Style

THE SUBCULTURE: ‘B-BOY’ วัฒนธรรมเต้นต้องเจ็บที่ไม่มีใครเข็ดจนเลิกเต้น

By: anonymK December 30, 2019

“แค่นี้ เราก็ทำได้วะ”

จังหวะพูดคำนี้แหละที่คนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง หันไปลองสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ สำหรับผู้ชายเรา แค่ประโยคนี้ประโยคเดียวกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เราค้นพบอะไรบางอย่างที่เราต้องอยู่ด้วยไปทั้งชีวิต

จากที่นั่งดูภาพยนตร์ต่างประเทศที่เห็นคนเต้นหมุน ๆ เอาหัวเป็นแกนแนบพื้น แข้งขาเคลื่อนไหวเป็นวงกลมเหมือนลูกข่าง หรือซีนเต้นไปฟรีซไป เบรกไป จนดูเท่ มันทำให้เราสงสัย หลงใหลและรู้จักวัฒนธรรมจากอีกซีกโลกด้านการเต้นที่เรียกว่า B-Boy

หมู (ซ้าย) และชิน (ขวา)

เราเห็นคนเก่งตาสีน้ำข้าวมาเยอะ แต่ในเอเชียไลฟ์สไตล์การเต้น B-Boy ก็ไม่ได้น้อยหน้า เรามีคนเจ๋ง มีสังคม B-Boy ที่เติบโตในไทย อยู่กับมันมาหลายสิบปีและมีคน Generation ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ใครที่วนเวียนอยู่ในวงการอาจจะเคยเห็นเขา 2 คนนี้มาแล้วตามงานประกวด โซเชียล หรือมีตติ้งปาร์ตี้ เพราะคนหนึ่งคือ ชิน – ชินวุฒิ​ จันทตรัตน์ AKA “Cheno” หนึ่งในสมาชิกวัย 34 จาก 99 Flava ทีมแข่งระดับประเทศ ส่วนอีกคนคือ หมู – กฤษภาณุ วัฒนพงษ์ AKA “Coundpig” วัยรุ่นอารมณ์ดีที่เต้นเน้นกวน เป็นตัวป่วนให้คนจดจำ

 

เต้นจากราก เต้นด้วยไลฟ์สไตล์

ถึงเราจะยังไม่เคยเข้าวงการ B-Boy แต่ต้องยอมรับว่าเท่าที่ฟังจาก ชินและหมู หนุ่มไทยที่อยู่ในวงการ B-Boy 2 คนตรงหน้า การเต้น B-Boy มีรายละเอียดการเต้นที่รักษาเรื่องราวในอดีต เน้นเรื่องวัฒนธรรมมากกว่าการเต้นประเภทอื่นพอสมควร เพราะกฎของคนที่รักการเต้นประเภทคือทุกคนต้องมีสไตล์ของตัวเอง การเรียนรู้อดีตให้มากทั้งประวัติและท่าเต้นจะทำให้คุณไม่ไปซ้ำรอยที่คนอื่นเขาเคยทำมาก่อน โดยเฉพาะในสนามแข่งขันและการแบตเทิล ต่อให้ท่ายากขนาดไหน แต่ถ้าเคยเห็นมาแล้วว่ามีคนเคยทำ คะแนนก็เป็นของฝั่งตรงข้ามทันที

พอรู้แบบนี้ ทุกคนจะไม่ลอกท่าเต้นกันและกัน แต่ประยุกต์ให้ได้ท่าใหม่ที่ตรงตามคาแรกเตอร์ของตัวเอง

เดิมรากของวัฒนธรรม B-Boy เกิดขึ้นที่อเมริกาในปี 1970 แถบเซาต์บรองซ์ที่พัฒนามาจากรูปแบบการเต้นแนวฮิปฮอป มีชาวเปอร์โตริกันเป็นคนเริ่มเต้น ท่าทางไลน์การเต้นเริ่มจากช่วงท่อนบนก่อนแล้วค่อยพัฒนามาสู่ท่อนล่าง ใช้ช่วงขาเป็นส่วนประกอบ โดยมีท่าพื้นฐานทั้ง 4 เป็นท่าเริ่มต้นต่อยอดไปสู่ท่าอื่น ๆ ได้แก่ ท่า Toprock, Freeze, Drop Footwork และ Powermove

แม้หลักฐานยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเริ่มเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยสมัยช่วงสงครามเวียดนามครั้งอเมริกาใช้พื้นที่บ้านเราเป็นฐานพักกำลังชั่วคราว ทหารที่เข้ามาในยุคนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ขึ้น ต่อมาในปี 1985 การเต้น Breakdance กลายเป็นกระแสสำคัญที่มาพร้อมดนตรียุคนั้น จึงมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นและกลายเป็นเทรนด์ที่ผู้คนให้ความสนใจ

“ซีนวงการบ้านเรามันค่อนข้างช้าแล้วก็ในยุคผมกับยุคน้องหมูไม่เหมือนกัน ยุคผมมันจะเก่ากว่า สมัยแบบสายเดี่ยวเกาะอก มีบีบอยเต้นอยู่แค่ประมาณ 10 กว่าคนเองที่มาบุญครองชั้น 7 วิธีการหาสื่อที่ง่ายที่สุดตอนนั้นต้องมาสยาม ไม่มีที่อื่น อินเทอร์เน็ตก็ช้า

พอคนมีแค่ 10 คนทุกคนจะอินมากเป็นพิเศษ แล้วก็จะมีแม้บม้วนเทป วิดีโอพวก Tribal Gear ที่ Copy กันมาแล้วเขาก็มาดูด้วยกัน แล้วก็มาลอก ๆ ท่ากัน สมัยก่อนมันดิบมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องการเต้น มันเป็นเรื่องแฟชั่นการแต่งตัว แล้วก็คือมันค่อนข้างจริง รุ่นพี่รุ่นน้อง มีวัฒนธรรมไทยผสม บางทีก็มีขิงกันบ้าง”

จุดเริ่มต้นสำหรับคนที่อยู่ในช่วงบุกเบิกคงยากหน่อย แต่สำหรับคนยุคใหม่ที่การเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว รวมกลุ่มได้ง่ายและมีความพร้อมกว่า หมูซึมซับและก้าวเข้ามาในวงการนี้ผ่านสื่อและเพื่อน

“ของผมตอนแรกก่อนที่เพื่อนมาชวน สมัยนั้นมันจะมีหนังใน UBC เรื่องนึง ชื่อเรื่อง Kickin’ It Old Skool มันก็เป็นหนังเต้น ผมเห็นท่าแล้วแบบ เฮ้ย มันทำอะไรวะ โคตรง่ายเลย ผมก็ทำได้วะ จากนั้นผมก็ลองดู ดูใน YouTube เอาจริง ๆ มันก็ยากกว่าที่คิดครับ ผนวกกับตอนนั้นผมจะมีเพื่อนตอนประถม ที่อยู่ดี ๆ วันนึงมันก็โทรมาชวนเต้น B-Boy จริง ๆ ผมเริ่มแล้วแต่มันไม่เวิร์ก เพื่อนก็เลยชวนให้ไปเต้นกับพี่ชิน ก็เลยเต้นมาถึงทุกวันนี้ครับ”

 

การเต้นที่ต้องต่อสู้ เจ็บ ยอมรับและก้าวผ่าน ทุกอณูความเป็นตัวเอง

คนเราไม่ค่อยรู้ว่าเราอยากเป็นอะไร เรารู้สิ่งที่เราไม่อยากมากกว่า

เราเคยได้ยินประโยคแบบนี้ที่ไหนมาก่อน และเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น เพราะเชื่อว่าถ้าอยากรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรมันต้องได้ลอง ได้ค้นพบก่อนถึงจะตอบได้ สำหรับ B-Boy ก็เหมือนกัน บางอย่างเราอาจจะไม่รู้คำตอบของมันทันทีจนกว่าจะได้ลอง และบางอย่างเราเรียนรู้ได้จากความเจ็บปวดผ่านร่างกาย

เจ็บจำ แต่ไม่หยุดรู้จักตัวเองและอันล็อกได้ นี่คือ “ประสบการณ์” ที่หาไม่ได้ง่าย ๆ

จุดเริ่มต้นของคนที่เข้ามาเต้น B-Boy ทุกคน เริ่มจากการลองผิดลองถูก ฝึกท่าทางไปก่อน ระหว่างนี้แหละที่เราได้อันล็อกความสามารถทางกายของตัวเอง ทุกคนที่เต้นต้องเจ็บ แต่ความเจ็บจะทำให้เราได้เรียนรู้และหาทางออกในรูปแบบของตัวเอง

“มันค่อนข้าง sacrifice กับการเต้นพวกนี้ ถ้าจะเต้นยังไงมันต้องเจ็บครับ มันไม่มีหรอกไม่เจ็บ ไม่งั้นก็ไม่ต้องเต้นดีกว่า เพราะว่า เดี๋ยวนี้เบสิกมันเยอะมาก ไม่ต้องซีเรียสว่ามันยังไง อาจจะแค่สู้กับตัวเองนิดนึงก็ทำได้แล้วประมาณนั้นมากกว่า

แต่แม่งมีคำถามว่า เฮ้ย กูจะเต้นต่อไปอีกนานขนาดไหนวะ กูก็อายุขนาดนี้แล้ว คือล่าสุดเนี่ยเข่าบิด ขาซ้ายผมเนี่ยเข่าบิด แต่เรารู้ไง เหตุและผลเพราะว่าเราปาร์ตี้หนัก และเราไม่ได้ดูแลร่างกายช่วงหลัง ๆ ก็เลยเป็น อายุเรามากขึ้น มันก็เป็นเหตุเป็นผลกันอยู่แล้ว ที่เหลือเราก็แค่ปรับตัว แล้วก็เต้นต่อ

เราได้คำตอบกับตัวเองว่า ถ้ามึงจะเต้นคุณก็ต้องดูแลตัวเองนะเว้ย เพราะว่ามึงแก่แล้ว มึงอายุมากแล้ว ก็ต้องดูแลตัวเอง เหมือนกับคนที่เขาอยู่ต่างประเทศ พวกเพื่อน ๆ ผม รุ่นพี่ที่อยู่ต่างประเทศ เขาก็เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ แล้วมันก็เต้นต่อได้

ถ้าถามตอนนี้ว่าจะเลิกไหม กลัวไหม มันก็ไม่กลัว ไม่กลัวเจ็บด้วย เพราะว่ามันทำมานานมาก มันเกินที่จะกลัวเจ็บแล้ว มันกลัวไม่ได้เต้นมากกว่า”

“ผมชอบซ้อมท่าพิเรนทร์ หนักสุดน่าจะเป็นสองครั้งที่ต้องพักมาประมาณ 3 เดือน ผมทำท่าแล้วดึงแขนออกไม่ทัน เลยกล้ามเนื้อฉีกน่ะครับ ก็หาหมอ หมอบอกให้พักสามเดือน กับอีกรอบก็คือมันเป็นงานแข่ง footwork นะ วันนั้นเลยไม่วอร์มช่วงบน กลายเป็นว่าพอผมเต้นแล้วกล้ามเนื้อไหล่ฉีก หมอก็ให้พักสามเดือนเหมือนกันครับ

หลังจากนั้นก็พิเรนทร์น่ะครับ แต่ก็มีสติมากขึ้น ผมคิดว่าอาการบาดเจ็บมันเกิดจากการที่เราไม่มีสติ กับการไม่รู้ร่างกายมากกว่าว่าเราทำตรงนั้นไม่ได้ กล้ามเนื้อมันยังจำไม่หมด มันยังไม่ถึงจุดที่เราจะใช้ตรงนั้นได้ แต่สำคัญอีกเรื่องก็คือสติแล้วก็ความรู้”

นอกจากร่างกายที่ฝึกซ้อมบ่อย ๆ รู้จักร่างกายแล้วลองประยุกต์ก็ทำได้ อีกสิ่งที่ต้องค้นหาให้เจอคือสไตล์ เพราะวงการนี้ความพ่ายแพ้ยังไม่น่าเศร้าเท่าไร้ตัวตน ต่อให้ความได้เปรียบด้านร่างกายคนอายุน้อยร่างกายแข็งแรง หมุน PowerMove และทำท่ายากได้มีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน แต่ความเจ๋งคือ BreakDance โฟกัสความท้าทายอีกขั้นเรื่องสไตล์ที่แตกต่าง จึงทำให้มันเป็นลูปความสนุก ที่โชว์ความเก๋าได้ไม่มีวันจบ

“สำหรับผมซี (serious) ตัวเองมากกว่า ว่าเราจะไปอยู่ตรงไหน ผมไม่ยอมเหมือนคนอื่น ผมไม่อยากเหมือนคนอื่น เวลาผมพรีเซนต์การเต้น ผมพยายามจะดึงความเป็นตัวเองออกมาให้มากที่สุด และทำอะไรที่คนเขาไม่ทำกัน ลองเอามามิกซ์ อาจจะเป็น Traditional กับตัวอ่อน ฟังดูมันอาจจะยาก ตอนที่จะใช้อาจจะไม่ตรงกับที่คิด

ผมพยายามโฟกัสว่าอยากให้คนเขาจำเราได้ จำเราที่เป็นเราจริง ๆ ผมว่าชนะบางทีมันไม่สำคัญเท่าคนจำเราได้หรือเปล่า อย่างน้อยก็ให้เขารู้ว่าเราเป็นใคร เรามาจากตรงไหน อะไรคือเรา ผมโฟกัสตรงนั้นนะ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

แต่เรื่องคาแรกเตอร์มันก็ยากนะ ผมสังเกตได้จากนิสัยตัวเอง เวลาเต้นมันก็จะเหมือนนิสัยผม ผมอาจจะชอบเล่น ชอบเบิร์นเขา นิสัยผม มันก็จะเป็น main ของผม แต่ถ้าเรื่องท่า มันค่อย ๆ ลอกคราบอ่ะพี่

B-Boy มันมีความเป็นอาร์ตฟอร์มมากด้วย เพราะฉะนั้นการที่ผมหาเจอในวันนี้ วันพรุ่งนี้ผมอาจจะต้องหาใหม่ก็ได้ การเต้นมันมีการพัฒนาตลอด จากวันนี้ วันนี้เราแข็งแรง เราทำท่าหมุนได้เยอะ พรุ่งนี้ ปีหน้า อายุมากขึ้น เราอาจจะทำไม่ได้ แต่เราก็สามารถจะเก่งในอีกแบบนึงได้”

ALL ABOUT B-BOY

หลายเรื่องที่เราอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้ว B-Boy ต้องแบบไหน B-Boy ต้องมีอะไรบ้าง ชินและหมูก็ช่วยอธิบายและแนะนำให้เราเข้าใจได้ง่าย ทั้งดนตรี แฟชั่น และการดูแลตัวเองของคนอยากอยู่ในวัฒนธรรมการเต้นสไตล์นี้

“แฟชั่นของกลุ่ม B-Boy มันเป็นเรื่องของยุคสมัยมากกว่า มันเป็นเรื่องของความที่เราไม่อยากจะเหมือนคนอื่น สมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยก่อนปี 70 เขาเป็นเด็กจน เด็กไม่มีตังค์อยู่ในบรองซ์ เป็นคนชั้นล่าง เขาก็จะหาเสื้อผ้าที่ราคาไม่แพง สีสดใส Modify ด้วยการเอาเชือกใหญ่ ๆ มาใส่ หรือเอาเชือกรองเท้าใหญ่ ๆ มาใส่ รองเท้าอะไรอย่างนี้ พยายามหาอะไรที่มันไม่เหมือนคนอื่นในยุคนั้นมาทำให้ตัวเองโดดเด่นมากขึ้น อันนี้คือแท้ ๆ เลยนะ ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องออฟชั่นว่าจะต้องแพงหรืออะไร ไม่เกี่ยว แต่ว่าเราพรีเซนต์ตัวเองยังไง อยากจะออกมาแบบไหน แบบไหนรู้สึกเฟรชหรือเจ๋ง

ส่วนแฟชั่นทุกวันนี้เพื่อฟังก์ชันมันก็จะมีบ้าง เช่นอย่างผม ผมใส่กางเกงผ้าร่มเพราะผมรู้สึกสบายกับการเต้นในสไลล์ของผม แต่บางคนก็ใส่กางเกงยีน ผมก็เคยใส่กางเกงยีนอยู่พักนึง ใส่เข็มขัดเหล็กเลยนะแต่ก่อน มันอยู่ที่ว่าเราจะฝึกอะไร ใช้ท่าอะไร บางคนใช้ศอกเยอะ ก็จะใส่สนับศอก แต่ว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่ได้ใช้ศอกเยอะ เขาก็ไม่ได้ใส่สนับศอก เพราะเขาอยากจะบอกว่าก็ไม่เป็นไร กูทำได้ ก็ขึ้นอยู่กับคนครับ เพราะว่าปัจจุบันนี้ ไม่ได้จำกัด

ไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะต้องแต่งตัวฮิปฮอป จะแต่งตัวยังไงก็ได้ แต่อย่างหมูก็จะไม่เหมือนผม เขาถนัดแบบนี้ เขาก็จะแต่งตัวแบบนี้ มันเป็นเรื่องของสไตล์และการพรีเซนต์ของแต่ละคนด้วย ผสมกับความถนัดที่อยากจะทำท่านั้น”

ส่วนดนตรีประกอบการเต้น จังหวะที่เป็นตัวกำกับท่าทาง การเต้น B-Boy มักใช้เพลงแนวฟังก์เป็นหลัก เพราะฟังก์คือแซมปลิงที่มาจากดนตรีแนวฮิปฮอป ในอดีตจะนำท่อน Drum Break ที่เรียกว่า Break Part มาลูปใช้งาน ส่วนนี้เขาจะเรียกว่า Break beat ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้การเต้นแนวนี้เรียกว่า B-Boy หรือ Bgirl ด้วยเช่นกัน

ปิดท้ายด้วยเรื่องการดูแลร่างกายตัวเอง เพราะสภาพร่างกายคือเรื่องตัวแปรสำคัญที่ทำให้แต่ละคนพรีเซนต์ท่าเต้นได้แตกต่างกัน หลัก ๆ คือต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเอง ช่วงไหนต้องนอน ต้องพัก ก็ต้องเบรกการปาร์ตี้ไว้บ้าง และเพิ่มการออกกำลังกายเข้าไป รวมทั้งต้องกินอาหารให้เพียงพอและวอร์มยืดเส้นก่อนเสมอ เพราะการอดทนวอร์มร่างกายช่วยให้เราเต้นได้สนุกขึ้น ไม่เจ็บตัว

 

Peace Generation จุดสไลว์ความสุดของ B-Boy

สันติภาพอาจจะเป็นคอนเซ็ปต์สำคัญของการอยู่ร่วมกันในวงการอื่น แต่กับ B-Boy ชินที่อยู่ในวงการมา 20 ปี ยืนยันว่านี่เป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ทำให้วงการสปีดตก ไม่ค่อยมันส์ เพราะมันทำให้กลุ่มก้อนสลาย คนอยากแบ่งปันกัน จนซ้ำไปซ้ำมา

“แต่ก่อนเราเคยแข่งกัน เคยทะเลาะกัน มันเคยแบตเทิลกัน คนละทีมเป็นก้อน ๆ ๆ จนปัจจุบันมันสลาย มันกลายเป็นทุกคนรู้จักกันหมด เผลอ ๆ ลงด้วยกัน สลับทีมกันได้ คือตอนนี้ generation มันเป็นแบบนี้ Peace Generation มันไม่ใช่ Generation แบบสมัยก่อน ผมรู้สึกว่าปัจจุบันมันแชร์กันมากเกินไปด้วย จนบางทีผมต้องการให้มันทะเลาะกันบ้าง

มึงทะเลาะกันบ้างเหอะ มันจะได้มันส์ ๆ จะได้ Motivate กัน

เพราะว่าฮิปฮอปมันเป็นเรื่อง Against กันเรื่องแบบทัศนคติอยู่แล้ว คือการที่มันมีทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน มันกลับทำให้ทุกคนมีการพัฒนา

ยิ่งเทคโนโลยีมันทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย พอมันเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ทุกคนก็ทำ YouTube ออกมาสอนโน่นนี่นั่น ทุกคนก็เป็นง่าย เพราะว่าทุกคนอยากจะแชร์เทคนิค สไตล์มันไม่ค่อยแตกต่าง ท่าของเด็กรุ่นใหม่มันเป็นท่าที่เหมือน ๆ กันไปหมด ฟอร์มมันดูเหมือน ๆ กันไปหมด แล้วก็มันค่อนข้างจะน่าเบื่อ

ข้อมูลวันนี้มันเร็ว คนนี้มาละเป็นแชมป์ ทุกคนดูแชมป์ Copy แชมป์ มันก็เร็ว แชมป์บางคนอาจจะเอาคลิปลง แต่ถึงบางคนเขาไม่เอาลง แต่ไปแข่ง วิดีโอมันก็ลงอยู่ดี พอลงคนก็เห็นกันหมด มันเลยดูไม่สนุกเท่าไหร่ บางคนเขาก็จะไม่เล่นโซเชียลเลยนะ ไม่เล่นไม่พูดอะไรพวกนี้เลยก็มี”

เป็น B-Boy ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นแค่ B-Boy

สรุปว่า B-Boy สำหรับพวกคุณคืออะไร นิยามมันหน่อยได้ไหม เราตัดสินใจถามคำถามที่เบสิกที่สุด แต่มั่นใจความกว้างของคำถามกับทัศนคติที่ต่างกันจะทำให้เราได้คำตอบที่ต่างกัน

“B-Boy สำหรับผมคือไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่กีฬานะ มันเป็นไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตมากกว่า เหมือนเราทำในสิ่งที่เราชอบก็ใช่ แต่ว่าเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันใช่หรือเปล่าตอนแรก แต่เราทำไปเรื่อย ๆ แล้วมันเพลิน แล้วอยู่ดี ๆ มันก็อินเฉยเลย แล้วมันก็ยาวเลย เราก็เข้าไปอยู่ในชีวิตตรงนี้กับมัน

แล้วมันให้ได้ทั้งเพื่อน ทั้งความอดทน ได้การ Motivate ตัวเองในการทำอย่างอื่นด้วยนะ ไม่ใช่แค่เรื่องการเต้น ถ้าพูดเป็นนิยาม นิยามมันน่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ที่ทำให้เราเติบโตมากขึ้น อันนี้ในมุมของผมนะ สำหรับผมมันทำให้เราเติบโตขึ้น ทำให้เราได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิตและทำให้เราพัฒนาขึ้น” – ชิน

“B-Boy สำหรับผมมันคือการเต้น แต่อารมณ์เหมือนเราได้เป็นตัวการ์ตูนหรือตัวละครในเกม เวลาเราซ้อมเต้น ทุกคนมันจะมีพลังวิเศษของตัวเอง โอเคทุกคนมีพื้นฐานท่าโน้น ๆ ท่านี้ แต่ว่าเวลาแข่งหรือเวลาไปเจอ แต่ละคนจะเด่นไม่เหมือนกัน แล้วเวลาเจอกัน ไอ้เหี้ยเหมือนแบบผมธาตุน้ำ เขาธาตุไฟ เขาหมุนมา ผมก็เอาท่าผมตัวอ่อนอัดไป ผมรู้สึกเหมือนมันได้เป็นพวกซูเปอร์ฮีโร่ ซูเปอร์ตัวร้ายในการเต้น ได้เป็นคาแรกเตอร์” – หมู

ปี 2024 การเต้น B-Boy Bgirl จะบรรจุเป็นหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกที่จัดการแข่งขันขึ้นที่ฝรั่งเศส ไม่ใช่แค่สตรีตคัลเจอร์อีกต่อไป

คนที่เต้น B-Boy ก็ไม่ได้มีแค่คนที่ฝันอยากจะเป็นคนเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเต้น B-Boy ยังมีครูอนุบาลหญิง มีหมอ หรือกระทั่งคนเจ๋ง ๆ ที่ทำกราฟิกให้กับภาพยนตร์ Avenger ที่หลงใหลและเต้น B-Boy ควบคู่เป็นไลฟ์สไตล์ไปสิ่งที่เขารัก

Subculture ที่เราเห็นวันนี้จึงไม่ใช่แค่คนเต้นท่ายาก ๆ แล้วดูเท่ ไม่ใช่แค่เรื่องแต่งตัวเท่ แต่เป็นคนที่ใช้ไลฟ์สไตล์แบบนั้นจริง ๆ โดยที่ยังสามารถฝันและทำอย่างอื่นได้ นิยามของ B-Boy ในแบบฉบับของแต่ละคนจึงต่างกัน แม้แต่ตัวของคุณเอง

จบบทความนี้แล้ว ถึงจะไม่ได้เป็น B-Boy แต่คุณจะเข้าใจ B-Boy มากขึ้นแล้วจากที่เคยรู้จักมันมา

ส่วนใครที่อยากโดดเข้ามาจอยวงการนี้แล้วยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เฮียชินเขาใจดีบอกเราว่า Inbox เข้าไปได้ที่ Page ของเขา B-boy Cheno 99Flava ได้เลย เขายินดีตอบเสมอ

 

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibut

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line