Entertainment

Series Guide : EP.1 ของซีรีส์ The Last Of Us ดีพอสำหรับแฟนเกมมั้ย ?

By: GEESUCH January 17, 2023

แล้วระยะเวลา 3 ปีของโปรเจกต์ดัดแปลงหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดของโลกชื่อ The Last Of Us ระหว่าง HBO กับ Naughty Dog ก็จบลงเสียที ถ้าจะบอกว่านี่คือหนึ่งในซีรีส์ซึ่งดัดแปลงจากวิดีโอเกมที่มีแฟนคลับรอคอยมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลกก็ไม่ผิดเลย เพราะตลอด 10 ปีของ The Last Of Us นั้น ไม่เคยเป็นเส้นทางที่ใช้คำว่า ‘กลาง ๆ’ ได้สักครั้ง นี่คือเกมที่มีผู้เล่นทุกรูปแบบ เกลียดมาก / ชอบมาก / เกลียดระบบการเล่นชอบเนื้อเรื่อง / เกลียดเนื้อเรื่องชอบระบบการเล่น และเป็นการที่ผู้คนจำนวนมากออกมาถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ มากมายแม้ว่าเกมจะจบไปตั้งแต่ปี 2020 พร้อมรางวัล Game Of The Year ประจำปีไปแล้วก็ตาม   

  

ในฐานะที่เป็นนักเขียนของ UNLOCKMEN และแฟนคลับเดนตายคนหนึ่งของ The Last Of Us ถึงขนาดว่าเล่นเกมนี้จบแล้วไม่สามารถหาเกมที่ดีกว่ามาเล่นได้อยู่พักใหญ่ เราจะขอพูดถึงเวอร์ชั่นซีรีส์ที่เพิ่งปล่อยตอน Pilot ออกมาเมื่อวานนี้ ผ่านการตั้งคำถามที่ว่า “มันคุ้มค่าพอสำหรับแฟนเกมมั้ย ?” ถ้าหากอ่านแล้วรู้สึกว่าอวยก็ไม่มีอะไรต้องแปลกใจ แต่อยากให้รู้ว่าเรารู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เพราะว่ามันคือเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่งที่ยอดเยี่ยมแบบที่เรา (ยัง) ไม่ติดใจอะไรเลย เอาจริง ๆ การตั้งชื่อตอนแรกว่า “When You’re Lost in the Darkness” ก็ซื้อใจเราไปเรียบร้อยแล้ว       


1.รู้จัก The Last Of Us (ฉบับย่อ)

The Last Of Us เป็นวิดีโอเกมจากค่าย Naughty Dog มีทั้งหมด 2 ภาค คือ The Last Of Us (2013) และ The Last Of Us Part II (2020) วางจำหน่ายตั้งแต่ยุคของ PS3 จนมาถึง PS5 และเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาเกมภาคแรกก็เพิ่งถูกเอามารีเมคใหม่ (เป็นครั้งที่ 3) ในชื่อว่า The Last of Us Part I เป็นการปรับระบบกราฟิกและเกมเพลย์แบบยกเครื่อง แบบที่เรียกว่าล้ำหน้าเกินกว่า The Last Of Us Part II ที่มหัศจรรย์มาก ๆ เพื่อเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของแฟน ๆ ให้สมบูรณ์ 

 เรื่องย่อ : The Last Of Us เล่าเรื่องในช่วงเวลาหลังจาก 20 ปีที่โลกโดนโจมตีด้วยไวรัสจากเชื้อราบางอย่าง เปลี่ยนผู้ติดเชื้อให้กลายเป็นสัตว์ล่ามนุษย์ เปลี่ยนให้มนุษย์กลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวเอาชีวิตตัวเองอย่างเดียว และเปลี่ยนให้โลกกลายเป็นขุมนรก โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครชื่อ Joel นักขนของเถื่อน ที่ได้รับภารกิจจากกลุ่มกองโจรปฎิวัติเผด็จการทหารชื่อ Firefly ให้ขนส่งเด็กหญิงชื่อ Ellie เพื่อจุดประสงค์บางอย่างซึ่งว่ากันว่าเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยโลกใบนี้เอาไว้ได้  

สิ่งที่ทำให้ฉบับซีรีส์ของ The Last Of Us เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่มีข่าวของโปรเจกต์ออกมานั้น เพราะว่าชื่อของ Neil Druckmann ผู้สร้างจักรวาลโลก Post-Apocolpye ของตัวเกมทั้ง 2 ภาคถูกบรรจุอยู่ในตำแหน่ง Creator / Producer / Writing / Dirctor ของเรื่อง ทำงานคู่กับ Craig Mazin ผู้กำกับซีรีส์ Chernobyl (2019) และบอกได้เลยว่านี่คือคู่ที่ถูกต้อง การเลือกทำซีรีส์แบบเคารพตัวเกมต้นฉบับแบบแทบจะทุกมิติของทั้งคู่มีชั้นเชิงอย่างน่าเหลือเชื่อ จนเมื่อจบตอน 1 แฟนเกมแบบเราก็สบายใจแล้ว 


2.จากวิดีโอเกมสู่ซีรีส์ การดัดแปลงที่เคารพต้นฉบับอย่างเก่งกาจ

ตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศหลาย ๆ สำนักเลือกที่จะใช้คำว่า ‘Faithful Adaptation’ กับซีรีส์ The Last Of Us ซึ่งไม่แน่ใจว่าทุกคนเป็นเหมือนกันมั้ย แต่สำหรับเราคิดว่าไม่มีคำไหนถูกต้องเท่านี้อีกแล้ว

ความเคารพต้นฉบับของซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่การพยายามแคสติ้งนักแสดงให้ถูกต้องกับตัวละครในเกมให้มากที่สุด หรือการสร้างฉากเกมให้กลายเป็นของจริงให้ได้เพียงเท่านั้น แต่มันอยู่ในรายละเอียดเชิงลึกระดับที่ว่า Sound Design เสียงยิงปืน เสียงคำรามของผู้ติดเชื้อ หรือเสียงเอฟเฟคต์ในขณะที่ตัวละครโดนศัตรูจับได้ก็จำลองมาแบบใกล้เคียงระดับ 90% เลย  

ความดีงามของเนื้อเรื่องในวิดีโอเกม The Last Of Us มักจะถูกยกขึ้นมาคู่กับ ‘ไดอะล็อก’ ของตัวละครเสมอ ไม่ว่าจะพาร์ท Comedy หรือ Drama ก็ตาม นี่คืออีกสิ่งที่เราเองเชื่อว่าแฟน ๆ หลายคนเป็นห่วงในฉบับซีรีส์ แต่วิธีแก้ปัญหาของ Neil Druckmann กับ Craig Mazin ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ในตอนที่ 1 คุณจะได้ฟังคำพูดสำคัญที่คุ้นเคยจากปากตัวละครที่รักในความรู้สึกที่ต่างออกไป แบบที่ถึงแม้จะลอกมาเลย แต่ก็เลือกช่วงเวลาและปั้นเคมีให้นักแสดงพูดได้ถึงอารมณ์โดยที่คำเหล่านั้นไม่ถูกเอามาด้อยค่าแม่แต่นิดเดียว  


3.การปลดล็อคพลังในการเล่าเรื่องของ Neil Druckmann

“แค่เปิดดู Intro ของซีรีส์อย่างเดียวก็น้ำตาไหลได้แล้ว”

แฟนเกม The Last Of Us คนนึงบอกกับเราแบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเห็นด้วยจริง ๆ ไม่คิดว่าจะทำ Intro แบบสุดอลังการขนาดนี้ ให้อารมณ์คล้าย ๆ กับ Intro ของเกมในภาคที่ 1 เลย สร้างทั้งความสวยงามและหดหู่ในเวลาเดียวกัน

หนึ่งในข้อดีสำคัญที่เราเห็นได้เลยจากตอน Pilot คือการที่พลัง Story Telling ของผู้สร้าง Neil Druckmann ถูกเอามาใช้ได้แบบเต็มที่กว่าในเกม เพราะทุกช่วงเวลาในซีรีส์คือการ Cut Scene ของเกม ไม่ว่าเขาจะวางปมของตัวละครหลักอื่น ๆ นอกจาก Joel กับ Ellie เอาไว้แบบไหน ก็สามารถใช้เวลาเล่าได้เต็มที่ทั้งหมด ซึ่งมันส่งผลถึงคนดูในแง่ของความอินกับตัวละครมากขึ้นเป็นเท่าตัวเลย ยกตัวอย่างชัด ๆ กับตัวละคร Sarah ลูกสาวของ Joel สำหรับคนที่ดูและเคยเล่นเกมมาก่อนแล้ว จะเข้าใจเลยว่าซีนสำคัญระหว่างพ่อลูกคู่นี้ในตอนต้นของซีรีส์สร้างพลังที่ต่างไปจากเกมมาก และไม่แน่ว่าในตอนถัด ๆ ไป ถ้ามีการ Flash Back เข้ามาล่ะก็ ทีนี่ล่ะร้องไห้กันไม่ต้องพักกันเลย

ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อเสียมั้ยนะ แต่ตอนที่ 1 ของ The Last Of Us วางไทม์ไลน์การเล่าแบบเคารพต้นฉบับที่เรียกว่าเกือบจะยกช่วงต้นของเกมในภาคที่ 1 มาแบบเยอะมาก แล้วเสริมด้วยฉากใหม่กับตัดบางฉากในเกมออกไป แต่เรารู้สึกว่าเพราะเขาทำถึง การทำงานแบบเคารพต้นฉบับของส่วนนี้จึงออกมาดูสนุกมาก ๆ อยู่ดี 


4.Joel , Ellie และคนอื่น ๆ เหล่าตัวละครที่กลายเป็นผู้คนจริง ๆ 

เรื่องของ ‘การแคสติ้งตัวละคร’ นั้น สำหรับคนที่ยังไม่ได้เล่นเกมอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่สักเท่าไหร่ แต่แฟนเกมทุกคนน่าจะเป็นห่วงเรื่องนี้กันแบบหัวจะปวดอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะ 2 ตัวละครสำคัญอย่าง Joel กับ Ellie เพราะพวกเราต่างมีหน้าตาของตัวละครในเกมในใจเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด การจะเดินทางไปกับตัวละครเดิมที่รักในรูปร่างหน้าตาที่ต่างออกไปจะต้องเป็นนักแสดงที่ใช่ในหลาย ๆ ด้านทีเดียว

ความเห็นส่วนตัวของเรา สามารถพูดคำว่าโอเคกับตัวละครได้แบบ 70% เลยว่ะ (อีก 30% ต้องดูในตอนถัด ๆ ไป) โดยเฉพาะน้อง Bella Ramsey ที่รับบทเป็น Ellie เชี่ยยย คือต้องบอกว่าตัวละครนี้มันถูกตีความใหม่ประมาณนึงให้มีความปั่นขึ้น กวนตีนขึ้น ขี้เล่นขึ้น ง่าย ๆ ว่ากลายเป็นตัวละครที่น่ารักขึ้น ถึงแม้จะมีการสบถอย่างเกรี้ยวกราดอยู่ตลอดเวลาก็เถอะ (ซึ่งถูกต้องแล้วเว้ย) แล้วการแสดงของน้อง Bella คือโคตรผ่าน ทั้ง ๆ ที่มาโผล่เอาช่วงหลังของตอนแรกด้วยซ้ำ

ส่วนน้า Joel ที่รับบทโดยคุณ Pedro Pascal ซึ่งหลาย ๆ คนติดใจเรื่องหน้าตาที่ไม่เหมือนตัวละครในเกมสักทีเดียว เราอยากให้กดดูตอนที่ 1 หลังจากอ่านบทความนี้จบเลยครับ .. คุณ Pedro เคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองไม่ได้เล่นเกม The Last Of Us มาก่อน มีไปศึกษามาแต่ก็ไม่ได้เล่นเองอยู่ดี เขาใช้วิธีการพัฒนาตัวละครขึ้นใหม่พร้อม ๆ กับ Neil Druckmann ที่เปลี่ยนบางอย่างให้ตัวละครนี้ด้วยเหมือนกัน ผลคือเราได้ Joel ขี้หงุดหงิดคนเดิมที่เลเวลน้อยลงกว่าเก่า แต่จะไปหนักไปในเรื่องการยึดติดกับอดีตมากขึ้น ซึ่งดี ! การแสดงของคุณ Pedro สำหรับตอนที่ 1 ก็สามารถพูดได้ก่อนเลยว่าเราได้นักแสดงที่ใช่แล้ว เหลือดูเคมีระหว่าง Joel กับ Ellie กันต่อไปว่าจะเวิร์กมั้ย          


5.ดนตรีโฟล์คในโลก Post Apocalypse

สำหรับเกมอื่น ๆ ‘เพลง’ อาจจะมีส่วนสำคัญในการสร้างอรรถรสระหว่างเล่นเกมเท่านั้น แต่ใน The Last Of Us เพลงคือส่วนสำคัญต่อ Mood & Tone ของคนเล่น และชีวิตของตัวละครในเกม ดีใจที่การสร้างแบบเคารพต้นฉบับของซีรีส์ไม่ลืมที่จะใส่ใจต่อสิ่งนี้ลงไปด้วย

คุณ Gustavo Santaolalla ผู้อะเรนจ์ดนตรี Folk Song + Ambient ในเกม The Last Of Us ทั้ง 2 ภาค ได้ถูกดึงมาเป็นคนทำ Score ให้กับฉบับซีรีส์ด้วย เป็นการตอกย้ำว่าหน้าตาของโลก Post Apocalypse ในจักรวาลของเรื่องนี้ต้องเป็นเพลงสไตล์เดียวกับที่ศิลปินคนนี้เคยทำเอาไว้ในเกมตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร มันคือเพลงในช่วง Intro ของซีรีส์


6.ผู้ติดเชื้อในฉบับซีรีส์น่ากลัวกว่าในเกมเยอะ !

ในโลกของ The Last Of Us เราเรียกซอมบี้ว่า ‘ผู้ติดเชื้อ’ (Infected) ซึ่งก็จะมีหลายชนิดตามพันธุ์ของเชื้อราที่แต่ละคนได้รับ สำหรับในตอนที่ 1 เราจะได้เจอกับผู้ติดเชื้อในระดับขั้นต้นที่เรียกว่า Runners ก็ต้องยอมรับว่าน่ากลัวสัส ! น่ากลัวมากกก ไม่คิดว่าจะดีไซน์ได้น่ากลัวขนาดนี้ ไม่อยากนึกเลยว่าผู้ติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ในตอนถัดไปจะหลอนขนาดไหน 


7.โปรดัคชั่นสุดอลังการสมทุน 100 ล้าน 

ปิดท้ายกันที่งานสร้างของ The Last Of Us ฉบับซีรีส์ ที่เคารพโลกในเกมแบบเล่นใหญ่สุด ๆ ด้วยทุนสร้างระดับอลังการเกินตอนละ 100 ล้านเหรียญ ! ฉากในซีรีส์จำลองเกมมาแบบโคตรเป๊ะ ตอนจบของซีซั่น 1 ตัวละครหลักของเรากำลังจะออกจาก Boston กันแล้ว หนทางข้างหน้ายังมีฉากสวย ๆ อีกมากมาย รอดูกันเลยว่าจะทำออกมาได้ดีขนาดไหน


นี่ขนาดเพิ่งเริ่ม ep.1 แต่ The Last Of Us ฉบับซีรีส์ก็ทำให้เห็นแล้วว่าผู้สร้างใส่ใจต่อแฟนเกมขนาดไหน คำถามในตอนต้นที่ว่า “ฉบับซีรีส์ดีพอสำหรับแฟนเกมมั้ย” จึงเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยากเลยสำหรับตอนนี้ แต่ซีรีส์ยังไม่จบ ก็ต้องดูกันต่อไปจนตอนสุดท้าย หวังว่าจะรักษามาตราฐานให้ได้แบบนี้จนบทสรุปของเรื่องมาถึง 

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line