World

อีกไม่กี่อาทิตย์มาแน่! อัปเดต 5 เทรนด์โลกปี 2020 ที่ผู้ชายต้องรู้จักและทำตามก่อนใคร

By: anonymK December 7, 2019

ขณะที่เราใช้เวลาเดินทางมาถึงกระดาษแผ่นสุดท้ายของปฏิทิน อีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้าก็ถึงเวลาเตรียมเข้าสู่ศักราชใหม่ เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มจินตนาการว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วจะดีกว่าปีนี้หรือเปล่า ?

เพื่อคลายความสงสัย และตั้งหลักได้ก่อนใคร UNLOCKMEN ขอนำเทรนด์ในปี 2020 ที่ TrendWatching รวบรวมไว้ทั้ง 5 ข้อมาแบ่งปันให้เกาะกระแสดังนี้

GREEN PRESSURE ปรากฏการณ์กดดันให้ใช้สีเขียว

อย่างที่รู้ กันแล้วว่าปี 2019 ที่คือปีแห่งการรณรงค์เพื่อความยั่งยืน ช่วยโลก อุดหนุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่ตามกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม จนทำให้ใครก็ตามที่ใช้สิ่งของจากแบรนด์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าอีโคทำจากขยะพลาสติก นันยางทำจากขยะรองเท้าแตะในทะเล ขวดสไปร์ทใส หรือการลดใช้ทุกสรรพสิ่งที่ก่อมลพิษ เป็นคนเท่ เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม

แต่ปี 2020 จากความเท่จะกลายเป็นความธรรมดา เพราะผลิตภัณฑ์แนว Eco ต่าง เริ่มมีราคาถูกลง คนสามารถเอื้อมถึงได้ไม่ต่างจากการใช้สินค้าปกติ เรื่องปฏิเสธการใช้งานจึงไม่ใช่ข้ออ้างอีกต่อไป! ดังนั้น ปีหน้าถ้าคุณไม่ทำ คุณจะถูกทำให้ต้องจำยอมด้วยกระแสสังคมที่เริ่มหันมาประณามคุณ และแบรนด์ที่ออกมาต่อต้านกลาย เพื่อบังคับให้ทำตามด้วย

ตัวอย่างของแคมเปญและแบรนด์สินค้าที่จะมาบีบให้รักษ์โลก

  • ‘Doconomy’ พาร์ตเนอร์บัตรเครดิต Mastercard ที่สร้างระบบเครดิตสกอร์จากพฤติกรรมการลดคาร์บอนของผู้ใช้ ถ้าผู้ใช้ไม่ช่วยโลกลดคาร์บอนระบบจะบล็อกการใช้งานของบัญชีจนไม่สามารถทำธุรกรรมได้ แถมตัวบัตรใบนี้ยังใช้กรรมวิธีการผลิตด้วย Air Ink (หมึกที่สร้างขึ้นจากมลพิษทางอากาศ) อีกด้วย

  • แคมเปญ ‘Meltdown’ ของเล่นจาก Burger King อีกแคมเปญที่ออกมาสนับสนุนการนำของเล่นพลาสติกกลับมารีไซเคิลใหม่ เนื่องจากปกติแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดมักจัดเซตอาหารคู่กับของเล่น เพื่อไม่ให้ของเล่นมีจุดจบในถังขยะอย่างไร้ความหมาย Burger King จึงอาสารับของเล่นที่ไม่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นพลาสติกจากแบรนด์ตัวเองหรือแบรนด์คู่แข่งกลับมารีไซเคิลใหม่อีกครั้ง ส่วนคนที่นำของเล่นชิ้นนี้มาบริจาคและซื้อเมนูสำหรับผู้ใหญ่จะได้รับ King Junior Meal แบบฟรี กลับบ้านไป

 

BRAND AVARTARS แบรนด์จะหันมามี Avatars เป็นของตัวเอง

ปีนี้อาจจะเริ่มมีทยอยให้เห็นบ้างแล้วกับ Avartars เสมือนของแบรนด์ที่ออกมาเรียกกระแสจากผู้บริโภค เจ้า Avatars เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้แบรนด์ได้เป็นอย่างดีบนโลกออนไลน์ทั้งที่ไม่มีตัวตนในชีวิตจริง เช่น Lil Miquela สาว virtual influencer คนดังที่ตีเสมอความดังเทียบเท่าซูเปอร์โมเดลอย่าง Bela Hadid ในแคมเปญของ Calvin Klien

แต่พลังของ Brand Avartars ที่เกิดขึ้นปีหน้าจะดุเดือดกว่านี้ เพราะบรรดา Avartars เสมือนจะมีความสามารถเพิ่มและเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริงจะช่วยสร้าง Royalty ให้แบรนด์ และ Avartars ทั้งหลายจะอยู่ในฐานะเพื่อนของผู้บริโภค ดังนั้น คนที่จะไปได้ไกลกว่าจึงต้องไม่ลืมเรื่องการสร้าง Brand Avartars เป็นของตัวเอง

ตัวอย่างของ Brand Avartar ที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้

  • YUMI แบรนด์แอมบาสเดอร์จาก AI คนใหม่ที่ SK-II ประกาศแต่งตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 เธอเป็นสาวสวยที่ไม่ได้มีใบหน้าเพอร์เฟกต์จนดูปลอม ทว่ามีคาแรกเตอร์ตอบโจทย์ความอบอุ่นเพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้าหาและเข้ามาในร้านค้า แต่ตอนนี้เธอยังไม่ได้รับการ launch ประกาศวันใช้งานจริง

 

METAMORPHIC DESIGN ยุคนี้ทุกสิ่งเปลี่ยนเพื่อผู้บริโภค

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ปีหน้าจะเป็นที่สุดของการบริการตามใจผู้บริโภคในรูปแบบดิจิทัล อะไรที่คุณคิดว่าเซอร์วิสแบบนี้ไม่น่าจะมีให้เห็นในโลกดิจิทัล จะมีเพิ่มขึ้น เพราะตราบใดที่ความต้องการของมนุษย์ไม่สิ้นสุด การแก้ปัญหาในรูปแบบการให้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่จะเกิดขึ้นเสมอ

ตัวอย่างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของบริการที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้และจะมีให้เห็นในแบบอื่น ในปีหน้า

  • Optune รูปแบบการให้บริการเรื่องสกินแคร์แล้วใหม่ที่ให้ผู้ใช้งานถ่ายรูปเซลฟี่ของตัวเองทุกวันผ่านแอปพลิเคชัน จากนั้นอัลกอริทึมจะทำงานวิเคราะห์ผิวหน้า และเข้าไปติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งอุณหภูมิและความชื้น รวมทั้งข้อมูลการหลับพักผ่อน เมื่อประมวลผลเสร็จจะจัดส่งข้อมูลครีมที่วิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะบุคคลแนะนำผ่านอุปกรณ์นั้น
  • TONAL นวัตกรรมโค้ช AI เครื่องออกกำลังกายดิจิทัลก็เปลี่ยนประสบการณ์เดิมที่เราไม่คิดว่าจะมี แต่มันก็โผล่มาจริง หน้าตาของมันจะเป็นจอสี่เหลี่ยม ติดอุปกรณ์ด้านข้างให้เราดึงฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อไม่ต่างจากยิม ที่สำคัญยังมีระบบทดสอบความฟิต มีท่าทางให้ฝึกทำตามทีละสเตปด้วย

 

THE BURNOUT เทรนด์จับความสิ้นหวัง

รายงาน National Working Families (2019) ระบุว่า 2 ใน 3 ของพ่อแม่ที่อยู่ในวัยทำงานชาวออสเตรเลียพยายามดูแลสุขภาพตัวเองเพราะพบความตึงเครียดระหว่างทำงานและดูแลลูก โดย 1 ใน 4 ของจำนวนคนทั้งหมดกำลังคิดเรื่องการลาออก

71% ของผู้หญิงและ 66% ของผู้ชายชาวสิงคโปร์รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพ “Always on” เรื่องการทำงาน พวกเขาต้องเข้าถึงงานได้เสมอ ทั้งการรับโทรศัพท์ติดต่อและการเช็กอีเมล  (Cigna, March 2019)

ทุกวันนี้หลายผลสำรวจยืนยันว่าความเครียด ความกดดันและสิ้นหวังของฝูงชนกลายเป็นสิ่งเกิดเพิ่มขึ้นทุกวัน และภาวะต้องทำตัวมีไฟตลอดเวลา รับแรงกดดันจากงานที่ต้องเป็นมืออาชีพยิ่งผลาญไฟในการทำงานไปจนหมด จึงทำให้องค์การอนามัยโรคระบุให้ Burnout หรือภาวะความเหนื่อยหน่ายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ด้านสุขภาพ

ปี 2020 เป็นปีแห่งการสุมไฟที่เจียนมอดและบางคนอาจจะดับไปแล้ว แบรนด์ไหนที่ออกมาแสดงความใส่ใจและเกาะกระแสข้อมูลเหล่านี้ไว้รับรองว่าน่าจะสร้างแคมเปญไวรัลดี หรือสร้างผลิตภัณฑ์ให้ถูกทางถูกใจผู้บริโภคได้ ดังนั้น ปีหน้าเราจะมีโอกาสเห็นองค์กรสร้างนวัตกรรมและบริการที่หันมาให้ความสนใจสิ่งนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับในปีนี้มี 2 องค์กรใหญ่ที่ลุกมาเข้าเทรนด์ เห็นใจคนเหนื่อยหน่ายปรับเปลี่ยนยกใหญ่

  • องค์กรแรก Microsoft ญี่ปุ่นออกมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่เรื่องการทำงาน ที่หลายคนแชร์กันไปทั่วบ้านทั่วเมือง คือการวางโปรเจกต์ให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการทำงาน ช่วยให้พนักงานรู้สึกกดดันน้อยลงและอยากทำงานมากขึ้น และผลงานการทดลองครั้งนี้ค่อนข้างน่าตกใจ เพราะเวลานั่งโต๊ะที่น้อยลงสวนทางกับประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นถึง 40% (อ่านรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)

  • ตามติดด้วยแคมเปญ “Let’s celebrate sleep, everyday” ที่ริเริ่มจาก IKEA อินเดีย บริษัทค้าเฟอร์นิเจอร์ที่เอาเรื่อง Burnout มาประยุกต์ให้เข้าเทรนด์ โดยนำผลการวิจัยที่กล่าวว่า 63% ของคนหม่น ไร้ความสุขแปรตามชั่วโมงการนอนที่พวกเขามี ยิ่งนอนน้อยยิ่ง Burnout มาก มาเล่าเรื่องไทด์อินการขายด้วยการนำสภาพแวดล้อมของคนอินเดียยามค่ำที่หลับไม่สนิทเพราะแสง เสียง และสิ่งอื่นรบกวน ก่อนจับมาแก้ไขเพื่อให้สามารถนอนหลับได้นานและมีคุณภาพมากขึ้นผ่านการเลือกเฟอร์นิเจอร์ นำเสนอทางแก้ที่ช่วงนี้คนเครียด และรู้สึกหมดไฟหลายคนกำลังเป็น

 

CIVIL MEDIA สื่อสังคมวงย่อมและมีความหมาย

ปี 2020 คนจะหาทางออกจาก Toxic ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ สร้างชุมชนใหม่ที่ย่อมลงและใกล้ชิดเพื่อโอบกอดกันและกัน แสดงตัวตน รวมทั้งโต้ตอบกันอย่างมีคุณภาพ

ปรากฏการณ์สร้างโซเชียลวงแคบนี้ไม่ใช่แค่เจ้าของสื่อใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมหรือทวิตเตอร์เท่านั้นที่พยายามจะลบบัญชีปลอมที่เกิดขึ้นมากมายออกไปเพื่อให้เหลือแค่เจ้าของบัญชีตัวจริง ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากการยับยั้งผู้คนที่กลั่นแกล้งกันบนโลกเสมือน และลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่าง ที่เป็นปัญหาบนโลกออนไลน์จากบัญชีผีหรือที่เราเรียกกันว่า แอคฯ หลุม

นอกจากสื่อใหญ่ที่ประกาศตัวว่าจะลดจำนวนผู้ใช้ไร้ตัวตนลงแล้ว คนที่นำเทรนด์นี้มาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นก็เริ่มทยอยเกิดขึ้นในปีนี้ โดยออกแบบให้มีความเฉพาะทางเหมาะกับผู้ใช้ และนี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้

  • Quilt แอปพลิเคชันสร้างสังคมจริงในกลุ่มหญิง แอปฯ นี้แตกต่างจากโซเชียลทั่วไปเพราะต้องเสียเงินเพื่อสมัครเข้าไปใช้บริการ โดยในแอปฯ จะเชื่อมพื้นที่คุณภาพจากสังคมออนไลน์สู่ออฟไลน์ ทำให้พวกเธอสามารถหาคนคอเดียวกันที่พูดคุยเรื่องลึก ด้วยกันได้ ไปแฮงก์เอาต์ด้วยกัน การเชื่อมคนให้ถึงคนเป็นทางออกแก้การกลั่นแกล้งได้ดีและช่วยให้ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น

  • อีกสักแบรนด์ที่สร้างไวรัลด้วยการสร้างแคมเปญ  “No Estas Solo” หรือ You are Not Alone แคมเปญน้ำดีของ สไปร์ทที่ร่วมกับ Reddit เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจและสื่อสารกันในหมู่วัยรุ่น ให้มาพูดคุยปัญหา เปิดใจ เพื่อให้รู้ว่าคุณไม่ใช่คนเดียวบนโลกที่เจอเรื่องแบบนี้ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหนสำหรับคนอื่นก็ตาม

 

OUR OPINIONS

จากที่เราดูมาทั้งหมด ส่วนตัวคิดว่าเรื่อง Green Pressure กับ The Burnout น่าจะใกล้กับบ้านเรามากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่สังคมกำลังตื่นตัว ทั้งเรื่องการลดใช้พลาสติกและอุดหนุนของที่สามารถย่อยสลายได้ ส่วน Burnout เรามองมันพ่วงกับการรักษาสุขภาพจิตทางเลือกที่เราเริ่มเห็นเพิ่มขึ้น ทั้งทางแอปพลิเคชันการปรึกษาและโซเชียล หรือปัญหาเรื่องการนอนหลับเราก็เห็น Youtuber ชาวไทยหลายคน ทำคลิป ASMR มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องยืนยันเทรนด์ได้ดี ส่วนเรื่องอื่นอย่าง Avartars ที่ใช้การลงทุนมาก หรือการสร้างนวัตกรรมล้ำ ๆ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและการลงทุนสูงเราคงเห็นภาพชัดเจนจากต่างประเทศมากกว่า

เทรนด์เป็นเรื่องมาเร็ว แต่บางอย่างอาจอยู่นานและมีผลกับพวกเรากว่าที่คิด แล้วชาว UNLOCKMEN ล่ะ คิดว่า 5 เรื่องนี้ เรื่องไหนเป็นกระแสหลัก เรื่องไหนเป็นกระแสรอง ?

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line