Life

“ถ้วยรางวัลไม่ได้บอกว่าเราเก่ง แต่บอกว่ามาตรฐานเราต่ำกว่านี้ไม่ได้” นนทรีย์ นิมิบุตร

By: PSYCAT August 11, 2020

“เป็นเมียเราต้องอดทน” เรามั่นใจว่าใครหลายคนยังจดจำประโยคนี้จากหนังเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมืองได้ขึ้นใจ แม้วันเวลาจะล่วงเลยจากปีที่หนังฉายครั้งแรกมา 23 ปีแล้วก็ตาม พอ ๆ กับที่ไม่มีแม่นาคพระโขนงเวอร์ชันไหนจะทำให้เราอกสั่นขวัญผวาได้มากเท่ากับภาพจากหนังเรื่องนางนาก ที่แม่นาคผมสั้นกุด ฟันดำมะเมื่อมจากการเคี้ยวหมาก ห้อยหัวลงมาจากเพดานวัด

ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้และอีกหลายเรื่องคือฝีมือการกำกับของ “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ที่แรกเริ่มเราอาจรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ แต่วันนี้เขานิยามตัวเองว่า “คนทำหนัง” หรือถ้าให้ชัดกว่านั้น “คนทำหนังที่มีความสุข” ตอนนี้เขาเตรียมโปรเจกต์ของตัวเองอยู่ เขียนบทหนังอีก 2-3 เรื่อง ทั้งหนัง ทั้งซีรีส์ รวมถึงงานโปรดิวเซอร์

แต่หากเบื้องหน้าคือหนังชวนให้จดจำ วลีเด็ดชวนให้กล่าวขาน และสารพัดภาพในตำนานที่ใคร ๆ ก็กล่าวถึง การได้สนทนากับเขาในวันนี้กลับพาเราขุดลึกลงไปเบื้องหลังความสำเร็จตลอดหลายสิบปีในการทำหนัง เบื้องหลังถ้วยรางวัลเรียงราย ภายใต้การอดทนรอจังหวะที่ใช่ การทำงานงานหนัก และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด คือตัวตนของเขาที่น่าสนใจไม่แพ้หนังเรื่องไหน ๆ ของเขาเลย

 

เมื่อเจอ “การทำหนัง” ก็เจอความสุขที่ตามหามาทั้งชีวิต

“รักแรกพบ” ใครหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าวินาทีแรกที่เราตกหลุมรักใครสักคนหรือสิ่งสักสิ่งนั้นให้ความรู้สึกเช่นไร? แต่ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรานี้ กลับต่างออกไป เพราะวินาทีแรกที่เขาได้รู้จักการทำหนัง ก็อาจบอกได้ว่านั่นคือ “รักแรกพบ” คือการได้เจอความสุขที่เชื่อว่าตามหามาทั้งชีวิต

ถ้าเขาคือเด็กหนุ่มนักศึกษาในวันนั้น อาจสุ่มเสี่ยงที่เราจะเผลอสบประมาทเขาว่าเพิ่งเจอการทำหนัง จะรู้ได้อย่างไรว่าจะรักการทำหนังจริง?

แต่ระยะเวลาทำหน้าที่พิสูจน์ได้อย่างสมบูรณ์ จึงไม่อาจมีข้อกังขา เมื่อวันนี้เขานิยามตัวเองว่า “คนทำหนัง” และย้อนเล่าเรื่องราวครั้งแรกที่ได้รู้จักการทำหนังด้วยแววตาวาววามราวกับเล่าถึงรักครั้งแรกอย่างไรอย่างนั้น

“ผมเป็นคนทำหนัง มีความสุขที่ได้ตื่นขึ้นมาคิดหนังทุกวัน คิดว่าถ้าเป็นไปแบบนี้ไปจนลมหายใจสุดท้ายก็คงดี ถ้ายังมีคนให้โอกาสเราอยู่เรื่อย ๆ และเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นความตั้งใจ

มีคนเคยพูดว่า ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เรารักทุกวัน เราจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงาน เหมือนเราได้ลุกขึ้นมา ตื่นขึ้นมา คิดแต่สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราหลงใหล ได้อยู่กับมันจนกระทั่งเราหลับตาไปในตอนกลางคืน เช้าเราตื่นขึ้นมาเราก็ยังได้คิดต่อไปอีกทั้งวัน มันมีความสุข

ผมว่ามันเป็นการหาความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต ถ้าใครค้นหาชีวิตในแบบนั้นของตัวเองเจอ ผมก็เชื่อว่าเหมือนเราไม่ได้ทำงาน เราจะมีความสุขของเราได้ทุกวันโดยที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่ามันต้องร่ำรวย ผมมาถึงอายุเท่านี้ มีประสบการณ์แบบนี้ ผมถือว่าคุ้มค่าแล้ว ทุกวันนี้ไม่ได้ต้องการอะไร ชีวิตผมมีทุกอย่างเท่าที่คนธรรมดาคนหนึ่งควรจะมี”

ผมเป็นคนทำหนัง มีความสุขที่ได้ตื่นขึ้นมาคิดหนังทุกวัน แล้วก็คิดว่าถ้าเป็นไปแบบนี้ไปจนลมหายใจสุดท้ายก็คงดี

“ตอนนั้นเรียนอยู่ที่ศิลปากร เราเรียนทางด้านศิลปะ ชอบงานภาพพิมพ์ งานเขียนภาพประกอบ วันหนึ่งตอนปิดเทอมปีหนึ่ง มีโอกาสได้ไปช่วยเพื่อนถ่ายสารคดีเทียนพรรษาที่อุบลราชธานี ไปเป็นลูกมือช่วยเขา 

แต่เรากลับรู้สึกตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างที่เราเห็นเขาทำงาน ตั้งแต่ช่วยหาข้อมูล เขียนสคริปต์ เริ่มทำงาน เขาก็ให้เราคุยกับชาวบ้าน ก็ยิ่งสนุกขึ้นเรื่อย ๆ

จนวันที่สามที่เขาเริ่มถ่ายทำ มีกล้องออกมา มีไฟมาตั้ง เราตื่นตาตื่นใจกับภาพนั้น ตลอดระยะเวลาถ่ายหนัง เรานอนไม่หลับไปสองคืน เขาถ่ายสารคดีกัน เราก็นั่งเฝ้า คอยถามเขาว่าอันนี้คืออะไร อันนั้นใช้งานอย่างไร แล้ววิธีการทำงานมันเป็นยังไง”

“หลังจากนั้นเรากลับมาบ้าน แล้วบอกตัวเองว่า ยูเรก้า! เราค้นพบแล้ว นี่คือสิ่งที่เราตามหามันอยู่ ตอนที่เรียนศิลปะ ทำงานศิลปะทุกอย่างมา แต่เราได้ค้นพบว่านี่แหละคือสิ่งที่เราค้นหาจนเจอ

หลังจากนั้นเราแทบไม่ได้มาเรียนหนังสือ ไปอยู่ตามห้องตัดต่อ ไปหาหนังสือเรื่องหนังอ่าน เมื่อก่อนเราไม่มีหนังสือของไทยนะครับ ก็ไปเดินสนามหลวงหาหนังสือต่างประเทศมาเปิดดิคชันนารีอ่าน มาศึกษา ตั้งแต่นั้นมาโดยตลอด”

“จริง ๆ ต้องยอมรับว่าได้อาจารย์ ได้เพื่อนแต่ละคนช่วยดูแลให้เรียนจนจบ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใช้คำว่าอย่างนั้นเลย เพราะอาจารย์โทรไปเรียกมาสอบ เพื่อนบอกต้องว่าต้องส่งงานแล้ว ทุกคนช่วยกัน เพราะเขารู้แล้วว่า เราไม่ไปทางอื่น นอกจากทางหนังนี้แล้ว”

ดื้อเพื่อสิ่งที่รัก กบฏเพื่อการเรียนรู้ แล้วสู้ด้วยเหตุและผล

“โรแมนติกเป็นบ้า” เราเผลออุทานในใจ ไม่ใช่ทุกคนจะเจอสิ่งที่รักและหลงใหลในชีวิตแสนสั้นนี้ แต่เขาไม่เพียงเจอ ทันทีที่เจอ เขากลับพร้อมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเรียนรู้ เพื่อหลงใหล เพื่อหมกมุ่นและทำมันให้ดีกว่าเดิม

ถ้าการได้รู้จักการทำหนังเหมือนรักครั้งแรก การดื้อสุดตัวสุดใจเพื่อได้คลุกคลีกับการทำหนังก็คงไม่ต่างจากการพยายามหอบผ้าหอบผ่อนหนีไปอยู่กับคนที่เรารัก

แต่แน่นอนว่าเขาดื้อเพื่อสิ่งที่รักอย่างมีระบบ กบฏเพื่อการเรียนรู้อย่างมีสติ ที่สำคัญขับเคลื่อนความรักครั้งนี้ไปด้วยเหตุและผลอย่างน่าชื่นชม

“พอขึ้นปีสามก็เดินเข้าไปบอกคณบดีว่า เปิดหนังเถอะ ผมอยากเรียนหนัง เขาก็บอกว่าจะเรียนได้ไงที่นี่ไม่มีใครสอน เขาก็ให้ไปล่ารายชื่อ ว่ามีใครอยากเรียนบ้าง ผมได้มาร้อยกว่ารายชื่อ ปรากฏว่าเขายอมเปิดเป็นวิชาเลือก แล้วส่งเราไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ เพราะที่ธรรมศาสตร์เขามีวิชานี้ เราก็ไปนั่งเรียนที่ธรรมศาสตร์ นั่งอยู่หลังห้องฟังเขารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้บ้าง แต่ความอยากมันไปแล้ว” 

“เราถูกขนานนามว่าดื้อตาใสมาตั้งแต่เด็ก เราเหมือนเป็นคนเรียบร้อยไม่มีพิษสงอะไร แต่ถ้าเราดื้อ เราดื้อแหลกเลย เราดื้อหัวชนฝา เหมือนวันที่เดินไปหาคณบดี ผมบอกผมจะเรียน ผมจะเรียนไอ้นี่ ท่านก็เชิญอาจารย์หลายคน หัวหน้าภาควิชา บอกว่าไอ้นี่มันจะเรียน ทำไงกับมันดี?”

“เดินเข้าไปบอกคณบดีว่า เปิดหนังเถอะ ผมอยากเรียนหนัง”

“อาจารย์ครับมหาวิทยาลัยเราก่อตั้งมากี่ปีแล้ว? เราไม่เคยแทรกซึมอุตสาหกรรมบันเทิงได้เลยเป็นเพราะอะไร? ตั้งแต่เปิดมามีแค่สองสามคนเท่านั้นเองที่เคยไปทำฝ่ายศิลป์อยู่ในบริษัท JSL ถือว่าน้อยมาก อุตสาหกรรมเขาก็ต้องการวิชาเรานะครับ ถ้าเราต้องการให้ศิลปะไปอยู่ในจอภาพยนตร์ ให้ศิลปะไปอยู่ในโทรทัศน์ มันต้องไม่ใช่แค่สิ่งพิมพ์นะครับ เพราะฉะนั้นกรุณาเถอะครับ นี่คือเหตุผลของผมว่าทำไมผมถึงต้องการให้เปิดวิชานี้”

“ถ้ามันจะเรียนจริง ๆ ทุกคนต้องมาช่วยกัน กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจารย์ทุกคนต้องมาช่วยเรา ผมเป็นคนแรกที่ทำธีสิสจบมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยหนังสั้น อาจารย์ก็ถามว่า แล้วใครจะตัดสินธีสิสมึง? ก็ต้องหาอาารย์ข้างนอกมาตัดสิน จนกระทั่งต้องเปิดวิชาภาพยนตร์ เปิดวิชาแอนิเมชันขึ้นมาในมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วก็เชิญอาจารย์จากข้างนอกเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำ”

“ทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นอย่างนี้ ผมยังดื้อกับสิ่งที่อยากทำ”

“คนเขาก็บอกว่ามึงนี่ดื้อจริง ๆ ไม่รู้สิ ผมอยากทำแบบนั้น เรารู้สึกว่าการคุยกับใครก็ตาม เขาก็คน เราก็คน เขาก็มีหน้าที่ เราก็มีหน้าที่ เราก็คุยกันตรง ๆ เราคิดว่าเราอยากทำแบบนั้น ถ้าไม่ทำแบบนี้ผมก็ไม่เรียนได้ไหม ผมก็จะลาออกไป เขาก็บอกว่าไม่ได้ ต้องเรียน ต้องเรียนให้จบด้วย งั้นมาช่วยกันสิ ทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ

ผมก็จะไปคุยกับอาจารย์อยู่ทุกวัน วิชาอาจารย์ผมขอต่อรองแบบนี้นะ ผมจะเรียนแบบนี้นะ มันเป็นข้อตกลงที่มันทำได้ เราไม่ได้ทำอะไรที่ร้ายแรงหรือเลวร้าย เรากำลังทำสิ่งที่มันถูกสำหรับเราและกับเพื่อนอีกหลาย ๆ คนด้วย ไม่ใช่แค่เราคนเดียว เพียงแต่เราอาจจะเป็นคนที่กล้าที่จะพูด กล้าที่จะอธิบายเหตุผลเท่านั้นเอง”

“บอกเหตุผลไปเขาก็ฟัง ถ้าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เลวร้าย เรามีความตั้งใจที่มันถูกต้อง ยังไงเสียเขาก็ต้องฟังเรา ทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นอย่างนี้ ผมยังดื้อกับสิ่งที่อยากทำ”

ในรุ่นผมมีหลายคนที่ตั้งใจมาทางนี้กันหมดเลย ตอนนี้ทุกคนก็ยังโลดแล่นอยู่ในวงการ ทั้งหนัง ทั้งโฆษณา มิวสิกวีดีโอ ทุกคนยังทำงานแบบนี้กันอยู่ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความดื้อตรงนั้นที่ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากรมีวิชาหนังเกิดขึ้น คือความดื้อดึง ความกบฏของพวกเรา”

หนังไม่ใช่แค่ความหลงใหล แต่เป็นเป้าหมายชีวิต

ขึ้นชื่อว่าความรัก ความหลงใหล มันย่อมมีจังหวะทะลักล้น แต่ก็ย่อมมีจังหวะใกล้เหือดแห้ง เราอดสงสัยไม่ได้ว่าการที่เขาทำหนังมานานขนาดนี้ ความรักที่จะทำหนังมันยังพลุ่งพล่านอยู่ไหม?

มันมากกว่าที่จะใช้คำว่าหลงใหลแล้ว หนังเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร

เขาตอบไม่ยาวมาก แต่จบทุกข้อสงสัยในใจเรา และหนังไม่ใช่แค่เป้าหมายชีวิตของเขาในวันนี้ แต่หมายรวมไปถึงว่าเขามีหนังเป็นเป้าหมายของชีวิตนับตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ได้รู้จักการทำหนังแล้ว …

“มันเหมือนเราแต่งงานกับหนังไปตั้งแต่วันนั้นแล้ว แล้วเราก็มีครอบครัวกับมันไปแล้ว มันมากกว่าที่จะใช้คำว่าหลงใหลแล้ว หนังเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร เมื่อก่อนเราก็บอกว่าเราอยากเป็นผู้กำกับหนัง แต่ถึงวันนี้เป้าหมายของชีวิตเราก็คือการได้ทำมันทุกวัน ได้อยู่กับมันทุกวัน ได้คิดกับมันทุกวัน ซึ่งโชคดีที่มันเป็นอย่างนั้น”

“พอเจอหนังและเราหลงใหลมัน เราก็รู้สึกว่ายิ่งค้นคว้า ยิ่งหา ยิ่งสนุก ยิ่งชอบ จนเรามีชมรมกับกลุ่มเพื่อนชื่อชมรมวันศุกร์ เป็นชมรมที่ทุกคนจะมานั่งคุยกันเรื่องหนัง เรื่องรายการทีวี เรื่องอะไรต่อมิอะไร เราก็นั่งคุยกันตลอดเวลา ว่าจะทำยังไงดีให้สีเขียวเวอริเดียนของมหาวิทยาลัยเราเข้าไปแทรกซึมอยู่ในวงการหนัง โทรทัศน์ และอื่น ๆ ได้”

“เราคงไม่นั่งคอยให้โอกาสวิ่งมาหาเรา เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครรู้จักเรา สิ่งเดียวที่เราทำได้คือวิ่งไปหาโอกาส”

“พวกเราพยายามจะปวารนาตัวเองเข้าไปฟรี ๆ ก็มี ช่วยในราคาถูก็มี ค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไป เพราะเราเรียนศิลปะ พวกนี้ขาดแผนกอาร์ตแน่นอน เราก็จะไปเป็นมุมมองด้านศิลปะ วิชวล ภาพต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ เข้าไปเรียนรู้ ตอนนั้นสักสิบกว่าคนที่แทรกซึมเข้าไปที่ต่าง ๆ เพื่อหาคอนเนกชันและโอกาส”

“เราก็คุยกันว่าเราคงไม่นั่งคอยให้โอกาสวิ่งมาหาเรา เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครรู้จักเรา สิ่งเดียวที่เราทำได้คือวิ่งไปหาโอกาส ก็วิ่งกันออกไป กระจายกันออกไป โดนหลอกบ้าง ก็ไม่เป็นไร

ทุกคนก็มาเล่าประสบการณ์ในชมรมวันศุกร์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทุกวันศุกร์ในชมรม ทุกคนก็จะหยิบพล็อตออกมาจากกระเป๋ากางเกง มาขายเพื่อน ไอเดียนี้ผ่านบ้าง ไอเดียนั้นไม่ผ่านบ้าง ก็สนุก ก็คุยกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา”

อย่างไรก็ตามแม้หนังจะเป็นมากกว่าความหลงใหล เป็นเป้าหมายชีวิต เป็นแม้กระทั่งหัวข้อบทสนทนาที่นำพามิตรภาพจากเพื่อนที่รักหนังมารวมตัวกันภายใต้ชมรมชื่อ “ชมรมวันศุกร์” แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขายืนระยะความรักจะทำหนังมาได้ยาวนาน อาจเป็นเพราะเขารู้จักผ่อนเมื่อยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม แล้วค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์เพื่อกลับมาใหม่ 

“พอเขาเปิดวิชาหนังในมหาวิทยาลัย ผมอยู่ปีสาม ผมก็ได้งานเป็นครีเอทีฟมิวสิกวีดีโออยู่ในค่ายเพลง ก็เริ่มไปทำมิวสิกวีดีโอ เริ่มทำหนัง เรากับเพื่อนก็กระโดดไปทำหนังบางเรื่องกัน แล้วเราก็รู้สึกว่าคนทำหนังไทยในช่วงสักเกือบ 30 ปีแล้ว เขายังไม่มีระบบ

ตอนนั้นใช้วิธีมีผู้กำกับเป็นใหญ่ แล้วก็สั่งทุกอย่างลงไป แล้วภาษาที่ใช้เมื่อก่อนก็ด่ากัน ด่าพ่อล่อแม่กันไปเรื่อย ๆ เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มัน ไม่ใช่ ดูเหมือนว่านี่ไม่ใช่การทำหนังในทิศทางของเรา เราไม่ได้ผู้ดีอะไรหรอกนะ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่มีระบบอะไรเลย นึกอยากด่าก็ด่า ไม่มีเหตุผล

เลยเอาไปคุยกันในกลุ่มเพื่อน ๆ แล้วบอกกันและกันว่าไม่เป็นไร เราไปหาประสบการณ์อย่างอื่นกันก่อน หลายคนก็ไปทำมิวสิกวีดีโอ ก็กระจายกันไปตามค่ายเพลงต่าง ๆ มิวสิกวีดีโอตอนนั้นเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น เราก็เพิ่งเริ่มเข้าไปทำ เราเลยแข่งกัน บางคนก็ไปอยู่ค่ายใหญ่ บางคนก็ไปอยู่ค่ายเล็ก แล้วหาประสบการณ์ของตัวเอง”

“ชมรมวันศุกร์ก็ยังอยู่ ทุกคนก็ยังมานั่งคุยกัน พอเริ่มเรียนจบก็ยิ่งแข็งแรง การทำงานบางคนก็ไปอยู่ในวงการโฆษณา ซึมเข้าไปในโฆษณาบ้าง เราจากทำมิวสิกวีดีโอ ก็ไปทำรายการโทรทัศน์ ทำคอนเสิร์ต หาประสบการณ์กันหมด แล้วก็มาแชร์กันเสมอ”

“สุดท้ายก็มีเพื่อนไปอยู่เอเจนซี่หลายคน เขาก็เริ่มถามเราว่ามาทำโฆษณาไหม เราเลยเริ่มกระโดดมาทำหนังโฆษณา จนออกมาตั้งบริษัทเอง เป็นผู้กำกับโฆษณา แต่ในระหว่างนั้น ชมรมวันศุกร์ก็ยังอยู่ ยังคุยกันอยู่ ยังมีไอเดียเรื่อง แดง ไบเลย์ มีนางนากมีไอ้นู่น ไอ้นี่ มีหนังวิศิษฏ์ (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) หลายเรื่องก็ยังคุยกันในกลุ่มนั้น แต่เรายังไม่เริ่มลงมือทำอะไรกันจริงจัง”

“เงินดี มีคอมฟอร์ตโซน” แต่ไม่ใช่ชีวิตที่ได้ทำในสิ่งที่ฝัน

ถ้าคุณกำลังทำงานหนึ่งงานที่รายได้ก็มากมายเป็นกอบเป็นกำ แถมงานนั้นเป็นงานที่เข้าข่าย “คอมฟอร์ตโซน” พูดได้ว่าถนัด ทำจนชิน ทำจนคล้ายดังว่าเป็นระบบอัตโนมัติ คุณว่าคุณจะทิ้งงานนั้นไปง่าย ๆ ไหม?

เราคงไม่ตัดสินคำตอบใคร ในขณะที่คำตอบของนนทรีย์ นิมิบุตร บอกเราว่าการย่ำอยู่บนรอยเท้าเดิม ๆ ของตัวเองไม่ใช่จุดที่เขาพอใจ และนั่นอาจหมายถึงว่าเขาต้องกระโจนออกไปหาสิ่งที่เคยฝัน แม้ว่ามันจะไม่สบายหรือได้เงินมากเท่าเดิมก็ตาม

“การทำโฆษณามันไม่ง่ายนะครับ มันยากมาก คือในสามสิบวินาทีเราจะเล่าเรื่องยังไงให้มันอยู่ สองคือว่าวงการโฆษณามันไปรวดเร็วมากในยุคนั้น เราหยุดไม่ได้เลย ถ้าเราหยุดยืน หยุดคิด แปลว่าเราถอยหลัง จริง ๆ เราไม่ได้ถอย แต่คนอื่นเขาเดินหน้า มันก็เหมือนเราถอยหลัง เพราะฉะนั้นต้องลับมีดทุกวัน คิดทุกวัน หาไอเดียใหม่ ๆ 

สิ่งนั้นมันฝึกฝนเราตลอดเวลา ต้องคิดหาวิธีการใหม่ ๆ หามีเดียใหม่ ๆ หาไอเดียใหม่ ๆ เราจะสู้เขาได้ยังไง แล้วเรามีบริษัทเล็ก ๆ ของตัวเอง คุณต้องเดินมาหาเราเพราะอะไร เรามีจุดเด่นอะไร ก็พยายามจะมองหาจุดนั้นตลอดเวลา ระหว่างที่ทำโฆษณามาสิบกว่าปี”

“แต่พอถึงจุด ๆ หนึ่ง ทำโฆษณามาประมาณสิบกว่าปีเรารู้สึกว่ามันเป็นอัตโนมัติ ออโตเมติก เวลาลูกค้าส่งสตอรี่บอร์ดมา เราก็จะแก้แก้สตอรี่บอร์ดปรับ ๆ ๆ ส่งกลับ เรารู้สึกว่า เอ๊ะ มันออโตเมติกยังไงไม่รู้ มันเคยชิน มันเริ่มย่ำบนรอยเท้าตัวเองอยู่เรื่อย ๆ

เราย่ำรอยเท้าตัวเองอยู่สักประมาณปีนึงเต็ม ๆ ที่เรารู้สึกว่าเรา โอเค มันทำงานโฆษณามันได้เงินเยอะมาก ใช้คำว่า เยอะมากจริง ๆ บริษัทเราเล็ก ๆ แต่ว่า งานเราเต็มไปหมดเลย”

“วันหนึ่งที่ชมรมวันศุกร์ เราเจอเพื่อนก็บอกว่า เฮ้ย เราว่าถึงเวลาแล้วว่ะ เรารู้สึกว่าเราอิน เราเต็มอิ่มกับมันเต็มที่แล้ว แล้วก็รู้สึกว่าเราอยากกระโดดไปทำอะไรใหม่ ๆ เพราะงานโฆษณาท้าทายก็จริง แต่ข้างหลังเราจะมีคนอยู่สี่ห้าคนอยู่ตลอดเวลาที่เขาจะคอยบอกว่าไอ้นั่นได้ ไอ้นี่ไม่ได้ มีคัมภีร์ของเขา”

“เรารู้สึกว่ามันเป็นการค้ามาก มันใช้ความคิดของเราก็จริง แต่ทุกอย่างมันคือการมีคัมภีร์ มีไบเบิลที่ต้องทำตามของมันอยู่ เราเลยอิ่มตัวแล้ว เรารู้สึกว่าเราอยากหาอะไรใหม่ ๆ ทำ มาทำหนังกันได้แล้ว เพื่อนก็บอก เออ ที่มาหาในวันนี้ก็เบื่อแล้วเหมือนกัน เลยตกลงกันว่ากลับมาทำฝันของเรากันเถอะที่เราเคยฝันมาสิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่เรียนหนังสือ ถึงเวลาแล้ว”

มีทฤษฎีก็ไม่ผิด แต่เพราะเชื่อแบบนี้ จึงอยากทำหนังแบบนี้

“ตอนนั้นทุกคนก็ประสบความสำเร็จในมุมของตัวเองแล้ว หลาย ๆ คนก็เจริญรุ่งเรืองดี มีสตางค์กันระดับหนึ่ง รู้สึกว่า เออ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนแน่ ๆ ถ้าเรากระโดดมาทำตรงนี้ เลยตัดสินใจเอาหนังมาคุยกัน วิศิษฏ์ก็เสนอ คนนั้นก็เสนอ ผมก็เสนอนางนากไป”

“ตอนนั้นไม่ได้ชื่อนางนาก ชื่อแม่นาคพระขโนง ผมบอกว่าผมอยากทำเป็นเรื่องแรก ก็คุยกันไปกันมา เพื่อนตอนแรกก็เห็นด้วย รีเสิร์ชข้อมูลกัน เสร็จแล้ววันหนึ่งวิศิษฎ์ก็เดินมาแล้วบอกว่า เฮ้ย เราทำไม่ได้ว่ะ เราทำกันไม่ได้หรอกเรื่องนี้”

“ผมถามว่าทำไม? เขาบอกว่าพวกเราเป็นใครวะ? คนแม่งไม่รู้จักเราเลย ใช่มั้ย? อยู่ดี ๆ เราจะลุกมาเปลี่ยนแปลงแม่นาคที่เขาเชื่อมาตลอดชีวิตของเขาตั้งแต่เด็ก ว่าแม่นาคต้องผมยาว แขนยาว บีบคอ แล้วมึงเป็นใครวะ จะไปเปลี่ยนแปลงแม่นาคที่คนเขาเชื่อได้ยังไง? เออ จริง เลยคิดตรงกันว่า ทำไงดีล่ะคราวนี้? “

“แล้วมึงเป็นใครวะ จะไปเปลี่ยนแปลงแม่นาคที่คนเขาเชื่อได้ยังไง?”

“จำได้ไหมเรามีอีกเรื่องหนึ่ง? ก็เลยหยิบหนังสือเส้นทางมาเฟียมา งั้นทำอันนี้กัน เราก็เออ เอาสิ เห็นด้วย หนึ่งมันก็คือมีความเป็นวัยรุ่น เข้าถึงง่าย เราก็เชื่อว่าวิธีการการทำงานของพวกเราโดยไอเดีย โดยรูปแบบแบบเรา มันน่าจะนำพาเรื่องนี้ไปในระดับหนึ่งได้”

“ความตั้งใจก็คือว่า เอาน่า ทำไงไม่ให้ผู้ลงทุน เขาขาดทุน  ถ้างั้นเราก็อย่าใช้เงินเยอะ ดูแลทุกอย่างโดยพวกเราเอง เรามีศิลปะอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เราก็หามุมมมองใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ เอาประสบการณ์จากที่เราทำงานกันมาใส่ เพราะฉะนั้นในหนัง

ถ้าใครได้ดู 2499 (2499 อันธพาลครองเมือง) มันจะเป็นหนังที่พลุ่งพล่านมาก เราอัดอั้นกันมาเป็นสิบปี แล้วเราก็จะเห็นว่ามีวิธีการ มีเทคนิคในการเล่าเรื่องร้อยแปดเลยในนั้น เพราะเราถูกฝึกมาให้เป็นแบบนั้น”

ถ้าใครได้ดู 2499 มันจะเป็นหนังที่พลุ่งพล่านมาก เราอัดอั้นกันมาเป็นสิบปี

“เล่าซีนนี้แบบนี้ เล่าซีนนี้แบบนี้ อันนี้ใช้ภาพขาวดำเล่า อันนี้ใช้กระโดดข้ามทีละหลายคน พอมีคนท้วงว่านี่มันผิดจากทฤษฎีหนัง ไม่ได้ว่ะ ไม่เอาว่ะ ไม่สนทฤษฎีได้ไหม หนังโฆษณาเองมันก็ไม่ได้มีทฤษฎีไหนมารองรับ มันไม่ต้องคอนทินิวแบบนั้นก็ได้ เข้าซ้ายออกขวา ไม่จำเป็น มันเข้าออกทางเดียวได้

เราไม่ได้บอกว่าทฤษฎีมันผิด แต่เราบอกว่าเราอยากทำแบบนี้ เรามีความเชื่อแบบนี้ เราขอลอง ขอทำแบบที่ไม่มีใครเขาทำได้ไหม”

“เราบอกว่าเราอยากทำแบบนี้ เรามีความเชื่อแบบนี้ เราขอลอง ขอทำแบบที่ไม่มีใครเขาทำได้ไหม”

“การเลือกนักแสดงทุกคนก็บอกว่าไปเอาดารามา เราบอกว่าไม่เอาได้ไหม เราไม่เชื่อ เราไม่ได้บอกว่าเขาเก่งหรือไม่เก่งนะ ความไม่เชื่อของเราก็คือว่าเรามีแดง ไบเลย์ เปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ ดำ เอสโซ่ ซึ่งเรารู้สึกว่าถ้าเราเอานักแสดงมาไว้ตรงนั้น คนก็จะติดว่าเขาเป็นสมชาย เข็มกลัด หนุ่ม ศรราม หรือคนอื่น ๆ

เราเลยบอกว่าขอใหม่เลยได้ไหม ทุกคนก็ลังเล  แต่เราก็บอกว่า เชื่อเราเถอะ เชื่อเราสักครั้ง เราเลยใช้เวลากับการคัดนัดแสดงนานมาก เพราะถ้าเราเอาคนที่เราไม่เชื่อมาอยู่ในหนังเรา เราเองยังไม่เชื่อ คนดูจะเชื่อเราได้ยังไง?”

“เพราะฉะนั้นเชื่อเราเถอะแล้วใส่ชื่อ 5 คนนี้ลงไป แล้วก็บอกว่าคนนี้คือแดง ไบเลย์ คนไม่รู้จักเขาหรอก แต่คนจำเขาได้ว่าเขาคือแดงไบเลย์ มันก็เลยแตกต่าง มันก็เลยได้รับการยอมรับในความแตกต่างนั้นว่ามันใหม่”

“ขณะเดียวกันเราก็เอาระบบการทำงานในแบบโฆษณาที่เป็นระบบมากมาใส่ในการทำภาพยนตร์ แล้วเราก็มีทีมงานที่ใหม่หมด มีทีมโฆษณา ทุกคนก็จะทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำงานในอีกระบบหนึ่ง ไม่ใช่ระบบหนังไทยเดิม ๆ เราจะมีโปรดิวเซอร์ มีโปรดักชันดีไซน์ เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น เรามีตำแหน่งครบ ไม่ใช่ใช้คนเดียวกันแหลกราญ เรามีระบบมากขึ้น มีแอคเคาน์แทนต์มาจัดสรรการเงิน”

ภาพยนตร์คือชีวิต ความสำเร็จคือการทำงานหนัก

“กุญแจความสำเร็จของคุณคืออะไร?” เราถาม

“ฟลุ๊ค” เขาตอบ แล้วเราสองคนก็ประสานเสียงหัวเราะขึ้นพร้อมกัน

“พูดเล่นนะ ผมทำงานหนัก ทำงานหนักจริง ๆ เคยมีเพื่อนหลายคนที่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเรา บอกว่า เฮ้ย เอ็งโชคดีมากเลยมาถึงตรงนี้ได้ ได้เรางวัล ได้รับการยอมรับจากทั้งในไทย ในต่างประเทศ ได้ไปเทศกาลหนัง

ผมบอกว่าเพื่อน เราไม่เคยโชคดี ขณะที่เพื่อนมาเรียนตอนเช้า เพื่อนกลับบ้านตอนเย็น เราไปไหนรู้หรือเปล่า? แล้วทุกวันนี้ เพื่อนเริ่มทำงานเก้าโมงเช้า ห้าโมงเย็นเลิกงาน เรายังไม่เคยนอนเลย เรารู้สึกว่าเราทำงานหนักเพื่อมาอยู่จุดนี้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ยอมปล่อยมันไปหรอก”

“นิยามความสำเร็จของเราคือการทำงานหนัก และการไม่หยุดที่จะเรียนรู้”

“ถ้าถามว่านิยามความสำเร็จของเราคืออะไร? นิยามความสำเร็จของเราคือการทำงานหนัก และการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ไม่หยุดที่จะศึกษาหาความรู้เลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้นในขณะที่ทุกคนปิดลองวีคเอนไปเที่ยว เราก็นั่งอยู่ในห้องตัดต่อ เราก็นั่งดูหนังดูหนังอยู่ เราก็นั่งเขียนบทอยู่ เราก็นั่งคิดเรื่องงานอยู่ เราทะเลาะกับตัวเองอยู่”

“ภาพยนตร์คืออะไร? ภาพยนตร์คือชีวิตเรา เขาเอาเราไปทั้งชีวิตแล้ว ทั้งเวลา ทั้งความคิด ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ถามว่าแปดถึงสิบปีที่ผ่านมา ทำไมเราต้องออกไปขี่จักรยานทุกวัน เพราะว่าหนังต้องการพลังงานจากเรา ต้องการหลายอย่างจากเรา เพราะฉะนั้นหนังคือชีวิตเรา”

“ภาพยนตร์คืออะไร? ภาพยนตร์คือชีวิตเรา”

“เราว่าหนังไม่มีวันหยุดเรียนรู้ได้ มีสิ่งใหม่ ๆ เทคโนโลยีมันไม่เคยหยุด ไปเรื่อย ๆ ทั้งกล้อง การตัดต่อ เทคนิคของมันเต็มไปหมดและมันผลิใหม่ทุกวัน อย่างน้อยที่สุดต้องเรียนรู้ว่ามันไปถึงไหนแล้ว รวมถึงวิธีการถ่ายทำ เทคนิคการตัดต่อ เทคโนโลยีในการเปลี่ยนจากแอนาล็อกเป็นดิจิทัล

เราเรียนหนังสือตลอดเวลา เราเรียนหนังสือทุกวัน เราเรียนหนังสือจากความคิดของผู้กำกับรุ่นใหม่ เราเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ และคนที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วย เพราะเราต้องรู้ว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมเขาคิดอย่างนี้ และทำไมเขาคิดอย่างนี้”

เราเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ และคนที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วย เพราะเราต้องรู้ว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น

“ผมว่ามันไม่มีทางหยุดได้เลย ถ้าเรายังอยากจะเติบโตไป เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราคิดเหมือนตอนที่เราทำโฆษณาคือคุณต้องห้ามเดินเหยียบย่ำรอยเท้าตัวเองเด็ดขาด คุณต้องสร้างรอยเท้าใหม่ ๆ ไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา

ถ้าสังเกตให้ดีหนังของผมทุกเรื่องไม่เคยซ้ำรอยเรื่องเดิมเลย เพราะเราคิดว่า มันทำไปแล้ว เราจะทำมันซ้ำอีกไปทำไม? ถ้าไม่มีอะไรใหม่กว่านั้นเราก็อยู่เฉย ๆ ดีกว่า”

ถ้วยรางวัลไม่ได้บอกว่าเราเก่ง มันบอกว่ามาตรฐานเราต่ำกว่านี้ไม่ได้

ถ้าหนังคือชีวิต และความสำเร็จคือการทำงานหนักก็คล้ายว่ามนุษย์ที่ชื่อนนทรีย์ นิมิบุตร ได้มีชีวิตและความสำเร็จในนิยามของตัวเอง ควบคู่กับการไม่หยุดเรียนรู้ แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในเมื่อไปกวาดรางวัลมาจนถ้วยรางวัลเต็มบ้านขนาดนี้แล้วมันเคยมีสักวินาทีไหมที่รู้สึกว่า โห พอแล้ว ถ้วยรางวัลเยอะขนาดนี้แล้วพอเถอะ

“เสน่ห์ของหนังคือมันไม่ใช่สิ่งที่เราทำเพื่อดูคนเดียว สำคัญที่สุด มันต้องการคนดู หนังมันต้องการคนดู หนังมันเรียกร้องสายตาให้คนมาจับจ้อง เรียกร้องคำวิจารณ์ และหลายอย่างมาก 

เรายังคงตั้งต้นจากการที่เราอยากดูนะ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากทำ เราต้องอยากดู ทุกครั้งที่เราคิดเรื่องขึ้นมา เราจะคิดว่าเราอยากดูแบบนี้ และเราก็เชื่อว่าคนดูก็อยากดูอะไรแบบนี้ 

เราไปดูว่าคนอยากดูอะไร เราศึกษาว่าตลาดต้องการอะไร แต่เราไม่ได้ไปถามว่าเขาอยากดูอะไร เราไปดูว่าเขาทำอะไรกันไปแล้ว อะไรที่เขายังไม่ได้ทำ ตรงนั้นต่างหากที่เป็นช่องของเรา ตรงที่เขายังไม่ได้ทำ เราต้องทำอันนี้ ในแบบที่เราอยากดูด้วย”

“มันเลยไม่เกิดความกดดันสำหรับเรา หนังจะสำเร็จหรือจะเฟล มันก็ไม่เคยกดดันเราทั้งสองทาง เวลาเราออกจากบ้าน มีถ้วยรางวัลที่เราเคยได้ตั้งอยู่เต็มตู้ ถ้วยรางวัลไม่ได้บอกว่าเราเก่ง มันบอกว่ามาตรฐานเราต่ำกว่านี้ไม่ได้”

“ถ้วยรางวัลไม่ได้บอกว่าเราเก่ง มันบอกว่ามาตรฐานเราต่ำกว่านี้ไม่ได้”

“ผมเคยเห็นด้วยตาตัวเอง ผู้กำกับที่คิดว่าตัวเองไปถึงจุดหนึ่ง คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แล้วก็ดำเนินงานไปในระดับนั้น สำหรับผม ผมรู้สึกว่าผมไม่เคยเก่ง ผมเห็นคนที่เก่งกว่าผมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วด้วยนะ

ผมมองเห็นเพื่อนที่เก่งกว่าอยู่ตลอด จำได้เลยว่าตอนที่ทำโฆษณาอยู่ เป้าหมายของผมคือ เป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง) ผมรู้สึกว่าเป็นเอกเก่งจังเลย ทำไมคนคนนี้เก่งจังเลย ทำยังไงให้เราได้ไปยืนข้าง ๆ เขาบ้างวะ? ทำยังไงให้เราได้ไปยืนรับรางวัลกับเขาบ้างวะ ทำยังไงดีวะ?”

“ผมรู้สึกว่าผมไม่เคยเก่ง ผมเห็นคนที่เก่งกว่าผมอยู่ตลอดเวลา”

“ถ้าเราไปอ่านประวัติเขา เราก็จะรู้ว่าเขาอ่านหนังสืออาทิตย์ละ 2 เล่ม เราเลยบอกว่างั้นกูต้องอ่าน 4 เล่ม ถ้าเขาดูหนัง 2 เรื่อง กูต้องดู 5 เรื่อง ทำยังไงก็ได้ เขาอาจจะเกิดมาเป็นอัจฉริยะ แต่เราเกิดมาธรรมดา แต่เราเป็นคนธรรมดาที่โคตรมุ่งมั่น เราเชื่อว่าทุกอย่างมันฝึกฝนมันเรียนรู้ได้ ตั้งใจจริง ๆ มันทำได้”

“เขาอาจจะเกิดมาเป็นอัจฉริยะ แต่เราเกิดมาธรรมดา แต่เราเป็นคนธรรมดาที่โคตรมุ่งมั่น”

“เราก็เลยรู้สึกว่าทำยังไงให้คนธรรมดาอย่างเราไปอยู่ตรงนั้นได้บ้างวะ? แล้ววันหนึ่งเราก็ได้เล่าให้เขาฟังแบบนี้ ที่ฝรั่งเศสมั้ง เราไปเทศกาลหนังด้วยกัน แล้วเราก็นั่งคุยกัน แล้วเราก็เล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง เขาหัวเราะ ถามว่า จริงหรอวะ? เราบอกว่ามันจริง ตอนเราทำโฆษณาเรารู้สึกว่าคนนี้มันเก่งมากเลย มันคิดได้ไงวะ?”

“เราอาจจะไม่มีโอกาสเรียนต่างประเทศ  เราไม่เคยรู้สึกว่าทำไมเราต้องแพ้เขา ทำไมเราต้องยอมกับชะตาของตัวเอง เราเชื่อว่าเราทำได้ พอเรายิ่งมุ่งมั่น เรายิ่งตั้งใจ เรายิ่งค้นคว้า ความรู้ มันก็ยิ่งทำให้เราสนุกกับมัน มันท้าทายเราตลอดเวลา เหมือนทุกครั้งที่เกิดปัญหาอะไร เรารู้สึกว่า โห ความท้าทายใหม่มาอีกแล้ว ชอบ ทำยังไงดี จะแก้ไขอย่างโง่ ๆ จะแก้ไขอย่างฉลาด หรือจะแก้ไขในมุมไหนกับใครดี”

“เราไม่เคยรู้สึกว่าทำไมเราต้องแพ้เขา ทำไมเราต้องยอมกับชะตาของตัวเอง เราเชื่อว่าเราทำได้ “

“ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเกิดปัญหาใหญ่โตแค่ไหน หรือเล็ก จิ๋วแค่ไหนมันก็แก้ได้ในมุมของมัน บางทีเวลาก็ช่วย วิธีคิดก็ช่วย บางทีประสบการณ์ก็ช่วย ขึ้นอยู่กับว่าปัญหานั้นมันเกิดจากอะไร เกิดจากใคร แล้วก็จะดับมันยังไงเท่านั้นเอง”

“หนังไม่มีวันตาย” ตราบใดที่เรารู้ว่าเราทำหนังเพื่ออะไร

ในวันที่สตรีมมิ่งวีดีโอเข้ามาแย่งชิงคนดูไปจากจอขนาดใหญ่ในโรงหนัง ในฐานะคนดูเราก็มองว่านี่คืออีกทางเลือกหนึ่งที่เราจะเสพภาพยนตร์ที่เราชอบได้สบายขึ้น ง่ายขึ้น แต่ในสายตาคนทำหนังที่ยืนระยะยาวนานอย่างเขา ที่นิยามว่าหนังคือชีวิตของเขาด้วยแล้ว เขามองเรื่องนี้อย่างไร? หนังตายแล้ว อย่างที่ใครต่อใครพูดจริงไหม?

“หลายคนก็คุยกันเรื่องนี้ว่าดิสรัปชั่น (Disruption) มันส่งผลอะไรบ้าง ผมก็บอกว่ามันก็สุดแล้วแต่ใคร นี่โลกมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา ยังไม่เข้าใจมันอีกเหรอ? ยังไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงอีกเหรอ? โลกมันเปลี่ยนไม่ได้หมายความว่าคุณต้องฆ่าตัวตาย? หรือคุณต้องตายไปนี่ครับใช่ไหม? มันเปลี่ยนมาตั้งแต่ผมเด็ก ๆ แล้ว”

“ผมจำได้ว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่เราไม่มีทีวี ที่บ้านเรายังไม่มีทีวีดู จนวันหนึ่งเราก็มีทีวีดู ที่บ้านเรายังเคยจุดตะเกียงนอน วันหนึ่งเราก็มีไฟฟ้าใช้ จนกระทั่งถึงวันนี้ ทุกอย่างมันอยู่ในนี้ อยู่ในโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง คือการเปลี่ยนแปลงมันมาตลอดเวลา และเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย แค่คุณยอมรับและทำความเข้าใจมัน และคิดว่าเราจะดำรงชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร?”

“หนังในจอใหญ่มันอาจลดจำนวนลง แต่ไม่ได้หมายความว่าในจอเล็ก เราทำหนังไม่ได้”

“หนังอาจจะเปลี่ยนแปลง หนังไม่มีวันตาย แค่เปลี่ยนแปลง หนึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงมีเดียของมัน จากจอขนาดนี้ เล็กลงมาเรื่อย ๆ ๆ ๆ จนเหลือเท่านี้ (เขาทำมือสีเหลี่ยมเล็กจิ๋วเพื่อบอกขนาด) วันหนึ่งมันก็ต้องกลับขึ้นไป เสน่ห์ของมันเป็นแบบนั้น โอเค หนังในจอใหญ่มันอาจลดจำนวนลง แต่ไม่ได้หมายความว่าในจอเล็ก เราทำหนังไม่ได้”

“ใครจะเรียกผมว่าเป็นผู้กำกับมือถือ ผมก็โอเค ตราบใดที่เรารู้ว่าเราทำหนังเพื่ออะไร เราทำหนังเพื่ออยากเล่าเรื่อง เราอยากพูดเรื่องนี้ เรามีเรื่องใหม่มานำเสนอ เรามีวิธีการคิดแบบใหม่มานำเสนอ ไม่ว่ามันจะออกไปในสื่อไหน ผมไม่ได้แคร์ ตราบใดที่ยังมีคนดูงานเราอยู่”

“ใครจะเรียกผมว่าเป็นผู้กำกับมือถือ ผมก็โอเค ตราบใดที่เรารู้ว่าเราทำหนังเพื่ออะไร”

“ตราบใดที่คนยังบอกว่าหนังเรายังโอเคอยู่ ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย ผมรู้สึกว่าแค่เรารู้ว่าเราเป็นน้ำ เราจะไหลไปอยู่ในภาชนะรูปแบบไหน เราก็ยังเป็นน้ำ เพียงแต่ก็เปลี่ยนรูปทรงไปตามภาชนะเท่านั้นเอง”

บทสนทนาจบลง วลี “เป็นเมียเราต้องอดทน” ที่เราพูดหยอกเล่นกับเพื่อนตอนต้นก่อนได้คุยกับ “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ดูมีความหมายกว่าเดิม เพราะสำหรับเขาการทำหนังก็ไม่ต่างจากความรัก ความสัมพันธ์ และเขาไม่ได้รักมันเล่น ๆ หลงใหลมันชั่วคราว แต่เขาอดทน ให้เกียรติ มองหนังเป็นเป้าหมายชีวิตที่เขาตัดสินใจแต่งงานด้วยตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รู้จักมัน

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line