Life

ตะโกนใส่ เต้นไก่ย่าง ไม่สร้างทีมที่ดี! “5 วิธี TEAM-BUILDING แบบมืออาชีพ”ไม่ทำให้ใครอาย

By: PSYCAT July 17, 2018

สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเชื่อว่าผู้ชายหลาย ๆ คนเคยผ่านช่วงรับน้องใหม่มาแล้ว แม้หลาย ๆ มหาวิทยาลัยจะยกเลิกการทำกิจกรรมที่สร้างความรุนแรงหรือบังคับให้ทำสันทนาการโดยไม่เต็มใจ แต่ UNLOCKMEN ก็เชื่อว่ามีหลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่ยังเชื่อว่าการตะโกนใส่รุ่นน้อง บังคับให้ออกมาเต้นไก่ย่าง หรือทำท่าทางประหลาด ๆ เรียกเสียงหัวเราะเป็นการละลายพฤติกรรม

บางคนสนุกด้วยก็ดีไป แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนุกด้วย หลังจากจบการศึกษาผู้ชายหลายคนจึงโล่งอกโล่งใจที่ไม่ต้องทำอะไรที่ถูกละเมิดสิทธิแบบนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเราเข้าทำงานที่ใหม่ มักจะมีกิจกรรมละลายพฤติกรรม หรือทำ Team-Building โดยกิจกรรมก็เหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็กปีหนึ่งอีกครั้งมีทั้งออกไปเต้น มีทั้งกิจกรรมกลางแจ้ง หรือกิจกรรมยิ่งเลอะยิ่งเยอะประสบการณ์

จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่ากิจกรรมเหล่านี้มันพัฒนาการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้จริงไหม ? องค์กรใหญ่ ๆ อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล แอปเปิลเขาจับพนักงานมาเต้นไก่ย่างเหมือนเราหรือเปล่า ? และทำไมการบังคับให้ทำกิจกรรมแบบนี้ถึงไม่เวิร์ค ?

ความอับอายไม่ใช่การละลายพฤติกรรม

“ละลายพฤติกรรม” คือกิจกรรมแรก ๆ ที่เราต้องเจอไม่ว่าจะตอนเข้าเรียนที่ใหม่ หรือทำงานที่ใหม่ เราคิดว่าคนเราจะรู้จักหรือสนิทใจกันด้วยการทำท่าทางตลก ๆ ใส่กัน เต้นแร้งเต้นกาสุดเหวี่ยงใส่กัน บางคนอาจสนุกกับกิจกรรมสันทนาการแบบนี้ แต่นี่ไม่ใช่วิธีที่มืออาชีพที่สุด เพราะการเรียกร้องให้คนออกมาทำท่าทางประหลาด ๆ ต่อหน้าคนที่เพิ่งรู้จักกัน หลายครั้งสร้างความอับอายและอึดอัดให้เกิดขึ้น แทนที่คนในองค์กรจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับทีม กลับกลายเป็นสร้างกรอบขึ้นมากั้นเอาไว้ และรู้สึกแปลกแยกมากไปกว่าเดิม

หากต้องการสร้างความมีส่วนร่วมกับทีมลองหากิจกรรมที่สร้างสรรค์กว่านั้นโดยไม่ต้องบังคับให้ใครอับอาย เช่น การพูดคุย การพูดถึงสิ่งที่ชอบหรือถนัดของแต่ละคน สร้างบทสนทนาร่วมกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจเกิดจากความเข้าใจในตัวตนของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่การได้ทำอะไรน่าอายร่วมกัน

กล้าแสดงออกไม่ได้แปลว่าต้องกล้าออกไปเต้น

บางองค์กรใช้คำว่า “กล้าแสดงออก” เป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องให้คนในองค์กรร่วมกิจกรรมสันทนาการ ถือเป็นความเข้าใจที่อันตรายมากอย่างหนึ่ง องค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพควรทำให้คนในองค์กรทุกคนเข้าใจว่าการกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงความเห็นที่แตกต่าง กล้าเสนอสิ่งที่ตัวเองคิด คือ “ความกล้าแสดงออก”

แต่ไม่ควรเอาการกล้าออกไปเต้น หรือทำพฤติกรรมเรียกเสียงหัวเราะ แล้วเรียกว่าความกล้าแสดงออกในการทำงาน ลองจินตนาการดูว่าการไปประชุมหรือพรีเซนต์งานกับลูกค้า เราต้องการคนในทีมที่พูดจาฉะฉาน กล้าคิด กล้าพูดอย่างมีเหตุผล หรือต้องการคนที่เต้นไก่ย่างได้ตลกที่สุดในบริษัทกันแน่ ? เราอาจโชคดีถ้าได้คนที่ทั้งเต้นเก่ง แสดงออกเก่งและกล้าคิดกล้าพูดด้วย แต่ถ้ามีใครสักคนที่กล้าแสดงออกในการทำงาน แต่ไม่กล้าออกไปเต้นต่อหน้าผู้คน เราก็ไม่ควรต้องบังคับเขาให้ทำแบบนั้นเลย จริงไหม ?

มนุษย์มีบุคลิกที่หลากหลาย

แม้คนไทยส่วนใหญ่จะรักการเต้น รักสนุก แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือมนุษย์มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ตราบใดที่ทุกคนสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่ภายใต้บุคลิกนั้น เราก็ควรเคารพความแตกต่างของแต่ละคนด้วย ดังนั้นการทำกิจกรรม Team-Building จึงต้องออกแบบมาเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับคนที่มีบุคลิกหลายแบบ

ถ้าองค์กรจัดกิจกรรมที่ออกแบบมาสำหรับคนที่ชอบความบันเทิง ชอบเต้น หรือชอบออกกำลังกายเท่านั้น เท่ากับองค์กรกีดกันคนที่มีบุคลิกแบบอื่นไปโดยปริยาย คนในองค์กรที่ชอบครุ่นคิด หรือถนัดการวางแผน หรือมีความสามารถแบบอื่น อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าเมื่อต้องเจอกิจกรรมแบบนี้ ดังนั้นควรจัดกิจกรรมที่ทั้งคนที่ชอบแสดงออก และไม่ชอบแสดงออกสามารถทำร่วมกันได้ หรือไม่มีการบังคับ หรือขู่ว่าถ้าไม่ทำจะมีผลต่อการทำงาน ซึ่งแทนที่จะสร้างความเป็นทีม กลายเป็นจะยิ่งทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ค่า

Socializing ไม่ใช่ Team-Building อย่าเอามาปนกัน

หลาย ๆ องค์กรสับสนระหว่างการทำ Team-Building และการ Socializing โดยหลายครั้งที่องค์กรจัดกิจกรรมเข้าค่าย ค้างคืนร่วมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนในองค์กรได้รู้จักกัน สังสรรค์กันคือการ Socializing รวมถึงความบันเทิงประเภทต่าง ๆ เช่น การแสดงในบริษัท การเต้น การร้องเพลง การทำกิจกรรมกลางแจ้ง

อย่างไรก็ตามการ Socializing ไม่ใช่ Team-Building ถ้าต้องการเสริมสร้างทีมให้แข็งแกร่ง ควรใช้กิจกรรมที่อิงกับการทำงานได้จริง ๆ เปิดโอกาสให้คนในทีมได้แชร์วิธีคิด และศักยภาพร่วมกันได้ โดยอาจจะสมมุติสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริงในองค์กร หรือกำหนดโปรเจ็กต์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง ซึ่งการทำ Team-Building อาจควบคู่กันไปกับการ Socializing แต่ควรให้การ Socializing เป็นจุดประสงค์รอง ถ้าการทำ Socializing ต้องทำให้คนรู้สึกไม่เป็นทีม รู้สึกแปลกแยก ก็ควรพิจารณาตามความสมัครใจไม่ควรเป็นการบังคับ

คิดให้ดีก่อนใช้กิจกรรมกลางแจ้งทำ Team-Building

กิจกรรมประเภทชักเย่อ วิ่งแข่ง กินวิบาก ฯลฯ อาจเรียกเสียงหัวเราะและความสนุกสาน รวมถึงก่อให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลายสำหรับใครที่หน้าดำคร่ำเครียดตอนอยู่ในออฟฟิศมาตลอดปี แต่กิจกรรมแบบนี้ก็คือการ Socializing อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ควรบังคับให้ทุกคนต้องทำ แต่ควรให้ทำตามความสมัครใจ แต่ถ้าไม่มีใครสมัครใจทำกิจกรรมนั้นเลย องค์กรก็ควรต้องตั้งคำถามแล้วว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์จริงหรือไม่ ?

อย่างที่บอกไปว่ามนุษย์มีบุคลิกหลากหลาย ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน ส่วนด้านประโยชน์ที่เรามองว่ากีฬาหรือกิจกรรมกลางแจ้งจะสร้างการทำงานเป็นทีม มันก็เป็นเพียงเรื่องระยะสั้นแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น ทีมฟุตบอลยังต้องซ้อมร่วมกันเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเข้าขากันได้ ดังนั้นการทำกิจกรรมกลางแจ้งวันสองวันไม่ได้ให้ผลเรื่องความสามัคคีในระยะยาวอย่างที่เราต้องการ แถมคนที่ไม่มีทักษะด้านนี้อาจโดนตำหนิจากคนอื่นหรือรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การออกแบบกิจกรรมให้ใกล้เคียงกับงานที่องค์กรทำจะสร้างความเข้าใจและการทำงานเป็นทีมได้ดีกว่า

กิจกรรมสันทนาการไม่ใช่ตัวร้าย UNLOCKMEN ว่าทำได้ ไม่ผิด แต่การบังคับให้ทุกคนต้องเต้น ต้องสนุกในสิ่งเดียวกันแล้วหวังว่าจะสร้างความสามัคคีจากการออกไปเต้นต่างหากที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคาดหวังจะออกแบบกิจกรรมที่ทั้งสนุกด้วยและสร้างการทำงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบด้วย ก็ควรคำนึงถึงความหลากหลายของบุคลิกคนและจัดกิจกรรมที่จะช่วยดึงเอาศักยภาพที่ดีที่สุดของคนออกมา

SOURCE1, SOURCE2, SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line