Life

เป็นลูกผู้ชายมากเกินไปก็ไม่ดี! ‘Toxic Masculinity’ เมื่อความเป็นชายส่งผลเสียต่อตัวผู้ชายเอง

By: unlockmen June 29, 2022

คำสอนเรื่อง ‘ลูกผู้ชาย’ ก็เหมือนดาบ 2 คม ส่งผลดีและร้าย ด้านหนึ่งมันก็ทำให้ผู้ชายรู้จักทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้ผู้ชายไม่เป็นตัวของตัวเอง ใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีความสุข ร้ายที่สุดอาจส่งผลให้ผู้ชายใช้ความรุนแรงกับคนอื่นด้วย

การสอนเรื่องลูกผู้ชายแบบผิดเป็นใหญ่ จนมีการนิยามคำว่า ความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ขึ้นมาเพื่ออธิบายมันเลยทีเดียว ในบทความนี้ UNLOCKMEN เลยอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงผลเสียของ Toxic Masculinity และวิธีการรับมือกับมัน

Toxic Masculinity คืออะไร ? ทำไมถึงส่งผลเสียต่อลูกผู้ชาย ?

คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า พฤติกรรมของคนเกิดจากการกระทำของตัวพวกเขาเอง เช่น กรณีของคนตกงานที่มักถูก shaming ด้วยคำพูดต่างๆ อาทิ “ถ้าพยายามมากกว่านี้ก็คงได้งานแล้ว” เป็นต้น โดยมองข้ามปัจจัยอื่นๆ เช่น โอกาสในการหางานใหม่ หรือ ภาวะทางเศรษฐกิจ

กรณีของผู้ชายเลวก็ไม่ต่างกัน พฤติกรรมเลวๆ ของพวกเขามักถูกตัดสินว่าเกิดจากนิสัยหรือสันดานของตัวพวกเขาเอง ซึ่งนักสังคมวิทยาจะมองเรื่องนี้ต่างออกไป

พวกเขาไม่ได้มองว่ามันเกิดจากนิสัยของพวกเขาเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ส่งผลให้ผู้ชายทำพฤติกรรมไม่ดีได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การสั่งสอนเรื่องลูกผู้ชายแบบผิดๆ ที่เรียกกันว่า ‘Toxic Masculinity’


Toxic Masculinity หมายถึง วัฒนธรรมความเป็นลูกผู้ชายที่เป็นพิษ ที่ส่งผลเสียต่อทั้งสังคมและตัวผู้ชายเอง ยกตัวอย่างเช่น การสอนให้เด็กผู้ชายต้องทำตัวเป็นลูกผู้ชาย โดยการห้ามแสดงอารมณ์ ต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ ซึ่งการเก็บอารมณ์ หรือ เรื่องแย่ๆ ไว้ในใจตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ชายเกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

ที่ผ่านมาก็ได้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามอธิบายถึงผลกระทบของ Toxic Masculinity เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากวารสาร Sex Roles ได้วิเคราะห์แบบสำรวจชายและหญิงสูงอายุชาวสหรัฐฯ (Wisconsin Longitudinal Survey) จำนวน 5,487 คน และพบว่า Toxic Masculinity มีผลเสียต่อผู้ชาย เพราะแนวคิด Toxic Masculinity มีพื้นฐานจากแนวคิดการอยู่สันโดษ (Isolation) การมีอิสระเสรีภาพ และไม่แสดงอารมณ์ และเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากนักจิตวิทยา Y. Joel Wong ที่ได้ทำการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) งานวิจัย 74 ชิ้นที่มีกลุ่มตัวอย่างผู้ชายรวมกันกว่า 19,000 ราย และพบว่า ลักษณะความเป็นชาย (แบบ old school) อาจส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความทุกข์ทรมาน และการมองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ

เมื่อผู้ชายถูกสอนให้ต้องพึ่งพาตัวเอง พวกเขาจะมองหาความช่วยเหลือจากคนอื่นน้อยลงด้วย เพราะพวกเขามองว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาดูอ่อนแอ และลูกผู้ชายคนอื่นเขาไม่ทำกัน ส่งผลให้เวลาพวกเขาเจอกับปัญหาที่แก้ไขได้ยาก พวกเขาจะไม่ปรึกษาใคร และจมอยู่กับปัญหา ส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ตามมา

Toxic Masculinity เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ชายใช้ความรุนแรงกับคนอื่นมากขึ้นด้วย อ้างอิงจาก Tristan Bridges และ Tara Leigh Tober สองนักสังคมวิทยา ผู้ชายมีโอกาสใช้ความรุนแรงมากขึ้น เมื่อความเป็นชาย และสิทธิพิเศษของพวกเขาถูกคุกคาม กล่าวคือ เมื่อผู้ชายถูกสอนให้อยู่เหนือกว่าผู้หญิงในทุกเรื่อง ความขัดแย้งและความรุนแรงในความสัมพันธ์เลยมีโอกาสเกิดสูงขึ้น

Toxic Masculinity ยังลดทอนความหลากหลายของมนุษย์ เพราะทำให้คุณสมบัติบางอย่างเป็นเรื่องเด่น เช่น ความแข็งแกร่ง ความเป็นผู้นำ และบางคุณสมบัติเป็นเรื่องด้อย เช่น ความเจ้าอารมณ์ หรือ ความนิ่งเงียบ เป็นต้น ส่งผลให้ ผู้ชายที่มีคุณสมบัติด้อยตามที่สังคมกำหนด ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข


จะเอาชนะ Toxic Masculinity ได้อย่างไร ?

แต่ทุกคำสั่งสอนเกี่ยวกับลูกผู้ชายก็ไม่ได้ Toxic ไปซะหมด ยกตัวอย่างเช่น การสอนให้ผู้ชายทุ่มเทกับงาน หรือ หาเลี้ยงครอบครัว เหล่านี้ก็มองเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ชายและคนในสังคมได้เหมือนกัน

ซึ่งการรับรู้ก่อนว่าอะไรคือ Toxic Masculinity อะไรไม่ใช่ เป็นสิ่งแรกที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนทำเพื่อเอาชนะ Toxic Masculinity เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าความเชื่อไหนมีประโยชน์ ความเชื่อไหนมีโทษ เราก็จะจัดการกับความเชื่อเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องเก็บอารมณ์ เพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เราก็จะสนใจอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น เช่น อาจไปปรึกษากับคนอื่น หรือ ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์

ถ้าเรารู้แล้วว่าตัวเองกำลังทำงานหนักมากเกินไป และการบริหารเวลา รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวกำลังอยู่ในขั้นย่ำแย่ เราก็อาจแก้ไขโดยการนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับที่ทำงาน หรือ อาจจะบริหารจัดการเวลาในการทำงานใหม่เพื่อให้มีเวลาสำหรับครอบครัวมากขึ้น (เทคนิคการแบ่งเวลาแบบ ‘60-30-10’ ก็น่าสนใจ ถ้าใครอยากศึกษาเพิ่มเติมสามารถไปอ่านได้ที่:https://www.unlockmen.com/60-30-10-time-management/)

หรือ ถ้าเรารู้แล้วว่าการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเป็นเรื่องปกติ และส่งผลดีต่อสุขภาพจิต เราก็จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นมากขึ้น

UNLOCKMEN เชื่อว่าไม่มีใครสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง บางปัญหาจะแก้ไขได้ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นจริงๆ เพราะฉะนั้น อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากใคร แล้วเราจะผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี!

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหา Toxic Masculinity จะถูกแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องรณรณค์เรื่องนี้กับคนรอบข้างด้วย เช่น ไม่สอนเด็กผู้ชายให้เก็บอารมณ์ หรือ การไม่ยอมรับความอยุติธรรมทางเพศ เป็นต้น เมื่อเราหยุดยั้งการแพร่กระจายของ Toxic Masculinity ได้แล้ว เราเชื่อว่าทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน!!!


 

Appendixs: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line