

Work
ASK MY BRO: 3 เทคนิคพามนุษย์เงินเดือน “รอด” วิกฤตอย่างมืออาชีพแบบ ‘ตูน – สุธีรพันธุ์’
By: unlockmen March 27, 2020 180365
ช่วงนี้เราผ่านระยะการ Work From Home กันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ตื่นลืมตามาก็ทำงานได้ทันทีโดยไม่มีอะไรมาคั่นกลาง ถึงหลายคนจะบอกว่าทำงานเหมือนเดิมแค่เปลี่ยนสถานที่ แต่ลึก ๆ แล้วเราทุกคนรู้แก่ใจดีว่าสถานการณ์ทรง ๆ ของบริษัท โชคอาจจะไม่เข้าข้างชาวมนุษย์เงินเดือนพลัดออฟฟิศอย่างเราก็ได้
การต่อสู้กับวิกฤตที่เห็นแววชัดว่าคงจะยืดเยื้อมันน่ากลัว ทั้งการความเปลี่ยนแปลงส่วนตัวและส่วนรวม โดยไม่รู้ว่าวันข้างหน้าเราจะเสี่ยงตกงานไหม
เพื่อขจัดความกลัวของชาวมนุษย์ออฟฟิศให้ฟิตได้เสมอไม่ว่าจะทำงานที่ไหนทั้งกายและใจ UNLOCKMEN จึงขอคำแนะนำ เคล็ดลับการทำงานดี ๆ จากคุณตูน – สุธีรพันธุ์ สักรวัตร EVP Head of Marketing of SCB ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสื่อสารแบรนด์ ซึ่งเปรียบเสมือนขงเบ้งทัพธนาคารสีม่วงมาฝาก โดยเขาบอกเราว่า 3 สิ่งนี้อาจช่วยให้การ Work From Home ไม่น่ากลัวทั้งกับนายจ้างและลูกจ้าง และวิธีนี้คือวิธีที่เขากำลังใช้เป็นแนวทางการทำงานในองค์กร
“การมีวินัยคือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ และเป็นข้อแรกของการบรีฟสมาชิกในทีม ในวันก่อนที่พวกเราจะต้อง Work From Home เป็นวันแรก
เหตุผลสำคัญก็คือ เมื่อร่างกายเราไม่ต้องตื่นมาทำงาน สมองก็มักจะเข้าสู่โหมดแห่งการพักผ่อนโดยอัตโนมัติ ธรรมชาติสร้างเรามาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นของพวกเราทุกคน ก็คือการตั้งโปรแกรมให้สมองซะใหม่นั่นเอง ว่า Work From Home ≠ Vacation และเครื่องมือที่ดีที่สุด ก็คือวินัย (Discipline) เพราะวินัยนี่แหละ จะเป็นที่มาของประสิทธิภาพในการทำงาน การไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจำเป็นมากในสถานการณ์อย่างนี้ ก่อนที่จะไปเรื่องอื่น”
รูปแบบการสร้างวินัยของคุณตูน มีกรอบกำหนดตายตัวรวมทั้งต้องกำหนดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยควบคู่กับการให้รางวัลตัวเอง
“การมีความรับผิดชอบ (Accountability) ความหมายในการมีความรับผิดชอบในสถานการณ์ปกติที่ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากันที่ทำงาน กับ ความรับผิดชอบในสถานการณ์ Work From Home อย่างนี้ อาจแตกต่างกับตอนที่สมาชิกอยู่พร้อมเพรียงกัน
ตามหลักจิตวิทยาแล้ว หากทำงานที่ออฟฟิศจะมีการกดดันจากเพื่อนพนักงานรอบข้าง (Peer Pressure) ทำให้เกิดการแข่งขัน มีหัวหน้างานมาคอยตามเช็กความคืบหน้าเกิดแรงกระตุ้น จึงเป็นที่มาของความรับผิดชอบแบบจำยอม แต่เราจะทำอย่างไรให้ยังคงรักษาระดับความรับผิดชอบไว้ได้ ถ้าทุกคนต่างทำงานมาจากคนละที่ ? การสื่อสารคือทางออก”
สูตรการสร้างสภาวะเหมือนห้องทำงานแม้อยู่ที่บ้าน คุณตูนจำลองสภาพแวดล้อมให้เกิดบรรยากาศเหมือนที่ทำงานด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
“การให้เกียรติและเคารพกัน (Respect) คือเครื่องมือการแลกเปลี่ยนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
Respect is a currency of trust.
ในทุกการออกสงครามหรือการเดินทางหาดินแดนใหม่ในประวัติศาสตร์ กษัตริย์ย่อมต้องมอบอำนาจให้กับขุนพลหรือนักสำรวจของพวกเขาพร้อมๆ ไปกับการไว้วางใจเช่นใด ในสถานการณ์เช่นนี้ก็เช่นกัน เครื่องมือที่จะควบคุม (Control) พนักงานได้ดีที่สุด คือ การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือแม้กับระหว่างเพื่อนพนักงานร่วมทีมด้วยกันเอง”
นอกจาก 3 เทคนิคที่ช่วยให้องค์กรแข็งแรงในสถานการณ์เปราะบาง สิ่งที่คุณตูนฝากไว้ให้คิดยังมีวิสัยทัศน์ของฝั่งบริหารที่น่าสนใจชวนให้คิดว่าจากนี้ใครจะอยู่จะไปมันต้องวัดใจวัดงาน กันล้วน ๆ เพราะวิกฤตจะพิสูจน์คุณค่าของคนทำงานทุกตำแหน่ง ใครที่คิดฉวยโอกาสจากความเดือดร้อนของสถานการณ์นี้ บทสรุปอาจจะไม่สวยอย่างที่คิด
“สุดท้าย คุณค่าของพวกเราทุกคน จะเริ่มถูกเห็นเด่นชัดขึ้นในสถานการณ์ตอนนี้
เราแบบไหนที่นายจ้างคิดว่าจำเป็นต้องมี
เราแบบไหนที่นายจ้างคิดว่าไม่จำเป็นต้องมี
เพราะเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม มันจะมีตอนจบอยู่สามแบบ
แบบแรก บริษัทของเราไม่รอดจากวิกฤตินี้
แบบที่สอง บริษัทของเราจะรอดจากวิกฤตินี้ไปแบบไม่เจ็บตัวมาก
และแบบสุดท้าย บริษัทของเราจะรอดแบบต้องมีลูกจ้างบางส่วนไม่รอด
ตอนจบแบบสุดท้ายนี่แหละ คือเหตุผลว่า เรา ควรเป็นลูกจ้างแบบไหน ?
และถ้าบริษัทไหนก็ตามที่รอดวิกฤติไปได้ วิธีการดูแลลูกจ้างของคุณในช่วงยากลำบากนี้ จะเป็นแรงดึงดูดให้มืออาชีพเก่ง ๆ อยากร่วมงานกับคุณในอนาคต”
อ่านจบได้ทางออกแล้ว ถึงเวลาทำตาม มา Survive ไปพร้อมกัน ทุกคนลงเรือลำเดียวกัน ทุกคนเหนื่อยไม่ต่างกัน…UNLOCKMEN หวังว่าเมื่อคลื่นลมสงบ เราจะพบกันบนฝั่งอย่างปลอดภัยทุกคน 🙂