Life

“5 วิธีเอาชนะความโดดเดี่ยว”จากนักบินอวกาศผู้อยู่บนสถานีฯสุดเดียวดาย 1 ปีเต็ม

By: PSYCAT March 30, 2020

ชีวิตยามปกติที่เคยนอนในบ้าน กินอาหารข้างนอก ทำงานที่ทำงาน อยากผ่อนคลายก็ไปทะเลสักแห่ง ถูกสถานการณ์ COVID-19 บีบบังคับให้เราต้องกิน นอน ทำงาน ผ่อนคลาย มีชีวิตเกือบ 100% เต็มในสถานที่จำกัด บางคนอาจมีบ้านยังพอเดินไปเดินมาให้ผ่อนคลาย (แต่ก็ไม่อิสระเหมือนการได้ไปข้างนอกอยู่ดี) แต่หลายคนที่อาศัยอยู่ในห้องขนาดไม่ใหญ่มาก ยิ่งต้องเผชิญความท้าทาย ความกดดันทางอารมณ์มากขึ้นไปอีก

ความโดดเดี่ยวในสถานที่คับแคบ การแบ่งเวลางานและเวลาพักผ่อน การพยายามหาหนทางผ่อนคลายให้ตัวเองจึงไม่ง่ายเลยสำหรับใครหลายคน

จะมีใครเข้าใจ “วิธีมีชีวิตรอดในความโดดเดี่ยว” ดีไปกว่า Scott Kelly นักบินอวกาศผู้ต้องใช้เวลาบนสถานีอวกาศยาวนาน 1 ปี เขากิน นอน ทำงาน และผ่อนคลายที่นั่น ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง หรือห่างจากสถานีอวกาศไปไหนไกลและนี่คือเคล็ดวิธีที่เขาอยากแนะนำ ในห้วงเวลาที่เราต้องอยู่ติดบ้านไปอีกพักใหญ่

อย่าปล่อยเวลาให้ไหลไป “กำหนดตารางเวลา” ให้ตัวเองเสมอ

สิ่งหนึ่งที่ Kelly แนะนำคือเมื่อเราต้องอยู่ในสถานที่เดียวนาน ๆ แต่ทำสารพัดอย่าง เราต้อง “กำหนดตารางเวลา” ให้ตัวเอง ตัวเขามีตารางเวลาที่แน่นขนัด ตั้งแต่วินาทีที่ลืมตาตื่นไปจนถึงเข้านอน เพราะเรานั้นไม่สามารถใช้ “สถานที่” มาเป็นตัวกำหนดเวลาและกิจกรรมได้อีกแล้ว เช่น เมื่อก่อนเราไปถึงออฟฟิศ เราจะรู้โดยอัตโนมัติว่านี่คือเวลาทำงาน หรือเมื่อเดินไปร้านอาหารก็หมายความว่าเราต้องกินข้าว เมื่อไปห้างแปลว่าเราต้องพักผ่อน

แต่เมื่อเราอยู่ในสถานที่เดียวแต่ต้องทำทุกอย่าง มีแค่การกำหนดตารางเวลาเท่านั้นที่จะไม่ทำให้เราไหลไปเรื่อย ๆ และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลานอนที่ Kelly  เน้นย้ำว่าควรเข้านอนเวลาเดิมทุก ๆ วัน และพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ประจำ NASA ศึกษาแล้วพบว่าถ้าเหล่านักบินอวกาศนอนไม่พอจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน ชีวิต อารมณ์ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนอีกด้วย

สัมผัสแสงธรรมชาติและดื่มด่ำสิ่งรอบตัว

Scott Kelly บอกว่าสิ่งหนึ่งที่เขาโหยหามากที่สุดเมื่อขึ้นไปลอยเท้งเต้งอยู่ในสถานีอวกาศหลาย ๆ เดือนคือ การได้สัมผัสกับแสงอาทิตย์อันอบอุ่น การได้มองผืนหญ้าสีเขียวลู่ลมไปมา หรือแม้แต่อะไรเพี้ยน ๆ ที่เขาไม่คิดมาก่อนว่าจะคิดถึงอย่างเสียงของยุงที่บินหึ่ง ๆ ข้างหู

ห้วงเวลาอันโดดเดี่ยวบนสถานี้อวกาศนั้น เขาและเพื่อนนักบินอวกาศไม่สามารถออกไปไหนได้ตามใจ การจะออกนอกตัวสถานีต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมอย่างรัดกุม สิ่งที่พวกเขาทำจึงเป็นการเปิดเสียงจากดาวเคราะห์สีน้ำเงินฟัง อาจเป็นเสียงคลื่น เสียงใบไม้ไหว ไปจนถึงเสียงยุงบิน (ใช่ เพราะเขาคิดถึงเสียงพวกนี้)

แต่ในสถานการณ์การเก็บตัว Scott Kelly แนะนำว่าเราควรพาตัวเองออกไปเดินสัมผัสแสงธรรมชาติ หรือมองพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง (แน่นอนว่าต้องเว้นระยะ และดูแลตัวเองให้ดีที่สุด) เพราะการได้สัมผัสธรรมชาติแม้เพียงสั้น ๆ นั้นดีต่อสุขภาพกายและใจของมนุษย์

 

หางานอดิเรกทำ (ที่ไม่ใช่การเล่นมือถือ)

สิ่งสำคัญที่ช่วยพยุงจิตใจในยามโดดเดี่ยวเมื่อเราต้องอยู่ในพื้นที่แคบ ๆ คือ “งานอดิเรก”  Scott Kelly บอกว่าเหล่านักบินอวกาศทั้งหลายหอบหนังสือขึ้นไป เพื่อใช้เวลาว่างจากการทำงาน หรือการดูแลเรื่องทั่ว ๆ ไปของตัวเอง งานอดิเรกอาจเป็นอะไรก็ได้ทั้งการอ่านหนังสือ หัดเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้น หรือทำงานคราฟต์

สิ่งเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงจิตใจให้เราเข้าใจว่าชีวิตเราไม่ได้มีแค่งานที่ต้องรับผิดชอบ หรือกิจวัตรประจำวันทั่ว ๆ ไป แต่ยังมีความรื่นรมย์ มีการได้จดจ่อ การได้เฝ้ารอเวลาที่จะได้ทำงานอดิเรกนั้น ๆ

ถ้าใครไม่เชื่อว่านักบินอวกาศเขาเล่นดนตรีกันบนสถานีอวกาศจริง ๆ เราแปะวีดีโอของ Chris Hadfield นักบินอวกาศชาวแคนาดา ที่ร้องเพลง Space Oddity อันโด่งดังของ David Bowie จากบน International Space Station จนคลิปนี้กลายเป็นไวรัลอยู่พักใหญ่ ๆ เลยทีเดียว

Scott Kelly บอกเพิ่มเติมว่าแต่อย่านับการไถหน้าฟีด หรือเล่นมือถือเป็นงานอดิเรกเชียว เพราะสิ่งนี้ดูดพลังอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ใช่กิจกรรมรื่นรมย์ที่เราได้อยู่กับตัวเอง

“จดบันทึกประจำวัน” คุณค่าและความหมายในวันที่ต้องโดดเดี่ยว

NASA ศึกษาผลกระทบเมื่อมนุษย์ต้องแยกตัวโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน โดยสิ่งหนึ่งที่มีความหมายมากเมื่อมนุษย์ต้องแยกตัวคือ “การจดบันทึกประจำวัน” Scott Kelly บอกว่าเขาเองจดบันทึกชีวิตเมื่อต้องขึ้นไปเคว้งคว้างอยู่ในสถานีอวกาศทุกวัน และมันมีความหมายไม่ใช่เพราะมันช่วยจดจำว่าเขาทำอะไร แต่มันช่วยทำให้เห็นกระบวนการเติบโต และวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไป

เขาแนะนำว่าอย่าจดแค่ว่าวันนี้ทำอะไร วันนี้กินอะไร เห็นอะไร แต่ให้เราจดบันทึกเรื่องมุมมองของเราต่อสิ่งต่าง ๆ ไว้ เช่น ถ้าเราทะเลาะกับแม่เรื่องการไม่ล้างจาน เราอาจไม่ได้จดแค่ว่าวันนี้ทะเลาะกับแม่อีกแล้ว แต่จดมุมมองของเราลงไป อาจเป็น เกลียดการโดนบังคับที่สุด ความรับผิดชอบก็สำคัญ แต่ถ้าต้องโดนบังคับให้รับผิดชอบ นี่เป็นสิ่งสุดท้ายที่เราต้องการ 

การจดบันทึกโดยเล่าผ่านมุมมองเป็นหลักนั้น จะทำให้เราไม่รู้สึกซ้ำซาก ต่อให้ทะเลาะกับแม่ติดกันสามวัน แต่ถ้ามุมมองแต่ละวันเราเปลี่ยนไป เราจะเห็นว่าทุกวันเราได้เติบโต เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ หากเราไม่จดบันทึกอะไรเอาไว้เลย เราอาจจำได้แค่ว่ากักตัวมาหนึ่งอาทิตย์ ทะเลาะกับแม่ทุกวัน ซึ่งนั้นยิ่งทำให้มุมมองที่เรามีต่อเวลา ชีวิต และคุณค่าในตัวเองถดถอยลงไปอีก

เราต่างอยู่ลำพัง (ไปด้วยกัน)

ความโดดเดี่ยวไม่ได้ทำร้ายแค่สภาพจิตใจของมนุษย์เท่านั้น แต่ผลการวิจัยชี้ว่ามันสามารถทำร้ายไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ดังนั้นในฐานะนักบินอวกาศ แม้จะต้องอยู่อย่างเงียบเหงาเป็นส่วนใหญ่ แต่ Kelly บอกว่าเขาติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนทุกวัน การติดต่อกับคนที่เขารัก ทำให้เขายังรู้สึกเชื่อมต่อกับผู้คนมันจึงดีต่อสภาพร่างกายและจิตใจเขามาก

ในช่วงที่ทุกคนต้องต่างอยู่ที่บ้านตัวเองลำพัง การติดต่อกับใครสักคนที่เราอยากคุยด้วย อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งจึงเป็นอีกหนทางเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดี

 

สถานการณ์ COVID-19 ยังคงดำเนินต่อไป ยังไม่แน่ชัดว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ และไม่มีอะไรการันตีว่าหลังสถานการณ์นี้จบ รูปแบบการทำงานและใช้ชีวิตของผู้คนจะเหมือนเดิมหรือไม่? ดังนั้นหนทางการเอาตัวรอดในห้วงเวลาที่ต้องโดดเดี่ยว หรือต้องทำงานอยู่กับบ้านที่นักบินอวกาศมาแชร์กัน เราเชื่อว่าจะยังสามารถเก็บไว้ได้ใช้ได้อีกสักระยะ

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line