Entertainment

SPIDER MAN 101 รวมทุกเวอร์ชั่น ย้อนจุดกำเนิดไอ้แมงมุม ปูพื้นฐานก่อนชม NO WAY HOME

By: unlockmen December 20, 2021

จากคอมมิคที่แปลกและแตกต่างของโลก Super Hero ในยุค 60s นับเป็นเวลาที่ยาวนานไม่ใช่น้อยสำหรับไอ้แมงมุม หรือ Spider-Man ที่โลดแล่นบนทั้งหน้ากระดาษ ทั้งจอทีวีในรูปแบบอนิเมชั่น มาจนถึงรูปแบบภาพยนตร์จอใหญ่ แต่ถึงกระนั้น Spider-Man ก็หาได้หยุดนิ่งไม่ สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในจักรวาลของไอ้แมงมุมมาตลอด 60 ปี

และเพื่อต้อนรับหนัง Spider-Man No Way Home ที่ฉายให้ชมกันในโรงภาพยนตร์ เรามาดูการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างของซูเปอร์ฮีโร่ ที่มีทั้งรูปแบบชะตากรรมสุดรันทดจนไปถึงเวอร์ชั่นเกรียนทะลุจอกัน มาดูกันว่าไอ้แมงมุมเวอร์ชั่นไหนที่ตรงใจคุณมากที่สุด


จุดกำเนิดไอ้แมงมุม จากการ์ตูนสั้น ปั่นกระแสจนเป็นการ์ตูนคลาสสิค

คาแรคเตอร์ไอ้แมงมุมนั้น ถือกำเนิดขึ้นมาแบบไม่ไม่ได้ตั้งใจนัก กล่าวคือ Stan Lee ผู้จุดกำเนิดไอเดีย และ Steve Ditko ศิลปินนักวาดการ์ตูนนั้นกำลังเฟ้นหาไอเดียใหม่ ๆ ของสุดยอดวีรบุรุษหลังจากพวกเขาแบกรับความสำเร็จจากการ์ตูน Fantastic Four ความกดดันถาโถมเขาอย่างหนัก

จนกระทั่งวันหนึ่ง เขามองเห็นแมงมุมไต่อยู่ตรงผนัง Stan Lee ก็เกิดไอเดียขึ้นโดยฉับพลัน ถึงเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกแมงมุมกัดจนเกิดปฏิกิริยาส่งผลให้เขามีพลังเหนือมนุษย์ แต่ในช่วงนั้นเขาพบว่าซูเปอร์ฮีโร่ส่วนใหญ่จะเป็นวัยผู้ใหญ่มากกว่า เขาจึงลองออกแบบดีไซน์ซูเปอร์ฮีโร่วัยรุ่นดูบ้างเพื่อหาไอเดียที่แตกต่างและหลากหลาย แต่ในตอนต้น กองบก.ใน Marvel กลับไม่มีใครเห็นด้วยกับไอเดียของเขาเลย มีการถกเถียงกันถึงอายุของ Peter Parker ที่ในตอนแรกจะให้ชื่อ Spider-Boy แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ชื่อ Spider-Man และให้ Peter คือเด็กที่ย่างก้าวเข้าสู่วัยรุ่นนั่นคืออายุ 15 นั่นเอง

ซ้ำร้ายชะตากรรมในฉบับคอมมิคนั้นก็รันทดเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียลุง Ben และอยู่กับป้า May ด้วยความยากจน เขาจำต้องทำงานเสริมตั้งแต่ยังเด็กเพื่อประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดได้ เขาจึงแตกต่างไปจากคาแรคเตอร์วีรบุรุษคนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง

ในตอนต้น Stan Lee ตั้งใจจะทำคาแรคเตอร์นี้เพียงคั่นเวลาด้วยการนำเสนอแบบจบในตอน แต่เมื่อฉบับแรกออกตีพิมพ์เมื่อปี 1962 ในชื่อ Amazing Fantasy #15 กลับได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามในฐานะวีรบุรุษติดดินที่เป็นตัวแทนของชนชั้นล่างที่สู้ชีวิต และถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Bob Dylan ในฐานะเจ้าหนูมหัศจรรย์ ทำให้เรื่องราวของไอ้แมงมุมถูกเขียนต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้นจวบจนปัจจุบัน

 


Spider-Man เวอร์ชั่นแรกที่แสนอาภัพ

คุณอาจจะคิดว่า Spider-Man เวอร์ชั่น Live Action คนแรกที่มารับบทคือ Tobey Maguire แต่แท้ที่จริงแล้ว Spider-Man เวอร์ชั่นคนแสดงนั้นถูกสร้างมาตั้งแต่ยุค 70s โดยผู้รับบท Peter Parker คนแรกนั่นก็คือ Nicholas Hammond ต่างหาก แม้ว่าฉบับซีรีส์นั้นจะให้ภาพของ Peter Parker ที่ดูแก่กว่าตัวจริง แต่เวอร์ชั่นซีรีส์ทีวีในยุคนั้นก็โด่งดังพอสมควรจนถูกนำมาขึ้นจอใหญ่ฉายในโรงภาพยนตร์เลยทีเดียว

แต่น่าเสียดายว่าซีรีส์นี้อายุแสนสั้นคือออกฉายเพียง 12 ตอนเท่านั้น ก็ถูกตัดจบอย่างน่าเสียดาย เพราะในยุค 70s นั้น ภาพของคนแต่งชุดฮีโร่ยังเป็นอะไรที่ตลกอยู่ มันจึงกลายเป็นซีรีส์อายุสั้นที่มาแล้วไปลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงสักเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ดีเวอร์ชั่นนี้จะลืมไม่ได้ เพราะหากไม่มีเวอร์ชั่นนี้อาจจะเวอร์ชั่นหนังอันยิ่งใหญ่ในอีกหลายสิบปีต่อมาก็เป็นได้


Tobey Maguire – Spider-Man สุดดราม่ารันทด

Spider-Man (2002), Spider-Man 2 (2004), Spider-Man 3 (2007)

ปฐมบทของ Spider-Man ยุคใหม่เริ่มต้นในเวอร์ชั่นของผู้กำกับ Sam Raimi ที่ถ่ายทอดรอดราวสุดรันทดของ Peter Parker ที่ต้องเผชิญทั้งแมงมุมกัด / ลุง Ben ถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตา จนเป็นที่มาของวลีคลาสสิคที่ว่า “ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ มาจากความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” / มิตรภาพระหว่างเขากับเพื่อนซี้ Harry Osborn ( รับบทโดย James Franco) ต้องขาดสะบั้น แถมความรักระหว่างเขากับ Mary-Jane Watson (รับบทโดย Kirsten Dunst) ยังคลอนแคลนอีกด้วย

Peter Parker นี้ได้แรงบันดาลใจจากฉบับคอมมิคในยุคแรก ที่เผชิญหน้ากับความยากลำบากในทุก ๆ ทาง ทั้งในจอ และนอกจอ เพราะ Spider-Man เวอร์ชั่นนี้นับเป็นช่วงเริ่มต้นของยุค Super Heroes Era ที่ต้องพิสูจน์ในทุก ๆ ทาง แต่ก็สามารถก้าวข้ามขวากหนามที่ขวางกั้นได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ Tobey Maguire ที่สามารถชนะคู่แข่งอย่าง Leonardo DiCaprio, Jude Law, ไปจนถึง Heath Ledger ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลานั้นเขาเป็นนักแสดงสายคุณภาพที่ยังไม่มีหนังทำเงินระดับระเบิดระเบ้อในมือเลย แต่เพราะความพยายามและความต้องการของผู้กำกับที่ต้องการสร้างมิติทางดราม่าเข้มข้นให้กับตัวละคร ซึ่งเขาก็ได้มอบช่วงเวลาที่น่าจดจำเอาไว้ได้อย่างน่าประทับใจ

Spider-Man เวอร์ชั่นของ Tobey Maguire จึงไม่เป็นเพียง Spider-Man เวอร์ชั่นที่ฝังลึกในใจคนดูหนังเท่านั้น แต่ยังเป็นเวอร์ชั่นที่ทะเยอทะยานและประเดิมจักรวาลแห่งโลกซูเปอร์ฮีโร่อย่างเป็นทางการอันยอดเยี่ยมอีกด้วย


Andrew Garfield – Spider-Man เวอร์ชั่นอัจฉริยะคลั่งรัก

The Amazing Spider-Man (2012), The Amazing Spider-Man 2 (2014)

The Amazing Spider-Man แม้ผู้สร้างจะทำการรีเซ็ทจักรวาลของไอ้แมงมุมใหม่ แต่ตัว Peter Parker เวอร์ชั่นนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในชะตากรรมเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียลุงเบ็น และยังคงเด็กหนุ่มที่ว้าวุ่นใจอยู่ แต่ไอ้แมงมุมเวอร์ชั่น The Amazing Spider-Man นี้ก็มีหลายส่วนที่แตกต่างจากเวอร์ชั่นก่อนอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นความฉลาดหลักแหลมที่มีมากขึ้น รวมไปถึงความกล้าหาญที่ผลักดันตัว Peter ให้กล้าทำมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการกล้าตามล่าหาฆาตกรที่ฆ่าลุง Ben ไปจนถึงการกล้าที่จะบอกรักกับ Gwen Stacy

ไอ้แมงมุมภาคนี้จึงกลายเป็นไอ้แมงมุมคลั่งรัก ส่วนหนึ่งก็มาจากตัวผู้กำกับหนังเรื่องนี้ Marc Webb ผู้กำกับสุดจี๊ด ที่เคยสร้างความประทับใจในหนังรักสุดแนวอย่าง (500) Days of Summer มาแล้ว เวอร์ชั่นนี้เราจึงได้เห็น Peter ในเวอร์ชั่นสุด Geek และสุดโรแมนติกไปในตัว ซึ่ง Andrew Garfield ก็มอบบทบาท Peter ในรูปแบบของเด็กที่มีความสับสนว้าวุ่นใจได้อย่างดี แถมยังเป็นเวอร์ชั่นสุดโรแมนติกเพิ่มไปด้วย

น่าเสียดายที่คนดูต่างต้องการดูไอ้แมงมุมพ่นใยสู้กับตัวร้ายมากกว่าจะมาดูไอ้แมงมุมโชว์หวาน Spider-Man เวอร์ชั่นนี้จึงเข็นไปได้แค่ 2 ภาคเท่านั้น แต่สำหรับเวอร์ชั่นนี้ก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในเวอร์ชั่นสุดอินดี้ ที่คอหนังจะชอบเป็นพิเศษ


Tom Holland – Spider-Man เวอร์ชั่นสุดเกรียน

Captain America: Civil War (2016), Spider-Man: Homecoming (2017), Avengers: Infinity War (2018), Avengers: Endgame (2019), Spider-Man: Far From Home (2019), Spider-Man: No Way Home (2021)

และแล้วในที่สุด ความฝันที่ไอ้แมงมุมจะเฉิดฉายร่วมจักรวาลกับฮีโร่รุ่นพี่ก็กลายเป็นความจริงในรุ่นที่ 3 แถมการปรากฏตัวครั้งแรกยังปรากฏตัวในฐานะแขกรับเชิญสุดเซอร์ไพรซ์ในจักรวาล The Avengers เสียด้วย

ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของ Peter Parker ที่ได้รับบทบาทที่สมอายุตามแบบฉบับคอมมิค ในขณะที่ 2 รุ่นแรกคือวัยรุ่นมัธยมปลาย แต่ Peter ภาคนี้ที่รับบทบาทโดย Tom Holland คือเด็กหนุ่มวัยรุ่นอายุ 15 ที่มีทั้งความเป็นเด็กแสนซน ขี้เล่น และพร้อมเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มเปี่ยม หนังได้ก้าวข้ามผ่านชะตากรรมสุดรันทดอย่างการตายของลุง Ben เพื่อเดินหน้าค้นหาตัวตนผ่านคาแรคเตอร์สุดเกรียนของตัว Peter เอง ที่เรียนรู้ทั้งความผิดพลาด ความผิดหวัง ชื่อเสียงที่ถาโถม และความสูญเสียตัวตนจากการเสียสละของ Iron Man ที่เปรียบได้ดั่งพ่อบุญธรรมที่สนอให้เรียนรู้ชีวิตของเขาไป

และ Tom Holland ก็สร้างคาแรคเตอร์ของ Peter สุดเกรียนสุดขี้เล่นได้อย่างดี เหมาะสมกับเด็กวัย Gen-Z ที่มีความอยากรู้อยากลองตลอดเวลา ทั้ง 3 ภาค รวมไปถึงการอยู่ในจักรวาล MCU ทำให้เราได้เห็นการเจริญเติบโตอย่างเต็มกำลัง ซึ่งทำให้หนัง Spider-Man รุ่นนี้ ล้วนถูกใจเด็กวัยรุ่น เพราะคาแรคเตอร์ของ Peter นั้นล้วนแล้วแต่ตรงกับบางเศษเสี้ยวของเด็กรุ่นนี้ทั้งสิ้น

และในภาคล่าสุดนี้ นับเป็น Spider-Man ที่ได้รับการยอมรับว่า “เป็นภาคที่ดีที่สุด” ซึ่งดีงามอย่างไร คุณต้องไปตัดสินในโรงกันเอง แต่รับรองว่าคุ้มค่าในการติดตามหนังไอ้แมงมุมมาอย่างยาวนานอย่างแน่นอน

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line