DESIGN

SEIKO เรือนเวลาจากแดนปลาดิบที่มี GLOBAL AMBASSADOR เป็นคนยุโรป และขายดีติดตลาดไทย

By: anonymK February 12, 2019

“Swiss made คือหนึ่งในความนิยมของนักเล่นนาฬิกาทั้งมือเก่ามือใหม่
แต่ SEIKO จะเป็นนาฬิกาเรือนแรก ๆ ที่คนไทยใส่”

เรานั่งพูดคุยเรื่องความนิยมกับพี่น้องที่รักและหลงใหลเรื่องนาฬิกา ชื่นชอบเรื่องวัสดุการผลิตสายลึกจนจู่ ๆ ได้ยินประโยคนี้ขึ้นมาระหว่างการพูดคุย จริงหรือเปล่าที่ Seiko เป็นแบบนั้น แต่คงไม่ต้องมองไปไหนไกล เมื่อที่ข้อมือเราเองก็คาดไว้หนึ่งเรือน แม้จะไม่ใช่ Limited Edition ก็ตาม ก็น่าจะจริงอย่างเขาว่า

ทำไมแบรนด์นี้ถึงเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่คนไทยคิดถึง และยังเป็นหนึ่งแบรนด์ในดวงใจของชายหญิงผู้มองหาเรือนเวลาสักเรือนมาสวมใส่และสะสม หรือกระทั่ง Brand Heritage เขามีความเป็นมาอย่างไรทำไมถึง survive ข้ามกาลเวลามานับ 100 ปีแล้วก็ยังไม่ตกชั้น UNLOCKMEN จะพาไปดูหลาย ๆ มุมมองเหล่านี้ไปพร้อมกัน

THE BEGINNING OF SEIKO

Kintaro Hattori คือผู้เขียนตำนานของ Seiko เขาเติบโตในครอบครัวที่ทำอาชีพขายของโบราณและได้รับ DNA เดียวกับพ่อมาเต็มเปี่ยมจึงใฝ่ฝันจะเป็นพ่อค้าตั้งแต่วัยสิบกว่าขวบ ก่อนเริ่มตัดสินใจว่าจะเป็นช่างทำนาฬิกาตั้งแต่อายุเพียง 13 ปีเท่านั้นหลังไปที่ร้าน Kobayashi Clock Shop

ความสนใจเรื่องค้าขายแต่มาเป็นช่างทำนาฬิกาแม้มันดูไม่เกี่ยวข้องกันก็จริง แต่ถ้าคิดด้วยเหตุผลของ Hattori สิ่งนี้คือมุมมองพรสวรรค์ทางธุรกิจล้ำลึกชนิดข้ามขั้นคนช่วงอายุเดียวกันไปหลายขุม

“ธุรกิจอื่นอาจจะมีวันที่ขายไม่ดีเพราะฝนตก แต่พนักงานร้านนาฬิกายังมีงานให้ทำเยอะทุกวัน พวกเขาสร้างเงินได้จากทั้งการขายและการซ่อมมัน ยุ่งกับการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เราน่าจะไปทำร้านนาฬิกา”

จากการตัดสินใจนั้นได้พาเขาไปเป็นนักขายและนักทำนาฬิกาที่ร้านขายนาฬิกา Kameda ถัดมา 2 ปีเขาย้ายไปที่ร้านขายนาฬิกา Sakata ในเมือง Ueno สถานที่ที่เป็นแหล่งความรู้เรื่องการซ่อมและการขายนาฬิกาให้เขาในที่เดียวกัน แต่โชคไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะไม่นานนัก Sakata ก็โดนฟ้องล้มละลายจนต้องปิดร้าน ด้วยความกตัญญูและความมีน้ำใจที่มี หนุ่มนักทำนาฬิกาที่หวังจะเก็บเงินเปิดร้านก็เลยยกเงินที่เก็บไว้ทำธุรกิจมอบให้กับเจ้าของร้านก่อนเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด

K. Hattori & Co. in ในอดีตและปัจจุบัน / Credit Photo: seiko.co.jp

การกลับบ้านครั้งนี้ไม่ใช่ความพ่ายแพ้แต่เป็นตั้งหลักให้ฝันโตเร็วขึ้น เพราะหลังจากกลับมาเขาก็เปิดร้านซ่อมนาฬิกาเป็นของตัวเองในชื่อ “Hattori Clock Repairer” ขายและซ่อมนาฬิกามือสองไปพลาง ๆ ขณะเดียวกันก็ทำงานให้กับร้านขายนาฬิกาที่ชื่อ Kyobashi เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งการทำธุรกิจนาฬิกาและเทคโนโลยีนาฬิกาไปพร้อมกัน จนในที่สุดเขาก็สามารถเปิดร้านของตัวเองได้ในชื่อ K. Hattori & Co. ทำหน้าที่เป็นดีลเลอร์ที่รับนาฬิกาจากต่างประเทศเข้ามาขาย

Seikosha Factory

ระบบการค้าที่น่าเชื่อถือและการรักษาสัญญาในการทำธุรกิจทำให้บริษัทของเขาเติบโตและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศที่มาติดต่อทำการค้าด้วย แต่แน่นอนว่าความฝันการทำธุรกิจนาฬิกาของตัวเองยังกรุ่นอยู่ ในปี 1892 Hattori จึงนำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาผลิตโรงงานทำนาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นขึ้นเองภายใต้ชื่อ Seikosha Factory และทุ่มเทให้กับการผลิตจนทำให้ได้นาฬิกาคุณภาพที่สามารถแข่งขันเทียบชั้นโลกตะวันตกได้ตามมาตรฐานชื่อของแบรนด์ที่ใช้คำว่า Seiko ซึ่งมากคำในภาษาญี่ปุ่นที่แปลได้ว่า “ความเที่ยงตรง แม่นยำ”

GLOBAL BRAND AMBASSADOR

ความน่าสนใจอีกสิ่งคือพื้นหลังความชาตินิยมสไตล์ญี่ปุ่นได้รับการสื่อสารผ่าน Brand Ambassador ระดับโลกชาวต่างชาติ สิ่งนี้เป็นคีย์สำคัญของการทำให้สินค้าติดตลาดอย่างรวดเร็ว เพราะความแข็งแกร่งที่ผ่านการคิดค้นอย่างประณีตนุ่มนวล พอผสานกับการพาดประดับบนข้อมือของคนชาติไหนก็ยังลงตัว ช่วยเชื่อมความรู้สึกของความเป็นสากลมากขึ้น และการควานเลือก Brand Ambassador ที่สื่อสารภาพลักษณ์แบรนด์ได้ชัดเจน มีแพสชั่นลึกดึงดูด คือเสน่ห์ที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ อินกับตัวตนและคาแรคเตอร์ของแบรนด์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ยิ่งใครที่ตามเรื่องราวของ Global Brand Ambassador เจอคนล่าสุดในไลน์ Prospex ซึ่งเป็นไลน์ที่ออกมาเอาใจผู้ชายสาย Extreme แบบเราอย่าง Fabien Cousteau นักสำรวจใน Mission 31 ภารกิจที่ว่าด้วยการเอาชนะของมนุษยชาติที่สามารถอยู่ใต้มหาสมุทรได้ กิน นอน ทำงาน ในที่อยู่ที่สร้างขึ้นใต้น้ำขนาดเท่ารถบัส (ไม่ใช่แบบเดียวกับเรือดำน้ำเพราะเรือดำน้ำคือการจำลองผืนดินไปไว้ใต้น้ำ) โดยไม่ขึ้นมาบนฝั่งตลอด 31 วัน และอยู่ในรูปแบบเดียวกับมนุษย์อวกาศ ความพิศวงของสัญชาตญาณสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ช่วยให้เราปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงใต้น้ำ รวมถึงอีกหลายเรื่องที่เป็นปริศนาโลกเงือกใต้ท้องทะเลที่เขาค้นพบ มันก็ทำให้เราอยากสวมนาฬิกาแล้วออกกระโจนออกไปจองเรือ ออกไดฟ์ดำน้ำทันที ถ้าพูดน่าจะยาวไป เราว่าไปพูดถึง Fabien อีกทีบทความหน้าดีกว่าเดี๋ยวเราจะขยายให้ แต่บอกได้เลยว่าเขาคือลูกผู้ชายที่ทำให้เรารักทะเลทั่วโลกและอยากปกป้องธรรมชาติเยอะขึ้นมาก ๆ

ตัวแปรความดังเป็นขวัญใจชาวไทย คือคุณภาพและการให้ความสำคัญ

Seiko นำเข้ามาในไทยครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) หอบคาแรคเตอร์เรื่องความเที่ยงตรง ระบบ mechanic ยอดเยี่ยม วัสดุคงทน เรือนเวลาที่มีคุณภาพไม่น้อยหน้าตะวันตกแต่ยังมีกลิ่นความคุ้นเคยของเอเชียจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยเปิดใจรับสินค้าจาก Seiko ได้ไม่ยาก

เรื่องคุณภาพของตลาด Seiko ในบ้านเรา จากเหตุผลที่กล่าวไว้ทั้งด้านคุณธรรมและคุณภาพก่อนหน้านี้คือยาอายุวัฒนะที่ยืดอายุชื่อของแบรนด์ Seiko มาได้นับศตวรรษ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นแบรนด์นาฬิกาน้ำดีไม่กี่แบรนด์ที่ยังรักษาสภาพตำนานให้อยู่โยงยาวมาถึงวันนี้ ชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่รุ่น Baby Boomer ชนิดที่ให้ถามถามว่าแบรนด์ไหนที่ดังและดี จะได้ยินติด 1 ใน 5 อันดับแรกคำตอบของแบรนด์ที่รู้จักเสมอ มาจนถึง Gen Y ด้วยราคาที่จับต้องได้ กับการคาดมันไว้บนข้อมือของหนุ่ม Youngohm แร๊พเปอร์ไทยที่โชว์ลุคความสตรีตของนาฬิกาในโปรเจกต์ Prospex Street Series เมื่อปลายปีที่โผล่ให้เห็นในเพลง “ดูไว้” ก็เป็นอีกเครื่องยืนยันว่า เวลาไม่ได้ทำให้ Seiko ตายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่

นอกจากเรื่องนี้แล้วประเด็นความรักกับความ royalty ของแบรนด์จากมุมมองของเรา เรามองว่ามันเอื้อเกื้อกูลกันเหมือนความรักที่สมหวัง ซึ่งก็เป็น Nature ของแฟนคลับทุกแบรนด์ในแต่ละประเทศ เราอยากให้แบรนด์มองเห็นว่าเราสำคัญ เราคือแฟนคลับที่ภักดีติดตาม และเมื่อเขาเห็น ทำของดีออกมาเป็นพิเศษให้เรา ก็เป็นธรรมดาที่เราจะอุดหนุนสินค้านั้นเพราะหมายถึงเสียงของเราดังพอให้แบรนด์ได้ยิน

ส่วนเครื่องยืนยันว่าไทยเป็นตลาดสำคัญของ Seiko มองได้จากระดับการลงทุนในตลาดไทยทั้งเรื่องการเปิดตลาดไทยด้วย Grand Seiko จากบริษัทแม่ญี่ปุ่นที่ขยายเข้ามา เน้นความพรีเมียม ปรับแบรนด์มาใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์ไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมาอย่าง อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และยังรวมถึงการออกคอลเลกชันเพื่อขายในไทยเท่านั้น อย่างไลน์ Prospex คอลเลคชัน Zimbe ก็ยิ่งโกยความประทับใจอยู่หมัด

“เวลา” ไม่ใช่แค่เข็มที่วิ่งวนแยกช่วงธรรมชาติระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตกหรือนับชั่วโมงที่ผ่านพ้นเท่านั้น แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งและเรื่องราวตำนานซ่อนอยู่ในนั้น ส่วนการสวมใส่หรือใช้อะไรสักอย่างคือเครื่องหมายหนึ่งที่บอกความเป็นตัวตนของเรา บทความนี้น่าจะมีประโยชน์ในฐานะ 101 อีกแบรนด์ที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่สวมใส่มากขึ้น หรือถ้ามองลึกเรื่องตัวอย่างความสำเร็จของการทำธุรกิจ นาฬิกาหนึ่งเรือนก็มีบทเรียนหลายจุดที่น่าเรียนรู้ไม่แพ้กัน

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line