DESIGN

‘THE LINK’ สถาปัตยกรรมที่เปลี่ยน ‘เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก’ ให้ร่วมสมัยและน่าสนใจยิ่งกว่าเดิม

By: unlockmen October 7, 2019

เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา หนุ่ม ๆ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเวียนนาเมืองหลวงของประเทศออสเตรียได้เฉือนเอาชนะแชมป์เก่า 7 ปีซ้อนอย่างเมืองเมลเบิร์นของประเทศออสเตรเลีย ขึ้นแท่นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสาร Economist

แต่ไม่ต้องเห็นผลการจัดอันดับก็พอทราบอยู่บ้างว่าเมืองเวียนนานั้นมีพื้นฐานการคมนาคมที่เป็นระบบ มีบรรยากาศอบอุ่นน่าอาศัย ทั้งยังมีเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้นเวียนนายังซ่อนกลิ่นอายทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่เป็นเอกลักษณ์และเสริมเสน่ห์ให้เมืองแห่งนี้ดูน่าหลงใหลยิ่งขึ้น

dezeen

OMA (Office for Metropolitan Architecture) สตูดิโอสถาปัตยกรรมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1975 โดย Rem Koolhaas สถาปนิกชาวเนเธอร์แลนด์  ออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งแรกในกรุงเวียนนาที่มีชื่อว่า ‘THE LINK’ ตั้งอยู่บนถนน Mariahilfe หนึ่งในถนนสายสำคัญใจกลางเมือง

THE LINK เป็นทั้งห้างสรรพสินค้าและโรงแรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมือง และเชื่อมโยงเมืองเก่า ผู้คน สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

dezeen

ด้านหน้าดีไซน์ให้เป็นห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อเดินลอดผ่านซุ้มประตูขนาดใหญ่ที่เรียงรายด้วยต้นไม้และพื้นที่นั่งสาธารณะ จะสามารถเชื่อมไปยังโรงแรมต่าง ๆ ด้านหลังได้ นอกจากที่นี่จะอัดแน่นไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมมากมาย

ยังมีสวนบริเวณชั้นดาดฟ้าที่ครอบคลุมตั้งแต่สวนผลไม้ไปจนถึงลานอาบแดด เพื่อสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ให้ชาวเมืองและเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพโดยรอบเมืองได้อย่างแจ่มชัด

dezeen

การออกแบบภายนอกอาคารจะใช้สีขาวและครีมเป็นหลัก สอดแทรกโครงสร้างที่เป็นแพตเทิรน์เพื่อให้กลมกลืนกับเมืองเก่า พร้อมใช้กระจกใสสร้างความรู้สึกโปร่งโล่งสบายและไม่อึดอัด

การออกแบบด้านหน้าอาคารจะสอดแทรกแนวคิดเวียนนาซีเซสชัน (Vienna Secession) ที่ได้อิทธิพลจากศิลปินระดับตำนานอย่าง Gustav Klimt, Koloman Moser และ Josef Hoffmann เลือกใช้รูปทรงเรขาคณิตที่อ่อนโยนผสมกับความซับซ้อนทางสถาปัตยกรรม ทำให้อาคารแห่งนี้ดูเป็นศิลปะที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

dezeen

dezeen

นี่เป็นอีกครั้งที่สถาปัตยกรรมบุกพื้นที่เมืองเก่าและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในด้านคุณค่า วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่วิถีชีวิตของผู้คนที่แวดล้อม

น่าแปลกที่มูลค่าของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ไม่ได้ตีค่าจากเม็ดเงินหรือวัสดุก่อสร้างราคาแพง หากวัดจากความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ของชาวเมืองและบริบทการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของพวกเขา เพราะ THE LINK ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแลนด์มาร์กของเมือง แต่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อม ‘คน’ และ ‘เมือง’ เข้าด้วยกัน

 

COVER SOURCE SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line