Life

หนวกหูจนทำงานไม่ได้ !! วิธีสู้เสียงรบกวนในที่ทำงานให้ความโปรดักทีฟยังอยู่

By: unlockmen March 5, 2021

คนวัยทำงานต้องการหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น สังคมการทำงานที่ดี ประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึง สถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการนั่งทำงาน เช่นไม่มีเสียงรบกวนที่มาดึงความสนใจเราจากงาน แต่บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกรบกวนด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็น เสียงคนคุยกัน หรือ เสียงก่อสร้าง บางครั้งเสียงเหล่านี้ก็ดังมากจนเราเสียสมาธิไม่เป็นอันทำงาน เราเลยอยากจะมาแนะนำวิธีการรับมือกับเสียงรบกวนเหล่านี้ เพื่อฟื้นคืนประสิทธิภาพในการทำงานของเราให้กลับมาดังเดิม


สิ่งแวดล้อมที่ไม่สงบส่งผลต่อคุณภาพในการทำงาน

ถ้าเราทำงานในที่ที่มีเสียงดัง ประสิทธิภาพในการทำงานอาจจะลดลง อ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร British Journal of Psychology (2004) ซึ่งได้ขอให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานปฏิบัติ 2 ภารกิจ ได้แก่ จดจำและนึกถึงงานประพันธ์ และคิดเลขในใจอย่างง่าย โดยในระหว่างการทดลอง ทีมวิจัยได้เปิดบันทึกเสียงรบกวนประเภทที่เกิดขึ้นทั่วไปในออฟฟิศให้ผู้เข้าร่วมการทดลองฟังด้วย

ผลการวิจัยพบว่า สิ่งแวดล้อมที่ทำงานที่เต็มไปด้วยเสียงรบกวน (noisy office environments) สามารถลดความแม่นยำในการทำงานของพนักงานลง ได้67% แต่เมื่อเสียงรบกวนที่เกิดจากการสนทนาลดลง ความสามารถในการโฟกัสงานของพนักงานกลับเพิ่มขึ้นมา 48% แถมความเครียดของพนักงานยังลดลง 27% อีกด้วย

นอกจากงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (2005) ซึ่งได้เปรียบเทียบความพึงพอใจในการทำงานของคนที่ทำงานในโอเพนออฟฟิศ และคนที่ทำงานในคอกทำงาน (cubicles) และพบว่า คนกลุ่มแรกมีความพึงพอใจในเสียงรบกวนมากกว่าคนกลุ่มที่สอง โดยคนกลุ่มที่สองพบเจอกับปัญหาจากการได้ยินเสียงคนพูดโทรศัพท์ การได้ยินเสียงคนพูดคุยกัน และเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้รบกวนความสามารถในการทำงานของพวกเขาด้วย

นอกจากนี้ส่งผลเสียต่อการทำงานแล้ว เสียงรบกวนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้นด้วย อ้างอิงจากงานวิจัยที่ทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งพบว่า การเจอกับเสียงรบกวนเรื้อรังในที่ทำงาน สามารถทำให้ความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้อีกทั้ง เสียงรบกวนที่มากเกินไปก็ส่งผลต่ออารมณ์ของพนักงานได้เหมือนกัน เช่น ทำให้พวกเขาเป็นคนเจ้าอารมณ์มากขึ้น หรือ มีอาการซึมเศร้ากันมากขึ้น

ดังนั้น เรื่องเสียงรบกวนในที่ทำงานจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรเพิกเฉย


วิธีเอาชนะเสียงรบกวนในที่ทำงาน

เมื่อเสียงรบกวนสร้างความเสียหายให้กับเราได้มาก เราเลยอยากมาแนะนำวิธีการลดผลกระทบของเสียงรบกวน เพื่อให้เราสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม ลองทำวิธีเหล่านี่ดู แล้วเสียงรบกวนจะกวนใจเราน้อยลง

หาทางหนีจากสิ่งรบกวน – แม้เราจะไม่สามารถเลิกฟังเสียงรบกวนได้แบบ 100% (ต่อให้เราอุดหู เราก็อาจจะยังได้ยินมันอยู่) แต่ถ้าเราลดมันได้แม้เพียงน้อยนิด มันก็เวิร์กได้เหมือนกัน เพราะยิ่งเราได้รับเสียงรบกวนน้อยลงเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีสมาธิได้ง่ายขึ้นเท่านั้น  ดังนั้น เราต้องหาทางรับมือกับเสียงรบกวนในแบบฉบับของตัวเอง เช่น บางคนอาจใช้วิธีการฟังเพลง หรือ บางคนอาจใช้วิธีการหายใจ

ใส่หูฟังอินเอียร์ – ถ้าเราเลือกใช้วิธีการฟังเพลงในการกำจัดเสียงรบกวน เราอยากแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อหูฟังคุณภาพดี ราคาดี และมีเทคโนโลยีขั้นเทพมาใช้เสมอไป เราสามารถเลือกใช้หูฟังอินเอียร์ที่มีราคาถูกกว่ามาใช้ได้เหมือนกัน เพราะหูฟังประเภทนี้ตัดเสียงภายนอกได้ดีอยู่แล้ว และจะดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราเลือกเปิดเพลงที่ช่วยให้สมองทำงานดีขึ้น เช่น เสียงธรรมชาติ หรือ เพลงคลาสสิก

ลองไปในที่ที่เสียงดังกว่าเดิม – บางครั้งการไปอยู่ในที่ที่มีเสียงรบกวนมากขึ้น อาจช่วยให้เราโฟกัสกับงานได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน เช่น ตอนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนพูดและเงียบสลับกันเป็นพัก ๆ (intermittent speech) การได้ยินเสียงคนพูดแบบโดด ๆ อาจทำให้เราโฟกัสกับงานได้ยากขึ้น ดังนั้น ถ้าหาที่ที่เงียบสงบไม่ได้จริง ๆ ลองหาที่ที่เสียงกลมกลืนกัน จะช่วยให้เราตั้งสมาธิได้ง่ายกว่าเดิม

วางแผนการทำงานของตัวเอง – งานแต่ละประเภทอาจเหมาะกับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น การคิดไอเดียอาจต้องทำในที่ที่เงียบสงบ หรือ การประชุมทีมอาจต้องทำในที่ที่เสียงดังหน่อย เป็นต้น ดังนั้น เราเลยจำเป็นที่จะตัองวางแผนการทำงานของตัวเอง และจัดสรรงานแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับสถานการณ์

จริงจังกับเดดไลน์ – การยึดติดกับเดดไลน์จะช่วยให้เรารู้สึกว่างานชิ้นนั้นมีความด่วนมาก จนเราต้องทุ่มเทความสนใจให้กับมันอย่างหนัก ซึ่งการทุ่มเทให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักทำให้เราไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น เสียงรบกวน วิธีนี้จึงช่วยให้เรามีสมาธิกับการทำงานมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าที่ทำงานเกิดเสียงรบกวนอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาที่ตัวเอง แต่ควรเริ่มมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้ปัญหาได้รับการรับรู้ และได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป    


Appendixs:  1/2/3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line