World

ลุงตู่ NOT ALONE ประเทศไทยไม่เหงานะ ‘พาทัวร์อดีตประเทศรัฐบาลทหาร’ทั่วโลก

By: PSYCAT March 31, 2017

บางคนก็ชอบความสงบเรียบร้อยปรองดองเด็ดขาดสไตล์ทหาร ในขณะที่บางคนก็อึดอัดใจกับการละเมิดเสรีภาพบ้าง ไม่โอเคกับการใช้มาตรา 44 บ้าง แต่การปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นระบอบที่เคยติดท็อปฮิตระดับโลก เมื่อ 47 ปีก่อน โดยเฉพาะช่วงปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513) มีกว่า 20-30 ประเทศทั่วโลกที่ปกครองโดยกองทัพ

แม้วันนี้เราอาจจะเหงา ๆ เพราะประเทศไทยเราดันฮิตไม่ตรงกับชาวบ้านเขา กลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน (ไม่รวมเผด็จการแบบอื่น ๆ ) แต่ก็อย่ามัวรู้สึกเหงา รู้สึกหว่อง รู้สึกเดียวดายไป เพราะ  UNLOCKMEN  จะอาสาพาไปรู้จักอดีตประเทศที่เคยปกครองโดยเผด็จการทหาร เอาไว้เป็นความหวัง เอาไว้เป็นกำลังใจ เอาไว้โดนม.44 ไปด้วยกัน (จะดีหรอ) ในสถานการณ์ตอนนี้ไปพลาง ๆ จะได้ดูเทรนด์เห็นอนาคตว่าประเทศไทยของเราจะเป็นยังไงต่อไป

totaloutnow, Creative Commons

totaloutnow, Creative Commons

เมียนมาร์: เผด็จการทหารคู่ใจ เคียงใกล้กว่า 50 ปี

ประเทศที่มีชายแดนร่วมกันกับเราอย่างเมียนมาร์ ก็เคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเช่นกัน (แน่ล่ะ) แต่ใครจะรู้ว่าพม่า (ขอใช้พม่า เพื่อความคุ้นเคย) เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย แต่มีจำนวนประชากรน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ แถมจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็บอกว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พม่าเป็นเมืองท่าที่มีความเจริญไม่แพ้ ปีนัง หรือสิงคโปร์เลย

John L Christian ชาวอเมริกันเคยเขียนถึงเมืองย่างกุ้งไว้ในหนังสือ “Burma through the eyes of an American friend”  (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1943)  ไว้ว่าเป็นเมืองที่เจริญแทบจะไม่ต่างจากนิวยอร์กด้วยซ้ำ!

17-03-31-junta-003

สำหรับการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ก็เรียกได้ว่าประเทศนี้อยู่ภายใต้อำนาจของทหารทั้งทางตรงและทางอ้อมยาวมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1962

อิทธิพลแบบทหาร ๆ ฝังลึกอยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศ ครอบงำได้ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ระบบการศึกษา และสาธารณสุข แถมสร้างสถานะพิเศษให้กับทหารและครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนอื่น ๆ ทำให้แรงงานกว่า 2 ล้านคนต้องหาที่หลบภัย และออกไปขายแรงงาน รวมถึงประชากรผู้มีการศึกษากว่า 5 แสนคนที่หนีสภาวะย่ำแย่และความยากจน โดยในปลายทศวรรษ 1980 พม่าถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศยากจนที่สุดในโลก

เกือบ 50 ปีภายใต้การปกครองแบบทหาร ๆ ในปี ค.ศ. 2011 พม่าเริ่มเปิดประเทศทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่เสรีที่สุด  (ในรอบ 25 ปี)  เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2015 ซึ่งก็ชวนให้จับตามองกันต่อไปว่าการมีรัฐบาลที่ประชาชนมีส่วนร่วม (มากขึ้น) จะทำให้ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราเติบโตขึ้นได้อีกมากน้อยแค่ไหน

อย่างน้อยก็ทำใจถูกเนาะว่าลุงตู่เพิ่งมาอยู่กับเราแค่ 3 ปีเอง หนทางแห่งความอดทนของเราอีกยาวไกล…

17-03-31-junta-002

สเปน: ห่างไกลรัฐบาลทหารมา 42 ปีแล้ว

ข้ามฟ้าไปทางฟากยุโรปกันบ้าง เมืองกระทิงอย่างสเปนผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในบรรดาจักรวรรดิสากลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ก็เคยมีการปกครองภายใต้เผด็จการทหารกับเขาเหมือนกัน โดยใน ปีค.ศ.1936 นายพลฟรังโกได้เข้ามายึดอำนาจ ปกครองประเทศสเปน ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1 ล้านคน และมีประชาชนถูกสั่งจำคุกอีกกว่า 1 แสนคน ในขณะที่อีกกว่า 30,000 คนถูกประหารชีวิต

ช่วงเวลาภายใต้เผด็จการทหารกินเวลาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1936 – 1975 ซึ่งสเปนถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งนายพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ถึงเริ่มเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

แต่เรื่องราวก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เราเข้าใจ เพราะหลังจากนั้นยังมีความพยายามจากเหล่านายทหารในการก่อรัฐประหารขึ้นอีก แต่พระมหากษัตริย์ในขณะนั้น (กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ทรงต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย ธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ได้รับการลงประชามติเห็นชอบโดยประชาชนชาวสเปน

เรื่องราวก็ผ่านมา 42 ปีแล้ว กว่าสเปนจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างที่เห็น ๆ เราก็นับนิ้วรอกันไปก่อน…

อาร์เจนตินา: เมื่อคนทำรัฐประหารต้องถูกลงโทษ

ด้านอเมริกาใต้ก็ไม่ได้น้อยหน้า โดยเฉพาะอาร์เจนตินาที่ผ่านช่วงแห่งการปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมาหลายต่อหลายรอบ แต่ช่วงที่หน่วงหนักที่สุดอีกช่วงหนึ่งคือ เมื่อปี ค.ศ.1976-1983

‘สงครามสกปรก’ หรือ Dirty War เป็นยุคที่เผด็จการทหารเข้ามาปกครองอาร์เจนตินา และปราบปราบผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้มีผู้สูญหายทั้งหมดราว 30,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็ก 500 คนที่ถูกพรากจากพ่อแม่และถูกเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนตัวตน

independent.co.uk

independent.co.uk

เด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่ถูกรัฐบาลลักพาตัวหรือเป็นเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ถูกคุมขัง เด็กจะถูกส่งให้ครอบครัวของทหารเลี้ยงดู โดยจะเลี้ยงให้เป็นเด็กที่เชื่อฟัง ไม่ต่อต้าน เป็นการตัดปัญหาให้เด็กตั้งคำถาม และไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเป็นใคร รวมถึงไม่ตั้งคำถามเรื่องพ่อแม่ตัวเองที่หายไปหรือถูกคุมขังอีกด้วย

แต่ท้ายที่สุดเรย์นัลโด บิโญเน อดีตผู้นำรัฐบาลทหาร นายพลผู้ได้รับสมญานามว่าเผด็จการคนสุดท้ายของอาร์เจนตินาก็ถูกพิพากษาให้จำคุก 25 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวน 56 คดี รวมถึงเจ้าหน้าที่ในยุคเผด็จการทหารอีก 6 รายที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก ล้มกฎหมายสูงสุดของรัฐ แถมละเมิดสิทธิมนุษยชนรัว ๆ แบบนี้ก็รับโทษกันไป อาจไม่เหมือนบางประเทศแถวนี้นิรโทษกรรมเอา ๆ …

17-03-31-junta-005

ซูดาน: แชมป์โลกด้านการรัฐประหาร

ถ้าเหนื่อยใจกับการรัฐประหารสิบกว่าครั้งในประเทศเราก็เข้าใจ แต่ถ้าเรื่องแชมป์การรัฐประหารบ่อยสุด มากสุด เยอะสุด คงต้องยกให้ซูดานเขา เพราะรัฐประหารไปทั้งสิ้น 31 ครั้งถ้วน

การปกครองภายใต้เผด็จการทหารครั้งล่าสุด คือ เมื่อปี ค.ศ.1989-1993 ซึ่งเป็นระบอบปกครองเผด็จการทหารของพันโท โอมาร์ อัล บาชีร์ โดยเขาทำการรัฐประหาร ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

โอมาร์ อัล บาชีร์ ก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมซึ่งพรากชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนในภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันในซูดานก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่ เพราะพันโทโอมาร์ อัล บาชีร์ ยังคงสืบทอดอำนาจ แต่ไม่ใช่ในฐานะรัฐบาลทหาร (เพราะเขายุบสภาทหารไปแล้วหนนึงเมื่อปี 1993) แต่สืบทอดอำนาจแบบเป็นประธานาธิบดีเต็มรูปแบบ โอมาร์ อัล บาชีร์ จึงกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรก ที่ถูกฟ้องโดยศาลอาญาระหว่างประเทศในขณะดำรงตำแหน่ง ข้อหายุยงให้มีการสังหารหมู่ ข่มขืน และปล้นสะดมประชาชน

17-03-31-junta-006

ฟิจิ: น้องเล็กล่าสุดที่โบกมือลารัฐบาลทหาร

ฟิจิกลายเป็นประเทศน้องเล็กล่าสุดของโลกที่โบกมือลาเผด็จการทหารเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา (ปล่อยให้ประเทศไทยเราชิค ๆ คูล ๆ อยู่ประเทศเดียว) โดยชีวิตภายใต้เผด็จการทหารของฟิจิก็กินเวลา 8 ปีเต็ม คือตั้งแต่ปี ค.ศ.2006-2014

การยึดอำนาจโดยทหารเมื่อปี 2006 เป็นฝีมือของผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น โดยขณะที่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร ฟิจิขาดการยอมรับจากประชาคมโลก โดยเฉพาะสังคมตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องชะงักไปชั่วขณะ

การเลือกตั้งเมื่อปี 2014 จึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุด “วัฒนธรรมปฎิวัติรัฐประหาร”ในประเทศฟิจิ ส่วนไทยเราก็ดูและเชียร์ลุงตู่ทุกวันศุกร์ไปก่อนแล้วกัน

17-03-23-7-tips-to-learn-002

การเมืองเป็นเรื่องสุดละเอียดอ่อนที่ต่างคนก็ต่างความคิดเห็น ไม่ว่าจะเปิดอกคุยกันแมน ๆ แค่ไหนก็อาจไม่วายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันให้ขุ่นเคืองใจกันได้ แต่ความแตกต่างไม่จำเป็นต้องกลายเป็นความแตกแยกเสมอไป เพราะแม้เรามีความคิดเห็นกันคนละแบบแต่ถ้าอธิบายต่อกันด้วยความสุภาพและเป็นเหตุเป็นผล เราอาจได้มุมมองใหม่ ๆ มาโดยไม่รู้ตัว

ปลดล็อคขีดจำกัดแบบใหม่ ๆ โดยลองเปิดใจฟังความเห็นที่หลากหลายดู ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดให้เหมือนใคร แค่ไม่ตัดสินอะไรโดยไม่ได้ฟังเหตุผลของเขา แค่นี้ก็คูลสุด ๆ ในสภาวะที่ต้องใช้ความอดทนแบบนี้คุยกันก็ใจเย็น ๆ เข้าไว้ เพราะจากประวัติศาสตร์ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็เหมือนว่าเราต้องใจเย็นอดทนรอไปอีกนานเหมือนกัน มา มาร้องเพลงรอไปด้วยกันก่อนดีกว่า…

SOURCE1SOURCE2,SOURCE3SOURCE4,SOURCE5SOURCE6,SOURCE7,SOURCE8,SOURCE9,SOURCE10,SOURCE11,SOURCE12,SOURCE13

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line