Work

ยิ่งทำงานที่บ้านยิ่งหมดไฟ ‘รับมือ BURNOUT อย่างไร?’ เมื่อพลังถูกสูบหายจนดับมอด

By: PSYCAT May 30, 2020

‘BURNOUT’ ไม่ใช่อาการใหม่ อาการหมดไฟนั้นเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทำงานอย่างเรา ๆ และเราต่างหาวิธีรับมือกับอาการหมดไฟที่มาเยือนอยู่ตลอดเพื่อให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ หลายคนเคยผ่านอาการหมดไฟมาได้หลายหน ราวกับได้เกิดใหม่ท่ามกลางเถ้าถ่านมอดดับ

แต่หลายคนก็ไม่เคยเผชิญอาการหมดไฟมาก่อนในชีวิต จนกระทั่ง COVID-19 มาเยือน บรรยากาศการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน การย้ายสถานที่ทำงานจากออฟฟิศสู่พื้นที่พักอาศัย การต้องทำงานอย่างเดียวดายปราศจากเพื่อนร่วมงานรายล้อม หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวที่ไม่เข้าใจเวลาทำงานของเรา สิ่งเหล่านี้นำพาอาการ BURNOUT มาเยือนใครหลายคนที่ก็เคยมีไฟมาตลอด แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไรได้บ้าง?

BURNOUT ใช่ไหม? หรือแค่เหนื่อยใจธรรมดา?

ก่อนจะไปถึงวิธีการรับมืออาการหมดไฟเพราะการ Work From Home เป็นเวลานาน ๆ เราอยากชวนคุณมาสำรวจตัวเองไปพร้อมกันก่อนว่าสิ่งที่คุณเป็นนั้นคือความเหนื่อยในแต่ละวันที่พอจะคลี่คลายไปได้ถ้าได้พักผ่อนเพียงพอ หรือคืออาการ BURNOUT

หลีกเลี่ยงงานขั้นหนัก: ความเหนื่อยล้าเกิดขึ้นได้ แต่ทันทีที่ได้พักผ่อนก็จางหายไป แล้วกลับมามีพลังเพื่อทำงานใหม่ให้ดีดังเดิม แต่หากคุณคือคนหนึ่งที่ทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงงาน

อาจสังเกตว่าไม่อยากตอบอีเมลเจ้านายหรือเพื่อร่วมงานจนกล่องข้อความค้างเติ่งจำนวนมาก เข้าประชุมสายเสมอ หรือถ้าเป็นไปได้ก็จะหาข้ออ้างที่จะไม่เข้าประชุม รวมไปถึงอาการผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ งานนี้ยังไม่ต้องทำหรอกน่า งานนี้ขอเลื่อนส่งไปก่อนได้ไหม ความพยายามหลีกเลี่ยงงานอย่างหนักนี้เป็นอาการของการ BURNOUT ที่รุกคืบเข้ามา

ทำงานแค่ให้รอด ไม่ได้ทำเพื่อคุณภาพ: วันนี้คุณทำงานเพื่ออะไร? ถ้าคำตอบของคุณคือก็ทำเพื่อให้รอดไปอีกวัน ทำเพื่อให้หัวหน้าเห็นว่าคุณยังมีงานในหนึ่งวัน คุณอาจเข้าข่าย BURNOUT ได้เช่นกัน เพราะงานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของคุณอีกแล้ว คุณไม่มีพลังใจที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาดี

อาการ BURNOUT ทำให้คุณเครียดและผลักคุณเข้าสู่โหมด “เอาตัวรอด” คือทำแค่ให้ผ่าน ๆ ไป ทำแค่ให้ไม่โดนไล่ออก ถ้าคุณนำงานตัวเองก่อนกับหลัง COVID-19 มาเยือน มาเทียบกันแล้วเริ่มเห็นภาพว่าประสิทธิภาพการทำงานย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด นี่ก็อาจเป็นอีกสัญญาณเตือนภัยที่คุณต้องเริ่มกลับมาหาทางรับมืออย่างจริงจังเสียที

ช่างหัวแม่งกับทุกอย่างขึ้นมาเสียดื้อ ๆ : คำชื่นชมหรือต่อว่าจากเจ้านายเคยมีความหมายมากสำหรับคุณ เพราะมันหมายถึงการเรียนรู้และพัฒนางานให้ดีขึ้น แต่แล้ววันนี้คุณก็ไม่สนใจอีกต่อไปว่าเจ้านายจะชม จะตำหนิ หรือจะพูดอะไรยังไง เพราะคุณไม่แคร์อะไรเลยอีกแล้ว

เมื่อถึงเวลาประชุมและทุกคนต้องการความคิดเห็น คุณก็ไม่อยากพูดอะไรอีกต่อไป มีเพียงความเงียบจากคุณเท่านั้น คุณไม่สนใจอีกต่อไปว่าเจ้านายจะมองคุณอย่างไร เพื่อนร่วมงานจะคิดว่าคุณเอาเปรียบหรือไม่ สิ่งที่มีในหัวคุณก็คือการช่างหัวคนอื่น ช่างหัวงาน ถ้าคุณเริ่มมีอาการแบบนี้ไม่ใช่แค่เหนื่อยกับงาน แต่คือ BURNOUT ขั้นอันตราย

รับมือ BURNOUT FROM HOME อย่างมืออาชีพ

สิ่งแรกสุดที่จะแก้ไขอาการ BURNOUT ได้คือการยอมรับว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ และแก้ไขได้ อย่าโทษตัวเอง การโทษตัวเองไม่ช่วยอะไร แต่การหาทางรับมือกับมันอย่างมืออาชีพ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้มากไปกว่านี้ต่างหากที่จะช่วยให้เราเยียวยาตัวเองได้อีกหน

สร้างเส้นแบ่งชั่วโมงการทำงานให้มั่นคง: การทำงานที่บ้านมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งการไม่ต้องเดินทางฝ่าฟันการจราจร หรือเบียดเสียดกับใครบนรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงจะกลิ้งไปทำงานไป กินไปทำงานไปอย่างไรก็ได้ แรก ๆ เราคงรู้สึกแบบนี้

แต่ชีวิตการทำงานที่ถูกผสมรวมเข้ากับชีวิตในบ้านอย่างแยกไม่ออกนี่เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการ BURNOUT เพราะสมองของเราไม่อาจรู้อีกต่อไปว่าตกลงงานมันสิ้นสุดตอนไหน? ตอนไหนคือเวลาพัก? พื้นที่ไหนคือการได้หยุดงาน มากไปกว่านั้นหลายองค์กรยังคาดหวังให้พนักงานที่ทำงานที่บ้านต้องตอบเรื่องงานได้ตลอดเวลา โดยอ้างว่าก็ได้ทำงานที่บ้านสบาย ๆ แล้วไง

สิ่งที่ต้องจัดการคือการแบ่งชั่วโมงและพื้นที่การทำงานให้ชัดเจน เพื่อให้สมองเข้าใจว่าเวลาไหนที่ต้องทำงานก็ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ในขณะที่เวลาพักก็ต้องพักให้มีประสิทธิภาพเช่นกัน

วันหยุดก็ยังมีความหมาย ทำงานที่บ้านไม่เท่ากับพักผ่อน: คุณและองค์กรต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้แปลว่าไม่ทำงาน ดังนั้นวันหยุดจึงยังมีความหมายเสมอ เมื่ออาการ BURNOUT มาเยือน อย่ามัวเสียดายวันลา เพราะคิดว่าการทำงานที่บ้านก็คือการไม่ต้องไปทำงานอยู่แล้ว

ลองลาหยุดดูสักวันสองวัน ขับรถเล่นให้ปลอดโปร่ง หรือจะพักผ่อนอยู่บ้านโดยไม่คิดเรื่องงานสักวินาที (ปิดทุกการแจ้งเตือน ตัดจบให้เป็นวันหยุดอย่างแท้จริง) การได้ปล่อยสมองและร่างกายให้ตัดขาดจากงานอย่างแท้จริงช่วยผ่อนคลายได้มาก และจะทำให้การกลับไปทำงานหลังจากได้พัก มีประสิทธิภาพมากกว่าการดันทุรังทำงานไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยอมพักเลย

ขอบเขตการทำงานไม่ตายตัว อย่ากลัวที่จะขอคุยกับเจ้านาย: เราทุกคนต่างเข้าใจดีว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ และมันเป็นเรื่องปกติที่คุณรู้สึกหมดไฟกับสิ่งเดิม ๆ ที่เคยทำ หรือหมดไฟกับสถานการณ์แวดล้อมจนไม่มีใจทำงาน ดังนั้นจงตรงไปตรงมากับตัวเองและองค์กร ด้วยการลองคุยเรื่องขอบเขตการทำงานช่วงนี้ใหม่

เพราะขอบเขตเดิมมันอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ถ้าเราเลือกที่จะหาตรงกลางว่าขอบเขตงานแบบไหนที่จะช่วยให้เรามีไฟมากขึ้น และองค์กรก็ยังได้งานที่มีประสิทธิภาพ ก็ดีกว่าเรากลัว และปล่อยให้ตัวเราเองทำงานแบบแค่รอดไปวัน ๆ องค์กรก็ต้องทนกับงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดจะสายเกินแก้

เราไม่ได้ BURNOUT อยู่ลำพัง อย่ากลัวที่จะบอกคนอื่น: นอกจากการกล้าที่จะมองหาขอบเขตงานใหม่ ๆ รูปแบบการทำงานใหม่ ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเข้าใจคืออาการ BURNOUT เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และแก้ไขได้ ดังนั้นอย่ากลัวที่จะบอกเจ้านายและเพื่อนร่วมงานว่ากำลังเผชิญกับอะไร

การที่ทุกคนรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแลว่าทุกคนจะช่วยคุณแก้ได้อย่างตรงจุด หรือต่อให้ไม่ช่วยเลย แต่ทุกคนจะรับรู้ว่าสิ่งที่คุณเป็นอยู่ตอนนี้มีที่มาที่ไป ดีกว่าปล่อยให้งานแย่ ประสิทธิภาพลดโดยไม่บอกอะไรเลย และแบกความหนักหน่วงอยู่คนเดียวไปเรื่อย ๆ แถมทุกคนอาจโทษว่าคุณห่วย กลายเป็นรอยด่างพร้อย ทั้ง ๆ ที่มันง่ายกว่าที่จะบอกทุกคนอย่างตรงไปตรงมาและหาทางออกไปด้วยกัน

สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีอะไรง่าย ทั้งชีวิตและหน้าที่การงาน การที่คุณยังมีงานอยู่ในมือหมายถึงการเข้าถึงโอกาสที่ใครหลายคนตอนนี้อาจทำได้แค่ฝันถึง เราไม่ได้บอกว่าห้ามเหนื่อย ห้ามพัก ห้ามหมดไฟ แต่เราอยากอยู่ข้าง ๆ เป็นกำลังใจเพื่อบอกว่าการหมดไฟมันเกิดขึ้นได้ แต่มันก็แก้ไขได้ อย่าปล่อยให้ทุกสิ่งที่พยายามมากับมือมอดดับลงไป มาลองรับมือแล้วจุดไฟกันใหม่ เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

 


SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line