Films

HORROR TIME: ไขข้อข้องใจ ทำไมเราถึงยังชอบดูหนังผี ทั้งที่หลับตาปี๋ไปครึ่งเรื่อง ?

By: unlockmen October 22, 2018

ผู้ชายสามศอกเป็นอันต้องหดเหลือสามเซ็นฯ (อก) เมื่อต้องดูหนังสยองขวัญ ที่มักจะปล่อย Jump Scare ออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเลยมักจะหลีกเลี่ยงหนังประเภทนี้ตอนไปกับสาว เพราะอายเหลือเกินที่จะมานั่งปิดตาไปครึ่งเรื่อง เลยแอบมาดูเองที่บ้านอย่างเงียบ ๆ ปิดไฟสร้างบรรยากาศให้ชวนขนหัวลุกเข้าไปอีกหน่อย ไม่ว่าจะผีไทยผีเทศก็ไม่เกี่ยง ถึงจะกลัวหัวหดขนาดไหน ก็ยังจะสรรหาหนัง Horror แบบนี้มาสะกิดขนหัวให้ลุกซู่อยู่เสมอ UNLOCKMEN จะพาหนุ่ม ๆ มาหาคำตอบว่าทำไมคนเราถึงยังอยากจะดูหนังสยองขวัญ ทั้งที่เราเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าเรากลัวแค่ไหน

กลัวนักแล้วดูไปทำไม ?

เรื่องนี้ Dr. Glenn Walters เคยพูดถึงไว้ใน Journal of Media Psychology ว่า “คนเราดูหนังสยองขวัญเนี่ยเพราะเราอยากที่จะรู้สึกกลัว ตื่นเต้น ตกใจ พอได้ตกใจอย่างที่หวังไว้แล้ว เราจะไม่อยากดูเรื่องเดิมซ้ำอีกครั้ง เพราะดูอีกครั้งมันก็ไม่ตกใจแล้ว เราเลือกดูหนังสยองขวัญส่วนมากก็เพราะอยากได้ความตระหนกตกใจเป็นผลลัพธ์ แล้วทีนี้ในเรื่อง แม้จะน่ากลัวขนาดไหน เราจะเอาชนะภูติผีพวกนั้นได้ในที่สุด เหมือนเราได้ชนะความน่ากลัวของพวกมันไงล่ะ เราเองก็อยากเอาชนะความของตัวเองด้วยการบังคับตัวเองให้ดูหนังพวกนี้ แม้จะดูจริง ๆ แค่นิดเดียวก็ตาม”

ทีนี้คงพอเห็นภาพมากขึ้นว่าเรามีเหตุผลอะไรที่เลือกดูหนังชวนขนหัวลุกพวกนี้ คือ เราต้องการให้เกิดผลลัพธ์ทางอารมณ์กับตัวเราเอง สมมติว่าในวันนี้เครียดมาก อยากได้อะไรเบาสมองดูซะหน่อย เราก็เลือกหนัง Comedy หรือพวก Romance เพื่อให้เราไม่ต้องไปเจอกับเรื่องเครียด ๆ ซ้ำอีก ได้สร้างเสียงหัวเราะ ได้สร้างความรู้สึกอบอุ่นในหัวใจให้ตัวเอง ความรู้สึกเหล่านี้คือผลลัพธ์ทางอารมณ์ที่เราต้องการ

กลับมาที่หนังสยองขวัญ ถ้าอ้างอิงจากเรื่องผลลัพธ์ทางอารมณ์ นั่นเท่ากับว่าเราต้องการให้ตัวเองรู้สึกกลัวงั้นหรอ ? แล้วเราจะอยากตกใจ หรือรู้สึกกลัวไปทำไม ? เรามาหาคำตอบเรื่องนี้กัน

เรามาดูทฤษฎี  Excitation Transfer ของ Dr. Dolf Zillman กันดีกว่า “อารมณ์ด้านลบที่เกิดจากหนังสยองขวัญ มันทำให้ความรู้สึกที่เราชนะมันได้ในตอนท้ายมากขึ้น” พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ยิ่งเรารู้สึกกลัวมากเท่าไหร่ ความรู้สึกดีใจตอนท้าย (ที่เรารู้ว่าตอนจบเราจะชนะพวกมัน พวกมันจะต้องหายไป) จะยิ่งมากขึ้น นอกจากเราจะชนะพวกตัวละครในหนังแล้ว อีกความรู้สึกที่มนุษย์ชื่นชอบไม่แพ้กัน คือความรู้สึกของการเอาชนะตัวเองได้ ความรู้สึกของการดูจบแล้วได้แต่ยักไหล่เบา ๆ พลางคิดในใจว่า ก็ไม่เท่าไหร่นี่หว่า (แต่ปิดตาไปครึ่งเรื่องแล้ว)

บนความรู้สึกกลัวหัวหดนั้น มันก็ยังมีความตื่นเต้นปะปนอยู่ด้วย และไอ้ความตื่นเต้นนี้นี่แหละที่ทำให้เราหลังอะดรีนาลีนออกมาแบบบ้าคลั่ง เหมือนตอนที่เราใจเต้นแรง ลุ้นจนเหงื่อออกมือ นิ้วจิกหมอน แต่เรากลับชอบใจเมื่อมันทำให้เราตกใจแบบสุดขีดและเราก็ผ่านมันมาได้  นั่นเพราะกลไก fight or flight ในร่างกายของเราทำงานเพื่อตอบสนองความกลัว แต่เรารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ยังไงเราก็ยังจะปลอดภัย มันเลยกลายเป็นความรู้สึกสนุกกับความตื่นเต้นนี้แทน

ทั้งนี้บางคนกลับไม่ชอบที่จะดูหนังสยองขวัญพวกนี้ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ Enjoy กับความตื่นเต้น แต่มันเป็นเพราะรสนิยมเฉย ๆ เท่านั้นเอง เหมือนที่บางคนไม่ชอบดูหนังรัก ไม่ชอบดูหนังยิงกัน ไม่ชอบดูหนังสืบสวนเครียด ๆ อะไรทำนองนั้น คืนนี้หากอยากลองทดสอบกลไก fight or flight ของตัวเองให้อะดรีนาลีนหลั่งเล่น ๆ ลองสุ่มขึ้นมาสักเรื่องก่อนนอน ปิดไฟให้สนิท มีแค่แสงสลัวจากจอ แค่คิดก็สยองขึ้นมาบ้างแล้ว

SOURCE 1,2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line