเงินเก็บสำรองไว้ในช่วงที่อะไร ๆ ฝืดเคืองก็ย่อมอุ่นใจกว่า รวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างความป่วยไข้ อุบัติเหตุ ฯลฯ ที่ทำให้เราต้องใช้เงิน ถ้ามีเงินเก็บสักก้อนติดตัวไว้ก็ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้สะดวกกว่าไม่มีเงินเลยแน่นอน

แค่ตั้งใจยังไม่พอ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ปัญหาคือเราทุกคนล้วนอยากมีเงินเก็บกันทั้งนั้น แต่พอถึงเวลาจริง ๆ เรามักไม่ค่อยเจียดเงินมาเก็บกันสักเท่าไร เอาแต่บอกว่าเดือนหน้าแล้วกัน ผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ จนสิ้นปีทีไร นอกจากเงินเก็บไม่มีแล้ว อาจกระเป๋าเงินแห้งกรอบจนฉลองปีใหม่ไม่สนุกอีกด้วย

Wendy De La Rosa ผู้เชี่ยวชาญด้าน Behavioural sciences บอกว่าใคร ๆ ก็ตั้งใจเก็บเงินกันทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่ก็มักล้มเหลว ไม่ใช่เพราะว่าเราตั้งใจไม่พอ แต่เป็นเพราะว่าหลาย ๆ ครั้งสภาพแวดล้อมก็พาเราไปสู่นิสัยทางการเงินที่เราเคยชิน ดังนั้นการเก็บเงินจึงไม่ใช่แค่ตั้งใจว่าจะเก็บเงินเท่านั้น แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยาเพื่อล่อลวงให้ตัวเองนั้นเก็บเงินได้ด้วย

“ไม่ใช่แค่ตั้งใจจะเก็บเงินเท่านั้น แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยาเพื่อเก็บเงิน”

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เธอศึกษา เธอแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้เงินจำนวนเท่ากัน แต่กลุ่มหนึ่งให้ใช้เงินจำนวนนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ในขณะที่อีกกลุ่มนั้นให้ใช้เงินจำนวนนั้นเป็นรายสัปดาห์ โดยบอกทีละสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลออกมาว่ากลุ่มที่รู้งบเป็นรายอาทิตย์นั้นสามารถบริหารจัดการการใช้เงินได้มีประสิทธิภาพกว่ากลุ่มที่รู้งบเป็นรายเดือน

Wendy De La Rosa กล่าวว่าต่อให้จำนวนเงินที่เท่ากัน แต่ถ้ามีเงื่อนไขที่ปรับนิด เปลี่ยนหน่อย เพื่อล่อลวงจิตใจและสมองให้อยู่ในสภาวะที่รู้จักปรับพฤติกรรมทางการเงินได้ดีขึ้น เราก็สามารถเก็บเงินได้ดีขึ้น มากกว่าแค่ตั้งใจว่าจะเก็บเงิน แต่ไม่ปรับสภาวะแวดล้อม หรือเงื่อนไขพฤติกรรมอะไรเลย

ดังนั้นใครที่เก็บเงินไม่เคยสำเร็จลองทำตามเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ จาก Wendy De La Rosa ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการใช้เงินดู แล้วมาพิสูจน์อีกครั้งตอนครึ่งปีว่าเก็บเงินได้มากขึ้นจริงไหม?

เรามีตัวตน 2 แบบ สาเหตุที่เราชอบบอกว่า “เดี๋ยวค่อยทำก็ได้”

Wendy De La Rosa บอกว่าในทางจิตวิทยาแล้ว มนุษย์เราเชื่อว่าเรามี 2 ตัวตน นั่นคือ “ตัวตนปัจจุบัน” และ “ตัวตนในอนาคต” จึงไม่แปลกที่เราตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่างไว้ เพราะเราเชื่อว่าตัวตนของเราในอนาคตจะต้องทำมันสำเร็จแน่นอน เช่น ตัวตนปัจจุบันเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าปีหน้าจะลดน้ำหนัก ซึ่งเราก็เชื่อจริง ๆ ว่าปีหน้าตัวตนในอนาคตเราจะผอมเพรียวอย่างที่ตั้งใจ

แต่เมื่อวันที่ 1 มกราคมมาถึง เรากลับรู้สึกขี้เกียจตื่นไปออกกำลังกาย (เพราะนั่นคือตัวตนปัจจุบันของเรานั่นเอง) และเราก็จะบอกตัวเองว่า “พรุ่งนี้ค่อยวิ่งก็ได้” เพราะเราเชื่อว่าตัวตนเราในอนาคตจะไม่ขี้เกียจเหมือนในตัวตนปัจจุบัน ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่ว่าอย่างไร ตัวตนในอนาคตที่เราคาดหวังมันก็คือตัวเราคนเดิมคนนี้นี่เอง ดังนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อล่อลวงสมอง เราก็จะไม่ลงมือทำอะไรอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงิน ออกกำลังกาย หรืออะไรก็ตาม

Wendy De La Rosa กล่าวถึงการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ว่าด้วยการเก็บเงิน โดยคนกลุ่มนี้มักเก็บเงินเมื่อได้ภาษีคืนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยกลุ่มหนึ่งนั้นถูกถามช่วงที่ยังไม่ได้ภาษีคืนว่า “ถ้าได้ภาษีคืน คุณจะเก็บเงินเท่าไร?” ในขณะที่อีกกลุ่มนั้นถูกถามช่วงที่ได้ภาษีคืนเรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่าคนกลุ่มแรกที่ถูกถามตอนยังไม่ได้สัมผัสเงินนั้นจะเก็บเงินได้มากถึง 27% ในทางกลับกันกลุ่มที่ได้เงินมาแล้ว ตั้งใจจะเก็บ 17% เท่านั้น

ทริคที่ Wendy De La Rosa แนะนำคือ เราควรวางแผนเรื่องการเก็บเงินล่วงหน้า (ก่อนที่เราจะได้เงินก้อนนั้น) เช่น หนึ่งสัปดาห์ก่อนเงินเดือนออก หรือก่อนจะได้รับเงินก้อน เพราะ ณ ขณะนั้นตัวตนปัจจุบันของเรามองว่าตัวตนในอนาคตนั้นสามารถเก็บเงินได้แน่นอน (และคนที่ต้องควักเงินมาเก็บก็คือตัวตนในอนาคต ไม่ใช่ตัวตนปัจจุบัน)

แต่แค่ตั้งใจยังไม่พอ เธอแนะนำว่าเมื่อวางแผนจำนวนที่จะเก็บได้แล้ว ให้ตั้งระบบหักเงินจำนวนนั้นเข้าบัญชีแยกทันทีที่เงินเข้า หรืออาจบอกใครสักคนให้ทวงเงินจำนวนนั้นไปเก็บไว้ (เผื่อไปถึงเวลานั้นแล้วตัวตนปัจจุบันเราดันเปลี่ยนใจหรืองอแงไม่อยากเก็บเงินอีก)

การทำแบบนี้จะทำให้เราเก็บเงินได้มากขึ้น และต้องเก็บแน่นอน เพราะเรามักเชื่อในอนาคตที่ดีกว่า เชื่อในการกระทำที่ดีขึ้นของตัวเอง และเราเลือกใช้ความตั้งใจที่ดีนั้นมาเป็นกฎเกณฑ์บังคับให้หักเก็บทันที โดยไม่ต้องรอให้ความอยากหรือความงอแงมาทำให้เราเก็บเงินไม่สำเร็จ

“Fresh Start Effect” เพราะการเริ่มต้นมันหอมหวาน

เคยสงสัยไหมว่าใกล้ปีใหม่ทีไร ทำไมรู้สึกกระปรี้กระเปร่าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ หรือบางทีเมื่อวันเกิดใกล้มาถึงก็อยากเติบโตเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่แข็งแกร่งมากกว่าเดิม Wendy De La Rosa บอกว่าในทางจิตวิทยาสิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า “Fresh Start Effect” เพราะมนุษย์เชื่อในช่วงเปลี่ยนผ่าน เชื่อในการเริ่มต้นใหม่อันสดชื่นหอมหวานเมื่อห้วงเวลาสำคัญมาถึง

Wendy De La Rosa ศึกษาผ่านแคมเปญโฆษณาชิ้นหนึ่งที่ว่าด้วยสวัสดิการหลังเกษียณ ซึ่งตัวแคมเปญโฆษณานี้จะยิงไปยังคนอายุ 64-65 ปีโดยเฉพาะ และมีข้อความโฆษณา 2 รูปแบบ ข้อความแรกคือ “คุณกำลังแก่ขึ้นเรื่อย ๆ คุณเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณหรือยัง?” และอีกข้อความคือ “ตอนนี้คุณอายุ 64 กำลังจะอายุ 65 แล้ว คุณเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณหรือยัง?” สองข้อความนี้ต่างกันแค่ส่วนที่เจาะจงและไม่เจาะจงเรื่องอายุ

การบอกว่าเรากำลังแก่เรื่อย ๆ ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ในขณะที่การบอกว่าเราอายุเท่าไร และอายุกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร ชี้เฉพาะไปที่การเติบโต วันเกิด เลขอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้คนมีแรงบันดาลใจที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างมากกว่า ผลของแคมเปญโฆษณานี้ก็ออกมาตามที่คิดคือการบอกว่า “ตอนนี้คุณอายุ 64 กำลังจะอายุ 65 แล้ว คุณเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณหรือยัง?” มีอัตราการลงทะเบียนเข้าโครงการมากกว่าข้อความที่พูดลอย ๆ ว่าเรากำลังแก่ขึ้นทุกวัน

Wendy De La Rosa กล่าวว่า แรงกระตุ้นให้ลงมือทำจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง การเริ่มต้นใหม่ ปีใหม่ วันเกิด หรือสักวันที่มีความหมาย ดังนั้นถ้าการอยู่ ๆ จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเก็บเงินในวันทั่ว ๆ ไปมันยากเกิน ให้ตั้งการแจ้งเตือนไว้ช่วงก่อนวันเกิด ก่อนวันปีใหม่ ก่อนวันขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ในช่วงนั้นเรามักฮึกเหิมและมีพลังกระตุ้นที่จะเริ่มลงมือทำมากเป็นพิเศษ

จากนั้นใช้กลยุทธ์เดียวกับการเห็นตัวเองในอนาคตคือเมื่อมีแรงกระตุ้นเต็มเปี่ยมแล้ว ก็ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้ทำได้จริง โดยเปิดบัญชีฝากประจำในช่วงนั้น ให้ตัดประจำอัตโนมัติ หรือบอกใครให้คอยทวงเงินเก็บอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราแปรแรงกระตุ้นไปสู่พฤติกรรมจริงที่ไม่เลื่อนลอย

จ่ายน้อย จ่ายบ่อย เพราะจ่ายง่าย ถ้าเราจ่ายยาก เราจะเก็บได้มากขึ้น

ชีวิตทุกวันนี้เต็มไปด้วยสินค้าและบริการที่เพิ่มความสะดวกให้เราอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ทุกความสะดวกที่เพิ่มขึ้นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่งอกตามมาด้วย เพราะค่าบริการเพิ่มเติมเหล่านี้ เมื่อคิดเป็นรายครั้งแล้วช่างน้อยแสนน้อย จนเราไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะจ่าย

แต่การจ่ายน้อย แต่จ่ายบ่อย (เพราะสะดวก) เมื่อรวมกันปลายเดือน ก็เป็นปริมาณที่มากจนสามารถแปรเป็นเงินเก็บได้มากขึ้นเช่นกัน และถ้าสำรวจตัวเองดูดี ๆ เราจะพบว่าเราไม่ได้ใช้สินค้าบริการเหล่านี้ยามเราลำบากอีกต่อไป การออกแบบมาให้จ่ายน้อย แต่จ่ายบ่อย จะทำให้เราใช้จนติดเป็นนิสัย ในวันที่เราไม่เดือดร้อนเราก็ต้องใช้ เพราะเราชิน

จินตนาการถึงการใช้บริการมอเตอร์ไซค์ที่มาจอดถึงที่ ทำให้เราไปไหนได้เร็วขึ้น แรก ๆ เราอาจใช้บริการแค่เฉพาะวันตื่นสายแล้วกลัวไปทำงานไม่ทัน แต่พอผูกบัตร ตัดสะดวก จ่ายง่าย ไม่ว่าวันไหน ๆ เราก็พร้อมเรียกใช้บริการโดยลืมไปว่า เราใช้บริการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ได้

Wendy De La Rosa แนะนำว่าบางทีเงินของเราก็รั่วไหลโดยไม่ตั้งใจ เพราะสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การจ่ายนั้นง่ายดายไปเสียหมด เธอจึงแนะนำว่าถ้าโลกใบนี้กำลังทำให้เราจ่ายง่าย จ่ายไว จ่ายสะดวก เราก็ต้องสู้กลับด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้ตัวเองจ่ายยาก จ่ายช้า จ่ายไม่สะดวกเข้าไว้

พูดง่าย ๆ อาจเหมือนบางคนที่หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ทำบัตรเอทีเอ็ม หรือไม่ยอมโหลดแอปฯ ธนาคารออนไลน์ แต่เลือกใช้การเบิกเงินสดจากธนาคารโดยตรง รวมถึงการไม่ผูกบัตรเข้ากับแอปฯ ซื้อของออนไลน์ ต้องมาล็อกอินใหม่ทุกครั้ง ใส่รหัสใหม่ทุกรอบ อะไรที่ยากขึ้นจะให้เวลาเราใตร่ตรองมากขึ้น หรือบางครั้งเมื่อจ่ายยากมาก เราจะค่อย ๆ ล้มเลิกความตั้งใจที่จะซื้อไปเอง วิธีนี้ก็พอจะให้เราลดค่าใช้จ่ายส่วนที่จ่ายน้อย จ่ายบ่อยลงได้ เพื่อเหลือเงินมาเก็บมากขึ้น

ความตั้งใจเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายครั้งที่เราก็ตั้งใจไว้เป็นอย่างดี แต่พฤติกรรมเราไม่ได้เปลี่ยนกันง่าย ๆ เราจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมหรือล่อลวงสมองให้ทำตามสิ่งที่เราตั้งใจไว้ได้อย่างเป็นระบบ การเก็บเงินเองก็เช่นกัน เราเชื่อว่าหลายคนล้มเหลวมาหลายรอบ ครั้งนี้ลองเอาทริคจากผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมไปใช้ปรับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรม คู่กับความตั้งใจแรงกล้าของเรา แล้วมาดูกันว่ากลางปีหน้าเงินเก็บเราจะงอกขึ้นมาแค่ไหน

สำหรับใครที่อยากฟังทริคการเก็บเงินฉบับเต็มจาก Wendy De La Rosa เต็ม ๆ กดฟังได้ที่ 3 psychological tricks to help you save money

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line