World

นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ไปดูตัวเลขสถิติสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ประชาธิปไตย

By: PERLE September 26, 2018

เผด็จการ ประชาธิปไตย 2 คำนี้เหมือนเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกัน แต่ในโลกแห่งความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นเกมการเมืองแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ การโคจรมาเจอกันของ 2 ขั้วความคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดขึ้นเป็นประจำหลายยุค หลายสมัย ในหลายประเทศ และต้องยอมรับว่าในบ้านเราก็เข้าข่ายเส้นขนานนี้กลาย ๆ อยู่เหมือนกัน

จากท่าทีตามหน้าสื่อการเมืองแล้ว ดูเหมือนคำพูดระยะหลังจะหมายความได้ว่า การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเราอีกไม่ช้า แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเราอาจจะมีพรรคการเมืองอดีตทหารมาลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อแข่งขันกันด้วยแน่นอน ซึ่งถ้าดูจากหน้าประวัติศาสตร์โลก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผันตัวจากผู้นำทหารลงสู่สนามประชาธิปไตย ดังนั้นเราจะพาย้อนไปดูเรื่องราวการมาบรรจบกันของ 2 แนวความคิดนี้ในหลากหลายประเทศ เพื่อดูเทรนด์ว่าอนาคตของบ้านเราจะเป็นยังไงต่อไป

ชิลี ปี 1973

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศชิลี ในปี 1973 นายพล Augusto Pinochet ได้รัฐประหารรัฐบาลในขณะนั้นและก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจ หลังจากนั้นไม่นานฝ่ายขั้วตรงข้ามทางการเมืองหลายพันคนโดนสังหาร ไม่ก็โดนเนรเทศออกจากประเทศ ก่อนจะออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และเคอร์ฟิว ชิลีตกอยู่ในภาวะไร้เสรีภาพยาวนานถึง 15 ปี

จนกระทั่งปี 1988 Pinochet ยอมให้มีการทำประชามติรับฟังเสียงประชาชนว่าต้องการให้เขาบริหารประเทศต่อไปอีก 8 ปีหรือไม่ แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่เขาคิด พลเมืองชิลีรวมใจโหวต NO อย่างถล่มทลาย Pinochet ยอมรับความพ่ายแพ้นี้ และคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนในปี 1990

 

40% และ 12%

ไม่ใช่แค่ในชิลีเท่านั้น เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฟิลิปินส์ ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจอมเผด็จการทุกคนจะก้มหน้ายอมรับความพ่ายแพ้ ก้าวลงจากตำแหน่งโดยไม่ขัดขืน อ้างอิงจาก OEF Research ที่ได้เก็บรวมรวบข้อมูลเกี่ยวกับผู้นำเผด็จการตั้งแต่ช่วง 1950 เป็นต้นมา ทำให้เราได้รู้ว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นเช่นนั้น

จากกราฟดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้นำเผด็จการที่ผันตัวลงสู่สนามเลือกตั้ง มี 40% ที่พบกับความพ่ายแพ้ อย่างไรก็ตามชุดข้อมูลดังกล่าววัดแค่ผลแพ้-ชนะเท่านั้น ไม่ได้นำปัจจัยอื่น ๆ เช่นความยุติธรรมในการเลือกตั้งมาเกี่ยวข้อง และจาก 40% ดังกล่าวมีเพียงแค่ 12% เท่านั้นที่ยอมก้าวลงจากตำแหน่ง ในขณะที่อีก 88% เลือกที่จะเมินเฉยต่อผลการเลือกตั้งและยืนยันจะควบคุมประเทศต่อไป

นอกจากนั้นชุดข้อมูลนี้ยังเผยว่าระยะเวลาที่พวกเขาปกครองประเทศก่อนเปิดให้มีการเลือกตั้งนั้นเกี่ยวข้องกับผลแพ้-ชนะเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้นำที่ปกครองมาน้อยกว่า 20 ปีมีแนวโน้มจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งมากกว่า

เผด็จการ 12% ที่ยอมรับกติกาเมื่อก้าวลงจากอำนาจส่วนใหญ่ถูกจับกุมตัวไปลงโทษทันที นี่คงเป็นสาเหตุที่อีก 88% เกิดความกลัวจนไม่กล้าปล่อยมือจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม เมื่ออดีตผู้นำพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมทำตามกติกาก็เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการลุกฮือและโดนเปรียบเทียบกับ 12% ดังกล่าว พวกเขาจึงจำเป็นที่ต้องยอมอ่อนข้อลงมาโดยการปรับวิธีการปกครองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

กรณีของ Pinochet ถือเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เป็นโชคของนายพลจากชิลีคนนี้เพราะขณะที่เขาก้าวลงจากตำแหน่ง เขายังไม่สูญเสียอำนาจในการควบคุมกองทัพไป ยังคงทำงานเป็นหัวหน้ากองกำลังทหารต่อไปอีก 8 ปี ด้วยความคุ้มครองนี้ จึงทำให้เขาไม่ได้รับโทษในช่วงคุมอำนาจอยู่นั่นเอง

ทั้งหมดในบทความนี้ คือเรื่อง History และ Statistic เท่านั้น เราไม่มีการฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งนั้น จากข้อมูลที่เรานำมาบอกเล่า แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการมีการเลือกตั้งไม่ได้หมายความอำนาจเผด็จการจะสิ้นสุดลง ต้องยอมรับว่าวันที่เราอยู่บนจุดสูงสุด การจะลงมาข้างล่างย่อมไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ อำนาจคือสิ่งหอมหวานที่ไม่มีใครอยากสูญเสียมันไป และขึ้นชื่อว่าเป็นเกมการเมือง ทุกอย่างย่อมไม่ได้เป็นเส้นตรง เล่ห์เหลี่ยมของมันเยอะเกินกว่าที่คนธรรมดาอย่างเราจะเข้าใจ

ก็ได้แต่หวังว่าการเลือกตั้งที่ (ดูเหมือนว่า) กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศหนึ่งเร็ว ๆ นี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด และทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

 

SOURCE1

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line