DESIGN

THE PROFILES: SUSAN KARE กราฟิกดีไซน์เนอร์คนแรกของ APPLE ผู้พลิกโฉม UI ในยุคเริ่มต้น

By: LIKIT February 2, 2021

คอลัมน์ The Profiles เดือนนี้ เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักเรื่องราวของสตรีมากฝีมือเจ้าของตำแหน่งกราฟิกดีไซน์เนอร์คนแรกของ Apple ผู้พลิกโฉมวงการอินเตอร์เฟซคอมพิวเตอร์ในยุคกำลังตั้งไข่

ถ้าพูดถึงแบรนด์อย่าง Apple หลายคนคงจะนึกถึง Steve Jobs ศาสดา CEO ผู้ล่วงลับ หรือถ้าเป็นสาย Product Design ก็ต้อง Jony Ive ผู้ออกแบบ Mac มาแล้วหลายต่อหลายรุ่น แต่หนึ่งในฟันเฟืองคนสำคัญที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ กับ Steve Jobs ปลุกปั้นเครื่อง Macintosh เครื่องแรกของโลก คือหญิงสาวที่ชื่อว่า Susan Kare (ซูซาน แคร์) และผลงานที่เธอฝากไว้นั้นมีอิทธิพลต่อวงการเทคโนโลยี และกราฟิกดีไซเนอร์อย่างไรบ้าง เชิญมาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลย

ซูซาน แคร์ จบการศึกษาวิจิตรศิลป์จาก Mount Holyoke College พร้อมทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เรียกได้ว่าเธอผู้นี้มีความรู้ความสามารถด้านการออกแบบไม่ใช่เล่น ๆ ประกอบกับในช่วงเวลานั้น Steve Jobs กำลังมองหาพันธมิตรที่จะสามารถฝึกอบรมซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ เมื่อเขาได้ไปที่บริษัท Xerox ทำให้เขาต้องทึ่งกับสิ่งที่เขาได้เจอ กับการใช้งาน Cusor จาก Mouse และการใช้ UI ในลักษณะปุ่ม ทำให้ Jobs เกิดไอเดียที่จะมองหาคนที่จะมาออกแบบอินเตอร์เฟซที่เรียบง่ายให้กับ Macintosh ที่กำลังจะเปิดตัวเป็นครั้งแรกในโลก กับโจทย์ที่ว่าผู้ใช้งานสามารถเข้าใจการใช้งานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลากับการป้อนคำสั่งโค้ดที่ยุ่งยาก

ทำให้ Andy Hertzfeld (Apple, software engineer) หนึ่งในทีมงานของ Steve Jobs นึกถึงเพื่อนเก่าอย่าง ซูซาน แคร์ เพราะคิดว่าเธอต้องออกแบบ Icon เหล่านี้ได้แน่ ๆ หลังจากนั้น แคร์ได้มาร่วมงานกับ Apple จากคำชักชวนจากเพื่อนเก่าของเธอ ต้องบอกเลยว่าอาชีพ (คอมพิวเตอร์) กราฟิกดีไซเนอร์ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการร่วมงานครั้งนี้เลยทีเดียว

เริ่มต้นแคร์ ได้ลองสเกตช์ภาพไอคอนลงสมุด Grid ขนาด 20×20 px เป็นรูปต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นไอคอนให้กับเครื่อง Macintosh โดยในยุคนั้นต้องบอกว่า คอมพิวเตอร์ยังเป็นจอขาวดำ มีแต่ตัวหนังสือ อย่างมากก็มีปุ่ม+ตัวหนังสือ ยังไม่มีไอคอนที่เป็นภาพที่จะสื่อสารให้คนเข้าใจได้ในทันที

แคร์ได้สร้างชุดกราฟิกไอคอนด้วยการใช้กริดและพิกเซล สร้างภาพสิ่งของที่ลดทอนรายละเอียดเพื่อความชัดเจนและเข้าใจได้ในทันทีว่ามันต้องการสื่อความหมายอะไร อย่างเช่น ถังขยะ เพื่อให้คนเข้าใจว่านี่คือไฟล์ที่ไม่ต้องการแล้ว, หรือรูปนาฬิกา เพื่อบอกว่าเครื่องกำลังประมวลผล, รูประเบิดเพื่อบอกว่าเครื่องคุณไม่ไหวแล้วนะ

นอกจากนี้ ผลงานไอคอนของแคร์ ยังมีส่วนในการเปิดตัว Macintosh ออกสู่สายตาชาวโลก จากโจทย์ที่ Jobs อยากให้มันดูเฟรนลี่เป็นมิตรกับทุกคน แคร์เลยสร้างกราฟิกใบหน้ายิ้มให้เป็นตัวแทน Macintosh รวมถึงพัฒนาอินเตอร์เฟซให้กับโปรแกรมต่าง ๆ ที่อยู่บนเครื่อง Macintosh

อีกสิ่งหนึ่งที่ยังคงเห็นอยู่บนเครื่อง Mac ของเราทุกคนในปัจจุบันคือ กราฟิกปุ่ม Command ซึ่งแคร์ได้แรงบันดาลใจสร้างมันขึ้นจากสัญลักษณ์ Cross of Saint Hannes ซึ่งมีความหมายถึงสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้มันเป็นสัญลักษณ์ที่อมตะ และถูกใช้มาถึงจวบจนปัจจุบัน สัญลักษณ์นี้ยังถูกนำไปใช้เพื่อบอกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในประเทศ สวีเดน อีกด้วย

แน่นอนว่า Control Panel ในการบอกสถานะ/การตั้งค่าต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การปรับเพิ่ม ลด เสียง และอื่น ๆ ซึ่งทำให้เครื่อง Macintosh ดูเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ก็คือผลงานของ ซูซาน แคร์ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เธอยังร่วมออกแบบโปรแกรม Macpaint โปรแกรมไว้สำหรับทำกราฟิกบนเครื่อง Mac ที่มีมาก่อนการถือกำเนิดของ Photoshop

ไม่เพียงแค่สามารถออกแบบชุดกราฟิกไอคอน แคร์ยังฝากฝีมือการออกแบบ Font Typeface เอาไว้อีกด้วย ซึ่ง Font ที่แคร์ออกแบบได้แก่ Monaco, New York, Geneva, Chicago ,San Francisco และ Font ภาพอย่าง Cairo โดย Font Chicago ได้ถูกนำไปบน iPod รุ่นแรกอีกด้วย กับจุดเด่นเรื่องของสัดส่วนที่อ่านง่าย และเอกลักษณ์ที่คลาสสิก

หลังจากฝากผลงานระดับพลิกโฉมวงการให้กับ Apple เอาไว้มากมาย สุดท้ายเส้นทางอาชีพของแคร์ใน Apple ได้จบลงหลังจากที่ Jobs ถูกอัปเปหิออกจาก Apple ในช่วงปี 1985 แล้วไปเปิดบริษัท NeXT ทำให้แคร์ได้ติดสอยห้อยตามท่าน CEO ไปดำรงตำแหน่ง Creative Director ให้กับ NeXT และยังมีโอกาสโลดแล่นไปทำงานให้กับ Microsoft, Facebook ซึ่งปัจจุบันในวัย 66 ปี เธอก็ยังคงมุ่งมั่นอยู่กับการทำงานออกแบบที่เธอรัก ด้วยการกำลังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับ Pinterest

คงต้องยอมรับว่า ผลงานของ ซูซาน แคร์ นั้นช่วยวางรากฐาน UI ซึ่งทำให้พวกเราได้ใช้งานอุปกรณ์ไอทีได้สะดวกง่ายดายในปัจจุบัน และยังสามารถสร้างบันดาลใจส่งต่อให้เหล่ากราฟิกดีไซน์เนอร์มาแล้วมากมายหลายต่อหลายรุ่น

LIKIT
WRITER: LIKIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line