Life

“จะพูดหรือไม่พูดดี” เมื่อความสัมพันธ์เกิดปัญหาขึ้น เราควรทำใจให้นิ่งเฉยปล่อยไปเลย หรือพูดออกไปให้มันจบ

By: GEESUCH July 27, 2022

ในความสัมพันธ์ของคู่รักเวลาที่ทะเลาะกันคุณเป็นคนแบบไหน ระหว่าง ‘ไม่พูดให้ปัญหาคลายตัวเอง’ หรือ ‘พูดให้หมดและจบตรงนั้น’ แน่นอนว่าไม่มีแบบที่ถูกและแบบที่ผิดแบบ 100% มีแต่แบบที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสถานการณ์และของแต่ละคู่ต่างหาก

แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน เราคิดว่าความสัมพันธ์จะยังไปต่อได้ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติเวลาอยู่ในอารมณ์หงุดหงิดของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี พร้อมกับจัดการกับตัวเองให้ได้ว่าต้องไม่ทำให้เรื่องบานปลาย ควบคู่ไปกับการพิจารณาหนทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้น เพราะปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คุณย้อนเวลากลับไปไม่ได้ จงดีล วิท อิท แมน!


ขอคุยกันเลยได้มั้ย ไม่อยากให้เราทะเลาะไปมากกว่านี้

ดอกเตอร์ Jason Whiting เปรียบปัญหาความของสัมพันธ์เป็นเหมือนเมล็ดของวัชพืช และบางปัญหาต้องรีบจัดการตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่รากจะหยั่งแล้วยุ่งเหยิงยิ่งกว่าเดิม ในการทำงานกับความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น การจับเข่าเข้าคุยกันเป็นหนทางที่ดีสำหรับการเริ่มต้นเคลียร์ และส่วนที่สำคัญคือคำพูดเปิดประโยคที่เลือกมาต้องถูกไตร่ตรองมาอย่างแม่นยำต่อความรู้สึกของอีกฝ่าย เช่นคุณอาจจะเริ่มต้นว่า 

“ผมไม่ต้องการให้เราทะเลาะกันเลย และผมก็ให้มีความรู้สึกแย่ ๆ ติดตัวเราสองคน มาคุยกันหน่อยได้มั้ย”

ในงานวิจัยของดอกเตอร์เจสันยังเสริมต่อไปอีกว่า ถ้าแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนไปเลยตั้งแต่ต้น อีกฝ่ายมักจะแสดงผลตอบรับที่ดีกลับมา และอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด คิดเป็นผลลัพธ์ที่จบลงตัวอย่างดีมีค่าตัวเลขมากถึง 96% และปัญหาจะจบลงภายใน 3 นาทีที่คุยกัน 

ย้ำอีกครั้งว่า การเริ่มต้นคุยด้วยคำถามที่คิดมาอย่างดีและเยือกเย็น บทสนทนาจะต่างจากการใส่อารมณ์ เค้นถาม และจี้อีกฝ่ายแบบหน้ามือเป็นหลังมือ การให้ความเคารพต่อกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฝ่ายที่สร้างปัญหาขึ้นมาหรือไม่ ต้องไม่ลืมที่จะจริงใจและแสดงความรับผิดชอบกับปัญหาเสมอ ถ้ายังต้องการที่จะไปต่อ

พูดถึงการเริ่มต้นประโยคแล้ว มาพูดถึงเนื้อหาที่จะใช้เพื่อคุยกันบ้าง ส่วนที่ต้องจำให้ดีและคิดตลอดเวลาของตรงนี้คือ ‘การพูดให้อยู่ในประเด็นที่ยกขึ้นมา’ อย่าลืมเด็ดขาดว่าคุณต้องการให้ปลายทางของสนทนานี้นำไปสู่การคืนดีกัน ห้ามใส่อารมณ์ประชด หรือยกคำพูดประมาณว่า “ตอนพบกันใหม่ ๆ ไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย” หรือ “เห็นใจกันหน่อยได้มั้ย” การเรียกร้องต่ออีกฝ่ายก็ไม่ถูกต้อง มันควรจะเป็นการหาทางออกที่ดีร่วมกันมากกว่า


ทำใจให้นิ่งเฉย บางปัญหาก็เล็กน้อยเกินกว่าจะพูดคุยนะ 

การคุยกันก็สำคัญสำหรับแก้ปัญหาอยู่หรอก แต่บางครั้งเราก็ต้องรู้ด้วยว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะเงียบ

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ บางครั้งมันก็เป็นเพียงแค่สิ่งผิดพลาดโง่ ๆ ที่อาจทำให้เราเหนื่อยโดยไม่จำเป็นหากต้องตั้งวงสนทนาถกกันอย่างจริงจัง ดอกเตอร์เจสันเสริมตรงนี้ว่าบางคู่รักที่เข้าใจกันมาก ๆ แล้ว จะใช้การหยิบหรือไม่หยิบปัญหาขึ้นมคุยกันอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อลดการกระทบกระทั่งที่ไม่จำเป็น

เพื่อให้ภาพของส่วนนี้ชัดขึ้น ดอกเตอร์เจสันได้ยกเคสตัวอย่างคนไข้ของเขาคนนึงชื่อ ‘ลอร่า’ และเธอคือภรรยาที่เพิ่งพบว่าการลดการกระทบกระทั่งจากสิ่งเล็กน้อยซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดเป็นสิ่งสำคัญแค่ไหน นี่คือสถานการณ์ของเธอ

ลอร่าอ่านเจอบทความเกี่ยวกับชีวิตการแต่งงานในหัวข้อที่ว่า ‘ชีวิตคู่ต้องบอกเรื่องที่ไม่ชอบต่อกันและกันทุกเรื่อง’ และเธอคิดว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตคู่ของตัวเองไม่ต้องทะเลาะกันมากนัก ลอร่ากับสามีจึงคุยกัน และขอให้ยก 5 สิ่งที่ตัวเองไม่ชอบในอีกฝ่ายขึ้นมา โดยรอล่าเริ่มก่อน .. เมื่อลอร่าพูดครบทั้ง 5 ข้อ นี่คือสิ่งที่สามีของลอร่าตอบกลับมา 

“ที่รัก บอกตามตรงเลยนะว่าผมคิดถึงสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบในตัวคุณไม่ออกเลยสักข้อเดียว” 

ที่ดอกเตอร์เจสันยกเหตุการณ์ของลอร่าขึ้นมา ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าในบางครั้งของความสัมพันธ์ พวกเราก็มีอคติและพูดวิจารณ์โดยไม่จำเป็นจากสิ่งที่เราไม่ชอบในความเป็นอีกฝ่ายไปก่อนล่วงหน้าแล้ว พอมีปัญหากัน ยังไม่ทันได้คุยก็เหมือนใจเอนไปทางทะเลาะเกินกว่า 50% ไปเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ถามตัวเองว่าเมื่อคุณต้องการจะคุยกันเมื่อมีปัญหาคุณทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้องใช่มั้ย แล้วมันจะง่ายขึ้นเยอะว่าคุณจะจัดการแก้ปัญหาที่เกิดโดยการคุยเลย หรือปัญหานั้นเล็กจนสามารถทำใจให้นิ่งแล้วปล่อยมันไปได้


Source :
https://www.psychologytoday.com/us/blog/love-lies-and-conflict/202207/should-i-speak-or-say-nothing-about-couple-problems

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line