Entertainment

เจาะข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ TOKYO 2020 OLYMPICS เพื่อการรับชมร่วมเชียร์ที่ได้อรรถรส!!

By: NTman July 23, 2021

ขณะที่หลายคนกำลังอ่านบทความนี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียวกำลังดำเนินอยู่ เพื่อส่งสัญญาณการเริ่มต้นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครั้งที่ 32 อย่างเป็นทางการ

และในช่วงจังหวะเวลาเหมาะเจาะแบบนี้ เราจึงไม่พลาดที่จะรวบรวมข้อมูลน่าสนใจของ Tokyo 2020 Olympics ครั้งนี้ มาให้ชาว UNLOCKMEN ได้อ่านอุ่นเครื่องเพิ่มความอินในการรับชม และร่วมเชียร์ได้อย่างมีอรรถรสเต็มเหนี่ยวกันไปเลย


 

57 ปีที่รอคอย

มหกรรม Tokyo 2020 Olympics ที่ถูก COVID-19 เล่นงาน จนต้องถูกเลื่อนมาจัดในปี 2021 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 57 ปี ที่ตำแหน่งเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน หวนกลับมาสู่อ้อมอกชาวอาทิตย์อุทัยอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 1964 และถือเป็นชาติแรกของเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนถึง 2 ครั้ง

ซึ่งการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของญี่ปุ่นเมื่อครั้งอดีตนั้นมีความสำคัญในแง่ของการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลก ช่วยลบล้างทัศนคติเชิงลบของประเทศ ด้วยการสร้างชื่อเสียงของญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักในมุมมองของประเทศที่ทันสมัยและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงาม

หลังจากผ่านเวลามาอย่างยาวนาน ในที่สุดวงล้อแห่งโอลิมปิกก็หมุนวนมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ในการประชุมหาเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ที่อาร์เจนตินาเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา มี 3 เมืองใหญ่ได้ขับเคี่ยวเพื่อตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิก ทั้งอิสตันบูล มาดริด และโตเกียว จนสุดท้ายเหลือแค่โตเกียว และอิสตันบูลที่ต้องมาชิงชัยกัน ก่อนที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นจะชนะโหวตไปด้วยคะแนน 60 ต่อ 36 คว้าสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2020 กลับสู่ทวีปเอเชียอีกครั้งอย่างน่าภาคภูมิใจ

COOL FACT: โนบุสุเกะ คิชิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัย 1957 – 1960 ผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้ญี่ปุ่นขึ้นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 1964 มีศักดิ์เป็นตาทวดของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่รับหน้าที่ผลักดันญี่ปุ่นเข้าชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2020 จนเป็นผลสำเร็จ


 

มันส์กว่ากับชนิดกีฬาใหม่

จากทั้งหมด 33 ชนิดกีฬา 339 รายการแข่งขัน บอกเลยว่าคอกีฬาเอ็กซ์ตรีมเตรียมชมเตรียมเชียร์นักกีฬาโปรดของคุณไว้ให้ดี เพราะใน Tokyo 2020 Olympics ครั้งนี้ ได้มีการบรรจุชนิดกีฬาใหม่เข้ามาให้ได้ลุ้นกันเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นกีฬาสเก็ตบอร์ด, กีฬาโต้คลื่น และกีฬาปีนผา 

นอกจากนี้ด้วยการใช้สิทธิ์โควต้าเจ้าภาพของญี่ปุ่น จึงได้มีการบรรจุกีฬาใหม่อย่างคาราเต้ รวมไปถึงกีฬาเบสบอล/ซอฟท์บอล กีฬายอดนิยมของชาวญี่ปุ่นเข้ามาอีกครั้ง หลังจากการเคยมีการแข่งขันในโอลิมปิกปี 2008 ที่ปักกิ่ง  อีกทั้งกีฬากอล์ฟ  และรักบี้ 7 คน ที่เพิ่งถูกบรรจุลงในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ ก็ยังคงได้ไปต่อ มีให้แฟน ๆ ได้ชมได้เชียร์กันอีกครั้งในโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว

(คลิกเพื่ออ่านบทความ 7 นักกีฬาที่น่าจับตามองใน 6 ชนิดกีฬาใหม่ใน ‘Tokyo 2020 Olympics’)


 

โอลิมปิกสีเขียว

เราไม่ได้กำลังพูดถึงสีประจำการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ แต่โอลิมปิกสีเขียวที่ว่าหมายความถึงความตั้งใจของประเทศเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่น ที่วางหมุดหมายให้ Tokyo 2020 Olympics นั้นเป็น Sustainable Games หรือโอลิมปิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน

กับเป้าหมายการปล่อย CO2 ให้น้อยที่สุดที่ตัวเลขประมาณ 2.93 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าการแข่งขัน London Games 2012 ที่มีสถิติการปล่อย CO2  สูงถึง 3.3 ล้านตัน

ซึ่งนโยบาย Eco-Friendly ในโตเกียวโอลิมปิก นั้นได้โชว์ไอเดียลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหรียญรางวัลที่ออกแบบโดย จุนอิจิ คาวานิชิ  ซึ่งใช้วัสดุรีไซเคิลจากขยะอิเลกทรอนิกส์ ที่ได้มีการเปิดโครงการรับบริจาคขยะอิเลกทรอนิกส์จากภาคประชาชน และกลุ่มองค์กรธุรกิจทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, พีซี, แล็บท็อป, กล้อง, ทีวี, เกมคอนโซล รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2017

นอกจากนี้ยังใช้แท่นโพเดียมที่ผลิตจากจากขวดพลาสติกรีไซเคิล, มีเตียงกระดาษสำหรับนักกีฬา ซึ่งเมื่อจบการแข่งขันเตียงจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับขยะจากพลาสติกโพลีเอธิลีน, ระบบแสงสว่างในสนามที่มาจากพลังงานสะอาด, มีการกักเก็บน้ำฝนเพื่อใช้ในการทำความสะอาดและดูแลสวน รวมไปถึงชุดนักวิ่งคบเพลิงและคบเพลิงที่ทำจากขวดพลาสติก อีกทั้งยังมีการเปิดตัวชุดนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นจาก Asics ที่ผลิตขึ้นจากเสื้อผ้าเหลือใช้ที่ได้รับการบริจาคมาเป็นจำนวนกว่า 30,000 ชิ้น


 

โปรแกรมเชียร์ทัพนักกีฬาไทยในโตเกียวโอลิมปิก

สำหรับการแข่งขัน Tokyo 2020 Olympics ประเทศไทยของเราได้ส่งทัพนักกีฬาเข้าร่วมกว่า 41 ชีวิต (เดิมทีมีนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าสู้ศึกจำนวน 42 คน แต่ ‘ธิติสรรณ์ ปั้นโหมด’ ดาวรุ่งมวยสากล มีอาการบาดเจ็บกะทันหันจำเป็นต้องถอนตัวออกไป) จาก 14 ชนิดกีฬา 

แต่นอกจาก 5 กีฬาความหวังลุ้นเหรียญโอลิมปิกอย่าง มวยสากล / เทควันโด / แบดมินตัน / ยิงปืน&ยิงเป้าบิน และ กอล์ฟ เราเชื่อว่านักกีฬาประเภทอื่น ๆ ก็ต้องการแรงเชียร์แรงใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งชาว UNLOCKMEN ทั้งหลายสามารถตามเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยทั้ง 41 ชีวิต ได้จากโปรแกรมการแข่งขันของทัพนักกีฬาไทย ที่เรารวบรวมมาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

(*ขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ – www.bangkokbiznews.com)

กรีฑา: 30 ก.ค. – 8 ส.ค. 64
  • คีริน ตันติเวทย์ (วิ่ง 10,000 ม. ชาย)
  • สุเบญรัตน์ อินแสง (ขว้างจักรหญิง)
กอล์ฟ: 29 ก.ค. – 1 ส.ค. / 4-7 ส.ค. 64
  • กัญจน์ เจริญกุล (ชาย)
  • เหมียว – ปภังกร  ธวัชธนกิจ (หญิง)
  • แจ๊ส – อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์ (ชาย)
  • เม – เอรียา จุฑานุกาล (หญิง)
ขี่ม้า: 23 – 25 ก.ค. / 27 ก.ค. – 7 ส.ค. 64
  • นัท – กรธวัช สำราญ (ทีมอีเว้นท์ติ้ง)
  • บอมบ์ – วีรภัฎ ปิฏกานนท์ (ทีมอีเว้นท์ติ้ง)
  • มิ้นท์ – อารีย์ณัฏฐา ชวตานนท์ (ทีมอีเว้นท์ติ้ง)
จักรยาน: 24 ก.ค. – 8 ส.ค. 64
  • บีซ – จุฑาธิป มณีพันธุ์ (จักรยาน ถนน)
  • ฟ้า – ชุติกาญจน์ กิจวานิชเสถียร (จักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์ เรซซิ่ง)
เทควันโด: 24 – 27 ก.ค. 64
  • เทนนิส – พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (รุ่น 49 กก. หญิง)
  • จูเนียร์ – รามณรงค์ เสวกวิหารี (รุ่น 58 กก.ชาย)
เทเบิลเทนนิส: 24 ก.ค. – 6 ส.ค. 64
  • หญิง – สุธาสินี เสวตรบุตร (หญิงเดี่ยว)
  • ทิพย์ – อรวรรณ พาระนัง (หญิงเดี่ยว)
แบดมินตัน: 24 ก.ค. – 2 ส.ค. 64
  • กันต์ – กันตภณ หวังเจริญ (ชายเดี่ยว)
  • กิ๊ฟ – จงกลพรรณ กิติธรากุล (หญิงคู่)
  • บาส – เดชาพล พัววรานุเคราะห์ (คู่ผสม)
  • ปอป้อ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย (คู่ผสม)
  • ครีม – บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ (หญิงเดี่ยว)
  • วิว – รวินดา ประจงใจ (หญิงคู่)
  • เมย์ – รัชนก อินทนนท์ (หญิงเดี่ยว)
มวยสากล: 24 ก.ค. – 8 ส.ค. 64
  • จุฑามาศ จิตรพงศ์ (รุ่น 51 กก.หญิง)
  • ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี (รุ่น 57 กก. ชาย)
  • ใบสน มณีก้อน (รุ่น 69 กก. หญิง)
  • สุดาพร สีสอนดี (รุ่น 60 กก. หญิง)
ยิงปืนและยิงเป้าบิน: 23 ก.ค. – 2 ส.ค. 64
  • เอิน – ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ (ยิงปืน ปืนสั้นสตรี 25 ม.)
  • ธันยพร พฤกษากร (ยิงปืน ปืนสั้นสตรี 25 ม.)
  • เศวต เศรษฐาภรณ์ (ยิงเป้าบิน แทร็ป ชาย)
  • สุธิยา จิวเฉลิมมิตร (ยิงเป้าบิน สกีต หญิง)
  • อิศราภา อิ่มประเสริฐสุข (ยิงเป้าบิน สกีต หญิง)
  • อิสรานุอุดม ภูริหิรัญพัชร์ (ยิงปืน ปืนสั้นยิงเร็ว 25 ม. ชาย)
ยูโด: 24 – 31 ก.ค.  64
  • กชกร วรสีหะ (รุ่น 52 กก.หญิง)
เรือกรรเชียง: 23 – 30 ก.ค. 64
  • นวมินทร์ ดีน้อย (เรือกรรเชียง 2 ฝีพาย ชาย รุ่นไลท์เวท)
  • ศิวกร วงศ์พิณ (เรือกรรเชียง 2 ฝีพาย ชาย รุ่นไลท์เวท)
เรือแคนู: 25 – 30 ก.ค. และ 2 – 7 ส.ค. 64
  • อรสา เที่ยงกระโทก (เรือแคนู สปริ้นท์ 1 คน หญิง 200 ม.)
เรือใบและวินด์เซิร์ฟ: 25 ก.ค. และ 4 ส.ค. 64
  • กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม (เรือใบ เลเซอร์ เรเดียล หญิง)
  • ณัฐพงษ์ โพธิ์นพรัตน์ (วินด์เซิร์ฟ อาร์เอส:เอ็กซ์ ชาย)
  • ศิริพร แก้วดวงงาม (วินด์เซิร์ฟ อาร์เอส:เอ็กซ์ หญิง)
ว่ายน้ำ: 24 ก.ค. – 1 ส.ค. 64
  • จอย – เจนจิรา ศรีสอาด (ฟรีสไตล์ 50, 100 ม. หญิง)
  • ไวน์ – นวพรรษ วงค์เจริญ (ผีเสื้อ 100, 200 ม.ชาย)

ซึ่งใครที่อยากติดตามให้กำลังใจผ่านหน้าจอแบบเกาะติดสามารถรับชมถ่ายทอดการแข่งขัน Tokyo 2020 Olympics ผ่านทางดิจิทัลทีวีได้ที่ช่อง NBT2HD, ThaiPBS (3), JKN18, True4U (24), GMM25, PPTVHD 36  และทาง TSports Channel รวมไปถึงรับชมผ่านมือถือหรือทาง Smart TV ผ่านแอปฯ  AIS PLAY (สามารถเช็คโปรแกรมการแข่งขันรายวันโดยละเอียดผ่านสื่อโซเชียลของช่องต่าง ๆ ได้เลย)

และสุดท้ายนี้เราขอเป็นตัวแทนส่งกำลังใจนักกีฬาไทยทุกคนสามารถคว้าเหรียญกลับมาฝากแฟน ๆ กีฬา ให้ได้เป็นอีกหนึ่งความสุขท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังวิกฤตอยู่ ณ ตอนนี้… ไทยแลนด์ สู้!!

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line