Business

หยุดหัวร้อนเป็นไฟ “วิธีสื่อสารกับคนที่ไม่เข้าใจ” ให้เขาเปลี่ยนมาฟังเราอย่างมีประสิทธิภาพ

By: PSYCAT January 12, 2018

เราต่างประสบปัญหาหัวร้อนเป็นไฟกันมาแล้วเมื่อต้องถกเถียงกับใครอย่างดุเดือดผ่านทางช่องการสื่อสารออนไลน์ จนเราพากันคิดว่านี่เราตั้งสเตตัสอธิบายยาวเหยียดก็แล้ว ส่งข้อความไปคุยด้วยก็แล้ว ทำไมยังเถียงกันไม่จบ แถมอีกฝั่งก็ไม่ได้ดูมีทีท่าว่าจะเข้าใจเรามากขึ้นเลย UNLOCKMEN ขอเสนอตัวหยุดความหัวร้อนเป็นไฟไว้ให้ แล้วเอา 3 วิธีทำให้เขาฟังเราอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาฝาก

3 วิธีหยุดวามหัวร้อนเป็นไฟแล้วทำให้เขาหันมารับฟังเราอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาลอย ๆ แต่เป็นงานวิจัยที่ผ่านการศึกษามาแล้วอย่างจริงจังโดย Juliana Schroeder ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการองค์กรที่ Haas School of Business, University of California, Berkeley

Juliana Schroeder ศึกษาเรื่องการมีข้อถกเถียงระหว่างกันโดยศึกษาคน 300 คน ซึ่งทั้ง 300 คนนั้นถูกขอให้ร่วมดู ร่วมฟัง และร่วมอ่านข้อถกเถียงต่าง ๆ เช่น เรื่องการทำแท้ง เรื่องสงคราม เรื่องเพลง (โดยอาจจะเป็นเรื่องที่เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้) ผลปรากฏว่าการถกเถียงกันแต่ละครั้งและมีแนวโน้มที่จะทำให้อีกฝ่ายหันมารับฟังเราหรือเข้าใจเราได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่การเถียงกันผ่านตัวอักษรอย่างการอ่านหรือเขียน แต่เป็นด้วยการดู การพูดหรือการฟังมากกว่า

ข้อสรุปจากงานวิจัยของ Juliana Schroeder จึงมีความสำคัญต่อผู้ชายหัวร้อนอย่างเรามาก เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้ว่าเราควรสื่อสารผ่านทางช่องทางไหนเมื่อต้องการโน้มน้าวใจคนที่เขาไม่เห็นด้วยกับเรา โดยเฉพาะการเจรจาทางธุรกิจ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าคุณจะส่งข้อความคุยกันเฉย ๆ ไม่ได้ แต่ต้องเจอหน้าพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มความเข้าใจขึ้นอีกระดับ

คุยอย่างมีเหตุผล ตรงประเด็น

แน่นอนว่าเราอยู่ในโลกที่การสื่อสารผ่านเครื่องมือดิจิทัลเป็นเรื่องโคตรสะดวกสบาย ใครส่งข้อความอะไรมา เราก็ค่อยเปิดอ่านตอนที่อยากเปิด ไม่ต้องเผชิญหน้าหรือสื่อสารกันตรง ๆ ที่มีโอกาสหลบเลี่ยงได้ยากกว่าเมื่อมีเรื่องอึดอัดใจและต้องการหลบเลี่ยง แต่การศึกษาของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Juliana Schroeder ก็ยืนยันว่าการที่เราสื่อสารผ่านตัวอักษรนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้อีกฝ่ายมองเห็นความเป็นมนุษย์ของเราได้น้อยลง มองเราเป็นเพียงข้อความที่เขาไม่เห็นด้วยเท่านั้น

อย่างไรก็ตามเราเลี่ยงไม่ได้ อยู่ ๆ จะให้นัดคนที่เราต่างคนต่างหัวร้อนใส่กันมาเจอกันแทบทุกราย เพื่อพูดคุยตรง ๆ ก็ดูจะเหมือนนัดต่อยกันหลังโรงเรียนคล้ายสมัยเด็ก ๆ มากกว่า ดังนั้นคำแนะนำก็คือถ้าต้องถกเถียง โน้มน้าวกันผ่านตัวอักษร ก็ขอให้เป็นไปอย่างใช้อารมณ์ให้น้อยที่สุด (เช่น การพิมพ์ 55555 อิอิ หรอ แล้วไง ก็ไม่ควรแสดงอารมณ์ลงไป) ควรถกเถียงด้วยข้อเท็จจริงล้วน ๆ และตรงประเด็น ในขณะที่ถ้าเป็นการเจรจาทางธุรกิจที่เราเลือกได้ เคล็ดลับก็คือควรไปคุยกับเขาตรง ๆ มากกว่าอีเมลคุยกัน

เดินไปคุยต่อหน้า วิธีที่สื่อสารจะดีกว่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Juliana Schroeder เปิดเผยว่าส่วนหนึ่งของการศึกษาคือให้ผู้อ่านอ่านความคิดเห็นของนักการเมืองคนหนึ่งซึ่งคนคนนั้นไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของนักการเมืองคนนั้นเลย ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นก็ให้คนคนเดิมฟังและดูนักการเมืองคนนั้นนำเสนอความคิดเห็นอีกครั้ง แต่ผ่านการปราศรัย ผลปรากฏว่าคนคนนั้นที่ที่แรกไม่เห็นด้วยกับนักการเมืองคนนั้นมีแนวโน้มที่จะรับฟัง และโอนอ่อนผ่อนตามความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยมากขึ้น

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เวลาเราเข้าไปอยู่ในการชุมนุมทางการเมืองแล้วได้ฟังการปราศรัย เราจะมีอารมณ์ร่วมมากเป็นพิเศษ เพราะโทนเสียง บรรยากาศ การใช้คำ มีผลต่อความรู้สึกเราต่อข้อถกเถียงนั้น ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น ถ้าเราอยากโน้มน้าวให้บอสเชื่อโปรเจกต์อะไรของเราสักโปรเจกต์ วิธีเพิ่มความเป็นไปได้จึงไม่ใช่แค่ส่งสไลด์นำเสนอไปในอีเมลหรือแชทเฟซบุ๊กแล้วจบ แต่ควรเดินเข้าไปนำเสนอโน้มน้าวใจด้วยตัวเองด้วย

โลกมีวีดีโอคอลเพื่อเรา ใช้ซะ!

อย่างไรก็ตาม ถ้าอยู่กันคนละฟากโลก แต่ต้องทำธุรกิจร่วมกัน หรือต้องการเจรจาครั้งกลาง ๆ ไม่ใหญ่มากแต่ไม่สามารถข้ามโลกไปได้ ก็ไม่ต้องกังวลใจไป โลกนี้สร้างเทคโนโลยีอย่างการวีดีโอคอล วีดีโอคอนเฟอเรนซ์มาให้เราแล้วก็จงใช้มันให้เป็นประโยชน์ ซึ่งรับรองว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการส่งอีเมลแน่นอน

พูดสรุปง่าย ๆ ให้ฟังก็คือการหัวร้อนในโซเชียลมีเดียแล้วหวังจะถกเถียงให้เข้าใจกันนั้นโคตรเป็นไปได้ยาก ด้วยการสื่อสารทางตัวอักษรที่จะทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ง่าย การไม่ได้ฟังน้ำเสียงกัน การเจอกันเพื่อถกเถียงกันต่อหน้าจึงดีที่สุด โดยเฉพาะการเจรจาทางธุรกิจที่ขัดแย้งกันสูง ควรพูดคุยกันต่อหน้าเน้น ๆ แต่ถ้าอยู่ไกลกันแสนไกลโลกก็มีวีดีโอคอลให้เลือกใช้ รู้อย่างนี้แล้วก็เลิกหัวร้อนเป็นไฟแล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้พีค ๆ ดีกว่า

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line