Entertainment

สงครามไม่ได้มีแค่การสู้รบ “5 หนังสงครามที่ไม่เกี่ยวกับสนามรบ” แต่เกี่ยวกับผู้คน

By: PSYCAT October 19, 2018

เมื่อพูดถึงหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงคราม ผู้ชายอย่างเรามักจินตนาการออกแต่ทหาร เสียงปืน การสู้รบ เลือดพุ่งกระฉูด การปกป้องแผ่นดิน แต่ในความเป็นจริงสงครามยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ที่มากกว่าสนามรบอีกมาก ทั้งชีวิตประชาชนตาดำ ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเชลยสงครามที่ถูกกักขังอยู่นานแสนนาน ทั้งคนที่ไม่ได้ออกหน้าสู้รบแต่วางแผนเบื้องหลังสงคราม สงครามจึงไม่ใช่แค่เรื่องการสู้รบของทหาร แต่สงครามคือชีวิตของผู้คนที่ต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไป

วันนี้ UNLOCKMEN เลยอยากพามาตะลุยกับหนัง 5 เรื่องที่มีฉากหลังเป็นช่วงสงคราม แต่แทบไม่ได้พูดถึงสนามรบและการสู้รบเลย แต่จะว่าด้วยอะไรบ้างนั้น เราก็อยากชวนมาดูไปพร้อม ๆ กัน

The Reader

หนังว่าด้วยความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มอายุ 15 กับสาววัย 36 ปี ทุก ๆ ครั้งก่อนเธอกับเขาจะร่วมรักกัน เขาจะต้องอ่านหนังสือให้เธอฟังเสมอ ๆ กาลเวลาและเหตุผลบางอย่างทำให้พวกเขาต้องพลัดพรากจากกัน กว่าจะมาเจอกันอีกทีก็คือในศาลซึ่งเธอกำลังรอการพิพากษาในฐานะ อาชญากรสงคราม! ใช่ นี่คือหนังที่เล่าถึงเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บางคนคือคนที่อยู่ในค่ายกักกัน ในขณะที่บางคนก็คือเจ้าหน้าที่จากฟากนาซีที่ลงมือสั่งปลิดชีพผู้คน และเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในนั้น

หนังเรื่องนี้พาเราเข้าสู่ความสัมพันธ์ ปมชีวิต ชี้ให้เห็นทุกซอกมุมของความเป็นมนุษย์ และสิ่งที่สงครามกระทำต่อพวกเราอย่างเลือดเย็นแม้ว่าสงครามจะจบลงไปแล้ว รับรองว่าชวนดื่มด่ำ ขัดข้อง และโศกเศร้าจนเราจะมองสงครามและชีวิตมนุษย์ได้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Life is Beautiful

ภาพที่คนจดจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพหนึ่งก็คือภาพค่ายกักกันที่ทหารนาซีใช้กักขัง ทรมานชาวยิวเสมือนว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ Life is Beautiful จะพาเราเข้าไปสำรวจในค่ายกักกัน แม้สภาพความเป็นอยู่จะชวนหดหู่สิ้นหวัง แต่ความเป็นพ่อที่อยากปกป้องให้ลูกรอดจนวินาทีสุดท้ายในหนังเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ ความหวัง และชีวิต ที่ไม่ว่าคุณจะมีเชื้อชาติใด ศาสนาใด ก็ล้วนแต่ต้องการมีชีวิตต่อไป ไม่ว่าสงครามและความเกลียดชังจะพยายามทำลายความหวังและชีวิตพวกเขามากเพียงใดก็ตาม

The Pianist

ชะตากรรมของนักดนตรีระดับโลกชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวที่ต้องระหกระเหินระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พลัดพรากจากครอบครัวและดนตรีที่เขารัก แต่ก็มีหลายครั้งที่ดนตรีช่วยให้เขาอยู่ในจุดที่พ้นผ่านความเลวร้ายที่สุดมาได้ ท้ายที่สุดที่เขาสามารถรอดมาจนสงครามสงบลงได้เพราะทหารเยอรมันคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความคิดจะทำร้ายทำลายชาวยิวอย่างทหารเยอรมันทั่วไปคอยช่วยเหลือเขาเอาไว้ แม้หนังเรื่องนี้จะไม่มีฉากสู้รบ แต่ตลอดเรื่องเราจะซึมซาบกลิ่นอายสงคราม ความแร้นแค้น ความพังทลายได้อย่างชวนหดหู่

The Imitation Game

แม้เรื่องนี้จะไม่มีฉากสู้รบในสนามรบ แต่ความรู้สึกกดดัน เชือดเฉือนและลุ้นมาแบบสุดลิ่มทิ่มประตูตลอดเรื่องแน่นอน หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าในสงครามไม่ได้มีแค่ทหารเท่านั้นที่ทุ่มเทพลัง แต่นักคิด นักคณิตศาสตร์ และผู้อยู่เบื้องหลังอื่น ๆ ก็มีส่วนในการวางยุทธศาสตร์ที่ต้องแข่งกับเวลาและชีวิตคนไม่แพ้กับคนที่อยู่แนวหน้า ที่สำคัญเรื่องนี้ยังทำให้เห็นถึงการพิสูจน์ตัวเองของผู้หญิงที่ในเวลานั้นยังไม่ได้รับการยอมรับว่าจะสามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนได้ รวมไปถึงการคานอำนาจกันระหว่างระบบแบบทหารที่ต้องหลับหูหลับตาทำตามแบบไม่ต้องคิด กับทีมคิดแผนที่ต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีรายละเอียด

The Railway Man

เรามักเห็นภาพเชลยสงครามเป็นคนตะวันออก ชาวยิว หรือชาติที่ไม่ใช่ชาติมหาอำนาจตะวันตกจากสื่อต่าง ๆ มากกว่าเชลยศึกจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่ The Railway Man จะพาเราไปดูภาพเชลยศึกจากประเทศโลกที่หนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารชาวญี่ปุ่น โดยมีฉากเป็นทางรถไฟสายมรณะที่จังหวัดกาญจนบุรีบ้านเรานี่เอง สงครามจึงสร้างบาดแผล ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานให้กับผู้คนได้ไม่ว่าชาติไหน ภาษาใด พอ ๆ กับที่ทำให้คนชาติไหน พูดภาษาอะไรกลายเป็นปีศาจอันโหดร้ายได้เช่นกัน เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่สร้างจากเรื่องจริง แต่จุดที่บีบคั้นหัวใจที่สุดคือการที่เชลยศึก ได้กลับมาเจอนายทหารญี่ปุ่นที่เคยทรมานเขาอีกครั้งในหลายสิบปีให้หลัง ความโกรธแค้น ความเข้าใจ หรือการให้อภัย อะไรกันแน่คือคำตอบหลังไฟสงครามมอดลงไปแล้วหลายสิบปี ?

สงครามไม่เคยนำความสุขสงบมาให้ใคร พอ ๆ กับที่มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดล้วนแต่ได้รับผลกระทบของสงครามกันทั้งสิ้น เวลาเราดูหนังสงครามบางทีเราอาจเกิดความฮึกเหิม เพราะหนังสงครามส่วนใหญ่มีภาพปลุกใจให้เราฮึกเหิมรักแผ่นดิน แต่หนัง 5 เรื่องนี้จะพาเราไปเข้าใจว่าบางทีเราก็สามารถรักแผ่นดินไปพร้อม ๆ กับรักความสงบและรักเพื่อนมนุษย์ได้เช่นกัน เพื่อไม่ให้ใครต้องแตกสลายลงเพราะสงครามอีกต่อไป

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line