Life

ทำไมยิ่งเห็นใจคนอื่น ตัวเองกลับเหนื่อยล้า และเราจะกลับมาเยียวยาตัวเองอย่างไรดี

By: unlockmen November 16, 2020

เราถูกสั่งสอนกันมาว่าการเข้าอกเข้าใจคนอื่นเป็นเรื่องดี เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข แต่ทว่า ความเห็นอกเห็นใจ (compassion หรือ empathy) ก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ทำให้เราตกอยู่ในภาวะ Compassion Fatigue ได้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? และเราจะป้องกันมันได้อย่างไร? Unlockmen จะอธิบายให้ฟัง

ภาวะเหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (compassion fatigue) หรือ secondary traumatic stress (STS) คือ ความเครียด ความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจที่เกิดจากการเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากเกินไปจน ทำให้เราให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยลง

โดยสาเหตุของ compassion fatigue อาจเกิดจากการรับฟังเรื่องราวของคนที่มีบาดแผลทางจิตใจบ่อย ๆ เช่น คนที่เคยประสบอุบัติเหตุ หรือการสูญเสีย และรู้สึกว่าทำไมเราจึงช่วยเหลืออะไรคนเหล่านั้นไม่ได้เลย และพอความรู้สึกนั้นถูกเก็บสะสมความรู้สึกมาเรื่อย ๆ ก็เกิดความเหนื่อยล้าและความทุกข์ทรมานที่เรียกว่าเป็น compassion fatigue ตามมา

แม้เมื่อก่อน ภาวะ compassion fatigue จะพบในกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย เช่น พยาบาล (ซึ่ง Carla Joinson ได้นิยามคำว่า compassion fatigue ขึ้นมาในปี ค.ศ.1992 เพื่ออธิบายอาการป่วยของพยาบาลในแผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน อาทิ ความเหนื่อยล้าอย่างหนัก)

 

 

แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น เราเข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้น สามารถตอบโต้เรื่องราวของคนอื่นได้มากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย เมื่อเรารับรู้ปัญหาของคนอื่น และรู้สึกทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขาไม่ได้บ่อย ๆ เข้า ก็อาจเป็นความทุกข์สะสม เกิดความเครียด จนเป็น compassion fatigue ได้เหมือนกัน

แต่ถึงจะพูดอย่างนี้ ก็ไม่ได้ห้ามทุกคนแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่นเลยนะ เพียงแต่อยากให้ระมัดระวังความเห็นอกเห็นใจที่สร้างภาระให้กับเรามากเกินไป เรื่องนี้จะขออธิบายเพิ่มเติมผ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร the Journal of Experimental Social Psychology เมื่อปี ค.ศ.2017

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาผลลัพธ์ของวิธีการแสดงความเข้าอกเข้าใจ 2 รูปแบบ ได้แก่ การจินตนาการว่าตัวเองตกอยู่ในความทรมานแบบคนอื่น (imagine-self perspective taking หรือ ISPT) กับ การจินตนาการแค่ความรู้สึกของคนอื่น (imagine-other perspective taking (IOPT) ผ่านการทดลองให้คน 2 กลุ่มชมวิดีโอของหญิงที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์

ซึ่งนักวิจัยพบว่า กลุ่ม ISPT จะมีระดับความเครียด (cardiovascular stress) และเป็นทุกข์มากกว่ากลุ่ม IOPT โดยที่กลุ่ม IOPT แทบจะไม่พบว่ามีภาวะแบบนั้นเลย

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่ควรต้องพยายามแบกรับความทุกข์ของคนอื่น เพื่อเข้าใจความรู้สึกคนอื่น เพราะจะเครียดและเป็นทุกข์ได้มากโดยไม่จำเป็น ซึ่ง Michael Poulin หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วยว่า คนที่ชอบแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแบบพยายามรู้สึกเหมือนที่คนอื่นรู้สึกบ่อย ๆ มีโอกาสเจอกับภาวะ compassion fatigue มากกว่าคนกลุ่มอื่น


ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งไหนคือความเห็นอกเห็นใจ และสิ่งไหนไม่ใช่ ซึ่ง Daniel Goleman และ Paul Ekman นักจิตวิทยา ได้แบ่งประเภทของความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

  • Cognitive Empathy เป็นทักษะในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เพื่อนสูญเสียคนสำคัญในครอบครัว เราอาจจะคิดถึงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเขา เช่น เขาเสียใครไป? เขาสนิทกับคนนี้มากแค่ไหน? ชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังจากการสูญเสีย? เป็นต้น
  • Emotional Empathy หรือ affective empathy คือ ความสามารถในการมีความรู้สึกร่วมกับคนอื่น กล่าวคือ รู้สึกถึงอารมณ์ของคนอื่นได้เป็นอย่างดี และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองที่มีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนั้นได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์เดิม เราอาจนึกถึงความรู้สึกของการสูญเสียใครสักคนที่เราเคยเจอมา
  • Compassionate Empathy คือ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่น มีอารมณ์ร่วมกับคนอื่น และลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์เดียวกัน เราอาจจะช่วยเพื่อนที่เป็นทุกข์จากการสูญเสีย ด้วยการพยายามใช้เวลาด้วย เป็นต้น

ความเห็นอกเห็นใจแต่ละแบบก็มีฟังก์ชันที่ต่างกัน อย่าง Cognitive empathy จะช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราสามารถเข้าใจได้ว่าคนอื่นต้องการอะไร ส่วน Emotional empathy จะช่วยให้เรารู้สึกผูกพันกับคนอื่นได้ง่าย เพราะเราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และ Compassionate empathy ช่วยให้เรารักเพื่อนมนุษยมากขึ้น เพราะเราจะพยายามหาทางช่วยเหลือคนอื่นอย่างแท้จริง ทักษะเหล่านี้อาจไม่ได้ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด แต่ก็ไม่ได้ยากเกินที่จะฝึกฝน

อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจก็คือ empathy กับ sympathy ไม่เหมือนกัน โดย empathy เป็นการมองเรื่องคนอื่นจากมุมมองของคนอื่นและพยายามเข้าใจคนอื่น ส่วน sympathy คือ การมองเรื่องของคนอื่นผ่านมุมมองของตัวเอง และใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจเรื่องเหล่านั้น

การมี empathy ย่อมดีกว่า sympathy เพราะ มันทำให้เราไม่ใช้อคติของตัวเองในการตัดสินใจเรื่องของคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้อย่างแท้จริงมากกว่า


ผู้ที่เข้าข่ายเป็น compassion fatigue จะมีอาการคล้ายๆ กับคนที่เป็น burnout คือ เกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (emotional exhaustion) รู้สึกแปลกแยก (alienation) และมีประสิทธิภาพในการทำงานได้แย่ลง (reduced) ด้วย

แต่ข่าวดีคือ ภาวะ compassion fatigue สามารถรักษาได้ ซึ่ง Leanne Hall นักจิตวิทยา ได้แนะนำกลยุทธ์ในการรับมือกับ compassion fatigue เอาไว้ว่า

  • อย่าต่อสู้กับมัน เมื่อรู้ว่าเข้าข่ายเป็น compassion fatigue ก็ไม่ควรฝืน เพราะจะทำให้รู้สึกแย่ลงกว่าเดิม แต่ควรหยุด เพื่อใช้เวลาในการคิดว่าจะจัดการกับมันอย่างไรต่อไปดี เช่น จะไปหาผู้เชี่ยวชาญไหม หรือว่าระบายให้ใครสักคนฟัง
  • คุยกับใครสักคน ได้ยินกันบ่อยแล้วว่ามีปัญหาอะไรอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้เราจมกับความรู้สึกนั้นจนเอาตัวเองขึ้นมาไม่ได้ ดังนั้นควรพูดคุยกับใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่ไว้ใจได้
  • วางแผนวันหยุด งานที่ทำอยู่อาจทำให้เราต้องรับฟังเรื่องราวคนอื่นมากเกินไป และทำให้เราเป็น compassion fatigue ควรหาวันหยุดมาทำกิจกรรมที่เยียวยาจิตใจ เช่น ทำงานอดิเรกที่เราชอบ หรือใช้เวลากับคนที่เรารัก
  • สร้างวงจรการตื่น/หลับที่ดีต่อสุขภาพ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพและถูกสุขอนามัย จะช่วยลดฮอร์โมนความเครียด (cortisol) ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับ compassion fatigue ได้ดีขึ้น
  • นั่งสมาธิ นอกจากจะช่วยให้เราโฟกัสกับงานต่าง ๆ ได้ดีขึ้นแล้ว การนั่งสมาธิยังช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะเราได้ใช้เวลาในการอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งการเข้าใจตัวเองก็เป็นประโยชน์ต่อการเอาชนะภัยคุกคามทางอารมณ์อย่าง compassion fatigue ด้วย

วิธีการเหล่านี้ก็เป็นแค่ไกด์ไลน์คร่าวๆ หากทุกคนมีวิธีการระบายความเครียดของตัวเองก็เอามาใช้ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าอาการเริ่มหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ จะแก้ไขได้ดีที่สุดครับ

 


Contributor: วัศพล โอภาสวัฒนกุล

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line