Business

แค่พูดว่าไม่ ทำไมต้องโคตรรู้สึกผิด? ‘3 วิธีปฏิเสธเรื่องกวนใจ’แบบไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเอง

By: PSYCAT June 28, 2017

พูดคำว่า “ไม่” กลายเป็นมิติพิศวงที่ชวนให้คนที่พูดมันออกมาต้องงุนงงทุกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนถูกขอร้อง ถูกขอความช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ทำไม พอต้องปฏิเสธ พอต้องพูดว่าไม่ทีไร เราถึงต้องรู้สึกแย่ รู้สึกผิดทุกครั้งไป

การช่วยเหลือคนมันก็ดีนั่นแหละ แต่ถ้าจะให้ช่วยทุกคน ช่วยทุกเรื่องก็คงมากไป แต่ไอ้ครั้นจะมามัวปฏิเสธไป รู้สึกผิดไปก็ดูจะทำร้ายจิตใจตัวเองมากเกินไปหน่อย

UNLOCKMEN จึงเอาวิธีพูดคำว่า “ไม่” ไว้ปฏิเสธใคร ๆ แบบไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไปมาฝากกัน

1.เราไม่ได้ฆ่าคนตาย อย่าจมอยู่กับความรู้สึกผิดขนาดนั้น

โอเค เรามาเริ่มกันที่ทำไมเราต้องรู้สึกผิดกับการพูดปฏิเสธ ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด? ก่อนอื่นเราอยากให้คุณทำความเข้าใจเรื่องนี้เสียใหม่ “ความรู้สึกผิด” สมควรที่เราจะรู้สึกก็ต่อเมื่อเราทำผิดต่อใครสักคน ทำร้ายเขา ทำให้เขาเจ็บปวด ไม่ว่าจะร่างกายหรือจิตใจ

แต่เดี๋ยวก่อน! การปฏิเสธความช่วยเหลือ (ที่ขอมาหลายครั้งเกินไป หรือเหนือบ่ากว่าแรงเราจนช่วยไม่ไหว) ไม่ใช่การที่เราทำร้ายเขา แต่เป็นการบอกให้เขาเข้าใจเงื่อนไขของเรา และเขาจะได้หาคนที่เขาสามารถขอความช่วยเหลือที่เหมาะสมคนต่อไป หรือไม่ก็เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้นนี่ไม่ใช่การทำร้ายเขา เลิกรู้สึกผิดได้แล้ว!

2.เราไม่ใช่คนเลว เราแค่ไม่สะดวก

อีกกรณีที่เรามักรู้สึกผิดเมื่อเราต้องบอกปัดอะไรจากใครสักคน เพราะเรากลัวการดูเป็นคนเลว การดูเป็นคนไม่มีน้ำใจ หรือการดูเป็นคนไม่อยากช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งไม่จริงเสมอไป เราควรถามตัวเองแทนว่าเพราะอะไรเราถึงปฏิเสธเขา?

เพราะเขาขอร้องให้ช่วยเรื่องซ้ำ ๆ เดิม ๆ ที่เขาควรเรียนรู้ด้วยตัวเองได้แล้วหรือเปล่า? หรือเพราะว่าเราเองก็เดือดร้อนในเรื่องเดียวกันกับเขา ถ้าช่วยเขาเราต้องเดือดร้อนตามแน่ ๆ ?

ถ้าเราถามตัวเองเสร็จสรรพแล้ว เราจะเริ่มมองเห็นเหตุผลของตัวเอง ว่าเราไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำขนาดนั้น แต่ทุกคนล้วนมีเหตุผลของตัวเอง แล้วก็อย่าลืมบอกเหตุผลของการปฏิเสธกับเขาไป ถ้าเขาเคารพการตัดสินใจเรามากพอ เขาก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก

3.ไม่จำเป็นต้องขอโทษเสมอไป

เราขอโทษใครก็ต่อเมื่อเราทำอะไรผิด ถูกไหม? หลายครั้งที่เรารู้สึกผิดจนอดไม่ได้ที่จะพูดขอโทษซ้ำ ๆ เมื่อเราต้องปฏิเสธใครสักคน แต่การพูดขอโทษก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันช่างผิดบาปเสียเต็มประดา และเป็นการยิ่งบอกคนที่ขอร้องว่าเรารู้สึกผิด เรากำลังทำความผิดต่อเขา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ไม่ใช่เลย

เพื่อป้องกันการขอโทษด้วยความไม่ตั้งใจ เมื่อเราปฏิเสธ เราอาจไม่แค่ปฏิเสธอย่างเดียว เช่น ถ้ามีคนขอให้คุณสอนงานซ้ำ ๆ ที่คุณเคยสอนไปแล้ว และมันสามารถหาข้อมูลได้ง่ายแสนง่ายจากอินเตอร์เน็ต แทนที่จะบอกว่า “ขอโทษนะ ตอนนี้ยังไม่ว่างสอนจริง ๆ” เราอาจบอกเขาว่า “ลองเอาเว็บไซต์นี้ไปดูนะ มันมีสอนวิธีไว้หมดเลย”

นอกจากไม่ต้องขอโทษแล้ว ยังเป็นการเสนอทางเลือกให้กับเขา รวมทั้งให้เขาเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองอีกด้วย

การช่วยผู้อื่นเป็นเรื่องดี แต่การต้องรู้สึกผิดทุกครั้งหากเรายุ่งเกินกว่าจะช่วยก็คงไม่ดีต่อสุขภาพจิตตัวเราเอง ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และสุขภาพจิตที่ดีตาม เราควรเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตามสมควร และเรียนรู้ที่จะปฏิเสธแบบไม่ต้องรู้สึกผิดควบคู่กันไปด้วย

SOURCE1SOURCE2

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line