World

THE PROFILES: ประสบการณ์ผ่านรอยสักและเรือนจำของ ALBRECHT BECKER ชายที่รอดจากคุกนาซี

By: TOIISAN March 10, 2020

เราอาจรับรู้เรื่องราวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กันบ่อย บางครั้งฟังจากปากของทหารนาซี บางทีดูหนังที่เล่าจากฝั่งของสัมพันธมิตร และสัมผัสความเศร้าผ่านหนังสือของชาวยิวที่อยู่ในค่ายกักกัน UNLOCKMEN ได้พบเจอเรื่องราวอีกบทหนึ่งที่น่าสนใจ เรื่องราวของคนที่ถูกนาซีจับขังคุกด้วยข้อหาแปลก ๆ อย่างการเป็นเกย์ ที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล

อัลเบรทช์ เบกเกอร์ (Albrecht Becker)

อัลเบรทช์ เบกเกอร์ (Albrecht Becker) คือชายสูงวัยเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นเอาชีวิตรอดจากความตายเพื่อมาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 1935 เขามีอาชีพเป็นช่างภาพที่ถูกนาซีสั่งจำคุกด้วยข้อหาเป็นเกย์ เพราะยุคที่เต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้ง การเหยียดหยาม คนรักเพศกำเนิดเดียวกันไม่ว่าหญิงหรือชายจะถูกเรียกว่า “เกย์” ถ้าคุณเป็นเกย์ช่วงปี 1935 และอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี คุณจะกลายเป็นอาชญากรที่อาจถูกลงโทษถึงตาย 

แต่เดิมการเป็นเกย์ไม่ได้เป็นปัญหาชีวิตของเขา จนประเทศถูกปกครองด้วยระบอบนาซีและเข้าสู่สงครามก็เริ่มมีข้อบังคับแปลก ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ‘วรรคที่ 175 ระบุว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายด้วยกันถือเป็นสิ่งต้องห้าม’ แต่ตราบใดที่เขาไม่ได้ออกไปป่าวประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์ก็จะไม่มีใครล่วงรู้รสนิยมของเขา มีความสุขอยู่กับคนรักในเมือง Wurzburg ที่ห่างไกล

“นาซีไม่สนใจผม และการเมืองของพวกเขาก็ไม่แลผมเช่นกัน” – Albrecht Becker 

อย่างไรก็ตาม ชีวิตแสนสงบสุขของอัลเบรทช์กับคนรักต้องสิ้นสุดลงด้วยเวลาอันสั้น ภัยร้ายเริ่มคืบคลานเข้ามาเป็นผลจากเหตุการณ์ในเดือนกรกฎาคมปี 1934 เออร์เนส กึนเทอร์ เริห์ม (Ernst Gunther Roam) นายทหารเยอรมันของหน่วย SA ที่เป็นสมาชิกพรรคนาซีรุ่นบุกเบิกและเป็นทั้งเพื่อนสนิทของท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ถูกท่านผู้นำสังหารทิ้งในคืนชื่อว่า ‘คืนมีดยาว’ หรือ ‘Long Knives’ เพราะฮิตเลอร์มองว่าเริห์มเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่จะขัดขาการก้าวขึ้นสู่อำนาจของตัวเอง

Der große SS-Schutz-Staffel-Appell der Gruppe Ost der SS. in Berlin!
Der Stabschef Hauptmann [Ernst] Röhm, (rechts) der Reichsführer der SS. [Heinrich] Himmler, (mitte) und der Gruppenführer der Gruppe Ost der SS. [Kurt] Daluege, (links) beim Gespräch im Lager in Döberitz.
August 1933 (Ausschnitt)

หลังจากคืนนั้นค่านิยมอันเข้มแข็งของพรรคนาซีเริ่มเข้มงวดกับประชาชนมากขึ้น นาซีสามารถรวมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ ใครไม่เข้าพวก ไม่ตรงตามโลกทัศน์ของนาซีจะถูกกลั่นแกล้ง โลกแบบสังคมนิยมในประเทศเยอรมนีเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ

5 เดือนต่อมาหลังเหตุการณ์คืนมีดยาว ตำรวจลับของรัฐหรือเกสตาโพ (Gestapo) ก็มาเคาะประตูบ้านของอัลเบรทช์ 

“พวกเขามาหาผม พาตัวออกจากบ้าน และไม่ได้เห็นบ้านหลังเดิมกว่า 3 ปี”

อัลเบรทช์ถูกนาซีสอบสวน เขาไม่ได้ปิดบังรสนิยมทางเพศเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ถามว่าเป็นเกย์หรือไม่ แต่ดันตอบไปว่า “ผมเป็นเกย์ และทุกคนที่รู้จักผมก็รู้” การบอกตรง ๆ ของเขาถือเป็นโชคดีเล็ก ๆ เพราะอัลเบรทช์ถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปี ณ เรือนจำเบกเกอร์ในเมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) ซึ่งถือว่าน้อยมากเพราะเขาไม่ได้ปฏิเสธว่าตัวเองเป็นรักเพศเดียวกัน

ส่วนคนไม่ยอมบอกความจริงตั้งแต่แรกจะถูกสืบประวัติ จากนั้นส่งตัวไปยังค่ายกักกันดาเชานัน (Dachau concentration camp) และไม่กลับออกมาอีกเลย เขาเล่าเรื่องสุดขมขื่นนี้ให้กับมูลนิธิ USC Shoah ฟังถึงวันที่โดนนาซีข่มเหง

Dachau concentration camp

สามปีในกรงขังผ่านไปอย่างเชื่องช้า น่าแปลกที่สังคมในคุกไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น อาจเป็นเพราะทุกคนต่างอยู่ในภาวะหวาดกลัวกับข่าวลือเรื่องค่ายกักกัน แม้จะอยู่คุกแต่ทุกคนก็รู้เรื่องการเข้าค่ายของชาวยิวและชาวเกย์ที่จะไม่มีวันได้กลับออกมาอีก แต่ก็ยังมีนักโทษบางคนที่เหยียดหยามเขาอยู่ ต้องเผชิญกับความไม่สะดวกสบายในคุกของประเทศที่กำลังทำสงคราม

 

ชีวิตใหม่หลังออกจากคุก และอาการเสพติดความรุนแรง

อัลเบรทช์ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งในฐานะมัณฑนากรทาสีหน้าต่างบ้านเรือนของพวกนาซี เก็บเงินค่าแรงน้อยนิดจนสามารถให้ของขวัญตัวเองด้วยการซื้อกล้องไลก้าเพื่อถ่ายรูปสิ่งที่พบเจอ จากนั้นย้ายไปอยู่รัสเซียจนถึงปี 1944 พร้อมกับการค้นพบรสนิยมบางอย่างที่ได้มาจากการติดคุกและถูกข่มเหง

สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดโดยเฉพาะกับชาวยิวและคนรักเพศเดียวกัน หลังออกจากคุกเขาไม่กล้าปริปากบอกใครอีกต่อไปว่าชอบเพศเดียวกัน เขาหวาดระแวงว่าถ้ามีใครรู้เขาจะโดนยิงตายหรือส่งไปตัวยังค่ายกักกัน

ช่วงสงครามกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น อัลเบรทช์เผยเรื่องน่าสนใจตอนอยู่แนวหน้าว่าเขาไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับใครเลยนานถึง 4 ปี ตอนหลบระเบิดอยู่ในบังเกอร์ได้ใช้เวลาว่างกับการสร้างรอยสักบนร่างกายของตัวเองขณะคนอื่นกำลังร่วมวงเล่นไพ่

ชีวิตพลเรือนในแนวหน้าของอัลเบรทช์สิ้นสุดลงเมื่อกระสุนเจาะผ่านแขนซ้าย เขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลทหารและได้รู้จักกับ เฮอร์เบิร์ท คริชฮอฟ (Herbert Kirchhoff) ผู้กำกับศิลป์หน้าใหม่ในวงการภาพยนตร์เยอรมนี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง พวกเขาสองคนกลายเป็นเพื่อนร่วมงานและคู่รัก อัลเบรทช์มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพ และได้ร่วมออกแบบคอสตูมภาพยนตร์หลายเรื่องให้กับเฮอร์เบิร์ท แถมยังคว้ารางวัล German Film Award ถึงสองครั้ง เขาเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า “ชีวิตหลังสงครามคือความสุขที่ไม่ได้พบมานาน”

นอกจากการทำงานในโลกภาพยนตร์ อัลเบรทช์ใช้เวลาส่วนมากอยู่ร้านสัก เสพงานศิลป์แปลก ๆ ในเมืองฮัมบูร์ก (Hamburger) และตัดสินใจย้ายไปอยู่ฮัมบูร์กอย่างจริงจังในปี 1950 เขาเตรียมพร้อมเริ่มชีวิตใหม่อย่างจริงจัง อยู่กับงานอดิเรกที่รัก แวะไปร้านสัก และรับจ็อบถ่ายรูปกับออกแบบคอสตูม แต่กลายเป็นว่าอัลเบรทช์ต้องเผชิญหน้ากับความมืดอีกครั้งเมื่อเขาพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 

รอยสักตามร่างกายเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้สึกแย่รอยสักจะเยียวยาจิตใจของเขา อัลเบรทช์ค้นพบว่าความสุขมักมาพร้อมกับความเจ็บปวดเมื่อเข็มกรีดลงบนร่างกาย มันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหญ่บนเรือนร่าง 

ทุกเช้าเขาตื่นมาถ่ายรูปตัวเองเก็บไว้เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง การเก็บภาพรอยสักทั่วตัวของอัลเบรทช์แสดงให้เห็นคนทั่วไปได้เห็นว่า จะเป็นอย่างไรหากคนมีรอยสักเต็มตัวแก่ลงเรื่อย ๆ ความหย่อนยานของผิวหนังที่เป็นไปตามธรรมชาติส่งผลกระทบอะไรบ้างกับศิลปะบนตัว

เวลาล่วงเลยมากว่า 60 ปี ในที่สุดช่วงกลางปี 1996 อัลเบรทช์วัย 90 ปี แต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อนพร้อมกับผูกโบว์หูกระต่ายแบบหลวม ๆ นั่งอยู่หน้ากล้องวิดีโอ รอยสักของเขาโผล่ออกมาตามชายเสื้อบ่งบอกเรื่องราวชีวิตของเขาหลังจากรอดคุกในแนวรบตะวันออก บอกเล่าเรื่องราวทุกอย่างเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นเรื่อง Liebe und Leid และ Rosa von Praunheim (ความรักและความทุกข์) เขาเล่าความทรมานที่พบเจอมาด้วยรอยยิ้มเศร้า ๆ แบ่งปันชีวิตของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่สังคมไม่ยอมรับและต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แสนทารุณของนาซี 

อัลเบรทช์จากไปอย่างสงบเมื่อปี 2002 พร้อมกับบาดแผลความรุนแรงของสงครามที่ทิ้งไว้ทั้งร่างกายและจิตใจ เขาไม่มีญาติสนิทจึงทำให้เขาเขียนพินัยกรรมมอบภาพถ่ายส่วนหนึ่งให้กับพิพิธภัณฑ์ Schwules ในกรุงเบอร์ลิน พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่าเพื่ออุทิศให้กับการแสดงวัฒนธรรม LGBT เรื่องราวชีวิตของเขาก็ทำให้เห็นว่าชีวิตจริงของคนกลุ่มคนชายขอบช่วงสงครามมันไม่ได้โรแมนติก แถมยังทิ้งบาดแผลขนาดใหญ่ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต

 

SOURCE 1

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line