Entertainment

ฟังแต่เพลงเก่า ไม่ใช่ไม่ทันสมัย แต่ผลวิจัยบอกว่าคนเรามักหยุดฟังเพลงใหม่ในช่วงอายุ 30 ปีเป็นต้นไป

By: unlockmen February 23, 2021

“เพลงอะไร เพราะดี ไม่เคยฟังมาก่อน”

คือคำพูดที่ชวนให้คนรุ่นใหม่ต้องแสลงหู เมื่อเราลองให้คนอายุ 30 ปีขึ้นไปบางกลุ่มลองฟังเพลงใหม่เหล่านี้ กว่า 80% มักจะไม่อินกับเพลงใหม่ และเราก็ได้ค้นพบงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตั้งสมมติฐานอันน่าสนใจว่า “เรามักจะหยุดรับเพลงใหม่ตอนอายุ 30 ปี”

โดยงานวิจัยนี้ได้ค้นพบในปี 2015 บล็อก Skynet & Ebert จากการสำรวจข้อมูลจากผู้ฟัง Spotify จำนวน 1,000 คน แม้ข้อมูลนี้จะผ่านมาเนิ่นนานถึง 6 ปีแล้ว แต่ข้อมูลยังคงน่าสนใจและยังใช้ได้จนถึงปัจจุบัน ว่าเพราะเหตุใดเราถึงหยุดการอัพเดทเพลงใหม่ทั้งๆที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างพากันผลักดันให้การฟังเพลงนั้นชิดใกล้เพียงปลายนิ้วสัมผัส Unlockmen จึงขอย่อยงานวิจัยอันยุ่งเหยิงเหล่านี้ให้ชวนเข้าใจกันง่ายๆดังต่อไปนี้

ในงานวิจัยพบว่าวัยรุ่นในวัย 12-22 ปี สมองจะตื่นตัวต่อการตอบรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ดี

ในขณะที่คนอายุ 30 ขึ้นไป หากเปรียบสมองเป็นฟองน้ำ พวกเขาก็รับประสบการณ์ต่าง ๆ จนบวมน้ำกันไปหมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเราจะหยุดรับข้อมูลใหม่ ๆ ไปซะดื้อ ๆ

ซึ่งในการวิจัยนี้ได้ย่อยลึกลงไปอีกว่า อายุที่มากที่สุดที่สนใจในการค้นหาเพลงใหม่ คืออายุ 24 ปี และโดยเฉลี่ย คนรุ่นใหม่กว่า 75% จะค้นหาเพลงใหม่ฟังสัปดาห์ละ 10 เพลง และ 64% จะสำรวจหาศิลปินใหม่เฉลี่ย 5 รายต่อเดือน

ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันจากการที่แต่สตรีมมิ่งได้เปิดช่องทางให้ศิลปินใหม่ ๆ ได้ปล่อยของ และจาก Playlist มากมายที่พยายามจะแนะนำเพลงใหม่ให้ User ได้ค่อย ๆ ลองฟังไปเรื่อย (เช่น Discovery Weekly ของ Spotify) เราจึงได้ฟังเพลงใหม่ ในทุกวันศุกร์จาก Playlist All New ที่ศิลปินพาเหรดกันปล่อยเพลงนับ 100 เพลงต่อสัปดาห์


ปฏิเสธไม่ได้ว่าอายุ 30 นั้นเป็นวัยที่ต้องทุ่มเทให้กับการทำงาน ผู้ชายต้องทำงานยันดึกดื่นเพื่อความเจริญในหน้าที่การงาน ส่วนฝ่ายหญิงบางคนก็เริ่มเป็นแม่คนในวัย 25-30 ปี นั่นหมายถึงการดูแลลูกน้อยตั้งแต่แบเบาะถึง 5 ขวบ ชีวิตที่เคยเรียบง่ายกลายเป็นสิ่งที่ดูยุ่งเหยิงมาก ๆ เกินกว่าที่คุณจะมีความสุขในการหาเพลงใหม่ฟัง

ในวัย 30 พวกเราต้องทำงานเพื่อฟาดฟันทั้งหัวหน้าใหญ่ ต้องรับผิดชอบในการดูแลลูกน้อง มาถึงที่ทำงานก่อนและต้องกลับทีหลัง บางคนถึงแม้จะปลดพันธนาการการเป็นพนักงานออฟฟิศด้วยการมีกิจการส่วนตัวแล้วก็ตาม แต่หน้าที่ความรับผิดชอบก็มากขึ้นตามวัยเช่นกัน จึงไม่แปลกอะไรที่หากเขาจะเลือกฟังเพลงในหมวด Radio และให้เพลงมันเปิดไปเรื่อยๆตามแนวที่เราชอบ มากกว่าจะมานั่งเสียเวลาไล่เสิร์ซหาเป็นอัลบั้มเพื่อตั้งใจฟัง

จริงอยู่ว่าเวลามันไม่ได้น้อยลงไปจากสมัยที่คุณอายุ 15 แต่เวลาในการใช้ชีวิตที่ยิ่งอายุมากขึ้นคุณยิ่งจะต้องจดจ่ออะไรเป็นอย่าง ๆ ไป ในยุคปัจจุบัน เราต้องเจอสิ่งที่ล่อตาล่อใจเรามากมาย สารพัด Social Media ที่ต้องแยกเสพทั้ง Facebook, Clubhouse, Instagram ไหนจะต้องเสียเวลากับการนั่งไล่หาซีรีส์ใน Netflix มีเวลาว่างก็อยากจะเล่นเกมจาก PS5

กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฆ่าเวลาจนแทบไม่เหลือความสนใจให้กับการอัพเดทเพลงใหม่ ๆ ได้อีกต่อไปแล้ว


อย่างที่หลายคนได้กล่าวไว้ว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว ยิ่งเติบโตยิ่งทุกข์ บางคนจึงหยุดความทรงจำดี ๆ ไว้เฉพาะช่วงวัยรุ่น ระหว่างเพลงใหม่ที่เราไม่อินกับมันเท่าไหร่ กับเพลง Creep ของ Radiohead ที่เราฟังแล้วร้องไห้อย่างบ้าคลั่งยามที่เราเป็นวัยรุ่น

หลายคนมักจะเลือกย้อนความทรงจำที่ผูกติดกับเพลงเก่าเที่เราฟังในช่วงเวลานั้น ๆ มากกว่าอยู่กับปัจจุบันที่ไร้อารมณ์ร่วม หรือเนื้อหาไม่ใช่สถานการณ์ที่เราเคยชินกับมัน ดังนั้นการสำรวจจึงพบว่าบทเพลงในอดีตมักจะสร้างความอินให้กับคนในวัยที่แตกต่างกันไป

อย่างเพลง Alternative / Brit Pop ก็มักจะทำงานได้ดีกับคนช่วงอายุ 35-40 ปี ส่วนเพลง Disco ของ Bee Gees ก็จะทำงานในหมู่คนยุค 70s-80s ซึ่งแต่ละยุคสมัย ต่างก็มีความหลังฝังใจในวัฒนธรรมที่หล่อหลอมพวกเราให้เติบโตขึ้นมามีมุมมองแตกต่างกันออกไป ช่วงเวลาที่เราตกหลุมรัก ช่วงเวลาที่อกหัก ช่วงเวลาที่ไปนัดเดท ช่วงเวลาที่เสียคนสำคัญไป บทเพลงเก่า ๆ เหล่านี้จึงเป็นเสมือนสิ่งที่เปิดลิ้นชักเก่าและหยิบเอาภาพถ่ายที่ฉายความทรงจำชั้นดีที่เปิดฟังยามคิดถึงอดีตอันดงาม


Generation Gab หรือช่องว่างระหว่างวัย นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็มักจะผูกติดกับความรู้สึกเดิม ๆ และยากเกินที่จะตอบรับกับสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งถือเรื่องปกติไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน สงครามของยุคสมัย ร็อคดีกว่าป็อป ฮิปฮอปดีกว่าร็อค ก็นับว่าเป็นเรื่องที่เกิดมาชั่วนาตาปีแล้ว และยิ่งนานวัน ความซับซ้อนของแนวดนตรีแนวนึงที่แม้จะวนลูปกลับมาฮิตใหม่ ก็ใช่ว่ามันจะคงรูปแบบเดิม และจะได้รับความนิยมจากคนกลุ่มเดิม

คนวัย 30 ที่ฟังแต่งานของศิลปินแบบ Full Band คงรู้สึกแปลกใจที่ยุคสมัยนี้บทเพลงสามารถทำงานให้จบได้เพียงคนเดียวในห้องนอน หรือด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปตามแต่ยุคสมัยของสังคม บทเพลงปัจจุบันที่ไร้ซึ่งท่อนโซโล่ของเครื่องดนตรี ทำให้บางคนรู้สึกว่าเพลงนั้นช่างว่างเปล่าไร้ความประณีต ไร้อารมณ์ มันจึงไม่แปลกใจเท่าไหร่หากเพลงใหม่อาจจะเป็นสิ่งแสลงหูเรา และชิงบอกไปก่อนเลยว่า “เพลงสมัยนี้มันเพราะตรงไหน สู้สมัยที่ Blur ออกเพลงในยุค 90s ไม่ได้เลยสักนิด”

แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า สมัยตอนที่เราเปิดเพลง Song 2 ลั่นบ้านอยู่นั้น พ่อหรือแม่เราก็อาจจะไม่ได้ชอบและก็เอ่ยอ้างถึงยุคสมัยของเขามาเกทับเช่นกัน


ในยุคที่บทเพลงมีจำกัดแค่ในวิทยุ หรือคาสเซ็ทที่เราเก็บเงินซื้อได้ทีละม้วน ในแต่ละสัปดาห์ศิลปินกว่าจะออกผลงานนั้นนานแสนนาน แต่เมื่อมองในยุคปัจจุบัน จำนวนศิลปินที่ออก single ใหม่ในแต่ละสัปดาห์นั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลรวม ๆ กันแล้วไม่น้อยกว่า 100 อัลบั้ม ที่เหล่าศิลปินต่างขยันผลิตกันออกมาเพื่อยัดเพลงลงไปในสตรีมมิ่งเจ้าต่าง ๆ นับเป็นอุตสาหกรรมที่นับวันจะเติบโต ในขณะที่เวลาและสองหูของเรานั้นยังมีเท่าเดิม จึงไม่แปลกใจที่คนวัย 30 อัพ จะรู้สึกท้อแท้และหันกลับไปพึ่งพาศิลปินที่เขาเติบโตมาพร้อมกันในอดีต

ถึงบรรทัดนี้แล้ว สรุปง่ายๆว่าที่เรามักจะหยุดอัพเดทเพลงใหม่เพราะ วัยที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น > เวลาที่น้อยลง > การเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรม > ความต่างของยุคสมัย ไปจนถึงจำนวนเพลงใหม่ที่มากมายมหาศาล

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ใช่ว่าวัย 30 อัพ จะไม่สามารถฟังเพลงใหม่ได้ ชีวิตไม่มีคำว่าเกษียรสำหรับการฟังเพลง เราอยากให้คุณลองเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ จะพบว่ามีศิลปินหลากหลายที่ได้แรงบันดาลใจจากแนวเพลงในอดีตมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่คุณจะกลับมาเป็นวัยรุ่นได้อีกครั้ง แต่ยังทำลายความห่างระหว่าง Generation ได้อีกด้วยนะ


 

Source: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line