Business

วิทยาศาสตร์ยืนยัน ตีความจากการอ่านตัวหนังสือ ทำให้คนทะเลาะกันมากกว่าการพูดคุยหลายเท่า

By: Chaipohn December 4, 2017

เห็นประเด็นชวนแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ เฮ้ย น่าสนใจดี เข้าไป COMMENT แสดงความคิดเห็นบ้างดีกว่า

ผ่านไปห้านาที มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่าง ก็ยังดูดีอยู่ เราก็ COMMENT เหตุผลอธิบายกันไปตามปกติ

ผ่านไปสามนาที มีคนอื่นเข้ามาด่าสวนความคิดเห็นของเราเพิ่ม แต่คราวนี้อ่านแล้วรู้สึกเหมือนโดนแซะ อารมณ์เริ่มเดือด แซะมาก็แซะกลับ คราวนี้มีพวกที่เห็นด้วยมาช่วยกันแซะ ทีนี้เรื่องบานปลาย ต่างฝ่ายต่างเรียกพวกมาด่ากันจนออกทะเลไปไกลจากประเด็นที่น่าสนใจ และควรจะมีประโยชน์ กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า DRAMA ท้าต่อย ท้าตีกันไป

รวมถึงการพูดคุยเรื่องงาน ที่สมัยนี้มักจะ COMMENT งานกันผ่านทาง LINE และหลายครั้งที่การสั่งงานผิดพลาด เพราะพิมพ์อธิบายไม่ดี คนอ่านตีความพลาด หรือเข้าใจอารมณ์ผิดไป กลายเป็นผิดใจกัน ขิงกันไป ขิงกันมา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีประเด็นอะไรเลย

นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะ DRAMA ชาวไทย แต่ทุก SOCIAL MEDIA ทั่วโลกก็เป็นเหมือนกันหมด นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า มนุษย์มีการตอบสนองต่างกันระหว่างการฟัง และการอ่าน แม้จะเป็นข้อความเดียวกัน ซึ่งการตอบสนองจากการอ่านความคิดเห็น มักจะให้ผลเป็นลบมากกว่ามาก เพราะเราไม่รู้อารมณ์เบื้องหลังคำพูดนั้น เช่น ‘เออ ก็ดี’ คนคิดบวกอาจจะตีความในแง่ดี แต่คนคิดลบอาจจะคิดว่ามันประชด

ทีมวิจัยจาก UC Berkeley และ University of Chicago ได้ทำการทดลองกับสมาชิกถึง 300 คน โดยให้แบ่งกลุ่มกันพูดคุยประเด็นเครียด ๆ ชวนด่าพ่อ อย่างเช่นเรื่องสงคราม เรื่องนักการเมือง แต่ต่างกันที่บางส่วนให้พูดคุย บางส่วนให้พิมพ์ตอบโต้กัน ผลที่ได้คือกลุ่มที่พิมพ์คุยกัน แสดงความคิดเห็นเป็นลบและรุนแรงมากกว่าหลายเท่า เช่น “ไอ้พวกที่เห็นต่างมันโง่ แม่งไม่มีการศึกษา”

ในขณะที่กลุ่มพูดคุย กลับไม่รู้สึกเดือดรุนแรงเท่า และแสดงความคิดเห็นกันอย่างมีเหตุผลกว่า แม้จะเป็นหัวข้อและข้อความเดียวกันก็ตาม ซึ่งแม้แต่เจ้าตัวเองก็ยังแปลกใจ เมื่อทีมวิจัยนำความแตกต่างจากการอ่านและการพูดคุยมาเปรียบเทียบกันให้ดู น่าจะเหมือนกับอาการตอนที่เราย้อนกลับไปอ่านข้อความเก่า ๆ ที่เคยตั้ง status หรือ comment ทิ้งเอาไว้บน Social Network แล้วรู้สึกขนลุกจนต้องถามตัวเองในใจว่า ‘นี่กูเคยพิมพ์เอาไว้ด้วยหรอวะ’

ทีมวิจัยได้สรุปและฝากคำแนะนำทิ้งท้ายไว้ว่า พวกเราควรจะหันกลับมาใช้การพูดคุยกันให้มากขึ้น ใช้การฟังทำความเข้าใจให้มากกว่าการอ่านจากข้อความ และตีความเอาเองจากอารมณ์ส่วนตัวตรงหน้า โดยเฉพาะในเรื่องประเด็นสำคัญ เรื่องการทำงาน ใช้เวลานั่งประชุมกันต่อหน้าให้กระจ่างไปเลยจะดีกว่า รวมถึงสถานการณ์ที่ต้องอธิบายเหตุผล เพื่อป้องกันการผิดใจ ผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตีความคลาดเคลื่อนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เพราะจากเทรนด์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่ช่วยให้คนติดต่อกันสะดวกง่ายดายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น FACEBOOK MESSENGER, LINE, TEXT MESSAGE แต่ความง่ายและความเร็ว กลับส่งผลให้เราใส่ใจรายละเอียดของอารมณ์ เหตุผลบนข้อความนั้นได้น้อยลง ในทางกลับกัน พวกเราใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง บางทีเราอาจพลาดโอกาสดี ๆ จากตัวหนังสือที่เราเข้าใจอารมณ์ของมันผิดก็ได้

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line