Entertainment

THE REAL : “ต๋อย-เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” ผู้สร้างซาวด์เติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้ภาพยนตร์ แห่ง BANANA SOUND STUDIO

By: JEDDY July 31, 2023

ภาพยนตร์หรือซีรีส์ แน่นอนว่ากว่าจะเกิดขึ้นมาเป็นภาพที่เราได้รับชมมันจะต้องประกอบไปด้วยทีมงานหลายชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง, ผู้กำกับ, ช่างภาพ, ช่างไฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหวที่ปรากฏออกมาจะไม่สมบูรณ์แบบเลย หากขาดซึ่งสกอร์หรือซาวด์ประกอบเพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ภาพยนตร์หรือซีรีส์ ตอบโจทย์อารมณ์ของแต่ละฉากได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะเผลอมองข้ามความสำคัญของอีกหนึ่งตำแหน่งเบื้องหลังที่สำคัญไป 

แต่ไม่ต้องห่วง เพราะวันนี้ Unlockmen จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “ต๋อย-เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” เจ้าของ อาณาจักร Banana Sound Studio ผู้ผลิตสกอร์ให้กับภาพยนตร์และซีรีส์ชื่อดังมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เลือดข้นคนจาง, เด็กหอ, สี่แพร่ง, ห้าแพร่ง, วัยรุ่นพันล้าน, ขุนพันธ์ภาค 1 และ 2, 4Kings รวมไปถึงการร่วมงานกับ Jay Chou ซุปเปอร์สตาร์ชื่อดังจากประเทศไต้หวันในภาพยนตร์เรื่อง “Secret” 

การทำงานของผู้ผลิตสกอร์จะสนุกขนาดไหน มาติดตามไปพร้อม ๆ กันได้เลยครับ


จากนักดนตรีกลางคืนสู่ผู้ทำสกอร์แบบไม่คาดฝัน

“ต๋อย-เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” เดิมทีไม่เคยมีความคิด หรือแม้แต่มีความฝันในเส้นทางการผลิตซาวด์ประกอบอยู่ในหัวมาก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งในขณะที่กำลังเรียนปี 2 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ต๋อยได้มีโอกาสไปเล่นดนตรีกลางคืนตามปกติ ณ คอกเทลเลานจ์ แห่งหนึ่ง และนั่นทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

“มีพี่คนหนึ่งชื่อพี่กบเป็นผู้จัดการ เขาไปชวนไปทำเพลงประกอบโฆษณาจากในคอกเทลเลานจ์ หลังจากทำเพลงโฆษณาไป ๆ มา ๆ ก็มีโปรเจกต์เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “เด็กหอ” มาให้ทำ

คือผมไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อนเลยะ แต่ทำเพลงโฆษณามันก็ใกล้เคียงอยู่ แต่ไม่เคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ถ้าเป็นเพลงโฆษณามันป๊อปบ้าง อิเล็กทรอนิกส์บ้าง มันจะหลากหลายหน่อย

แต่พอเป็นเพลงภาพยนตร์มันก็จะหนักไปทางออร์เคสตรา ซึ่งเราไม่ได้ร่ำเรียนมา เรียนมาแค่ทฤษฎีดนตรี ไม่ได้เจาะจงว่าวงออร์เคสตราเป็นอย่างไร อาศัยฟังเพลงแล้วมั่วเอาว่าเสียงไหนเป็นอะไร หลังจากนั้นก็เริ่มไปสู่เส้นทางการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์”


เด็กหอ

ภาพยนตร์เรื่อง “เด็กหอ” ของค่าย GTH ชื่อว่าใครหลาย ๆ คนต้องเคยชม ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2006 นำแสดงโดย “แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์”, “ไมเคิล-ศิรชัช เจียรถาวร” และ “แหม่ม-จินตหรา สุขพัฒน์” ที่มีเรื่องราวเกี่ยวเพื่อนซี้ต่างมิติ สามารถทำรายได้ไปมากถึง 50.3 ล้านบาท และมันเป็นผลงานเรื่องแรกที่สร้างเครดิตให้กับต๋อยด้วยเช่นกัน

“ถึงจะเป็นงานใหม่ แต่ทำแล้วมันไม่รู้สึกยากเลยะ มันรู้สึกตื่นเต้นมากกว่า มันเหมือนเราได้ไปในดินแดนที่เราไม่เคยเห็น มันตื่นเต้น สนุกมากเลย อาจเพราะด้วยเด็กหอมีเนื้อเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกดี ไปดูคัตติ้งแล้วรู้สึกสนุก มันเลยกลายเป็นความรู้สึกตื่นเต้นแทน”

มันคงยากแหล่ะครับ แต่มันสนุกจนลืมความยากไปเลย ผมไปเอาทรัมเป็ตมาอัด เอาไวโอลินมาอัด ตอนนั้นพี่หนึ่ง วงกล้วยไทย เริ่มมาช่วยงานแล้ว ก็มาช่วยเคาะเพอร์คัสชันบางซีน ใช้เวลาทำทั้งหมดประมาณเดือนครึ่ง เดือนกว่า ๆ หนังสมัยก่อนจะใช้เวลาประมาณนั้นครับ

ความรู้สึกตอนเห็นชื่อเราขึ้นในเครดิตภาพยนตร์ครั้งแรก?

“ตอนแรกมันก็ดีนะ หมายถึงเรื่องแรก ๆ มันก็ภูมิใจ พอเรื่องหลัง ๆ ก็เฉย ๆ บางเรื่องเขียนชื่อผิดก็มี แต่เราก็ไม่ได้อะไรหรอก หลัง ๆ ไม่ขึ้นก็ไม่ได้ว่าอะไรด้วยนะ ผมว่าเป็นทุกคนแหละ พอทำเยอะ ๆ ก็จะเฉย ๆ กับสิ่งที่เราทำ ความตื่นเต้นมันก็จะหายไป”


ความสำคัญของการทำสกอร์

แม้ว่าจุดเริ่มต้นอาจจะไม่มีความรู้เรื่องการทำสกอร์มาโดยตรง แต่แท้จริงแล้วการมีประสบการณ์ร่วมกับการชมภาพยนตร์ และการฟังเพลง ก็ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ต๋อยได้ทำความเข้าใจกับงานประเภทนี้อย่างรวดเร็ว

“การทำแต่ละเรื่องมันจะไม่มีอะไรอยู่ในหัวมาก่อนเลย มันจะมาก็ต่อเมื่อเราเห็นหนังก่อน เห็นงานก่อน โดยไอเดียมันจะมาเอง แต่มันน่าจะมาจากประสบการณ์เราส่วนหนึ่งด้วย ทั้งประสบการณ์ด้านดูหนัง ด้านฟังเพลงด้วย

แล้วเรารู้สึกว่าซีนแบบนี้จะต้องเป็นแบบนี้จากที่เคยดูหนังแบบนี้มา ในหัวเรามีอารมณ์นี้อยู่ แล้วเราก็จะทำแบบนี้ลงไป บวกกับบางทีมีเรื่องของผู้กำกับที่อยากได้ ก็คุยกัน มันมาจากสิ่งเหล่านั้นมากกว่า ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองโดยตั้งไว้ก่อน”

ขั้นตอนการทำเริ่มต้นจากส่วนไหน?

“กระบวนการจริง ๆ ทำเพลงขึ้นมาก่อนก็มี อย่างเลือดข้นคนจาง มีการคุยว่าพี่ย้งอยากได้เพลงแนวยุคหนังผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ มีความจีนหน่อย ๆ มีความจีนยุค 90’s แต่อาจไม่ถึงขนาดนั้น แต่ให้มีกลิ่นอายหน่อยเพราะหนังเกี่ยวกับตระกูลจีน 

พอเล่าเรื่องทั้งหมดก็โอเค โทนเรื่องคือสืบสวนสอบสวน ก็สร้างขึ้นมาเลย กับอีกแบบคือหนังสร้างเสร็จแล้ว คัตติ้งมาแล้ว มีเพลงไกด์มาให้แล้ว ก็ไม่ต้องคิดอะไรก็ฟอลโลว์ตามไกด์เลย หรือแค่ครีเอตนอกเหนือจากที่วางมา ก็มาคุยกันทีหลังว่าอาจจะไม่ชอบแบบที่ไกด์มา อยากให้ดูฮีโร่กว่านี้ แบบนี้ก็มีครับ”

เท่านั้นยังไม่พอยังมีดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่นการเก็บแอมเบียนต์จากบรรยากาศจริง ๆ เช่น เสียงของรถติดสี่แยก, เสียงภายในห้องต่าง ๆ เพราะในบางครั้งโปรแกรมที่เลือกทำก็ไม่มีเสียงพวกนี้มาให้

โดยหลังจากที่ได้สกอร์มาครบถ้วนแล้ว มันก็จะถูกส่งต่อให้ฝ่ายมิกซ์เสียงอีกที ก่อนจะไปจบด้วยการนำไปใส่ในภาพยนตร์หรือซีรีส์ ซึ่งอาจจะเป็นฝั่งทีมผู้กำกับนำไปใส่เอง, ฝั่งของคนทำใส่เอง หรือมาร่วมดีไซน์ก็มีเช่นกัน


การคุมวงออร์เคสตรา

หากจะช่วยให้ซาวด์ประกอบอลังการ ดูยิ่งใหญ่ โดยส่วนมากจะมีการเลือกใข้ซาวด์ของวงออร์เคสตรามาประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรส ซึ่งตามปกติแล้วในโปรแกรมทำเพลงก็จะมีมาให้ แต่อาจจะไม่ได้ให้ความรู้สึกสมจริงเท่าที่ควร ดังนั้นจึงมีอยู่หลาย ๆ ครั้งที่จะต้องใช้วงออร์เคสตราจริง ๆ มาอัดเพลงให้ 

“การใช้วงออร์เคสตราเรียกว่าเหมือนมาเพิ่มงานให้เราอีกพอสมควรเลย เรื่องแรกที่ทำคือหนังของไต้หวัน แต่เรื่องนั้นเขาจ้างจากบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี จ้างวงมาจากที่นู่น แล้วมีน้องอีกคนคอยประสานให้ เราแค่ทำเดโม่ไปแล้วเขาจัดการให้เราทั้งหมด อันนั้นไม่ค่อยยุ่งยากเท่าไรเพราะมีคนช่วย 

เลือดข้นคนจางน่าจะเป็นเรื่องแรก ผมคุยกับพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) ว่าอยากทำที่ไทยเลย อยากได้คนไทยทั้งหมด มันเหมือนเราได้เรียนรู้กระบวนการเองด้วยว่าต้องคุยกับคอนดักเตอร์ก่อน แล้วค่อยคุยกับคนเขียนโน้ต เรียกว่าหลายขั้นตอนมากเลย

ตอนอัดก็ยุ่งยากมาก เพราะพอเป็นของจริง ต้องใช้บุคลากรจำนวนมากในห้องใหญ่ มีการมิกซ์เสียงอีก อัดเสร็จเอากลับมาอีดิตต่อ ซึ่งผมก็เลือกเอามาอีดิตเองด้วยไม่ได้จ้าง

สมมติมี 50 บาร์ บาร์ที่ 2 ของเทคนี้ไม่ดีต้องเอา บาร์ที่ 2 ของอีกเทคแทน พูดง่าย ๆ คือหาเรื่อง แต่สิ่งที่ได้ตามมาคือเรารู้ว่าต้องจัดการขั้นตอนการทำงาน ต้องเตรียมเผื่อแบบนี้ ต้องคุยแบบนี้ มันเริ่มเรียนรู้กระบวนการทำให้หนังเรื่องต่อไปเราเริ่มรู้ เริ่มมีประสบการณ์ หนังเรื่องต่อไปก็ง่ายแล้ว รู้ว่าตรงไหนต้องให้ใครจัดการ 

เลือดข้นคนจาง เหมือนเราได้ซื้อวิชาเรียนโดยไม่ต้องจ่ายเงินเอง เราก็ได้เรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ แต่อาชีพผมจริง ๆ ถ้านั่งอยู่เก้าอี้ตัวนี้ มันคืออาชีพบริการ ต้องใช้คำว่าบริการเลย เอาความเป็นศิลปินไปบริการให้เขา

เพราะฉะนั้น เขาอยากกินเผ็ด แล้วเราไปเถียงว่ากินเผ็ดจะส่งผลต่อกระเพาะ เขาก็ไม่อยากทำกับผมแล้ว ทุกวันนี้ถ้าเขาอยากกินเผ็ด เดี๋ยวจัดให้ บริการให้มันดี ให้มันเต็มที่ และทำด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ทำด้วยการประชด ต้องจริงใจในการบริการให้เขา ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับงานสำหรับเขาครับ”


งานด่วน 3 วันจบ

แม้ว่างานตามปกติจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง แต่บางครั้งก็มีงานที่ด่วนแบบไม่คาดฝันที่ใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น และภาพยนตร์เรื่องนั้นก็คือ “รัก l สาม l เศร้า”

“หนังเรื่อง ‘รัก l สาม l เศร้า’ ใช้เวลาทำเพลงสามวัน เรียกว่าน่าจะเกือบ 90% เพลงในนั้นเกือบ 95% ผมใช้เวลาทำในห้องนี้ 3 วัน 3 คืน เรียกได้ว่าแทบไม่ได้นอนเลย นอนแป๊บเดียวก็ต้องรีบลุกขึ้นมาทำ 

คือตอนนั้นมันเกิดจาก accident ทางเขา ทำแล้วรู้สึกไม่ชอบเลยย้ายมาให้ผมทำ แต่ด้วยความที่เป็นคนใจง่ายก็ได้หมดเลย ได้ครับ สามวันก็สามวัน ผมไปเอาไวโอลินมาอัด กีตาร์มาอัด คือมันพอได้แหละครับ แต่พอมาย้อนฟังทีหลังรู้สึกว่าซาวด์ไวโอลินสูงมาก ด้วยความรีบมันเลยไม่ได้ประดิษฐ์อะไรเยอะ 

แต่ถ้าย้อนกลับไปได้จะทำให้กลมกล่อมกว่านี้ และหลาย ๆ จุดที่รู้สึกแบบนั้น แต่บางครั้งคนทำรู้สึกมันไม่ใช่ แต่บางทีคนดูอาจจะรู้สึกว่าก็โอเคน ก็มีครับ”


JAY CHOU

พูดถึงชื่อนี้ คนที่เติบโตมาในยุค 2000’s ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี สำหรับ Jay Chou ศิลปินชื่อดังของประเทศไต้หวัน ที่โด่งดังไปทั่วเอเชียและเคยมีผลงานในระดับโลกมาแล้วจากผลงานเพลงและการแสดง รวมไปถึงผลงานการกำกับภาพยนตร์ / ผู้อำนวยการสร้าง / ผู้แต่งเรื่อง / แสดงนำ เรื่อง “Secret” หรือชื่อไทยว่า “รักเรา… กัลปาวสาน” ที่บ่งบอกความสามารถอันหลากหลายของเขาได้เป็นอย่างดี และภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ “ต๋อย-เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” ได้ถูกเลือกให่ไปร่วมงานในฐานะคนทำสกอร์ประกอบภาพยนตร์ 

“เป็นอะไรที่มันเซอร์ไพรส์หลายดอกมาก ตอนนั้นเขาติดต่อมาทางออฟฟิศ เขาส่งเรื่องย่อมาให้เราอ่านด้วย อ่านแล้วมันคล้าย ๆ หนังผี ก็เลยคิดว่าสงสัยดูเด็กหอแล้วคิดว่าเราทำหนังผี คิดว่าเราถนัดหนังผีมั้ง ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่หนังผี มันคือการย้อนเวลากลับไปในอดีต”

หลังจากนั้นทางต๋อยก็ได้มีโอกาสไปพบกับ Jay Chou ที่ฮ่องกง โดยในหัวตอนแรกคิดว่าซุปเปอร์สตาร์ชาวไต้หวันคงไม่ได้เก่งกาจอะไรขนาดนั้น แต่ที่ไหนได้ผิดคาดอย่างแรง

“วันที่ไปเจอครั้งแรกพี่ก็เฉย ๆ นะ รู้เพียงแค่ว่า Jay Chou คือดาราที่ดัง ถ้ามาบ้านเราคงประมาณพี่เต๋า สมชาย เป็นดารา หล่อ ร้องเพลง เราก็ไปหาอ่านประวัติดู ก็ได้รู้ว่าเขาเล่นดนตรีได้ เล่นเชลโล่ได้ ตีกลองได้ เล่นเปียโนได้ ในหัวสมองพี่ก็คิดว่า ก็คงได้ก๊อกแก๊กแหละมั้ง 

แล้วผมก็ไปซื้อ DVD แสดงสดของ Jay Chou มาดูหน่อยว่าเป็นอย่างไร ไหน ๆ จะไปเจอดาราแล้วทำความรู้จักเขาหน่อย ก็เห็นเขาก็เล่นเปียโน แต๊ง แต๊ง แต๊ง แล้วก็ร้องเพลง เราก็คิด ใครก็เล่นได้ถ้าแค่กดแค่นั้น ผมรู้สึกเฉย ๆ ในหัวคิดว่าก็คงเป็นดาราที่เล่นดนตรีได้นิดหน่อย

พอไปถึงที่โรงแรมที่ฮ่องกงเจอกันครั้งแรก ผมเข้าไปในโรงแรมนั่งรอ แต่ Jay Chou ยังไม่มา ทีมงานบอกว่าเดี๋ยวให้ดูหนังก่อน ให้ดูคัตติ้ง และระหว่างดูหนังจะมีคนแปลให้ว่า Jay Chou กำลังทำอะไรแบบไหน พอถึงฉากที่ Jay Chou ออกมาท้าดวลเปียโนกับอีกคนหนึ่ง ผมก็ไม่ได้คิดอะไรนะ ตอนแรกอีกคนเล่นก่อน พอ Jay Chou เล่น ผมก็สังเกตว่า เขาเล่นจริงนี่หว่า

ปกติถ้าเป็นดาราเขาก็จะถ่ายแค่มือใช่ไหม ใช้มุมกล้องช่วย แต่นี่คือถ่ายเห็นชัดเลยว่าเล่นจริง ก็เลยกระซิบถาม producer ‘ว่านี่ Jay Chou เล่นเองจริง ๆ เหรอครับ?’ เขาก็บอกว่า ‘ใช่!’

ในหัวสมองผมตอนนั้นคือ เพลงที่เล่นก็คือยากมาก แล้วเขาเอาเรามาทำไม เราไม่ได้เก่งเท่านี้เลย เขาเก่งขนาดนั้น ทำไมเขาไม่ทำเองวะ ฮ่า ๆๆๆ”

ต๋อยได้เสริมเพิ่มเติมว่าส่วนหนึ่งในการใช้ทีมงานต่างประเทศก็มาจากแผนการตลาดอย่างหนึ่ง เพราะมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติมาร่วมงานด้วย เช่น ใช้ตากล้องจากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามการร่วมงานในครั้งนี้ต๋อยก็ได้รับความประทับใจจาก Jay Chou กลับมาเต็ม ๆ 

“Jay Chou ถ้าเทียบกับนักร้องบ้านเราคือพี่เบิร์ด ธงชัย เพลงดัง ๆ ในไต้หวัน Jay Chou เป็นคนแต่ง Jay Chou เป็นเจ้าของค่ายเพลงในไต้หวันก็เหมือนเป็นอากู๋บ้านเรา แล้วเป็นนักแสดงอีก แล้วทำหนังอีก นี่เขายังเป็นมนุษย์อยู่ใช่ไหม มันช็อกหลายช็อก จนพอเจอ พอคุย เขานิสัยดีมาก น่ารักมาก 

แต่ไม่ค่อยพูดอาจจะเพราะคนละภาษา ตอนนั้น Jay Chou ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมก็ไม่ได้ เวลาพูดให้ล่าม ล่ามก็จะแปลจากจีนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เวลาคุยมันก็จะ เฮ้อ หลายทอด ก็จะเป็นอย่างนี้ทุกครั้งเลย ส่งกันไปหลายต่อกว่าจะรู้เรื่องกัน”

มันมีหลายอย่างมากที่ประทับใจมาก ทั้งการต้อนรับ การให้เครดิต การให้เกียรติ การเชิญเราไปแต่ละครั้งเขาเชิดชูเราเป็นศิลปินเลย มีรถตู้ส่วนตัว มีโรงแรมอย่างดี เครื่องบินเฟิร์สคลาส แต่ชีวิตหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีแบบนี้อีกเลย เป็นช่วงชีวิตที่เหมือนฝัน ขอมีแบบนี้อีกได้ไหม ขออีกสักเรื่องหนึ่งได้ไหม ฮ่า ๆๆๆ

ต๋อยยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า Jay Chou ได้พาเขาไปขับรถเล่นในซีเหมินติง แหล่มชอปปิ้งคล้าย ๆ กับสยามสแควร์ในบ้านเรา ซึ่งอยู่ในประเทศไต้หวันอีกด้วย น่าอิจฉาแบบสุด ๆ จริง ๆ 


เลือดข้นคนจาง

นี่คือซีรีส์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงปี 2018 เพราะตัวเนื้อเรื่องมันเข้มข้นมาก ๆ เต็มไปด้วยปริศนาลึกลับซับซ้อนกับคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นภายในตระกูล และต๋อยก็ได้มีโอกาสสร้างชื่อให้กับตัวเองอีกครั้ง ด้วยการทำสกอร์ประกอบให้กับซีรีส์เรื่องนี้

“เรื่องนี้ถูกพูดถึงเยอะมาก เราก็ไม่คาดคิดว่าจะขนาดนี้ ตอนทำมันทำบนความสนุกเหมือนตอนทำเด็กหอ เหมือนตอนทำ Jay Chou ต้องยกความดีความชอบให้พี่ย้ง ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณพี่ย้งเยอะมากเลย ตั้งแต่เด็กหอแล้วนะ เพราะเด็กหอ ทำให้ Jay Chou เขามาเลือกผม

ตอนนั้น producer เอาหนังให้ Jay Chou เลือกเป็น 10 เรื่องว่าจะเอาใครมาทำงานด้านไหน แล้วเผอิญว่าเด็กหออยู่ในรายการนั้นด้วย ถ้าผมไม่ได้ทำเด็กหอก็ไม่ได้ทำ Jay Chou พี่ย้งนี่เรียกว่าเป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่งใหญ่ ถ้าหากต้องมีไปกราบเท้าวันแม่ ถ้ามีวันพี่ย้ง ผมก็คงต้องไปนั่งกราบพี่ย้งครับ ฮ่า ๆๆๆ”


คนไทย VS ต่างประเทศ

“ถามว่าสู้ได้ไหม ก็ต้องตอบตามตรงว่าถ้าเป็นผมนะ ผมว่ายังไม่ได้ ผมยังสู้ไม่ได้ด้วยหลาย ๆ อย่าง ด้วยความสามารถเองที่ยังต้องฝึกฝนอีกเยอะเลย เวลาดูงานฝรั่งรู้สึกมันเจ๋งอะ

แต่ก็รู้ว่าของเขาหน้าที่นี่เต็มไปหมดเลย มิกซ์คนหนึ่ง ทำคนหนึ่ง แต่ของบ้านเราทำคนเดียว แล้วเราจะไปสู้อะไรกับเขาได้ ไหนจะเรื่องเวลาอีก 

ของเขาเรื่องหนึ่งทำสามเดือน ของเราเรื่องหนึ่งทำสามอาทิตย์ ทำคนเดียวอีก ข้อจำกัดมันเยอะมากเลย แต่ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าข้อจำกัดนะ ข้อจำกัดแค่ส่วนหนึ่ง แต่ผมว่าตัวผมเองด้วยแหละ ผมยังต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก”

ถ้ามีโอกาสได้ทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดซักเรื่อง อยากทำเรื่องอะไร?

“ถ้าที่ชอบมีเทเน็ท อันนี้ไม่ใช่วงออร์เคสตราเลย ใช้ Sync ล้วน ๆ Star Wars ก็ยากเกินไป แต่ถ้าถามอยากทำไหม อยากทำ แต่รู้สึกว่าถ้าทำคงเหนื่อยชิบหาย คงเป็นงานที่ยังไม่ทำก่อน ฝีมือเรายังไม่ถึง อีกไกลเลย

แต่ถ้าหนังแอ็คชั่น Mission Impossible, James Bond ยังพอได้อยู่ เอาจริง ๆ คือไม่ได้หรอก แต่ถ้าถามว่าอยากทำก็อยากทำมากครับ”


แนวเพลงที่เหมาะทำสกอร์ให้ประเทศไทยตอนนี้

“ผมว่าคงทุกแนวเลยมีตั้งแต่สามช่า ผมว่าของเรามันมีแบบจะขำดีไหมวะ หรือจะเครียด หรือมันเศร้าวะ มันอยู่อารมณ์ไหนกันแน่นะ บทจะขำมันก็ขำนะ ล่าสุดผมเพิ่งทำรีมิกซ์ให้มิสเตอร์ไบรอัน ชื่อเพลงว่า ‘ไม่รู้’ ทำสนุก ๆ”

แต่ถามจริง ๆ บ้านเมืองเครียดไหม? เครียด ตอนนี้สถานการณ์ทุกอย่างเครียด แต่เมืองไทยดันเป็นเมืองที่อย่างที่บอกมีตั้งแต่สามช่า คนที่กำลังเครียดอยู่ อยู่ดี ๆ ไปเต้นเมาเรื้อน ตกลงยังไงวะเนี่ย ฮ่า ๆๆๆ Culture ของไทยมันเป็นการผสมหลาย ๆ อย่าง


ภาพยนตร์ไม่มีสกอร์ประกอบ?

โดยปกติแล้วเราทุกคนต่างคุ้นชินการชมภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่มีเพลงประกอบด้วยกันทั้งนั้น แต่ในทางกลับกันภาพยนตร์บางเรื่องก็ไร้ซึ่งซาวด์เหล่านี้ก็มีให้เห็นเช่นกัน

“บางเรื่องก็ไม่มีนะ มันก็อยู่ได้ กลายเป็นดีด้วย เท่เลย อินดี้ ไหนจะเท่ ประหยัด ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมาคุยกับคนมากมาย ลดขั้นตอน ถามว่ามันมีผลไหม มันมีผลถ้ามันมีเข้าไป มันแล้วแต่ความรู้สึกของแต่ละคน

เวลาเราทำดนตรีประกอบ เราต้องทำให้คนดูไม่รู้สึกว่ามันมีดนตรีประกอบ อันนั้นคือดนตรีประกอบที่ยอดเยี่ยม หนังบางเรื่องเลยเอาออกเลย ไม่ต้องมีเลย เป็นเพลงประกอบที่ยอดเยี่ยมเลย

อย่างเรื่อง ‘Social Network’ ได้รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ไปดูสิ เสียงมีแค่ อือ.. ได้ออสการ์เลยนะ ผมก็สงสัยเลยว่าวัดกันที่ตรงไหนนะ หรือเราต้องลองทำน้อย ๆ อย่างนั้นบ้าง แต่ไม่หรอกจริง ๆ คือมันเพราะเป็นศิลปะ มันคุยกันไม่รู้เรื่อง ใช้ความรู้สึกมากกว่า ใช้ความรู้สึกรับรู้ครับ”


BANANA SOUND STUDIO

มาจากสิ่งที่ลิขิตไว้แล้ว

แม้ทุกวันนี้ Banana Sound Studio จะสร้างชื่อเสียงและมีเครดิตในการทำสกอร์ซาวด์ประกอบ แต่แท้จริงแล้วที่สตูดิโอแห่งนี้มันเกิดขึ้นมาได้จากสิ่งที่ต๋อยเชื่อว่ามันถูกลิขิตเอาไว้แล้ว

“น่าจะเป็นเรื่องโชคชะตาฟ้าลิขิต เหมือนมันทำมาจนวันหนึ่งถึงเวลา และหลายอย่างก็ประจวบเหมาะ มันเลยมาเปิดเป็นที่นี่ของตัวเอง ผมสารภาพว่าไม่น่าเลย ฮ่า ๆๆ ไม่น่าหาเรื่อง แทนที่จะอยู่สบาย ๆ เป็นพนักงานไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย

ผมเป็นคนไม่ได้วางแผนอะไรมากมายในชีวิตมาก ทุกอย่างถูกซัดเซไปโดยฟ้าหมดเลย ให้ไปทำเพลงให้ศิลปิน ให้ทำเพลงประกอบให้พี่ย้ง ไปทำ Jay Chou เปิดเป็น Banana Sound Studio ถ้าการดำเนินทางธุรกิจก็เรียกว่าเจ๊งแล้ว แต่จิตวิญญาณและหัวใจยังอยู่ ยังไม่เจ๊ง ยังอยู่ตลอดไป”


ฝาก BANANA SOUND STUDIO 

“Banana Sound Studio เรียกได้ว่าเป็นน้องใหม่ แต่ประสบการณ์และความสามารถอะไรต่าง ๆ ที่เรามีมาทั้งหมด จะเอามาใช้บริการให้กับงานของทุกคนที่เข้ามาที่นี่อย่างเต็มพลังมากที่สุด ไม่ว่าเรื่องการทำดนตรีประกอบ sound-mix ขายของไม่ค่อยเป็น ยังขายไม่ดี เอาว่ามาทำกันเยอะ ๆ นะครับ”


ต้องขอบคุณ “พี่ต๋อย-เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน” ที่เปิด Banana Sound Studio ต้อนรับชาว Unlockmen ด้วยครับ

Photographer : Krittapas Suttikittibut

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line