Life

‘หยุดขำไม่ได้ร้องไห้ไม่หยุด’ โรคหัวเราะไม่หยุด ภายใต้การขำกลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวด

By: TOIISAN October 10, 2019

บางครั้งภาพยนตร์ก็ทำให้เราตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่างที่มองข้ามไปหรือไม่เคยจะคิดถึงมาก่อน อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง Joker (2019) กับเรื่องราวของอาเธอร์ เฟล็ก ชายผู้เต็มไปด้วยความทุกข์และไม่สามารถควบคุมการหัวเราะของตัวเองได้ จุดสนใจของเรานอกเหนือจากการแสดงที่เด็ดขาดกับเสียงหัวเราะร่วนที่ตราตรึงของ Joaquin Phoenix คือโรคหยุดหัวเราะไม่ได้ของ Joker กระตุ้นให้เราอยากทำความรู้จักกับอาการดังกล่าวให้มากขึ้น

Joker (2019)

UNLOCKMEN อยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Pseudobulbar affect (PBA) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอาการหยุดหัวเราะและหยุดร้องไห้ไม่ได้ว่ามันเกิดจากอะไร แล้วคนที่มีอาการดังกล่าวเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้าง คนใกล้ชิดควรทำความเข้าใจและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างไร

 

ควบคุมการหัวเราะไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นโรคซึมเศร้า

Pseudobulbar affect (PBA) เป็นความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ดั่งใจ โดยสามารถแยกย่อยได้สามประเภทคือ กลุ่มคนที่ร้องไห้ไม่หยุด (Pathological crying) กลุ่มไม่สามารถควบคุมการหัวเราะของตัวเองได้ (Pathological laugher) และคนที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งการหัวเราะและร้องไห้ (Pathological laugher and crying) ซึ่งกลุ่มที่เจอบ่อยสุดจากประวัติเข้ารับการรักษาคือกลุ่มที่หยุดร้องไห้ไม่ได้ 

เราจะต้องแยกให้ได้ก่อนว่ากลุ่มผู้มีอาการ PBA ทุกคนไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิตหรือเป็นคนที่มีอาการโรคซึมเศร้า พวกเขาเพียงแค่ไม่สามารถควบคุมอาการหัวเราะและร้องไห้เท่านั้น เช่น คนไข้ไปหาหมอแล้วถูกถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง ?” ยังไม่ทันตอบแต่กลับร้องไห้โฮใส่หมอทั้งที่ตัวเองไม่ได้รู้สึกสะเทือนใจกับคำถามเลย คนไข้บางคนบอกว่าตัวเองไม่ได้ร้องไห้เพราะรู้สึกเศร้าหรือหดหู่จนไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพียงแต่เขาไม่สามารถควบคุมการร้องไห้ได้เท่านั้น 

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงว่ามีอาการ PBA มักเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคความจำเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คนไข้ที่เคยประสบอุบัติเหตุและได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง คนไข้โรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis) ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง สรุปง่าย ๆ คือการบาดเจ็บและโรคทางระบบประสาทจะทำให้สมองไม่สามารถควบคุมการแสดงอารมณ์ตามปกติได้ พวกเขาจึงแสดงการตอบสนองที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์

มีผู้ป่วยกว่า 2 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาป่วยหรือมีอาการบาดเจ็บทางสมอง รวมถึงมีคนกว่า 7 ล้านคนเข้าข่ายจะเป็น PBA และแน่นอนว่าคนที่มีอาการ PBA ก็สามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วยเช่นกันแต่ก็ไม่ใช่ทุกคนอยู่ดี 

ปี 2014 มีเหตุการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับโรค PBA เมื่อเด็กผู้หญิงอายุ 6 ขวบในโบลิเวียไม่สามารถควบคุมอาการหัวเราะของตัวเองได้ เธอสามารถขำได้ทั้งวันทั้งที่ไม่มีเรื่องตลก แพทย์ในชุมชนก็ไม่สามารถวินิจฉัยอย่างเด็ดขาดว่าอาการหัวเราะโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยของเธอเกิดจากอะไร ทำให้เธอถูกมองว่าเป็นคนบ้า หรือแม้กระทั่งถูกเรียกว่าเป็นปีศาจ

Dr. Jose Liders Burgos จากศูนย์การแพทย์โบลิเวียนำกรณีของเด็กสาวชาวโบลิเวียมาศึกษาต่อและพบสาเหตุแท้จริงของอาการว่าทั้งหมดเกิดจากก้อนเนื้อที่โตอย่างผิดปกติในกลีบขมับสมอง ทำให้หมอตัดสินใจผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อนี้ออกไป และหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ผลที่ออกมาคือเด็กสาวไม่หัวเราะกับทุกเรื่องอีกต่อไป ซึ่งกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับวงการแพทย์และคนทั่วไปว่าหากคุณพบคนที่ไม่สามารถหยุดหัวเราะหรือร้องไห้ได้ อย่าเพิ่งตัดสินไปก่อนว่าพวกเขาเป็นโรคทางจิตเวช

 

ผู้ป่วย PBA กับผลกระทบที่พบเจอในสังคม

นอกจากนี้สถิติจากผลสำรวจของโรคข้างต้นที่กล่าวมาเพื่อหาว่าผู้ป่วยแต่ละโรคมีโอกาสเป็น PBA มากน้อยแค่ไหนก็ได้ผลสำรวจมาว่า 50% ของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีโอกาสเป็น PBA ร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บทางสมอง 48% โรคปลอกประสาทเสื่อม 46% โรคอัลไซเมอร์ 39% จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นว่าโลกนี้มีคนที่ไม่สามารถควบคุมอาการหัวเราะหรือร้องไห้ได้มากกว่าที่ใครหลายคนคิด 

คนที่ไม่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทก็สามารถเป็นโรค PBA ได้เช่นกัน จากการศึกษาและสำรวจของ Gridiron Greats Assistance Fund พบว่า 99% ของนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลมีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะจากการแข่งขัน และ 1 ใน 3 มีอาการของ PBA แต่กลับไม่ค่อยมีคนสนใจเกี่ยวกับอาการดังกล่าวเท่าไหร่นัก ทำให้ในปี 2015 นักฟุตบอลอาชีพ Barry Sanders ถูกบรรจุชื่ออยู่ใน NFL Hall of Famer เริ่มออกมารณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงอาการบาดเจ็บทางศีรษะที่จะส่งผลกระทบให้เกิด PBA อยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งโรคนี้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างเมื่อ Joker (2019) เข้าฉายทั่วโลก 

เมื่อไม่สามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ได้ปัญหาที่ตามมาคือ พวกเขามักถูกผู้คนที่ไม่รู้ว่าเขามีอาการมองด้วยสายตาแปลก ๆ เพราะอยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้ บางคนนั่งคุยเรื่องเครียดอยู่กลับหัวเราะเสียอย่างนั้น และนอกจากปัญหาการเข้าสังคมแล้วยังทำให้คนที่มีอาการ PBA ร่างกายเหนื่อยอ่อนง่ายกว่าคนปกติ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองเป็นอย่างมาก

ทางแก้สำหรับผู้มีอาการ PBA สิ่งแรกที่ต้องทำคือไปพบแพทย์พร้อมกับพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับคนใกล้ชิดอย่างครอบครัวและที่ทำงาน เพื่อให้คนรอบข้างเข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วย PBA กำลังเผชิญอยู่ ข้อแนะนำตรงกันของแพทย์จำนวนมากคืออยากให้ผู้ป่วยที่มีอาการ PBA จดบันทึกช่วงเวลาที่ไม่สามารถควบคุมการขำหรือร้องไห้เพื่อดูความถี่ของความผิดปกตินี้เพื่อหาทางแก้ด้านการแพทย์ต่อไป 

การทำความเข้าใจมีอาการ PBA ของคนรอบข้างคือสิ่งจำเป็นไม่น้อยกว่าการรักษา เห็นได้จากกรณีของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างนาย Wayne B เขาเป็นอดีตผู้จัดการแผนกไอทีอายุ 52 ปี ก่อนหน้านี้เขาเป็นชายอารมณ์ดี ไม่มีความผิดปกติทางอารมณ์ จนเมื่ออายุ 45 ปี พบว่าตัวเองเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และทุกอย่างได้เปลี่ยนไปตลอดกาล 

ผลกระทบจากโรคทำให้เขามีอาการ PBA ไม่สามารถควบคุมการหัวเราะและร้องไห้ของตัวเอง การหัวเราะอย่างบ้าคลั่งของเขาทำให้ผู้คนหงุดหงิด ภรรยาจะไม่ให้ Wayne B ไปงานแต่งหรืองานศพใด ๆ ทั้งนั้น หลายคนที่ไม่เข้าใจพยายามห้ามไม่ให้เขาหัวเราะหรือร้องไห้ การถูกวิจารณ์บ่อยครั้งทั้งที่ตัวเองไม่ได้รู้สึกขำหรือเศร้าอย่างที่คนอื่นคิด แถมการไม่เข้าใจผู้ป่วยจะทำให้คนที่เป็น PBA เสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้าควบคู่ไปด้วย

Joker (2019)

“พวกเขาไม่ใช่คนบ้า แต่เป็นแค่คนป่วยคนหนึ่งเท่านั้น”

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line