Entertainment

THE REAL : “THAITANIUM” กับวาระครบรอบ 20 ปีอัลบั้ม “THAI RIDER” ผลงานการสร้างฐานที่สำคัญต่อศิลปินฮิปฮอปไทยในยุคปัจจุบัน

By: JEDDY November 12, 2022

ฮิปฮอปแนวดนตรีที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ในช่วงปี 1970’s นอกจากจะมีจังหวะดนตรีที่โดดเด่น อีกสิ่งที่มาคู่กันคือการร้องแร็ป ซึ่งในปัจจุบันมันก็ได้แตกแขนงออกมามากมาย แพร่กระจายไปทั่วโลกไม่เว้นในประเทศไทย ซึ่งในบ้านเรากระแสดนตรีฮิปฮอปก้าวขึ้นมาเป็นที่นิยมในคนหมู่มากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นแร็ปเปอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมามากมาย 

แต่ถ้าหากให้พูดถึงกลุ่มศิลปินฮิปฮอปไทย ที่สร้างอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงให้กับศิลปินรุ่นหลังคงหนีไม่พ้น Thaitanium โดยเฉพาะอัลบั้ม “Thai Rider” ที่สร้างปรากฏการณ์ต่อวงการเพลงไทยได้มากมาย

ด้วยสไตล์ที่เรียลและเท่ จึงไม่น่าแปลกใจที่อัลบั้มนี้จะถูกยกย่องให้เป็น “Pioneer” ของวงการฮิปฮอปในบ้านเรา และมันก็เพิ่งมีอายุครบรอบ 20 ปีไปหมาด ๆ 

ด้วยเหตุนี้ทาง Unlockmen จึงขอพาทุกคนไปเจาะลึกถึงแบ็คกราวน์ของ “Thai Rider” จากปากของสมาชิกทั้ง 4 คน ได้แก่ KH, SDthaitay, DABOYWAY และ BIG CALO มาฟังประสบการณ์ของการต่อสู้จากนิวยอร์กสู่กรุงเทพกันครับ


AA CREW

ก่อนจะมาสู่ Thaitanium หลาย ๆ คนอาจจะทราบกันดีว่าสมาชิกบางคนเคยมีผลงานเพลงกันมาก่อนแล้ว ได้แก่ ขันที่เคยทำฮิปฮอปดูโอ้ในชื่อ “ขันที” ส่วนเวย์ก็เคยอยู่กับ “Teen 8 Grade A” และนั่นมันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด จนกระทั่งเกิดการรวมตัวของ AA Crew นำโดย ขัน, เดย์, เวย์, โจอี้บอย, จูเนียร์, ที และอื่น ๆ

พวกเขา ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่ Express ความเป็นตัวเองออกมาได้อย่าง 100%

ขัน…

“AA crew เป็นการรวมตัวของเด็กสเกตบอร์ด เด็กเต้นเบรกแดนซ์ เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 1993 มารวมตัวกันแล้วหาว่าจะให้คนเรียกพวกเราว่าอะไรดี ก็ได้คำว่า AA ขึ้นมา มันแปลได้หลายอย่าง ตอนแรกเราคิดถึงคำว่า Antique Arctic, Antique Asian, Asian Association แล้วคำว่า AA มันเป็นคำที่เราชอบกันอยู่แล้วด้วย

ช่วงแรกก็มีประมาณ 5-6 คน มี Joey Boy ด้วยที่รวมตัวกัน พอเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เดย์เขาอยู่กลุ่มเดียวกับผมอยู่แล้ว เวย์ก็เข้ามารวมกัน ทุกคนก็เหมือนมารวมตัวกัน พอมารวมตัวกันตอนแรกยังไม่ได้ทำเพลงแค่เป็นชื่อของกลุ่มก้อนเพื่อน ๆ กัน พอทำเพลงเราก็เลยเอาชื่อนั้นมาใช้เป็นชื่อคือ AA Crew ครับ”


NEW YORK CITY

มหานครนิวยอร์ก ถือเป็นเมืองแห่งจุดเริ่มต้นของ Thaitanium พวกเขาไปตั้งหลักเพื่อทำดนตรีฮิปฮอปให้ถึงแก่น อีกทั้งยังต้องการหนีจากความจำเจของวงการเพลงไทย ณ เวลานั้น 

ขัน…

“ก่อนหน้าผมกับเวย์เคยทำเพลงที่เมืองไทยกันแล้ว ก่อนจะทำ Thaitanium ผมก็มีมา 3 อัลบั้ม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สะสมเงินเพื่อมาซื้อเครื่องทำเพลงต่อ จนมันถึงจุดอิ่มตัวของผมกับของเวย์ เพราะเราไม่ได้ทำฮิปฮอปแบบที่เราคิด ไม่ได้ำแบบที่เราได้ยินในหัว

ผมก็เลยบอกเวย์ว่าเดี๋ยวผมจะย้ายไปนิวยอร์ก ไปเริ่มต้นใหม่ ไปคิดอะไรทำอะไรใหม่ ค้นคว้าหาความรู้เพิ่ม พอผมไป เวย์ก็ไป เขาเกิดที่นั่นอยู่แล้วด้วย และเดย์ก็อยู่ที่นั่นอยู่แล้ว เลยรวมตัวกันที่นั่น

ตอนนั้นวงการเพลงไทยไม่ได้มีอะไรที่ทำให้เราตื่นเต้นเลย เราถึงได้รวมตัวกันแล้วย้ายไปทำที่นู่นเพื่อไม่มีอะไรมาปิดกั้นความคิด ไม่มีใครมาปิดกั้นเราในเรื่องอยากทำเพลงแบบไหน อยากพูดอะไร สิ่งที่ออกมาในช่วงแรก ๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในวงการเพลงไทย แต่เราก็ทำเพลงไทย เอากลับมาขายที่ไทย”


THAI RIDER : THE FIRST CHAPTER

อิสระและการปลดปล่อยความเก็บกด ดูเหมือนว่าจะเป็นนิยามที่ดีของอัลบั้ม “Thai Rider” การไม่ถูกขีดเส้นตีกรอบทำให้ตัวตนของ Thaitanium ถูกนำเสนอออกมาภายใต้บ้านหลังเล็ก ๆ ที่พวกเขารวมตัวกันเช่าเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน

เวย์…

“ ‘Thai Rider’ ก็คือเราภูมิใจที่เป็นคนไทย มันได้บุกเบิกความคิดในสิ่งที่เราอยากจะทำ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นศิลปะของตัวเอง เราก็จะทำให้มันเต็มที่ 

จริง ๆ ช่วงทำ ‘Thai Rider’ มันสนุกมากเลยครับ มันเป็นช่วงชีวิตที่สนุกมาก ขันก็ทำงานซาวด์เอนจิเนียร์ในสตูดิโอ ผมกับเดย์ก็ทำงานในเมืองแมนแฮตตัน พอทำงานเสร็จก็เข้าไปในบรุกลิน ควีนส์ นั่งรถไฟฟ้าเข้าไป พอเที่ยงคืนก็ทำเพลงกันทุกคืนถึง 6 โมงเช้า นอนสัก 2-3 ชั่วโมงก็ตื่นเข้าเมืองไปทำงาน ทำแบบนี้ตลอดในช่วง 6 ปีแรก ๆ ของ Thaitanium เท่ากับว่าอัลบั้ม ‘Thai Rider’ ถูกอัดในช่วงเวลาเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า”

เดย์…

“มัน flow มาก ๆ อย่างที่เวย์บอก มันไม่ได้คิดถึงเลยว่ากลางวันหรือกลางคืน เพราะพลังเราเยอะเหลือเกิน เคยแบบอัดเพลงไม่ต้องนอนทั้งคืน แต่ไปทำงานแล้วยังมีแรงอยู่ เป็นความสนุกที่ไม่ต้องการการตอบรับใด ๆ ทั้งสิ้น แต่มันตอบสนองความต้องการของเรา ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไปทำงานหาเงินมาตอบโจทย์สิ่งที่เราชอบ ทำให้จิตใจเราเบิกบาน มีร่างกาย มีสมองและจิตวิญญาณที่จะเดินหน้าต่อใช้ชีวิตต่อไป”

ขัน…

“แต่จริง ๆ ณ จุดนั้นมันไม่มีการคาดหวังเพราะมันเพิ่งเริ่มต้น เป็นอะไรที่ไม่มีใครมาเดินนำให้ดูว่าต้องไปซ้ายหรือไปขวา เป็นการหาประสบการณ์ หาจุดยืน หาทางเดินเพื่อจะเดินไป

ดังนั้นทุกก้าวที่เราทำตอนนั้นเป็นการทดลองหมดเลย จึงไม่มีความกังวลว่าจะได้ไหม? จะสำเร็จไหม? พูดเรื่องนี้จะผิดไหม?”

“มันไม่มีตัวอย่างอะไรเลยตอนเราทำ เราคิดตรงนั้น ทำตรงนั้น แล้วปล่อยไปอย่างนั้นเลย มันไม่มีแรงกดดัน มันสนุกอย่างเดียวกับการได้ปลดปล่อยสิ่งที่อยากจะพูด กับไอเดียที่เราอยากจะปล่อยไป หรือเสียงเพลงที่เราอยากจะฟัง มันเลยสนุกทุกก้าวในช่วงนั้นครับ”

BIG CALO

“แต่ในบ้านคือห้องน้ำเล็กมาก แล้วตอนฤดูร้อน ลำบากมากเพราะไม่มีแอร์แล้วร้อนมากครับ”

มีการจัดการค่าใช้จ่ายกันอย่างไรบ้างในช่วงนั้น?

ขัน…

“ตั้งแต่ปี 2000 AA ถึงปี 2006 เงินที่ได้มาทุกบาททุกสตางค์เอาไปลงทุนต่อ ช่วงนั้นเราจะอัดเพลงทำอัลบั้ม ทำโปรเจกต์ที่อเมริกาทั้งหมด พอมีงานอะไรก็ค่อยกลับมาเมืองไทย อยู่ประมาณเดือนนึงบ้าง 3 อาทิตย์ 6 อาทิตย์บ้าง ก็เอาเงินที่ได้จากตรงนั้นไปปั๊มซีดีต่อหรือทำโปสเตอร์ ทำสติกเกอร์ ทำตั๋วคอนเสิร์ต จ่ายค่าเช่าบ้าน เอาไปถ่าย MV ใช้เวลา 6 ปีกว่าจะได้เงินเข้ากระเป๋าที่เป็นกำไรครับ” 

Thai Rider ใช้ระยะเวลาการทำรวม ๆ ประมาณหนึ่งปี ปั๊มมาทั้งหมด 1,000 ก็อปปี้ โดยในตอนแรกพวกเขาได้วางขายในอเมริกาด้วยวิธีการนำไปฝากร้านต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นตัวของเดย์ที่รับหน้าที่ในส่วนนี้

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสนำกลับมาวางขายในไทยเมื่อปี 2002 ซึ่งสมาชิกวงก็ยังคงใช้ระบบเดิมด้วยการนำไปฝากขายร้านดีเจสยาม, น้องท่าพระจันทร์ หรือร้านย่านซอยรางน้ำ รวมไปถึงการพูดคุยกับแฟนเพลงในเวบบอร์ดผ่านเวบไซต์ของตนเอง เรียกได้ว่า D.I.Y. กันเองทุกขั้นตอน


THAI RIDER : THE BRIDGE

ถ้าย้อนกลับไปช่วงยุค 2000’s ต้น ๆ เด็กฮิปฮอปในช่วงนั้นต่างต้องพูดถึงความสุดยอดของอัลบั้ม “Thai Rider” ด้วยกันทั้งนั้น มีเพลงที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง “ไข้โป้ง” และ “เด้งเบบี้เด้ง” ซึ่งมันเต็มไปด้วยความดุดัน ความดิบ และความสดของช่วงวัยรุ่น และมันยังเป็นสะพานที่ทอดให้ Thaitanium ได้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมเพลงไทยในแบบของตัวเอง

ขัน…

“จริง ๆ แล้ว Thai Rider ส่วนตัวผมมองว่ามันก็ถือว่าไม่ได้บูมมาก ตอนนั้นถือว่ากลาง ๆ เหมือน AA เป็นบันไดขั้นแรก ‘Thai Rider’ เป็นบันไดขั้นที่สอง มีเพลงที่จับต้องได้มากขึ้น ให้เขาได้รู้จักเรามากขึ้น ซึ่งมันก็ไม่มีเพลงที่ดังเปรี้ยงเลยนะ เพลงที่ดังจริง ๆ เป็นเพลงที่มาจาก Mix Tape ด้วยซ้ำ”

เวย์…

“ใช่ พอ ‘Thai Rider’ เราก็เริ่มออก Mix Tape เพื่อเอาน้อง ๆ หรือเพื่อน ๆ ที่สนใจฮิปฮอป ให้เขามีช่องทางในการปล่อยเพลง แล้วก็มีเพลง ‘แน่ใจแล้วหรือ’ เพลงแรกที่ได้ออกวิทยุโดย Fat Radio ช่วยสนับสนุนครับ”

ขัน…

“ซึ่งมันก็เป็นดนตรีของคนอื่นแล้วเราเอามาเปลี่ยนเนื้อ ที่เราทำ Mix Tape เพื่อความเร็ว และเพื่อความง่ายสำหรับทุกคนที่จะทำได้ พอเพลงนั้นดังก็มาอีกสเตปที่ 3 ก็เพลง’ยักไหล่’ “

เวย์…

“พอ ‘ยักไหล่’ ก็เริ่มมีค่าย Sony เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะซาวด์แทร็กเรื่อง ‘P77’  ก็เลยรู้สึกว่าไทยเทเริ่มมาแล้ว แมีแบรนด์ บริษัทต่าง ๆ เริ่มอยากทำงานด้วย 

จริง ๆ แล้วอัลบั้ม ‘R.A.S (Resisting Against Da System)’ ใช้เวลาทำเกือบ 2 ปีกว่าจะเสร็จ แล้วหลังจาก ‘P77’ ก็ไม่ได้กลับมาเมืองไทยเลย เราทำ R.A.S.’ ที่อเมริกาประมาณปี 2004-2005 แล้วก็ค่อยมาออก ‘ยักไหล่’ แล้วก็ไปทัวร์โรงเรียน (แคมปัสทัวร์) แล้วพอถัดไปก็ยังไม่มีกำไรจนถึงเพลง ‘ทะลึ่ง’ ออกมา ก็คือถึงเป้าหมายแล้ว ตอนนั้นพวกเราทัวร์ช่วงเพลง ‘ทะลึ่ง’ ประมาณ 3 ปีเลยครับ”


THE REAL HIP HOP CULTURE

การทำงานที่นิวยอร์กไม่ได้มอบแค่ประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกันของพวกเขา แต่มันยังมอบประสบการณ์ตรงของวัฒนธรรมฮิปฮอปขนานแท้มาสู่ Thaitanium

ขัน…

“ถ้าผมเทียบมันคือถ้าเราอยู่ที่ไทยก็คือการดูผ่าน YouTube แต่อยู่นู่นมันเหมือนเราอยู่หน้าเดียวกับเขาเลย สมมติมีงานนี้เกิดขึ้น คนนี้ร้องที่นี่ ถ้าเราอยู่ที่นี่เราก็ต้องดูผ่านจอ แต่ถ้าอยู่ที่นู่นเราจะได้ยืนตรงนั้นเลย 

พวกเราได้ซึมซับ และยิ่งช่วงที่อินเตอร์เน็ตยังไม่กว้างขวาง ยังไม่มี YouTube ให้ดู การได้เห็นสิ่งเหล่านั้นที่เมืองไทยเป็นเรื่องยากมาก โชคดีที่พวกผมมีโอกาสได้เรียนที่อเมริกาตั้งแต่เด็ก เราก็ได้ซึมซาบมาตั้งแต่เด็ก เราก็เข้าใจและพยายามนำมาทำ แต่มันก็ยังไม่ค่อยได้ดั่งใจ เราอยากทำฮิปฮอปแบบที่เราอยากทำได้ ก็เลยถอนตัวออกไปจากที่นี่แล้วเริ่มทำใหม่ที่นู่น”

เวย์…

“ใน 6 ปีที่ทำที่อเมริกาหลังจากเพลง ‘ทะลึ่ง’ ก็เริ่มมีช่วงเป๋ปี 2009 เหมือนเราทำเพลงในเมืองไทยไม่เป็น อยากหาบรรยากาศ หา Flow คือช่วงนั้น 2-3 ปี ไม่ได้อัดเพลงเลยหลังจากเพลงทะลึ่ง มีซิงเกิลบ้างแต่ไม่ได้ทำอัลบั้ม พอเราอยาก Freedom ก็คิดว่าจะกลับไปที่นู่นเพื่อทำสิ่งที่คิดไว้ว่าอยากทำ แต่พออยู่เมืองไทยตอนนั้นเรายังหาจุดไปไม่ได้”

ค่าใช้จ่ายตอนอยู่ที่นิวยอร์กแพงขนาดไหน?

ขัน…

“ก็แพงสำหรับเรา ถึงมันจะไม่แพงสำหรับคนอื่นแต่มันแพงสำหรับเรา เราทำงานร้านอาหารกัน ผมก็ทำงานสตูดิโอ รายได้เราไม่ได้เยอะขนาดนั้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราต้องจ่าย ค่าบ้าน ค่ากินอยู่ แล้วต้องเอามาลงทุนกับเพลงด้วย มันก็ต้องหากันมากกว่าแค่ทำงานประจำกันทุกวันด้วย ต้องไปขายของทำนู่นทำนี่ครับ”


THAI RIDER : THE PIONEER

ขัน…

“จริง ๆ มันก็เหมือนว่าเราทำงานมาก่อน และอย่างที่พูดตลอดว่าเราก็หาทางเดินให้กับฮิปฮอป หาทางเดินถางหญ้าไปเรื่อย มันก็เป็นการทดลองของเราที่ถือว่าประสบความสำเร็จ พวกเราก็รู้สึกดีอยู่แล้ว เพราะเรา 3 คนก็ไม่มีใครนำทางให้เรา เราลองนู่น ลองนี่ แล้วกลายเป็นผลงานที่คนเขาให้เครดิตเรา ก็ถือว่ามันเป็นผลสำเร็จของเราที่ทำให้เรากล้าทิ้งทุกอย่างไปทำมันครับ”

มีศิลปินรุ่นใหม่มาบอกบ้างไหมว่ามี Thaitanium เป็นแรงบันดาลใจ?

เวย์…

“มีครับ ถือว่าเป็น Blessing มาก ๆ สำหรับพวกเรา และเราก็ภูมิใจในสิ่งที่ฮิปฮอปเป็นในทุกวันนี้ มันเติบโตมาไกลมากจากตอนแรก ๆ ที่เรานับได้เลยว่ามีกี่คนฟัง ตอนนี้มันทั่วประเทศ”

“อีกอย่างหนึ่งที่ภูมิใจก็คือ ตอนเด็ก ๆ ผมโตที่นู่น พออายุ 14-15 อยากได้อะไรก็ต้องหาเงิน ซื้อรองเท้า ซื้อเสื้อผ้าก็ไปทำงานเอง แต่ตอนนี้พอมันมีวัฒนธรรมฮิปฮอป มันสร้างงาน มีดีเจ นักเต้น กราฟิก ฯลฯ ช่องทางให้เด็กรุ่นใหม่หางาน หาเงินที่เขาจะเลี้ยงตัวเองได้หรือครอบครัว มองตรงนี้แล้วภูมิใจมาก”

ขัน…

“มันน่าทึ่งที่ว่าเราให้สัมภาษณ์มาตั้งแต่ยุคนั้น เคยโดนถามว่าโตที่ไทยกับที่อเมริกาต่างกันอย่างไร เป็นคำถามที่ถูกถามมากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราก็จะพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าที่นู่นต้องทำงานตั้งแต่เด็ก อยากได้รองเท้าต้องเก็บเงินเอง ต้องไปทำงานอะไรก็แล้วแต่เพื่อได้เงินมา อันนี้คือ 20 ปีที่แล้วที่เราได้ให้สัมภาษณ์กัน

จนเราได้เห็น Evolution มาถึงทุกวันนี้ เราเคยเห็นมันเกิดขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อก่อน มันต่างกับประเทศไทยที่เด็ก ๆ ต้องไปโรงเรียน พ่อแม่ไม่ให้ไปทำงานหรอก จนทุกวันนี้ไม่ว่าเด็กอายุเท่าไรก็ทำงานเริ่มขายของใน IG หรือทางต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ฮิปฮอปอย่างเดียว แต่โลกมันเปลี่ยนไปต่อหน้าเรา กับการที่เรามานั่งสัมภาษณ์วันนี้ มันก็น่าทึ่ง ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำมาหากินได้ แล้วแต่ว่ามีไอเดียอะไรครับ”


BIG CALO

อีกหนึ่งสมาชิกของวง Thaitanium ที่สร้างสีสันได้เป็นอย่างดีคือ Big Calo แร็ปเปอร์ชาวอเมริกา มาทำความรู้จักกับผู้ชายคนนี้กันซักนิดครับ

เวย์…

“ผมกับเขาโตมาด้วยกัน ผมรู้จักกับคาโล่มาเกือบ 30 ปีแล้ว เจอตั้งแต่ผม 10 ขวบ มัน 7 ขวบ เคยไปอยู่บ้านเขาที่ฟลอริดาครึ่งปี หลังจากนั้นย้ายมาอยู่เมืองไทยแล้วก็ไม่ได้ติดต่อกันมา 2 ปี

พอผมกลับอเมริกาก็ตามหาเบอร์เพื่อจะโทรไปถามว่าเขาอยู่ไหน เขาก็โตขึ้นแล้ว แล้วเขาก็บอกว่าเขาเขียนเพลงแร็ป ช่วงก่อนที่จะ re-connect ก็โทรหากัน คุยโทรศัพท์แล้วก็แร็ปให้ฟังทางโทรศัพท์ แล้วก็บอกเขาว่าผมมีวงดนตรีที่ไทยแลนด์ ถ้าเรียนจบมัธยมเมื่อไรก็มาทำดนตรีด้วยกัน 

เขาอยู่กับเรามาตั้งแต่ ‘P77’ อยู่มาด้วยกัน ทัวร์มาด้วยกัน มาอยู่ใน process มา 18 ปี เราอยู่มา 22 Big Calo ก็อยู่มา 18-19 ปี”

เดย์…

“ถ้าย้อนย้อนกลับไปก็จะได้ยินเสียง Big Calo ตลอด”

Big Calo…

“ตอนแรกที่มาผมยังเด็กก็เลยเป็นผู้สังเกตการณ์ก่อน นั่งดูเขาทำงาน อัดเพลง แต่มีเสียงผมบ้างนิดหน่อยนะ จริง ๆ แล้วผมมีโอกาสได้ออกมาในเพลงด้วย เขาให้ผมพูดพาร์ตหนึ่งในเพลง ‘ชูมือขึ้น ชูมือ ชูมือขึ้น ชูมือ’ แล้วผมพูดภาษาไทยไม่ได้ ถ้าคุณลองไปฟังเพลงนี้นะ มันตลกมาก”


SDTHAITAY

“SDTHAITAY” หรือ “เดย์” จุดเริ่มต้นความชื่นชอบดนตรีไม่ได้มาจากแนวฮิปฮอปโดยดั้งเดิม แต่กลับกลายเป็นแนวร็อกและเพื่อชีวิตมาก่อน ซึ่งเจ้าตัวได้ย้อนความหลังให้ฟังว่า

“ตอนนั้นอยู่เมืองไทย ด้วยสังคมและสิ่งแวดล้อมเก็เป็นร็อก, เพื่อชีวิต, วงคาราบาว, พี่ปู, ไมโคร, หรั่ง ร็อกเคสตร้า”

ขัน…

“รู้อายุเลยที่พูดมา ฮ่า ๆๆๆ”

เดย์…

“ก่อนย้ายไปอเมริกาเราก็พอรู้จักวงดนตรีฮิปฮอปบ้างอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ลงลึกอะไรขนาดนั้น แล้วพอย้ายไปอเมริกาก็เจอขันที่ High School และเขาเป็นดีเจอยู่แล้ว ตอนนั้นอายุ 15 เราก็ฟังฮิปฮอปที่นั่นก็ก็คิดว่ามันส์ดี”

“ตอนนั้น N.W.A ก็เพิ่งออก แล้วในเพลงมีคำว่า ‘Fuck Tha Police’  เราก็ตกใจว่า เฮ้ย จริงเหรอ ในเพลงมันพูดแบบนี้กันได้จริง ๆ เหรอ ก็เลยคิดว่า เอ้อ ก็ดีเนอะ มันคือการได้ Express ตัวเองออกมาได้โดยไม่ต้องมองหน้ามองหลัง”

“แล้วก็มีอีกหลาย ๆ เพลงเราก็ว่ามันมันส์ดี แล้วตอนเด็ก ๆ เราเคยฝันอยากเป็นนักร้องแต่เสียงไม่เพราะ ก็เลยคิดว่า เราก็บ่นเอาได้นี่หว่า แร็ปก็ได้ ก็เลยไปทางนั้น และจริง ๆ ดนตรีฮิปฮอปก็เป็นดนตรีเพื่อชีวิตอีกแบบหนึ่งที่พูดตรงไปตรงมา พูดถึงคน สิ่งแวดล้อม พูดถึงการต่อสู้ ฯลฯ ก็เลยอินกับมัน ขันก็เป็นคนที่ดึงเข้ามา แล้วก็อธิบายหลาย ๆ อย่างให้”

ขัน…

“ฮิปฮอปสมัยนั้นเป็นกึ่งเพื่อชีวิตอยู่แล้วด้วย พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม พูดเกี่ยวกับตัวเอง ผมก็ฟังเพลงคาราบาวมาก่อน โตมาคล้ายกับเดย์ แต่พอเราได้มาอยู่ก่อนเราก็ซึมซาบมันก่อน

พอเขามาเราก็ชวนเขาว่าเนี่ย ก็เพลงเพื่อชีวิตเหมือนกันนะ เขาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริง ๆ มันก็เป็นซาวด์แทร็กของวัยรุ่นอเมริกาในยุคนั้นอยู่แล้ว ถ้าไม่ไป Nirvana ก็จะไปทางฮิปฮอป”


HIATUS

เมื่อปี 2019 หลาย ๆ คนน่าจะทราบข่าวกันดีถึงการแยกวง Thaitanium ทำเอาวงการเพลงบ้านเราสั่นสะเทือนกันไม่น้อย อย่างไรก็ตามสุดท้ายด้วยมิตรภาพอันแน่นแฟ้นก็ทำให้พวกเขากลับมารวมตัวกันได้อีกครั้ง

เวย์

“มีช่วงหนึ่งที่พอมีเรื่องกันแล้วก็แตกแยกกันไปสักพัก แล้วก็มาคุยกันว่าจริง ๆ มันใหญ่มากกว่าแค่เรา 3-4 คน เรามีหน้าที่เกินแค่ตัวของเราเองไปแล้ว เรายังจะต้องทำเพื่อแฟนเพลง”

เดย์…

“เราโตมาด้วยกัน อยู่บ้านเดียวกัน มีก็กินด้วยกัน แต่พออะไรมันผ่านไปเราก็จะรู้สึก และโหยหาให้กลับมาเหมือนเดิม แล้วมันก็กลับมา สิ่งที่แตกหักกันไปก็กลับมาหล่อหลอมให้เป็น Thaitanium เหมือนเดิมได้อีก แล้วมันก็กลายเป็นเหล็กที่ไม่มีใครหักมันได้อีก ดีใจที่ได้เจอกัน แล้วอะไรที่มันหายไปเราต้องคิดถึงมันอยู่แล้ว ในแง่ของการที่เป็นครอบครัวเดียวกัน”

BIG CALO…

“เวลามีการทะเลาะกันเกิดขึ้น เราก็จะมาทำความเข้าใจและสื่อสารกัน และสำหรับพวกเราความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนมันต้องมาก่อนงาน แล้วเขาแต่ละคนต่างก็รักกันอยู่แล้ว ผมก็คิดว่าจะต้องกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้”

ขัน…

“ผมไม่ได้รู้สึกว่าเราแยกกันไปนาน ช่วงที่แยกออกไปเราก็หาวิธีจะผสานเข้าหากัน เพราะฉะนั้นช่วงผสานกันอาจเป็นช่วงที่คนภายนอกมองเข้ามาแล้วมันนาน 

แต่ช่วงนั้นเราก็พยายามประสานกันอยู่ในช่วงที่คนอาจจะไม่เห็น ผมไม่ได้รู้สึกว่าเราแยกกันไป ผมแค่รู้สึกว่ามันแตกกันไปเสี้ยววูบ แต่เวลาที่ใช้ประสาน มันใช้เวลารักษาแผลตรงนั้น ใช้เวลาหาย ช่วงเวลานั้นเราก็พยายามหาจุดยืนเพื่อประสานกัน เราไม่ได้หายไปเลยหรือไม่คุยกันเลย สำหรับเราเองข้างในมันมีความเป็นพี่น้องกันอยู่ ถ้าเราไม่ได้กลับมาผมคงรู้สึกว่าอะไรมันหายไป ตอนนั้นเราอยากรักษาแผลนี้ให้เร็วที่สุดจะได้กลับมาอยู่ด้วยกัน”


แสนล้าน

ซิงเกิ้ลล่าสุดของวง Thaitanium และการร่วมงานอีกครั้งกับ “ดา เอ็นโดรฟิน” ที่มาพร้อมเนื้อหาให้กำลังใจในแบบสไตล์ของทางวง ด้วยพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากเพลงนี้ในช่วงโควิด เพราะได้เห็นความยากลำบากของทั้งคนรอบข้าง รวมไปถึงตัวเองด้วยเช่นกัน จึงอยากมอบเพลงนี้ให้เป็นพลังกับทุกคนได้มีแรงที่จะก้าวเดินต่อไป 


ทาง Unlockmen ต้องขอขอบคุณวง Thaitanium ที่มาเปิดประสบการณ์ดี ๆ ให้พวกเราได้ฟังกัน ขอบคุณ Universal Music Thailand ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยครับ

สถานที่ : Common Ground พระราม 9

Photographer : Krittapas Suttikittibut

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line