Entertainment

ครึ่งทศวรรษที่ดนตรีหลอมรวมความหลากหลาย จนกลายเป็นงานสร้างสรรค์ในสไตล์ ‘WHAT THE DUCK’

By: PEERAWIT September 10, 2018

เมื่อมนุษย์ยังต้องการความสุข เสียงเพลงจึงยังมีที่ยืนเสมอ การขับเคี่ยวกันในอุตสาหกรรมดนตรีจึงยังคงเข้มข้นทั้งค่ายเล็กกลางใหญ่  ไม่ว่า Label ไหนก็ยังคงสร้างสรรค์งานกันออกมาอย่างเต็มที่ พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน และถ้าจะให้พูดถึงหนึ่งในค่ายเพลงที่มีผลงานโดดเด่นและหลากหลายในชั่วโมงนี้ ชื่อของ What The Duck ก็น่าจะผุดขึ้นมาเป็นรายแรก ๆ

What The Duck ?

What The Duck ค่ายเพลงชื่อมันส์ ๆ แห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านอารีย์ มีบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์และไลฟ์สไตล์ของศิลปินและทีมงานสุด ๆ เหมือนเป็นคาเฟ่เท่ ๆ ไม่ก็ co-working space คูล ๆ ที่ใครเห็นก็อยากจะมาอยู่ จากค่ายเพลงอินดี้เมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนนี้กลายเป็นอีกหนึ่งค่ายสเกลขนาดกลางที่มีศิลปินอยู่ในสังกัดทั้งหมด 18 เบอร์ (ข้อมูล ณ เดือน สิงหาคม 2561) หลายเบอร์ก็เป็นศิลปินที่หลายคนชื่นชอบ ไล่มาตั้งแต่ สิงโต นำโชค, ชาติ-สุชาติ, MUSKETEERS, เป้-อารักษ์, แป้งโกะ, Ten To Twelve, Brown Flying, 2Pcs. , EWERY, HERS, FHERO, The TOYS, BowkyLion, Chanudom, De Flamingo, Whal & Dolph, Plastic Plastic และ Mints

ส่วนทีมงานผู้บริหารก็เป็นคนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานานทั้ง คุณมอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์, คุณบอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา และ คุณออน-ชิชญาสุ์ กรรณสูต

 

คุณบอล (ซ้าย) / คุณออน (กลาง) / คุณมอย (ขวา)

ทั้ง 3 หัวเรือใหญ่แห่ง WTD จะช่วยกันทำหน้าที่บริหารงานของค่าย แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก ๆ ตามความเหมาะสม คุณมอยจะดูแลภาพรวมทั้งหมด คุณบอลจะดูแลเรื่องการคัดสรรค์และการพัฒนาศักยภาพศิลปินรวมถึงประบวนการโปรดักชั่น ส่วนคุณออนจะดูเรื่อง new business และงานด้านอื่น ๆ ในธุรกิจบันเทิง รวมถึงบัญชี และทรัพยากรบุคคล

คุณมอยเริ่มเล่าให้ฟังถึงภาพรวมของการเดินทางของค่ายว่า “4-5 ปีที่ผ่านมาเรา เรารู้สึกว่าเราโตเร็วกว่าที่คิด แต่วิธีการทำงานของเราก็ยังเหมือนเดิม  Core Concept ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ที่เพิ่มเติมขึ้นก็คือจำนวนศิลปินในค่ายที่มากขึ้นเป็น 18 เบอร์ เรามีทีมงานที่แข็งแรงขึ้น สมัยก่อนมี 5-6 คน เดี๋ยวนี้มี 20 กว่าคนแล้ว” 

สำหรับคุณมอย-สามขวัญ ผ่านประสบการณ์ทางด้านดนตรีมาอย่างเข้มข้น รวมถึงผ่านงานทีวี งานโปรดักชั่นมาจนถนัด เริ่มต้นด้วยการดูแล Marketing ให้กับ EMI Music Thailand ก่อนจะมาเป็น GM ของ Believe Records ร่วมงานกับคุณบอลมาจนรู้มือ ส่วนคุณบอลเอง หลายคนจะคุ้นเคยกับเขาในฐานะสมาชิกของวง Scrubb อยู่แล้ว รวมถึงงานเบื่องหลังด้านดนตรีอีกมากมาย งานด้านค้นหาและพัฒนาศิลปินจึงเป็นงานที่เข้าทาง ขณะที่คุณออนเองก็ผ่านงานบริหารจัดการโทรทัศน์ โดยดูรายการทีวี และละครที่ออกอากาศทางช่อง 7 สี ทั้งยังเป็นเป็นผู้จัดการประกวด Miss Universe Thailand อีกด้วย

“ตอนแรก เราเริ่มจากการเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้สิงโต เป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำงานบริหารศิลปิน หาโมเดล หารูปแบบใหม่ ๆ ให้กับศิลปิน ยังไม่ได้มีความคิดว่าจะเป็นบริษัทด้วยซ้ำ” คุณบอลช่วยเสริมให้เห็นภาพ

คุณมอย – “ตอนนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ต้องมองหาโมเดลทางธุรกิจในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากยุค CD มาเป็น Music Streaming โมเดลในการทำงานมันก็ต้องปรับเปลี่ยน”

คุณออน – “แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยเปลี่ยนก็คือ หนึ่งใน Concept หลักของเราตั้งแต่เริ่มก็คือการให้อิสระทางความคิดกับศิลปิน เป็น space ของคนรุ่นใหม่”

 

อีกหนึ่งจุดเด่นของค่ายนี้ที่เราในฐานะคนฟังรู้สึกว่าเจ๋งก็คือ นับตั้งแต่สิงโต-นำโชค ในฐานะศิลปินเบอร์แรกของค่ายอย่างสิงโต จนถึงศิลปินกลุ่มล่าสุดอย่าง Mints  ทุกคนทำงานเพลงเองได้หมด นั่นแปลว่างานที่เราเสพนั้นออกมาจากตัวตนของศิลปินที่เราชอบจริง ๆ  หากรวมกับแนวทางของค่ายที่ให้อิสระกับศิลปินในสังกัด

คุณมอย – “ศิลปินในค่ายเราต้องทำเพลงเองได้ ต้องเขียนเพลงเองได้เป็นพื้นฐาน”

คุณบอล – “เราไม่อยากไปครอบวิธีการทำงานของศิลปิน เราว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป ปัจจุบันน้อง ๆ มีวิธีคิด มีวิธีการเป็นของตัวเอง ไม่ต้องมาชอบแบบเดียวกับที่เราชอบก็ได้ แต่เราจะรับฟังว่าเขาต้องการจะทำงานแนวไหน เราก็จะสนับสนุนให้เขาไปในแนวทางนั้นอย่างเต็มที่”

“เมื่อก่อนค่ายเพลงอาจเป็นเหมือนบ้านใหญ่ที่ดูแลศิลปินแบบลูก ๆ เราก็เหมือนผู้ปกครอง แต่สมัยนี้เราเป็นเหมือนเพื่อนมากกว่า อาจเป็นพี่ที่มีความถนัดในเรื่องการบริหารจัดการ การโปรโมต การพาศิลปินไปในพื้นที่ที่ช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการที่เคยทำงานอยู่เหนือกว่า คอยบอกให้ทำตามตลอด ตอนนี้เราอยู่ใกล้กันมากขึ้น เกือบ ๆ เท่ากัน เราคุยกัน เราไปด้วยกัน”

 

Way of WTD

มีวิธีการอย่างไร ในการคัดเลือกศิลปินมาอยู่ในค่าย What The Duck ?

คุณบอล – “วิธีการง่ายที่สุดคือเราต้องเป็นแฟนเพลงวงเขาก่อน ทำตัวเป็นผู้ฟัง ไม่ได้ทำตัวเป็นค่ายที่กำลังมองหาศิลปิน โชคดีที่ผมกับมอยเป็นเพื่อนเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันมาก่อน ชอบฟังเพลงคล้าย ๆ กัน แล้วเราทั้งสามคนก็เป็น music lover  พอเราไปเจอใครที่ถูกใจมาก็จะมาคุยกัน แต่เราจะไม่ได้คุยกันว่าน่าจะยายได้หรือไม่ เราคุยกันว่าเจ๋งแบบไหน เพลงมันเก๋ดีนะ ทำไมเราถึงจำได้วะ พอเราเป็นแฟนเพลงแล้ว ก็ลองมาคิดว่าหากพลิกบทบาทว่าเราเป็นค่ายแล้ว เราจะทำอะไรให้เข้าได้มากกว่าที่เขาทำอยู่ได้บ้าง”

“เรื่องที่สองคือทัศนคติ การพูดคุยกัน ความรู้และทักษะทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ต้องลองคุยกันว่าถูกคอกันมั้ย ไปด้วยกันได้หรือเปล่า ที่จริงมันไม่มีเกณฑ์ชี้วัดที่ตายตัว บางทีเราก็ชอบงานเขามาก แต่พอคุยกันอาจจะรู้สึกว่าต้องปล่อยให้น้องเขาไปลุยเองก่อน บางคนเราก็ขออยู่ในฐานะแฟนเพลงก็จะดีกว่า แต่ว่าบางคนก็คลิกกันมาก น่าจะต่อยอดกันได้ ก็ไปกันได้”

Position ของค่าย What The Duck อยู่ตรงไหนของตลาดอุตสาหกรรมดนตรีในไทย ?

คุณบอล – “เราอาจจะมีภาพจำของดนตรีแนว Mainstream อย่างหนึ่ง มองภาพดนตรี Indy ในอีกแบบหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่าสองแนวทางนี้อยู่คนละพื้นที่กัน แต่ผมว่า ณ ปัจจุบัน ทั้งสองแนวถูกรับรู้เพิ่มมากขึ้น ดนตรี Mainstream ไม่ได้กำหนดแนวทางเสมอไป กลับการเป็นดนตรี Indy ที่กำหนดทิศทางดนตรีในปัจจุบันมากขึ้น อย่างกรณี The TOYS ก่อนหน้านี้เขาก็ทำเพลงเองอัพขึ้น YouTube เป็น Indy และตอนนี้ก็เป็น Indy ที่มีคนรู้จักทั่วประเทศ ถ้าเราย้อนดูประวัติของวงอย่าง PolyCat เขาก็ล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ เช่นเดียวกับ Lomosonic, 25Hours หรือ Tattoo Colour ในยุคหนึ่ง ทุกคนเริ่มต้นจาก Indy Scene ทั้งหมด เคยเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ทำงานกันเอง สร้าง Community เอง จนในที่สุดคนเหล่านี้ก็กลายเป็นผู้กำหนดทิศทางทางดนตรี”

“ต้องยกความดีความชอบให้กับศิลปินนะ เราเป็น Supporter, Manager และ Promoter ที่ช่วยผลักดันเขาให้ไปอยู่ในจุดที่เขาสามารถทำให้คนส่วนมากรับรู้ได้ถึงเทรนด์และรสนิยมของเขา แต่ละคนจะมีเทสของตัวเอง พอมารวมกันก็จะกลายเป็นประแสที่มีมากขึ้น ถ้ามีคนบอกว่าค่ายเราเลืกศิลปินเก่งจัง หรือมีวงเก๋ ๆ เท่ ๆ ประสบความสำเร็จเยอะจัง เราก็จะบอกว่าเรามีหน้าที่แค่ผลักดันให้ทุกคนรู้จักวงเหล่านั้น เราคิดว่าศิลปินทั้งหลายคือคนที่กำหนดทิศทางของดนตรีในไทย แต่ละคนอาจจะมีแนวทางไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาคือคนรุ่นใหม่ที่นำเสนอผลงานในแบบที่แตกต่างกันออกไปในแง่ของการเป็น Artist”

คุณมอย – “ในมุมมองส่วนตัวของผม ผมไม่คิดว่าอะไร Mass หรือ Indy เพราะด้วยวิธีการฟังเพลงของคน และเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ มันหมดยุคที่จะมาบอกว่าใครเป็นแนวไหนใคร Mass หรือ Indy ทุกคนสามารถเลือกฟังเพลงได้จากมือถือของตัวเอง เมื่อก่อนอาจจะมีไม่กี่ช่องทางที่ในการเสพดนตรี เมื่อก่อนมีทีวีไม่กี่ช่อง วิทยุไม่กี่คลื่น ซึ่งเจ้าของก็เป็นค่ายเพลง แต่ 10 ปีที่ผ่านมาอะไรมันก็เปลี่ยนไปเยอะ ทุกคนได้ฟังอะไรที่อยากจะฟัง มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนเลิกมองว่า Mass หรือไม่ Mass”

“ตั้งแต่วันแรกที่เราเจอสิงโต เขาเอาเพลงมาส่งเรา ตอนนั้นคนอื่นไม่เชื่อในตัวเขา  จนถึงทุกวันนี้เขาเป็นทั้งศิลปินดัง เป็นโค้ช The Voice หลายคนอาจจะมองว่าเขา Mass ไปแล้ว แต่วิธีคิดของเขายังเหมือนเดิมตั้งแต่แรก วิธีการทำงานยังเหมือนเดิมเลย เรื่อง Mass หรือไม่ก็คงเป็น Perception ของคนมากกว่า พอดังขึ้นมันก็ดู Mass ขึ้น แต่เราจะทำอย่างไรที่จะให้ศิลปินเรายังคงมีตัวตนอยู่ โดยที่ไม่ได้เผลอหรือหลงไปกับความนิยม”

มีวิธีการค้นหาและพัฒนาศักยภาพของศิลปินในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากดนตรีอย่างไร ?

คุณออน – “เราก็เริ่มจากการพูดคุยกันก่อนเลย ทำความรู้จักกัน แล้วค่อย ๆ ดูพัฒนาการและตัวตนของเขา ว่าพร้อมที่พัฒนาไปทางด้านอื่นหรือเปล่า เราไม่เคยบังคับใคร ไม่เคยบอกว่าคุณต้องไปเล่นละครนะ คุณต้องไปเป็นพิธีกรนะ ไปถ่ายแบบนะ เราต้องถามเขาก่อน เราอยากให้ทุกคนอยู่ในบ้านเราด้วยความแฮปปี้ เป็นตัวของตัวเอง”

คุณมอย – “อย่างสิงโตเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราได้ช่วยกันพัฒนาเขา ก่อนที่จะเป็นโค้ช The Voice หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเรา Develop อะไรเขามาบ้าง ตอนนั้นเขาเพิ่งปล่อยซิงเกิ้ล ‘อยู่ต่อเลยได้ไหม’ ออกมา พอเขาดังมากก็เริ่มมีข้อเสนอต่าง ๆ เข้ามา มีทั้งติดต่อให้ไปเล่นละคร เราก็เอาบทมาอ่านดู แล้วก็พบว่ามันน่าจะดีกับศิลปินของเรานะ ก็เลยเอาบทกับรายละเอียดไปคุยกับสิงโต ตอนแรกเขาก็ยังไม่มั่นใจ เราก็ให้กำลังใจไปว่าบทนี้ค่อนข้างเป็นตัวตนของสิงโตนะ จนเขาไปลงเรียนคลาส acting เองโดยที่ไม่ได้บอกเรา ตัวเขาเองเป็นคนเตรียมพร้อมเสมอในการที่จะทำงานในแต่ละอย่าง เขารู้ว่าต้องเล่นละคร เขาไม่อยากให้คนว่าเขาว่าต้องเล่นหลายเทก พอละครออนแอร์ไปปรากฏว่าเรตติ้งดีมาก ทางช่องเลยติดต่อขอให้เล่นต่ออีก ผมก็ตอบไปก่อนว่าไม่แน่ใจ ต้องถามสิงโตก่อน แล้วสิงโตก็บอกว่าอยากเล่นต่อ มันเข้าทาง พอเขาเล่นละครทุกคนก็รู้จักเขามากขึ้น จากยอดคน Follow ใน Facebook จากหลักแสนก็กลายเป็นหลักล้านในเวลา 2-3 เดือนในยุคนั้น (7 ปีที่แล้ว) แม้เขาจะมีชื่อเสียงทางด้านละคร แต่เราก็ไม่หยุดพัฒนาด้านดนตรีต่อ เขาก็ทำซิงเกิ้ลใหม่ตามปกติ”

“หลังจากนั้นก็มีงานด้านพิธีกรเข้ามา ก่อนที่จะเป็นโค้ชเขาก็เป็นพิธีกรรายการเกมโชว์ของช่อง 3 ซึ่งเขาก็ไปฝึกวิธีการพูดมาเอง จากนั้นโปรดิวเซอร์ของรายการ The Voice ก็มาชวนเขาไปเป็นโค้ช กว่าเขาจะมีชื่อเสียงกับรายการนี้ เขาก็ต้องผ่านการทำงานด้านวงการบันเทิงมาจนได้ที่แล้ว”

คุณบอล – “บางคนก็อาจไม่ยอมทำอะไรอย่างอื่นนะ มีคนมาชวนไปเล่นหนังก็ไม่ไป เพราะมีความสุขกับการเล่นดนตรีอย่างเดียว เราก็เอาตามความสบายใจของศิลปินนะ”

สำหรับคุณบอล ด้วยความที่เป็นศิลปินอยู่แล้ว ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการดูแลศิลปินมากน้อยแค่ไหน ?

“เรียกว่าโชคดีดีกว่า เราทำสองหน้าที่พอดี คือเล่นดนตรีด้วย และทำงานเป็นเบื้องหลังในค่ายเพลงด้วย การเจอกันครั้งแรกมันก็เลยเกิด First impression ได้ง่ายกว่าคนอื่น พอเขารู้จักเราก็ทำความคุ้นเคยกันได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะประสบความสำเร็จในการดึงศิลปินมาร่วมงานด้วยทุกครั้ง ยังไงก็ต้องพูดคุยกันอยู่ดี ข้อดีอีกอันหนึ่งคือประสบการณ์ที่ทำให้เรารู้เท่าทัน ศิลปินจะรู้สึกว่ามีผู้ใหญ่ที่ยังเล่นดนตรีอยู่และสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ คลุกคลีกันได้ แลกเปลี่ยนเรื่องต่าง ๆ กันได้ เป็นการเรียนรู้กัน” คุณบอลแห่ง What The Duck และ Scrubb เล่าให้ฟัง

“แม้ช่วงอายุหรือช่วงวัยที่ต่างกัน แตถ้า Blend ร่วมกันได้ ผมว่ามันจะเกิดประโยชน์สูง ตรงที่เราก็จะมีความสดใหม่ในการทำงานบางอย่าง เราไม่ได้มองว่าต้องเป็นเราเท่านั้นที่เป็นคนถ่ายทอดประสบการณ์ให้เขา หลาย ๆ เรื่องเขาก็คอยสอนเราด้วย ต้องคอยอัพเดทซึ่งกันและกันเสมอ”

คุณมอย – “ผมเรียนรู้แนวทางการทำงานจากศิลปินของเราเยอะเหมือนกัน เช่นวิธีการสื่อสารกับแฟนเพลงของเขา ทั้ง Caption บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือการใช้รูปเป็นต้น โดยส่วนมาก ศิลปินที่มาอยู่ในค่ายเราเขาจะทำงานกันมาเองก่อน”

 

Crisis Management

การบริหารงานในทุกอุตสาหกรรมล้วนมีปัญหาต้องแก้ไข แม้อุตสาหกรรมที่สร้างความสุขอย่างดนตรีย่อมมีวิกฤติบ้างเช่นกัน  What The Duck มีการจัดการกับอุปสรรคอย่างไร ? ยกตัวอย่างจากกรณีของ The TOYS ที่ก้าวผ่านมาได้

คุณบอล – “เหตุการณ์นั้นถือเป็นหนึ่งใน Crisis ที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ผมทำธุรกิจงานเพลงมา 20 ปี มันเป็นเรื่องที่ออกไปในวงกว้าง และก็ทอยเองก็อยู่ท่ามกลาง Spotlight เป็นวิกฤตที่ค่อนข้างรุนแรง เป็นข้อหาที่ใหญ่ที่สุดข้อหาหนึ่งในชีวิตการทำงานของนักดนตรี ทั้งศิลปินและทางค่ายก็รู้สึกกดดันสูง สิ่งที่เราทำได้คือต้องพูดคุยกัน อัพเดทกันตลอด และพยายามหาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหา แน่นอนว่าเรื่องแรกที่เราไม่ทำคือการตอบโต้อย่างไม่มีที่มาที่ไป เราต้องหาข้อมูลให้ถึงที่สุดก่อน  PR ก็ทำงานหนัก ก่อนจะประกาศก็อยู่ในห้อง War Room กัน 6-7 ชั่วโมง เช็กอีเมล ตรวจเมล คุยกับทนาย”

“สิ่งที่เราเรียนรู้จากการเจอวิกฤติที่สุดก็คือ อะไรคือวิธีการแก้ปัญหา เราควรจะเรียงลำดับความสำคัญอย่างไร เรื่องไหรที่เราต้องตัดออก อะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปก่อน ถือเป็นเคสที่เราได้เรียนรู้ด้วยกัน ทั้งศิลปินและค่ายเอง”

คุณมอย – “ทอยกับค่ายค่อนข้างใกล้ชิดกัน และผมว่าทอยก็ค่อนข้างเชื่อมั่นในค่าย ตอนนั้นผมคุยกับทอยวันละ 5-6 รอบ ผมอยากจะชื่นชมน้องว่าด้วยอายุเท่านี้แล้วต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้น แต่เขายังใจเย็นพอ เชื่อสิ่งที่เราแนะนำ จนวันสุดท้ายที่เราได้ทุกอย่างพร้อม เราได้ข้อมูลจากทั้งที่ต่างประเทศ กับวงคู่กรณี หรือกับทนายของเรา ว่าเราจะออก Press Release อย่างไร ปรึกษานักข่าว ทำทุกอย่าง จนเรารู้สึกว่าพร้อมที่จะออกมาพูด”

คุณบอล – “ทอยยอมรับว่าเขาชอบวงนี้ แต่เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นคือการลอกเลียนแบบหรือไม่ เขาก็อยากรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือไม่ถูก ทางค่ายก็เลยรู้สึกว่าถ้าปล่อยไปก็จะถูกวิจารณ์ในแง่ลบจนกว่ากระแสจะหมดไป เราก็เลยตัดสินใจหาคำตอบจนถึงที่สุด ก็เลยต้องไปที่ต้นตอของประเด็น ก็เลยติดต่อจนถึงฝ่ายกฎหมายของต้นสังกัดจริง ๆ เขาก็รับทราบ ประโยคแรกที่เขาบอกกับเราคือ ‘ขอขอบคุณที่ออกมาเผชิญหน้า และยกมือตั้งคำถามในเรื่องนี้มาก่อน ขอขอบคุณในความกล้าหาญที่ไม่ปล่อยให้เรื่องนี้นิ่งเฉย’

“เรารออยู่สองวันจนทางต้นสังกัดเขาส่งอีเมลกลับมาว่า ‘เราได้คุยกันแล้วภายใน พบว่าสองเพลงนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ ต่อกัน ขอให้คุณเติบโตและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคุณ’ เราก็โล่งใจ แต่สักพักหนึ่งเขาก็อีเมลกลับมาอีกครั้งว่า ‘เขาไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาตรงนี้ กรุณาอย่าอ้างอิง หรืออ้างถึง’ เพราะฉะนั้นเราจึงยังไม่มีวิธีการที่จะอ้างอิงอะไรกับคนส่วนใหญ่ในประเทศได้ วิธีการเราก็เลยทำสองแบบ คือ ใช้คำแถลงที่ล้อตามกฏหมาย ซึ่งก็ถูกวิจารณ์มากมาย เราก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร เพราะเราตอบได้แค่นั้นตามข้อกฎหมาย จากนั้นทอยก็ค่อยแถลงความรู้สึกของเขา หลังจากนั้นกระแสทุกอย่างก็เริ่มเบาลง เรารู้สึกว่าฉีดยาถูกจุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของคนบางกลุ่มได้ ต้องใช้เวลาตัดสิน จำได้ว่าคำ่นั้นจบลงด้วยทอยได้รางวัล JOOX Awards 3 รางวัล มันเป็นสองอาทิตย์ที่เราทำงานกันหนัก ไม่รู้ว่ามันจบลงดีมั้ย แต่เรารู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้องที่ค่ายและศิลปินควรจะทำ”

“ผมนับถือทอยนะ เขาอายุน้อย แต่สิ่งที่เขาเจอมันโคตรหนักเลย แต่เขาเชื่อมั่น และเชื่อในตัวค่ายที่พยายามจะแก้ปัญหาให้เขา”

ถ้าศิลปินอิสระ ไม่มีค่าย เจอปัญหาแบบนี้ควรทำอย่างไร ?

คุณบอล – “ผมว่าแล้วแต่คน บางคนก็อาจจะมีวุฒิภาวะ มีการจัดการ มีการแก้ปัญหาที่ดี ก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ แต่เรายกตัวอย่างเคสทอยขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าการช่วยกันแก้ปัญหา และทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบให้ดี เชื่อมั่นซึ่งกันและกันก็จะทำให้ทุกอย่างมันผ่านไปได้ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว”

 

The Record Label’s Role

อย่างที่เรารู้กัน ทุกวันนี้ศิลปินทำงานเพลงได้เองแทบจะทั้งนั้น บทบาทของค่ายเพลงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนพอสมควร บางทีศิลปินก็รู้สึกว่าไม่ต้องเดินเข้าไปอยู่กับค่ายก็ได้ แล้วอะไรที่จะตอบโจทย์ศิลปิน หากวันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจตบเท้าเข้าค่าย ?

คุณมอย – “มันขึ้นอยู่กับความต้องการของศิลปิน อยากเติบโตในเส้นทางนี้ขนาดไหน ความต้องการของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนรู้สึกว่าการได้สร้างผลงานของตัวเองออกสู่สาธารณชนคือที่สุดละ จบละ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือบางคนที่รู้สึกว่าอยากจะสร้างงานของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ อยากให้คนยอมรับเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าการทำคนเดียวมันก็น่าจะไม่อยู่ คือมันทำได้ มีตัวอย่างหลายคนเหมือนกันที่ยืนด้วยตัวเองได้ แต่ผมรู้สึกว่าการมีคนมาช่วยซัพพอร์ตความคิดของคุณ มีคนมีช่วยพาคุณไปในที่ต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยไป พาคุณจาก 1 ไป 5 จาก 5 ไป 10 ได้”

“คำถามแรก ๆ ที่ทางค่ายถามกับศิลปินก่อนเซ็นสัญญาด้วยกัน คือ คุณอยากจะอยู่ตรงไหน ? คุณอยากจะไปตรงไหน ? ถ้าเป้าหมายเราเหมือนกัน เราก็สร้างมันไปด้วยกัน”

คุณออน – “สัญญาของเราเป็นแบบ Multi-Contract เราไม่ได้ Fixed-Deal ว่าต้องเป็นแบบนี้ บางโมเดลก็ใช้กับศิลปินที่ดังมากแล้ว แต่อยากให้เราบริหารจัดการให้”

คุณบอล – “ในยุคนี้ด้วยความต้องการศิลปินที่แตกต่างกัน เงื่อนไขเรื่องทักษะ ความสามารถ เวลา และสิ่งแวดล้อมต่างกัน ในรายละเอียดสัญญาก็จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับศิลปินนั้น ๆ สัญญาของเราไม่ได้ยาวเหยียดเป็นปึก 40 หน้า เรามีแค่ 5-6 หน้าเพื่อให้รู้ว่าเราจะทำอะไรร่วมกัน และไม่ทำอะไรร่วมกันในระยะเวลาเท่าไหร่ ทุกวันนี้เราให้ความรู้ศิลปินในเรื่องกฎหมาย เรื่องการเงิน เรื่องการเก็บออมด้วย เราต้องสอนให้เขาโตในด้านอื่นด้วย ถ้ายังไม่ใช่ศิลปินดังเราก็อยากให้วางแผนชีวิตให้ดี ถ้าทำงานก็ทำงานไปด้วย เรียนก็เรียนไปด้วย อยากให้ทำงานเพลงควบคู่กับด้านอื่นในชีวิตไปด้วย แต่ถ้าอยากจริงจังแบบเต็มที่กับงานดนตรีไปเลย ก็ลุยด้วยได้เต็มที่เหมือนกัน

มองอุตสาหกรรมดนตรีในไทยในตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ?

คุณมอย – “ผมว่าตลาดเพลงในไทยดีนะ ดีมากด้วย คนที่ไม่ได้อยู่ในตลาด คนภายนอก คนฟังเพลงปกติอาจจะมองข้ามไปว่าตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทุกอย่างมันแทบจะ Fully Digital แล้ว มีรายได้จากหลายทาง แปลว่ามีผู้เล่นในตลาดเข้ามาเต็มไปหมดเลย ตลาดมันก็โตขึ้น ในสัปดาห์หนึ่งคนได้ฟังเพลงใหม่หลายเพลง ค่ายเพลงใหม่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ค่ายเพลงใหญ่ ๆ ก็มี Sub-Label ค่ายเพลงระดับกลางอย่างเราก็ปล่อยเพลงออกมาได้อย่างต่อเนื่อง คอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ก็มีทุกเสาร์-อาทิตย์เลย วันธรรมดาก็มีตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ มันเป็นสัญญาณที่ดีที่คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของงานเพลงมากขึ้น เวลาเราประชุมงานกับ Apple Music หรือเจ้าอื่น ๆ เราก็ได้เห็นสถิติ เห็นยอดที่เขายอมจ่ายเงินเพื่อฟังเพลงผ่านทาง Music Streaming ที่โตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเมืองไทย ถือว่าโตที่สุดในอาเซียน ถือว่าดีขึ้นกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา”

“คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นคุณค่าของศิลปะแขนงนี้ ซึ่งก็คือดนตรีมากขึ้น พวกเขายินดีจ่ายเพื่อได้ฟังเพลงที่เขาอยากฟัง”

คุณบอล – “การที่บัตรคอนเสิร์ตวงเฉพาะทาง Sold-Out นั่นหมายถึงดนตรีทางเลือกก็เติบโตได้ อยู่รอดได้”

คุณออน – “ทำในสิ่งที่รักอย่างมี Passion เราก็จะสร้างสรรค์อะไรออกมาได้อย่างต่อเเนื่อง และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ”

 

Goal

ในเมื่อค่าย What The Duck เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว จะมีการฉลองใหญ่มั้ย สำหรับความสำเร็จที่ได้รับมาจากการทำงานหนัก ?

คุณมอย – “เรามีอีเวนต์ มีงานคอนเสิร์ตที่เรากำลังทำอยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการฉลองเข้าสู่ปีที่ 5 ของค่าย แต่คิดว่าปีหน้าน่าจะมีแน่นอน ส่วน 27 ตุลาคมนี้เราก็จะมีอีเวนต์ JAM Fest: แจ่มเฟส เกิดขึ้นที่@Voice Space”

คุณบอล & คุณออน – “เราจะมีการขยับขยายคอนเทนต์ให้ครบวงจรมากขึ้น พื้นฐานเป็นตรี แต่เราก็จะต่อยอดไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย มี Home Studio ให้ศิลปินมาทำงานด้วยกัน มาเจอกัน”

จะเปิดตัวศิลปินใหม่อีกไหมในปีนี้ ?

คุณบอล – “เราพยายามจะบริหารศิลปินให้ทั่วถึง การมีเยอะไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป ถ้าเราตั้งใจจะทำงาน และพัฒนาต่อไป จำนวนก็คงไม่ใช่คำตอบ เราอยากจะทำงานกับศิลปินที่ต่างอยากร่วมงานกัน มี Passion ร่วมกัน ตอนนี้ก็มีคุยกันอยู่สองสามเบอร์ ที่แตะมือกันอยู่ มีการให้กันบ้านไปทำอยู่ เทรนกันอยู่ แล้วจะมาดูกันว่าจะเดินหน้ากันต่ออย่างไร พร้อมตอนไหน”

คุณมอย – “วงการนี้ไม่มี Short Cut ความสำเร็จของศิลปินในค่ายทุกคนล้วนแล้วแต่ผ่านช่วงเวลาที่ต้องสู้ The TOYS ทำเพลงเองมา 3 ปีกว่าจะเป็นที่นิยม ต้องมีการทำงานอย่างชัดเจน มีเวลาที่เหมาะสม”

เป้าหมายของ What The Duck ในอนาคต ?

คุณมอย – “ซื้อตึกในเมือง เข้าตลาดหุ้น คงไม่มีหรอก (หัวเราะ) ตอนนี้ศิลปินในค่ายมีอยู่ 5-6 เบอร์ที่ประกอบอาชีพนี้ได้อย่างเต็มตัว เป้าหมายเราก็อยากให้ที่เหลือสามารถทำได้เช่นกัน นี่คือจุดประสงค์หลัก”

คุณบอล – “เราก็ยังจะคง Concept เดิม โตขึ้นมีประสบการณ์มากขึ้นตามกาลเวลา ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบก็ต้องโตตามขนาดขององค์กร โตขึ้นก็ต้องดูแลคุณภาพให้ดีขึ้น ส่วนเป้าหมายก็ยังคิดแบบเดิม คือเป็นผลงานที่เราชอบ และศิลปินก็ได้นำเสนอในแบบของเขาอย่างมี Passion”

คุณออน – “เราอยากให้ศิลปินอยู่ได้ และมีความสุขในงานที่เขารัก ต้องทำให้ทุกคนในบ้านแฮปปี้”

อยากร่วมงานกับ What The Duck ต้องทำอย่างไร ?

ทั้ง 3 ท่าน  – “ส่ง Link เพจวงมาได้เลย แล้วก็สร้างงานได้เลย ลุยให้เต็มที่เลย ไม่ต้องรอค่ายเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของศิลปินในค่ายไม่มีใครส่ง Demo เข้ามาเลย เราจะเห็นเองจากข้างนอกตลอด ไม่ต้องกลัว ถ้าทำเต็มที่ มี Passion ถ้าคุณดีจริง เดี๋ยวเราจะเห็นเอง”

 

Artist

หลังจากที่เรารู้วิธีคิด วิธีการทำงาน และแนวทางของค่ายไปแล้ว มาพูดคุยกับศิลปินกันหน่อยดีกว่า ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการทำงานกับบ้านหลังนี้ที่ชื่อว่า What The Duck

 

“ตั้งแต่ทำงานมา รู้สึกว่าราบรื่น ทางค่ายปล่อยให้ศิลปินได้ทำงานอย่างที่อยากทำ ให้อิสระในการทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ได้โอกาสทำงานหลากหลายในการบันเทิง” – สิงโต นำโชค

 

“What The Duck เป็นค่ายที่ง่ายมาก คือเขาดูแลเราด้วยความพอดี ฟิตกับสิ่งที่เราต้องการ เขาให้อิสระกับการทำงานของผมมาก พนักงานที่นี่เก่งและขยันมาก เป็นรุ่นใหม่ที่มีไฟ ทุกคนขยันและมีประสิทธิภาพมากครับ” – กอล์ฟ FHERO

 

“ผู้คนที่ค่ายมีหลากหลายครับ ผมได้ประสบการณ์ที่ดีจากที่นี่ อย่างพี่สิงโตก็แนะนำผมหลายอย่าง ก็อยากจะทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกครับ” – ทอย The TOYS

 

จากการพูดคุยกับ 3 หัวเรือใหญ่ และศิลปินแห่งค่าย What The Duck แล้ว ทำให้เราได้เห็นมุมมองการทำงานที่มากขึ้น และรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยกับการที่จะประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย และสร้างความสุขให้กับทุกคนด้วยเสียงเพลง แม้ว่าจะเป็นงานที่รักแต่ก็ต้องอาศัยความพยายามที่ตรงจุด นับเป็น Music Label ที่น่าจะตามองมากที่สุดแห่งหนึ่งในปัจจุบัน และพิสูจน์ให้เห็นว่า “อิสระแห่งการสร้างสรรค์ บวกกับการทำงานหนักด้วย Passion ที่เต็มเปี่ยม และ Teamwork ที่ดีนั้น คือศิลปะแห่งความสำเร็จในยุคนี้”

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line