Entertainment

SLUR ความสุขของการทำดนตรี คือการได้เห็นคนมาแหกปากร้องเพลงในคอนเสิร์ตของตัวเอง

By: SPLESS March 20, 2019

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้ชายอย่างเราตัดสินใจรวมตัวหรือสร้างกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อลงมือทำอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นความชอบที่ตรงกัน รสนิยมการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงความฝันที่จะได้ออกวิ่งตามหาเรื่องราวที่สนุกสนานและความสำเร็จให้กับชีวิต

เหมือนกับ SLUR (เสลอ) วงดนตรีที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และแนวทางอันเป็นเอกลักษณ์ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ เย่-จักรพันธ์ บุณยะมัติ (ร้องนำ), บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์(เบส), เฮ้าส์-สรศักดิ์ จันทรมนตรี(กีต้าร์) และ เอม-ธิติพันธุ์ อนะวัชพงษ์(กลอง) จนกลายเป็นวงดนตรีคุณภาพ ซึ่งสร้างความหลากหลายให้กับวงการเพลงไทยมาตั้งแต่ปี 2549 ที่พวกเขาปล่อยอัลบั้มแรกของตัวเองอย่าง Boo! ออกมาให้ทุกคนได้รู้จัก

แต่ก็เหมือนชีวิตของทุกคน แน่นอนว่าการเดินทางบนเส้นทางดนตรีมาตลอดระยะเวลากว่า 13 กับผลงาน 5 สตูดิโออัลบั้ม ต่างเต็มไปเรื่องราวและเหตุการณ์ที่มีทั้งปัญหาและช่วงเวลาพิเศษมากมาย แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้ทำให้ทั้ง 4 คนหมดความกระหายในสร้างบทเพลงใหม่ ๆ ออกมาและอัลบั้ม Bin ซึ่งเป็นผลงานชุดล่าสุดก็เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าความสนุกและไอเดียสร้างสรรค์ในงานดนตรีของพวกเขา ไม่เคยลดน้อยลงตามช่วงอายุที่มากขึ้น แต่อะไรจะเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวพวกเขาทุกคน ให้เดินบนเส้นทางอย่างรู้ใจตัวเองอยู่เสมอ วันนี้เรามารับฟังเหตุและเรื่องราวของพวกเขาไปพร้อมกัน

พูดถึงจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจของอัลบั้มล่าสุดอย่าง BIN ให้ฟังหน่อยครับ

เย่ : ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นของอัลบั้ม Bin ผมที่ว่ามันเหมือนกับอัลบั้มที่ 4 ตรงที่เราคิดว่าเรายังสามารถคิดเพลงได้อีกยังพัฒนาเพลงต่อได้ เลยอยากจะทำเพลงกันออกมา แต่เรื่องแนวเพลง เรื่องวิธีการเล่น มันอาจไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าเป็นแนวเพลงอะไร อยากได้เนื้อยังไงก็จับมาทดลอง ซึ่งนั้นคือส่วนของวิธีแต่งเพลง แต่โดยรวมแล้วเรามองว่าอัลบั้มนี้คือการคิดต่อและพัฒนาการทำเพลงของเรา ใครอยากเล่นอะไรเล่น ใครอย่างลองดูอะไรลอง จะเป็นแบบนั้นมากกว่าครับ

BIN มีความแตกต่างจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ยังไงบ้าง

บู้ : คงเป็นความวาไรตี้ คืออัลบั้มนี้ไม่ได้จำกัดหรือต้องการแนวเพลงไหนเป็นพิเศษ คิดว่าทำอะไรกันแล้วจะมีความสุขก็ซัดเลย

เอม : ผมว่าอัลบั้มที่ผ่านมาของ SLUR มันมักจะชัดเจนว่าคือแนวเพลงอะไร พวกเราก็รู้สึกว่าเวลากลับไปฟังอัลบั้มรวมแล้วมองภาพรวมของอัลบั้ม ทำให้เรารู้สึกว่าสีสันหรือการกำหนดรูปแบบมันจะครอบอะไรบางอย่างเอาไว้ แต่สำหรับอัลบั้มนี้มันจะให้ความรู้สึกว่าเปิดมาแล้วคุณจะเจอเพลงที่หลากหลาย ไม่รู้สึกเลี่ยนเหมือนกับอัลบั้มที่ผ่านมาที่มีการกำหนดว่ามันคืออะไร แต่สำหรับ BIN บางทีเราจั่วหัวด้วยสองเพลงแรกเป็นอีกแนวหนึ่ง แต่พอเพลงที่สามก็จะเป็นอีกแนว เราอยากให้คนฟังรู้สึกว่า อัลบั้มนี้เต็มไปด้วยสีสัน

ทำไมถึงเลือกตั้งใจรวมเอาแนวเพลงที่หลากหลายเอาไว้ในอัลบั้มเดียว

เอม : ขอใช้คำว่าไม่ตั้งใจแล้วกันครับ คืออัลบั้มก่อน ๆ เนี่ยมันจะตั้งใจ แต่สำหรับรอบนี้มันเหมือนเกิดจากมีวันหนึ่งพวกเรามาคุยกัน คือเมื่อก่อนเรากลัวมากว่า ถ้าเราทำเพลงในแบบอื่น ๆ แล้วมันจะใช่ SLUR หรอไม่ดูป็อบไปหรอ ซึ่งมันทำไม่ได้หรอกสุดท้ายเราก็คือวงดนตรี SLUR ที่เกิดจากไอ้สี่คนนี้มันเล่นอย่างนี้ มันก็เลยไม่มีการตีกรอบ จนสุดท้ายมันออกมาเป็นเพลงในแบบของเรา ที่ทุกคนฟังแล้วรู้ว่าเป็นเพลงของเราแน่ ๆ มันเป็นการทดลองมากกว่า ทดลองแบบไม่ได้วางแผนอะไร ทดลองแบบแปลก ๆ ขำ ๆ หรือจริง ๆ มันอาจแค่แปลกกับเราไม่ได้แปลกสำหรับคนอื่น ๆ มันเป็นการโตขึ้นของเราในแบบที่ได้ทดลองอะไรแปลก ๆ ไปด้วยครับ

นอกจากแนวเพลงแล้ว ในส่วนของเนื้อหาของเพลงมีการพัฒนายังไงบ้าง

เย่ :  คือจริง ๆ ผมเป็นคนแต่งเพลง แต่งเนื้อเอง แต่ผมไม่เคยคิดวิเคราะห์ว่ามันถึงพัฒนาขนาดไหน ที่จริงเคยคิดกับตัวเองแต่ตั้งตอนอัลบั้มที่ 3 ว่าแบบมึงจะแต่งเพลงยังไงให้รู้เรื่องวะ ผมก็จะมีการวางคอนเซปต์ของตัวเองไว้ แล้วก็มาคิดว่าทำยังไงถึงจะให้มันมีคำเท่ ๆ หรือผมคิดว่ามันเท่ เป็นแค่ประโยคสั้นเช่น ๆ “ไม่ต้องรู้หรอก”เหมือนเป็นการเอาชนะตัวเองในเรื่องการแต่งเพลง ว่าแต่งได้ไหม แต่งแล้วจะเป็นแบบไหน

เราค่อย ๆ เริ่มวิเคราะห์คำร้องของตัวเองว่า เราร้องแบบไหนได้ คำแบบไหนที่เราร้องไม่ได้ เช่นวงจะรู้ว่าผมร้องว่าฉันรักเธอไม่ได้แน่ ๆ ผมก็หาวิธีเปลี่ยนมันด้วยภาษาของผมเองให้มันเป็นภาษาของ SLUR สุดท้ายแล้วมันคือการท้าทายตัวเองว่า จะทำได้ไหม เราหาทางออกในการเขียนเนื้อของตัวเองให้คนฟังจับต้องแล้วยังเป็นตัวเราเองอยู่รึเปล่า

ประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น อายุที่เพิ่มมากขึ้น มีส่วนกับมุมมองในการทำเพลงบ้างไหม

เอม : มีเยอะมากครับ แต่เสียดายที่มีเวลาได้ทำน้อย เหมือนตอนนี้ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์มิวสิกทำให้เราได้ทำหน้าคอมมากขึ้นกว่าการทำในห้องซ้อมเหมือนแต่ก่อน มีการทำในห้องซ้อมบ้างแล้วก็มาดูกันที่หน้าคอม ต่อด้วยการมานั่งคุยกัน ซึ่งก็เป็นการทำงานในแบบที่ต่างออกไป

แล้วเรื่องท้าทายของแต่ละคนในอัลบั้มนี้ มีอะไรบ้าง

เอม : อัดกลองสดครับ ผมอัดกลองสดเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีตั้งแต่มีวงดนตรี SLUR ครั้งล่าสุดที่ผมอัดกลองสดครั้งสุดท้ายในชีวิตคือในตอนอัลบั้มแรกแบบครบทุกเพลงทั้งชุด เพราะเมื่อก่อนเราจะใช้เป็นเทคนิคโปรแกรมเข้าช่วยผสมกับของจริง เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดเลยว่าการอัดกลองสดมันจำเป็น แต่รู้สึกว่าการเลือกเสียงที่ชอบในกลองแต่ละชิ้นได้ ทำไมต้องมานั่งอัด

สุดท้ายพี่รุ่งเจ้าของค่ายและโปรดิวเซอร์มาบอกไหนมึงลองอัดกลองสดสิ ไม่ได้อัดมานานแล้ว ซึ่งปกติทั่วไปเขาจะอัดเล่นกลองก่อน เอาเดโม่มาฟัง ตีพร้อมอัดกลอง เบส กีตาร์แล้วร้องหลังสุด อันที่เราเปลี่ยนใหม่หมด มาถึงอัดร้องก่อนเลยสิบเพลง แล้วค่อย ๆ อัดอย่างอื่นประมาณนี้ครับ

บู้ : สำหรับอัลบั้มนี้เป็นการเล่นเบส ตั้งแต่ท่อน Intro ไปจนถึง Outtro แต่ละท่อนเราพยายามจะเล่นให้ไม่เหมือนกันเลย ถ้าฟังรายละเอียดดี ๆ แต่พอออกมามันอาจดูเหมือนกันหมดเพราะเบสมันจม ในอัลบั้มนี้ผมจะเล่นนวล ๆ เนียน ๆ ไม่เด้งมากเหมือนช่วงวัยรุ่น คนก็จะไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วแต่ละท่อนเราเล่นไม่เหมือนกันเลย

เย่ : นอกจากเล่นไม่เหมือนกันยังไม่พอ มีไม่รู้ว่าเล่นอะไรอยู่ด้วย เพราะบางเพลงเรามีเพียว Polycat บางที่บู้มันก็ขี้เกียจคิด บางทีก็จ้างเพียวคิดให้ บางทีให้ผมคิดให้หรือเรื่องที่หลาย ๆ คนคิดช่วยกัน อย่างผมจะต้องคิดเดโม่ขึ้นมา ก็ต้องคิดกลองบ้าง เบสบ้าง กีต้าร์บ้างซึ่งก็จะทำให้งานมันเร็วขึ้น แล้วค่อยมาโยนกันว่าอยากเปลี่ยนอยากเพิ่มอะไรเข้าไป

เดินทางมาถึงอัลบั้มชุดที่ 5 กันแล้ว ยังสนุกกับการทำเพลงกันอยู่ไหมครับ

เอม : มันสนุกตรงที่เหมือนเราผ่านจุดที่ต้องแบกรับชื่อเสียง ความหวังหรืออะไรบางอย่างมาแล้ว มันก็กลายเป็นว่าทุกวันนี้พวกเราโคตรมีความสุขและสนุกที่ได้ทำเพลงออกมาเป็นอัลบั้มนี้ อีกอย่างคือการได้ไปเล่นตามคอนเสิร์ตให้แฟนเพลงที่เราชอบฟัง โอเคทำเพลงมาเราก็อยากให้ทุกคนฟังเพลงที่ขึ้นมา แต่ว่ามันไม่จำเป็นต้องมีคนล้านคนจากทั่วประเทศไทยต้องได้ยินเพลงนี้นะ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องได้ไปเล่นทุกคลื่นวิทยุ มันไม่เกี่ยวเลย

เฮ้าส์ : คือด้วยความที่ทุกคนในวงทำงานประจำ เราเลยไม่ได้มีปัญหาเรื่องปากท้องเกี่ยวกับการทำเพลง เราไม่กดดันที่จะทำเพลงเพื่อทำมาหากิน เราทำด้วยตัวตนของเราล้วน ๆ

เย่ : อาจจะเป็นมุมนี้ คือเราไม่ได้มองว่ามันเป็นงานหลัก ที่ต้องทำเงินจากมัน ไม่งั้นเนื้อร้องกับวิธีการเล่นของพวกเราต้องเปลี่ยนไปแน่นอน ที่จะเห็นได้ทั่วไป

บู้ : เหมือนว่าทำยังไงให้คนร้องตาม เราไม่มีโจทย์ที่แน่นอน

เป้าหมายของวงตอนนี้อยากทำอะไรร่วมกันบ้างครับ

เย่ : ทำเสื้อขายงานแคททุกปี (หัวเราะ)

เอม : ตอนนี้ไม่มีครับ ความสุขของทุกวันนี้คือ เราไปเล่นคอนเสิร์ตแล้วได้เจอกับคนที่ร้องเพลงของเราได้ มันเป็นอะไรที่เบสิกที่สุดเลยนะความต้องการของเรา เหมือนเป็นนักบอลที่ออกไปเตะบอลแล้วต้องชนะ ส่วนเราก็คือวงดนตรีที่ต้องไปเล่นคอนเสิร์ต เล่นให้ชนะใจคนดู ส่วนคอนเสิร์ตใหญ่นี่เป็นอะไรที่ไม่เคยคิด พวกเรารู้สึกว่า SLUR ไม่เหมาะกับคอนเสิร์ตใหญ่ แต่การเล่นในร้านเล็ก ๆ เล่นแล้วจ้องหน้ากันแบบนี้ผมชอบมากกว่าเวทีสูงที่มองไม่เห็นคนข้างล่าง แต่ผมชอบเวลาคนดูที่จ้องตาแบบเอาวะ ใจแม่งสื่อถึงกันได้อะไรอย่างนี้ ผมชอบบรรยากาศเล็ก ๆ อะไรแบบนี้มากกว่า

เย่ : เป็นคอนเสิร์ตเล็ก ๆ แล้วกัน คอนเสิร์ตใหญ่แต่ชื่อ “คอนเสิร์ตเล็ก” มีประมาณพันคนก็พอแล้วแต่เล่นแบบสามสิบรอบนะ (หัวเราะ)

บู้ : เออ เล่นไปเรื่อย ๆ เลย

ความสุขอะไรที่แต่ละคนใน SLUR ได้จากการทำเพลง หรือตอนนี้ได้มาครบหมดแล้ว

เอม : อยากได้ทำไปเรื่อย ๆ มากกว่าครับ อย่างสมมุติว่าล่าสุดผมมีลูก แม่งก็รู้สึกว่าเออกูต้องเลิกเล่นดนตรีไหม ต้องเอาเวลาไปทุ่มเทให้ลูกหรือเปล่า แต่ด้วยสถานะของวง เวลาและความคาดหวัง เป้าหมายของวงมันคือเท่านี้ เรารู้สึกว่าเราแฮปปี้กับจุดที่เรายืนอยู่มาก ๆ สมมุติว่าลูกโตแล้วเรายังรู้สึกว่าตัวเองไปเล่นคอนเสิร์ตได้เลย คืออยากทำไปเรื่อย ๆ นึกไม่ออกว่าวงจะแตกหรือเราจะเลิกทำวงกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องดีนะที่เป็นแบบนี้

บู้ : หรือแบบลูกเราแต่งงาน เราอาจจะเอาวงไปเล่นในงานแต่งลูก คือมันจะเป็นอะไรก็ได้หมดแล้วครับ มันไม่ค่อยมีความกดดันอะไรเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่ไม่มีความตั้งใจนะเราแบ่งเป็นคนละเรื่องกัน

องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทุกคนมีงาน มีครอบครัวเป็นของตัวเอง มีเวลาให้การทำเพลงน้อยลงบ้างไหมครับ มีวิธีจัดการมันยังไง

บู้ : น้อยลงครับ แต่ว่ามันพอ

เอม : ผมว่าพวกเราจัดการชีวิตเราได้ดีมาก คือเราจะไม่ได้มาซ้อมดนตรีแล้วมึงยังเล่นไม่ได้ เพราะมึงโตกันแล้วนะ ต้องความรับผิดชอบของตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว ต่างคนก็ต่างไปฝึกเล่นมา ไม่นับรวมเรื่องไอ้บู้เล่นผิด (ขำ) เพราะบู้คือข้อยกเว้นคนเดียวของโลก ส่วนคนที่เหลืออย่างเย่ก็ซ้อมร้องมาก่อนอยู่แล้ว ผมเองก็ซ้อมกลองมา เฮ้าส์ก็แกะกีต้าร์มาอะไรอย่างนี้
แล้วพอเรามาซ้อมมันก็ทำให้เร็วขึ้น ก็มีเวลามาคุยกันว่าจะจัดลิสต์ยังไงให้คนดูชอบ ทำยังไงให้โชว์นี้แตกต่างจากโชว์ที่ผ่านมาว่าบู้จะพูดว่ายังไง เฮ้าส์เปลี่ยนอะไร มันทำให้เราเห็นว่าความมีระเบียบของทุกคนทำให้เราไปไหว

เย่ ​: หลัง ๆ มันเป็นเรื่องของการเลือกเพลงมาเล่นกันแล้ว เช่นเลือกเอาเพลงเก่ากลับมาเล่นกันดีกว่า บางครั้งเราก็คิดว่าฉิบหายแล้ว จำเนื้อร้องไม่ได้ เพราะไม่ได้เล่นมาเป็นสิบปี ก็ต้องมานั่งซ้อมกันก็สนุกและท้าทายความจำของตัวเองแปลก ๆ ดีครับ ด้วยคาแรคเตอร์วงด้วย คือเราไม่เคยกำหนดว่าโชว์นี้บู้ต้องปีนตรงไหน เฮ้าส์ต้องกระโดดหมุนตัวตรงไหน มันเหมือนกันการที่ทุกคนออกมาทำหน้าที่ หน้าที่มึงคือออกไปทำให้มันดีที่สุดก็พอ

นอกจากงานเพลงและงานประจำ แต่ละคนในวงมีเรื่องที่อยากปลดล็อกหรือลองลงมือทำสักครั้งในชีวิตไหม

บู้ :  ผมอยากทำอาหารครับ อยากเป็นเชฟ เรารู้สึกว่าอาหารมันคือรสนิยมในการทำของอร่อย ผมคิดว่าย่างอื่นก็ทำมาหมดแล้ว ดนตรี เสื้อผ้า แต่เรื่องที่ใกล้ตัวและชอบมาก ๆ สำหรับผมที่เรื่องอาหารที่ยังไม่ได้ปลดล็อกสักที

เฮ้าส์ : สำหรับผมปีนี้เริ่มหาเงินได้ ก็พยายามฝึก Snowboard ครับ เพราะว่ามันคือสิ่งที่อยากทำมาตั้งแต่เด็กจากการเห็นในทีวี มาตอนนี้เราก็อายุเยอะแล้วก่อนที่จะแก่ ก่อนที่จะไม่ได้ทำอะไร ตอนนี้เลยเริ่มมาสักพักหนึ่งและอยากฝึกฝนให้เก่งขึ้นมากกว่านี้ครับ

เอม : สำหรับผมได้ปลดล็อกทุกวันอยู่แล้วครับ การมีลูกคือชีวิตในแบบที่เราไม่เคยเจอ มันพีคมากเลยนะสำหรับเรา มันทำให้เกิดความคิดว่าตอนนี้ชีวิตเรากำลังจะก้าวสู่สิ่งใหม่มาก ๆ จากการที่เคยคิดว่าตัวเองอยากทำอะไรก็ได้ อยู่ดี ๆ ก็กลัวตายขึ้นมาซะงั้น

เย่ : สำหรับผมก็คล้าย ๆ กับบู้นะ อยากลองเปิดร้านอาหาร ที่มีดินหรือการปลูกผักแบบนี้ มีชีวิตอยู่ต่างจังหวัดอยู่ริมคลอง ได้ใช้ชีวิตง่าย ๆ ให้เรามีที่พักหรือบังกะโลให้เดินทางไป ๆ มา ๆ แบบนี้ทุกวัน

คิดภาพตัวเองตอนอายุ 40-50 คิดว่าตัวเองยังคงอยู่บนเวทีและวาดลวดลายไปกับดนตรีอีกไหม

บู้ : ผมว่าเราคงยังทำอยู่ วันหนึ่งผมเคยตั้งคำถามกับตัวเอง ตอนที่ดูวงสี่เต่าเธอหรือดู Friday เล่น ผมก็เคยรู้สึกว่าทำไมคนพวกนี้ถึงได้เชยกันจัง คือเราไม่ได้ว่านะ แต่พวกเขาไม่ได้แต่งตัวอะไรกันเลย แล้วก็ขึ้นไปเล่นคอนเสิร์ตด้วยเสื้อผ้าชุดเดียวกันกับที่พาลูกเขาไปเดินห้าง

ผมก็คิดว่า เออวันนี้พวกเราเริ่มเป็นแบบนั้นแล้ววะ เพราะเมื่อก่อนเราแต่งตัวกันทั้งเสื้อหนังทั้งสูท เราก็คิดว่าจริงแล้วเราขึ้นไปเล่นดนตรีให้คนฟังหรือเพราะว่าตัวเองเป็นแบบนี้แต่แรก ในวัยนั้นเราทั้ง 4 คน อาจมีโมเม้นต์ของการไปทำธุระที่โรงเรียน หลังจากนั้นก็ไปเล่นคอนเสิร์ตกันต่อ มันคือการเข้าใจชีวิตมากขึ้น วันหนึ่งเราอาจจะใส่กางเกงยีนส์เอวหลวม ๆ เสื้อโปโลย้วย ๆ แล้วก็รองเท้าหนังขึ้นเวทีไปเล่นคอนเสิร์ต เล่นแบบไม่ต้องไปแข่งกับวงรุ่นน้องใหม่ ๆ แล้วถือเป็นแฟชั่นของเราอีกแบบไปเลย

มีครั้งหนึ่งผมงงตัวเองมาก คือมันจะมีการขึ้นคอนเสิร์ตผมก็คุยกับแฟนว่า เนี้ยเดี๋ยวเราจะขึ้นไปเล่นแบบนิ่ง ๆ โชว์นี้ขอลองเล่นแล้วลงมาแบบไม่มีเหงื่อเลย ลงมาเท่เหมือนเดิมแน่นอน ผลปรากฏว่าขึ้นไปเล่นกลับลงมาก็โทรมลงมาเหมือนเดิม อินเนอร์ในการเล่นของเรายังสุดเหมือนเดิมและปรับแก้กันไม่ได้ ไม่แน่ว่า 10 ปีผ่านไป เราอาจจะดิ้นในท่าที่ประหลาดขึ้น และอ้วนขึ้นจนถือไมค์แล้วติดพุง

แล้วเป้าหมายในอนาคตเร็ว ๆ นี้ของ SLUR วางแผนกันไว้ยังไงบ้างครับ

เอม : ที่จริงคิดว่าเรายังไม่ได้มีการคิดจริงจังกันขนาดนั้น แต่ก่อนหน้าก็มีพูดเรื่องเพลงใหม่ รวมถึงทางของอัลบั้มใหม่ที่ปูกันไว้ น่าจะเป็นประมาณนี้แต่ยังเล่ามากไม่ได้เพราะเรายังไม่อยากสปอยก่อนว่ามันจะเป็นยังไง เป็นการชวนกันว่า เฮ้ย ลองไปฟังวงนี้สิ เป็นยังไงบ้าง ชวน ๆ กันฟังเพลงกันเพราะหลัง ๆ ยังไม่ได้คิดว่าจำเป็นต้องมีอะไรแปลกหรือเจ๋งกว่าเดิม เพราะตอนนี้ก็ยังมีคอนเสิร์ตให้เล่นเรื่อย ๆ อยู่แต่ถ้าพูดถึงอัลบั้มที่ 6 เราทำแน่นอนครับ

สุดท้ายแล้ว การที่กลุ่มผู้ชายที่มารวมตัวกันด้วยความชอบด้านดนตรี จะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ควรต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

เย่ : ถ้าพูดถึงสมัยแรกเลย โห มันคือการเริ่มต้นจากไฟล้วน ๆ เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ผมอยู่ดอนเมืองก็รู้จักเป้และเอม ตอนนั้นบู้ตามมาทีหลัง คือนัดกันซ้อมที่บ้านเป้ตรงสาถรหรือช่องนนทรีซึ่งไกลมาก ๆ มันมีห้องซ้อมของเราที่ต้องไปซ้อมกันทุกอาทิตย์ ผมก็แต่งเพลงเพื่อที่จะไปเล่นในงานของ A Day ก็นั่งรถไฟฟ้าเข้ามาทุกวัน มันไม่ใช่ความรู้สึกของการถูกบังคับให้ทำอะไร เพราะเอาจริง ๆ ตอนนั้นถือว่าเปลืองตังค์มากกับการทำแบบนี้ในวัยนั้น

สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์เราจะแต่งอะไร จะเขียนอะไรก็ต้องเขียนและจำอย่างเดียว อีกอย่างพวกเราไม่มีความขัดแย้งกันในเรื่องแนวเพลง รวมไปถึงความคล้ายของไลฟ์สไตล์และนิสัย แต่ตอนเริ่มต้นคือเรามีแค่ ใจกับไฟ และความหลงใหลที่ตรงกันเท่านั้นพอครับ

เอม : ผมจะมีไฟมาก ๆ เวลาผมได้ตีกลอง เพราะเวลาผมตีกลองในทุกคอนเสิร์ตก็จะอยู่หลังสุดเสมอ ทุก ๆ โชว์ ผมก็จะเห็นคนสามคนอยู่ข้างหน้า ตัวผมก็จะมองแล้วก็รู้สึกว่าทั้ง 3 คนส่งพลังให้ผมที่อยู่ด้วยกันมาตลอดหลายปี ผมแม่งสัมผัสมันได้จากแผ่นหลังของทุกคน เพราะก่อนหน้าขึ้นเวทีทุกคนยังบ้า ๆ บอ ๆ กันอยู่เลย แต่พอขึ้นมาทุกคนขึ้นเวทีก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี  การที่คิดภาพว่าพรุ่งนี้จะเลิกเล่นคอนเสิร์ตไปเลย ชีวิตมันจะดูเคว้งไปหมดเลยนะ เหมือนชีวิตทุกวันนี้ได้ไฟในการใช้ชีวิตมาจากการเล่นคอนเสิร์ต

มันเหมือนการเล่นกีฬา เราเล่นมันทุกอาทิตย์ เล่นทุกวันแต่พอไม่ได้เล่นมันก็จะรู้สึกแปลก ตอนนี้เราได้เล่นดนตรีซึ่งอาจเป็นโอกาสที่คนอื่นที่ชอบดนตรีเหมือนกัน พอเรามองแบบนี้เราก็อยากจะเล่นดนตรีต่อไป เพราะมันคือโอกาสที่ไม่ได้มีง่าย ๆ การมีเพลงเป็นของตัวเอง มีคนร้องเพลงของเรา มีคนมาดูเราเล่นคอนเสิร์ตซึ่งทุกครั้งที่เราได้ทำมันไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขกับมันตลอด

 

หลังจากพูดคุยกับทั้ง 4 คนเป็นที่เรียบร้อย ก็มีคำถามหนึ่งที่เราสามารถตอบตัวเองได้ว่า ชีวิตผู้ชายอย่างเราเมื่่อลงมือทำอะไรสักอย่าง บางครั้งเราไม่ได้หวังชื่อเสียงหรือเม็ดเงินตอบแทนกลับมา แต่มันคือการใช้ชีวิตในทุก ๆ วันกับสิ่งที่ตัวเองรักเพื่อผลิตผลงาน ที่ขอแค่ให้มีใครสักคนตะโกนร้องเพลงที่ผ่านการตกตะกอนจากรูปแบบความต้องการของทั้ง 4 คน ซึ่งสุดท้ายเอกลักษณ์ในผลงานเพลงของพวกเขา จะทำให้ทุกคนเรียกมันอย่างเต็มปากว่านี้คือ “เพลงของวง SLUR”   

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line