Life

ZERO TO HERO: คุยกับ “KHan THAITANIUM” ผู้ที่เชื่อว่า HIPHOP ไม่ใช่แค่ดนตรีแต่เป็นความหวัง

By: TOIISAN June 28, 2019

ต้องยอมรับเลยว่าการเปลี่ยนผ่านในวงการเพลงเป็นสิ่งที่มาแล้วไปอย่างรวดเร็ว บางคนอาจอยู่ในช่วงที่เพลงดิสโก้มาแรง หรือเพลงร็อกล้านตลับ มาจนถึงการเปลี่ยนผ่านเป็นยุคที่เกิร์ลกรุ๊ปดังจนพลุแตก และแนวดนตรีที่มาแรงมากที่สุดในประเทศไทยตอนนี้คงหนีไม่พ้นดนตรี Hiphop ที่โดดเด่นด้วยการแรปเพื่อบอกเล่าเรื่องราวแทนใจ เพราะบางครั้งเราก็ไม่กล้าที่จะพูดมันออกมาจึงทำให้ใครหลายคนก็เลือกใช้การแรปถ่ายทอดความรู้สึก 

วันนี้เราได้สนทนากับ “ขันเงิน ไทเท” หนึ่งในสมาชิก Thaitanium วงดนตรี Hiphop ที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทย พูดคุยเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับแนวเพลง Hiphop เพื่อตอบคำถามคาใจว่าในยุคที่ไม่มีใครเข้าใจสไตล์หรือแนวดนตรีนี้ ทำไมขันเงินถึงเลือกจะทำต่อ ความฝันที่พยายามทำให้เป็นจริงมันยากแต่อะไรที่ทำให้ตัดสินใจก้าวผ่านความยากและอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

 

จุดเริ่มต้นในทางเดินสาย HIPHOP ของ “ขันเงิน” และ “THAITANIUM”

“ผมโดนส่งไปอยู่แคนซัสตั้งแต่อายุ 12-13 ปี ในช่วงที่การเหยียดสีผิวกำลังเข้มข้น เราออกไปเล่นสเก็ตหรือไปซักผ้า
ก็โดนคนขาวเขวี้ยงก้อนหิน เขวี้ยงกระป๋องเบียร์ใส่เพราะแค่เราเป็นเอเชีย”

อะไรที่ทำให้ขันเงินหลงรักสไตล์เพลง Hiphop ?

ผมโดนส่งไปเรียนประมาณปี 89-90 เพราะพ่อแม่อยากให้เป็นเห็นโลกแห่งความจริงครับว่ามันไม่ได้สวยงาม มันยังมีการเหยียดสีผิวที่เข้มข้นอยู่ แล้วตัวเราก็โดนเหยียด เราเลยตั้งคำถามว่าทำไมฝรั่งมาไทยเราดูแลเขาดีอย่างกับพระเจ้า แล้วทำไมเวลาไปอยู่ที่โน่นเราถึงได้รับอะไรแบบนี้ 

เมื่อโดนคนขาวเหยียดเราเลยถูกรวมเข้าไปอยู่ในชนกลุ่มน้อย คือคนผิวสีกับชาวละติน แล้ว soundtrack ของพวกเขาคือเพลง Hiphop ที่เป็นเหมือนความหวัง เป็นพลังเสียงของคนผิวสีเพื่อเป็นตัวแทนพูดในสิ่งที่เขาอึดอัด ช่วงแรกที่ผมโดนโยนเข้าไปในกลุ่มนี้ก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเท่าเทียม การตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่เท่าเทียม ทำไมต้องเหยียด ทำไมเราต้องต่อสู้กับคนที่ออกกฎหมาย ทำไมเราต้องด้อยกว่าคนผิวขาว ผมก็อินไปกับตรงนั้น มันคือ soundtrack ของชีวิตเรา ก็เลยอยู่กับเรามาโดยที่ผมไม่ได้เลือกที่จะชอบมันแต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เพราะเราอยู่ในกลุ่มนั้น 

 

การเข้าไปอยู่ในกลุ่มทำให้เราได้ฟังเพลงแบบที่เขาฟังกัน ?

ใช่ครับ มันเป็นบทเพลงที่สื่อถึงชีวิต แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่เรื่องของความเท่าเทียมกำลังมาแรง เสียงดนตรีใช้บอกเล่าให้คนฟังเพลงเข้าใจว่าชีวิตของคนกลุ่มนี้ต้องลำบากขนาดไหน เราโดนเหยียดขนาดไหน แล้วทำไมเราไม่เท่าเทียมกับคนอื่น

 

ก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยน จากคนฟังเพลงกลายเป็นคนทำเพลง 

อะไรที่ทำให้เด็กวัยรุ่นในตอนนั้นหันมาเริ่มทำเพลง Hiphop ?

ต้องเล่าก่อนว่าสไตล์ Hiphop ที่ชัดเจนมี 4 อย่าง คือ การเต้น B-boy เป็น MC บางคนก็ไปแนวอาร์ตอย่าง Graffiti ผมได้ลองทุกแนวแล้วแต่มาจบที่ DJ เพราะว่ามันเป็นสายที่ไม่ต้องพูด เราแค่เปิดเพลงที่เราชอบให้คนฟัง แล้วรู้สึกว่าผมสามารถมีส่วนร่วมกับตรงนั้นได้ 

แต่หลังจากได้เป็น DJ สิ่งอื่น ๆ มันก็ตามมาครับ เพราะว่า DJ ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ produce เพลงด้วย ก็เลยทำให้เราเริ่มเรียนรู้วิธีสร้างเพลงขึ้นมา พอผมเรียนวิธีสร้างเพลงเริ่มทำเพลงเองได้ หัดเขียนเพลงเองเพื่อให้เนื้อมันเข้ากับดนตรีที่เราทำ แต่ขาดคนร้อง ก็ให้เพื่อนมาร้องไม่กี่คน บางครั้งเราก็ร้องเองเลย มารู้ตัวอีกทีเราก็ทำได้หลายอย่างแล้ว มันก็คือคำตอบว่าทำไมเราถึงทำทุกอย่างมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

 

สไตล์ตอนออกอัลบั้มแรกของตัวเองมันคือแนวเพลงที่ขันเงินอยากทำจริง รึเปล่า ?

ตอนนั้น Sony มาทาบทามเราให้ทำอัลบั้มด้วย เราก็คิดว่ามันน่าจะเป็นหน้าที่การงานได้ ถ้าจบไฮสคูลก็น่าจะมาทำอะไรได้เต็มที่ แต่พอได้ทำกับ Sony พักหนึ่งก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราไม่ได้อยากทำเพลงแบบนี้ มันไม่ใช่ตัวเราเท่าไหร่แต่ผมก็ทำต่อ ไม่ใช่ไม่ชอบแล้วก็ไม่เอาเลย

หลังจาก Sony ผมก็ไปอยู่กับ Grammy ครับ ก็ร้องเพลงในแบบที่คนอื่นต้องการ แต่เมื่อกลับบ้านเราก็ทำเพลงแบบที่เราอยากทำ พอทำมา 4 อัลบั้ม เก็บเงินได้ประมาณนึงก็เอาไปซื้อเครื่องเสียงเพื่อเรียนวิธีทำเพลงแบบจริงจัง จากนั้นก็ไปเรียน Sound Engineer ที่นิวยอร์ก

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่พร้อมแล้วก็ออกไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำสิ่งที่คิดว่าเป็นตัวเองจริง ? 

ช่วงนั้นเราไฟแรงมากแล้วรู้สึกว่า Hiphop มันสามารถส่งข้อความให้คนในวงกว้างได้ ผมเลยอยากทำอะไรที่จริงจังกว่าเดิม ให้มันเป็นแบบที่เราเป็น แต่พอกลับไปเรียนไฮสคูลที่อเมริกาให้จบแล้วกลับมาทำเพลงที่ไทยช่วงแรกมันยากมาก เราหาดีลไม่ได้เพราะไม่มีใครอยากทำ Hiphop แบบที่เราอยากทำ 

ต่อมาผมเจอกับเวย์ ตอนนั้นเขายังเด็กอยู่เลยประมาณ 16-17 เขาเห็นว่าผมทำเพลงก็อยากมาแรปด้วย เขาไม่ได้ชอบ Teen 8 Grade A ที่เขาทำเท่าไหร่ แล้วเราก็ไปเจอเดย์ที่อเมริกาก็เลยรวมกลุ่มกันเอาแผ่นเสียงที่สะสมไว้ เครื่องทำเพลงที่เราเก็บเงินซื้อ เอามาทำงานและตั้งวงชื่อ “Thaitanium” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของพวกเราครับ 

 

THAITANIUM ควมแตกต่าง ในสังคมที่ยังไม่เข้าใจคำว่า HIPHOP 

“เราเป็นพวกเด็กประหลาด ฟังเพลง Hiphop เล่นสเกต เอาแผ่นเสียงมาสแครช คนเขาก็ไม่เข้าใจ”

Hiphop สำหรับเมืองนอกมีให้เห็นกันมานานแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเราต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่พร้อมเปิดรับ 

ผมไม่ได้คิดว่ามันยากแต่คิดว่ามันสนุก เพลง Hiphop ทำให้ผมได้เผยแพร่วัฒนธรรมที่เราโตมา เวลาเรากลับมาช่วงซัมเมอร์ก็ขนแผ่นเสียงมาจัด Hiphop party ให้คนได้เห็นสิ่งที่เราชอบมัน ตอนนั้นจัดกับโจอี้บอย และเพื่อน ๆ ขายตั๋วให้คนเข้ามาสนุกด้วยกัน ก็มีมาเป็นร้อยคนครับ ช่วงนั้นเจ เจตรินก็ออกอัลบั้ม แถมมี TKO อีก ทำให้คนทั่วไปเริ่มเข้าใจนิดหน่อยว่าแรปมันคืออะไร แต่เขาก็ยังไม่เข้าใจว่า Hiphop คืออะไร เพราะแรปมันคือวิธีร้องชนิดหนึ่งที่สามารถอยู่ในเพลง pop ได้ 

เพราะเราแตกต่าง เพราะว่าเราไม่ใช่กระแสหลัก เคยเจอคอมเมนต์อะไรแรง บ้างไหม ?

มากมายครับมีทุกอย่างที่คิดได้เลย “ไอ้พวกนี้มันอยากจะเป็นคนผิวดำ มันเอาวัฒนธรรมของคนผิวสีมาเมืองไทยคนไทยเขาไม่เก็ตหรอก” บอกว่าเราพูดอะไรก็ไม่รู้ฟังไม่รู้เรื่อง ด้วยความต่างทำให้เราเป็นที่สนใจของพวกผู้ใหญ่ แต่เราก็ไม่แคร์ เราไม่ได้สนใจกระแสที่ไทยเพราะเราทำเพลงตอนอยู่เมืองนอก แล้วเราไม่ได้คิดว่าคนไทยควรจะฟังเพลงแบบไหน หรือตัดสินว่าเพลงไทยมันควรจะเป็นแบบนไหน เราแค่ทำในสิ่งที่ชอบ 

 

แล้วตอนนี้ขันเงินกำลังทำอะไรอยู่บ้าง 

ช่วงนี้ทำงานเบื้องหลังเยอะครับ ทำอัลบั้ม Twopee ใหม่ทั้งอัลบั้ม ตอนนี้ก็ใกล้จะเสร็จแล้วครับ ส่วนของ Thaitanium ก็จะมีผลงานใหม่เร็ว ๆ นี้ เพราะเราทำเพลงมาด้วยกัน 19 ปีแล้ว ตอนนี้ก็เลยแยกไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือสนใจ พวกเราเปิดโอกาสให้ทุกคนออกไปสร้างผลงานของตัวเองแล้วเดี๋ยวก็จะกลับมารวมกันครับ

 

ทำเพลง Hiphop กับ Thaitanium มา 19 ปี เคยรู้สึกเบื่อบ้างไหม ? 

ไม่เบื่อครับ มันเป็นอะไรที่สนุก เราก็อยากจะค้นหาว่าก้าวต่อไปเราจะเดินไปทางไหน สิ่งที่ทำมาแล้วเราก็คงจะไม่ได้ย้อนกลับไปทำเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นมันก็ความท้าทายอีกแบบหนึ่ง ด้วยอายุขนาดนี้รวมถึงเวลาที่จะเจอกันก็น้อยลง บางคนมีครอบครัว มีความรับผิดชอบอื่น ๆ ที่เยอะขึ้น ก็เลยทำให้เราสงสัยว่าถ้าเรามารวมกันแล้วทำเพลงมันจะออกมาเป็นแบบไหน 

 

ในวันที่ไม่มีใครทำให้เราดูเพราะเราเป็นยุคแรกเริ่มบุกเบิก จนตอนนี้ก็จะมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากเรียกไทเทว่าเป็นต้นแบบ เป็น Iconic เป็นแบบอย่างของแรปเปอร์ รู้สึกยังไงกับการที่มีคนมาเรียกเราแบบนี้ 

“รู้สึกว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำตั้งแต่เด็กมันไม่เสียประโยชน์ เราสู้มาตลอด พิสูจน์ให้พ่อแม่เห็น แล้วก็นำทางถางหญ้ามาให้ทุกคนได้เดินกันสบายขึ้นมันไม่เปล่าประโยชน์” 

 

HIPHOP ใต้ดินก้าวขึ้นสู่ดาว กลายเป็นแนวเพลงกระแสหลักในสังคมไทย

ช่วงนี้เพลง Hiphop เปลี่ยนจากเพลงใต้ดินกลายเป็นเพลงแมส สำหรับขันเงินที่อยู่ในวงการนี้มานานตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คิดว่าวงการ Hiphop เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

เปลี่ยนไปเยอะครับตั้งแต่วันที่เริ่ม ด้วยกระแสของโลกด้วยว่าตอนนี้ Hiphop ที่เคยอยู่ใต้ดินมาตั้งแต่ปี 80 จนมันเริ่มมาออกทีวีตอนปี 90 พอคนเริ่มเห็นวัฒนธรรมของชาวผิวสีที่แต่ก่อนแทบไม่มีพื้นที่ในสื่อเลย คนก็เริ่มเห็น เริ่มรู้ว่าคนผิวสีฟังเพลงอะไร มีสไตล์การเต้นแบบไหน Hiphop ก็เลยดังขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 90 จนถึงทุกวันนี้ 

“ไม่ใช่ดนตรีอย่างเดียว มันจะมีทั้งแฟชั่น อาร์ต ทุกด้านของชีวิตที่ทำให้ Hiphop น่าสนใจ”

 

เดี๋ยวนี้ในประเทศไทยมีรายการเกี่ยวกับ Hiphop เยอะขึ้น รู้สึกยังไงกับการเห็นแรปเปอร์รุ่นใหม่

รู้สึกดีครับ ผมเชื่อเลยว่าแรปเปอร์ทุกคนจะต้องโดนพ่อแม่ด่า มึงทำแบบนี้แล้วจะทำมาหากินยังไง โตไปจะเป็นอะไร พอบอกเขาว่าจะเป็นแรปเปอร์จะเป็นศิลปินมันก็ไกลห่างจากความคิดของผู้ใหญ่มาก ๆ ทำให้เราต้องพิสูจน์ด้วยความตั้งใจ ให้เขาเห็นว่าส่ิงที่เราทำมันไม่ผิด และตอนนี้มีตัวอย่างที่พี่ ๆ เขาทำกันมา น้อง ๆ รุ่นใหม่อาจจะอธิบายให้พ่อแม่ฟังได้ง่ายขึ้นว่า Hiphop คืออะไร ให้เขาเข้าใจว่ามันสามารถเป็นหน้าที่การงานของเราได้ 

ข้อดีข้อเสียของการเปลี่ยนจากวงการใต้ดินขึ้นมาเป็นบนดิน

มีข้อดีข้อเสียต่างกันครับ ข้อดีคือทำให้น้อง ๆ หลายคนได้ตั้งเป้าหมายในชีวิต ตอนแรกบางคนอาจยังไม่รู้ตัวเองว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร หรือบางคนรู้แล้วว่าชอบ Hiphop แต่ไม่รู้ว่าจะไปแสดงความสามารถได้ที่ไหน พอเริ่มมีคนให้ความสนใจแนวเพลงนี้มาก ๆ มันก็ดี ผมได้เห็นความคิดของเด็กที่ทำให้เราประทับใจ อย่างเช่นเจอเด็กอายุ 14 แรปได้ เราได้เห็นความคิดและความในใจของเขา

แล้วไม่ใช่แค่แรปเปอร์อย่างเดียว บางคนชอบเต้น B-boy ก็นัดกับเพื่อนไปซ้อมเต้น บางคนชอบงานอาร์ตแบบ Graffiti หรือบางคนนั่งเขียนเพลงเงียบ ๆ อยู่ในบ้าน มันกลายเป็นว่า Hiphop ไม่ใช่แค่เพลงแต่เป็นวัฒนธรรม ผมเลยคิดว่าข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีข้อเสียเลยนะ 

“ข้อเสียมันไม่ได้อยู่ที่ Hiphop หรือว่าอยู่ที่การแรป มันอยู่ที่คนมากกว่า”

อย่างเราเป็นแรปเปอร์มานานเห็นอะไรมาเยอะ แต่บางคนอาจเพิ่งมาชอบได้เห็นแรปเปอร์เมืองนอกต้องขี้เมา ต้องเล่นยา คนอาจจะหลงไปทำตามแบบนั้นได้ง่ายเพราะเข้าใจผิดว่ามันคือวัฒนธรรม แต่สำหรับผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่ Hiphop อย่างเดียว เพราะถ้าย้อนกลับไปคุยถึงยุคหนึ่งที่เพลงร็อกดังมาก มันสร้างวัฒนธรรม สร้างแรงบันดาลใจ แต่มันก็มีภาพร็อกแอนด์โรล ที่ขี่ฮาเลย์ กินเหล้า เล่นยา ก็เลยมองว่าทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียเหมือนกันหมดครับ

 

ชีวิตจริงกับสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อคำว่า “ENTERTAINMENT” 

ทำไมภาพลักษณ์ของ Hiphop ส่วนใหญ่มักจะมีรถซูเปอร์คาร์ ผู้หญิง ยา ปาร์ตี้กันในบ้านหลังใหญ่ ?

มันเป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากเมืองนอกครับ คนอยากเห็นสไตล์การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนผิวสีที่เป็นคนทำเพลง Hiphop อย่างที่ผมบอกว่าคนพวกนี้ไม่มีพื้นที่สื่อมาก่อน เขาโดนเหยียด ภาพคนผิวสีที่สามารถนั่งรถเมล์รวมกับคนขาวหรือกินน้ำก๊อกเดียวกับคนขาวได้มันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แล้วเมื่อเขาได้มาอยู่ในสื่อ เขาเลยโชว์วัฒนธรรมของตัวเองกันเต็มที่ให้หลายคนได้เห็น ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ชอบซะด้วย

คนดูเพลง Hiphop บางคนอาจแค่อยากดูสาว ๆ หลายคนอยากดูรถหรูเพราะอยากเห็นอะไรที่มันวิลิศมาหรา อยากใช้ชีวิตแบบที่เห็นใน MV มันก็มีส่วนที่ทำให้ Hiphop ดัง มันเป็นค่านิยมและการแสดงเพื่อความบันเทิงครับ ถ้าคนที่ชอบดูอะไรแบบนี้เขาก็จะดูได้เรื่อย ๆ 

 

เนื้อเรื่องใน MV มีส่วนที่ทำให้คนตัดสินว่า Hiphop เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ? 

ประจำเลยครับ เพราะว่าเขาคิดอย่างที่เขาเห็น แต่จริง ๆ แล้วเขาต้องดูและทำความเข้าใจเราด้วยว่ามันคือ Entertainment ถ้าลองเปรียบ Hiphop กับหนังอาจจะเข้าใจง่ายขึ้น บางคนอยากดูหนังผี บางคนก็อยากดูหนัง Gangster ขายยา ฆ่ากัน บางคนอยากดูหนังตลกหัวเราะสนุกสนาน เนื้อเรื่องใน MV ก็เหมือนกันครับ มันเป็นความบันเทิงเหมือนในหนัง มีสคริปต์ว่ามันจะต้องเป็นยังไง ดำเนินเรื่องไปในแบบไหนแล้วมันจะจบอย่างไร 

เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่ชอบอะไรใน MV ก็จะติชมเรื่องนั้น แต่บางทีเจอคนที่แค่ไม่ชอบขี้หน้าเราก็มีครับ เหมือนกับดาราเวลาเล่นบทร้าย คนก็ไม่ชอบเขาทั้งที่ไม่รู้จักเขาเลยจริง ๆ ก็มี ผมเลยคิดว่ามันไม่ได้อยู่แค่ใน Hiphop มันอยู่ทุกที่ เวลาเราอยู่ในสื่อก็จะถูกพูดถึง แต่ละคนเขาจะพูดอะไรกับเราก็ได้เพียงแค่เพราะว่าเขาไม่ชอบ มันเป็นเรื่องธรรมดา 

แล้วไลฟ์สไตล์ของขันเงินเหมือนกับใน MV ไหม ? 

ถามว่าเหมือนมั้ย ไม่เหมือนครับ มันก็มีส่วนครับ แต่ไม่เหมือนทุกอย่าง ในเอ็มวีมันก็จะ ‘เยอะ’ กว่า เพราะว่ามันเหมือนกับ Entertainment เราก็ต้องใส่คอนเทนต์เข้าไปในนั้น ผมคิดว่าแทบจะ 80% ของคนที่ทำเพลง Hiphop เวลาแสดงใน MV ไม่น่าจะใช้ชีวิตแบบนั้นจริง ๆ มันจะแต่งเติมเสริมให้มันดูดี ให้เป็นที่นิยมน่าสนใจ เพื่อให้เพลงได้อยู่ในกระแส เพราะ Hiphop ก็ไม่ได้มีแค่แบบเดียว มันก็จะมี Hiphop ที่มีประโยชน์ พูดเกี่ยวกับสังคมแต่มันไม่ดังเท่า Hiphop ที่เป็นกิเลสตัณหา แต่สุดท้ายใครจะชอบแบบไหน คนดูคนฟังจะเป็นคนเลือกและกำหนดทิศทางเอง

“ถ้าเราทำเพลงออกมามีแต่รถหรู ปาร์ตี้ยา ผู้หญิง แล้วไม่มีใครดูเพราะว่ามันอุบาทว์ คนหันไปเลือกฟังแต่เพลงดี ๆ ผมว่ากระแสของ Hiphop ก็จะเปลี่ยนไป คนทำเพลงก็จะหันไปทำแต่เพลงดี ๆ” 

 

ความฝันกับเส้นทางสายดนตรี HIPHOP ที่สอนว่าการเป็นตัวเองคือสิ่งที่ดีที่สุด

คิดว่าเส้นทางสายดนตรีของเราบรรลุเป้าหมายแล้วหรือยัง ? 

บรรลุไปเรื่อย ๆ เพราะผมเป็นคนฝันสั้น ๆ ครับ ไม่ค่อยหวังอะไรใหญ่มาก ไม่กำหนดว่าชีวิตต้องเป็นอะไร เราฝันทีละนิดและทำให้มันสำเร็จ ตั้งใจอยากจะซ้อม Dj ไปแข่ง เราก็ทำตรงนั้นให้สำเร็จ พออยากจะทำอัลบั้มเราก็ได้ทำ เราอยากจะมีคอนเสิร์ตเราก็ทำจนมันมีได้จริง มันสำเร็จไปเรื่อย ๆ ครับ แต่เราไม่ได้คิดว่ามันจะหยุดที่ตรงไหน เราก็ต้องหาอะไรที่มันตื่นเต้นกับตัวเองไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

หากพูดถึงจุดหมายที่อยากจะทำคืออยากจะ produce คน ให้ไปได้ถึงระดับ International เพื่อทำชื่อเสียงให้ไทยมากกว่านี้ ตอนนี้ในไทยก็อยู่ในจุดที่โอเคแล้ว เห็นน้อง ๆ ทุกคนมีหน้าที่การงาน มีทัวร์ เห็น Hiphop เป็นที่ต้องการของคนมันก็ถือว่าสำเร็จในสิ่งที่เราตั้งใจมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ 

 

อยากจะฝากอะไรถึงคนที่หัดแรป หรือเพิ่งค้นหาตัวเองเจอว่าชอบ

“เป็นตัวของตัวเอง อย่าพยายามเป็นคนอื่น”

เวลาเป็นคนอื่นมันเหนื่อยนะครับ แต่เป็นตัวเองมันไม่เหนื่อย ถ้าเราเป็นเด็กเนิร์ดแล้วอยากแรป ก็แรปในแบบของเรา ไม่ต้องพยายามทำตัวเป็น Gangster หรือถ้าเราเป็น Gangster ก็อย่าพยายามทำตัวเป็นคนดี แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองเป็น เพราะเพลงที่คนอยากฟังคือเพลงที่เป็นตัวเรา ดังนั้นเป็นตัวของตัวเองได้แล้วทำในสิ่งที่เชื่อ ผมว่ามันน่าจะออกมาดีที่สุดแล้วก็ง่ายที่สุดครับ 

“ดนตรีไม่ได้ทำให้เราหลงทาง แต่เป็นชีวิตต่างหาก แถมในหลายครั้งดนตรียังเป็นสิ่งที่ดึงเรากลับมาจากการหลงทางอีกด้วย”

 

 แม้พวกเราอาจจะเคยได้สัมผัสประสบการณ์การขับขี่หรือครอบครอง Nissan Skyline GT-R หรือ Nissan GT-R ผ่านเกมส์ Racing มามากมาย แต่คงจะยากที่เราจะหาโอกาสได้ใกล้ชิดกับ Nissan Skyline GT-R แบบครบ ๆ

อย่าปล่อยให้มันเป็นเพียงความฝัน วันนี้เราสามารถทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้ในงาน The Iconic Party ที่เรารวบรวมทุกความ Iconic เอาไว้ในค่ำคืนเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถ Iconic อย่าง Nissan Skyline GT-R ทั้ง R32, R33, R34, R35 รวมถึง Nissan LEAF ทั้ง Generation ที่ 1 และ 2 พร้อมดนตรีจาก Iconic Rapper KHan Thaitanium กับเพลงพิเศษที่แต่งเพื่อ Rap ในงานนี้เท่านั้น ตามด้วยดนตรีสุดมันส์โดย MEYOU x Ziggavoy x DJ Tul Apartment Khunpa และปิดท้ายด้วย After Party โดย DJ Marmosets

สามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมเพื่อเข้าร่วมงาน The Iconic Party ได้ที่ : bit.ly/2ZRjM4c

 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line